เปิดศักราชใหม่..2558 แต่ภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังคงต้องขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงาน “ปฏิรูปการศึกษา” ที่ส่งสัญญาณว่าน่าจะเป็นรูปเป็นร่างกว่าการปฏิรูปที่ผ่านมา ๆ แม้จะเพิ่งเริ่มต้น..
นั่นเพราะ ปฏิรูปการศึกษา ตามใบสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในภาพลักษณ์ของรัฐบาลท็อปบูทที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่ปักธงจะปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการปฏิรูปที่ใหญ่กว่าที่เคยทำมา เพราะต้องทำควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ที่ใช้ในการปกครองประเทศ
ส่งผลให้การปฏิรูปศึกษาถูกพูดถึงในมุมมองใหม่และกว้างขึ้น นั้นคือ “ปฏิรูปเพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ”
…เวลานี้ชัดเจนว่า คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ศธ. ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ นั่งหัวโต๊ะ มีเป้าหมายตรงกันที่จะให้การปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นนโยบายพื้นฐานของทุกรัฐบาล ที่จะต้องเดินตามแนวทางให้เกิดความยั่งยืน ปราศจากการเมืองมาแทรกแซง สอดคล้องกับที่คณะกรรมาธิการการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ใน1 ใน 7 ข้อเสนอนโยบายพื้นฐานการศึกษาแห่งรัฐเพื่อให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาและบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ทั้งบอร์ดปฏิรูป ศธ. กมธ.ศึกษาฯ สปช.ยังเห็นทิศทางเดียวกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการระดับชาติ เรียกแบบไม่ทางการว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” เข้ามาทำหน้าที่ดูแลการกำหนดนโยบายการศึกษาในภาพรวม ตอบโจทย์การผลิตและการพัฒนาประเทศที่ต้องการ มีการควบคุมมีผู้รับผิดรับชอบต่อปัญหาการจัดการศึกษา แต่ขณะนี้ยังไม่กำหนดตุ๊กตาที่ชัดเจนว่าจะเป็นใครบ้างแต่เป้าหมายคือต้องมาจากทุกภาพส่วนเป็นตัวแทนของประชาชนที่มั่นใจให้ทำหน้าที่แทนได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของการศึกษาไทย
อย่างไรก็ตาม บอร์ดปฏิรูป ศธ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ อีก 7 ชุด อาทิ ด้านงบประมาณ,ด้านพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ,ด้านการแก้ไขกฎหมายในภาพรวม ฯลฯ ทำหน้าที่ศึกษาและเป็นกลไกทำงานประสานระหว่างบอร์ดปฏิรูป ศธ. สปช.และ สนช. เพื่อให้การทำงานเดินไปทิศทางเดียวกัน โดยระยะเร่งด่วน1 ปีนี้จะมีกรอบทำงาน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ยกระดับปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ โดยจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรอิสระทำหน้าที่ในการปฏิรูป ซึ่งจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.ปฏิรูปนโยบายการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำและให้โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียม 3.ปฏิรูปโครงสร้างบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา ซึ่งในเดือนมกราคม 2558 ศธ.จะเริ่มนำร่องโครงการกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษา 20 เขตมีอำนาจบริหารตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนซึ่งหากได้ผลในทางบวกก็จะขยายโครงการเพิ่ม เป็นต้น และ4.ปฏิรูปเชิงคุณภาพโดยเน้นการยกระดับความรู้
นอกเหนือจากงานปฏิรูปการศึกษาแล้ว ในปี 2558 ยังมีงานประจำที่ต้องทำต่อเนื่องคือ การปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ของ 3 องค์กรหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยในส่วนสกอ.มีความชัดเจนแต่ต้นว่าต้องการขอแยกตัวเป็น “กระทรวงอุดมศึกษา” เพื่อความเป็นอิสระและการบริหารจัดการที่คล่องตัว เมื่อได้ไฟเขียวก็ยังยืนยันข้อเดิม ขณะที่สอศ.ซึ่งรัฐบาลและรมว.ศึกษายุคนี้ให้ความสำคัญกับผู้เรียนสายอาชีพอย่างมากเพราะเป็นหน่วยผลิตแรงงานฝีมือซึ่งมีความต้องการของประเทศ จึงให้ไปศึกษาเรื่องดังกล่าวเช่นกันและได้เสนอเป็น “ทบวงอาชีวศึกษา” ภายใต้กำกับ ศธ.และเสนอให้อาชีวเอกชนมารวมด้วยกันเพื่อให้การทำงานมีคุณภาพและมาตรฐานใกล้เคียงกัน ส่วนอีก 2หน่วยงานคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักปลัด สป.ก็อาศัยโอกาสนี้ขอปรับเช่นกันโดย สพฐ.ขอแยกเป็น “ทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ด้วย
…แม้ ศธ.จะเปิดทางปฏิรูปโครงสร้าง แต่ก็ไม่ผลีผลามทำในทันทีเนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ส่งผลต่อวงกว้าง ที่สำคัญต้องตอบสังคมได้ว่าปรับโครงสร้างแล้วช่วยแก้ปัญหาดีขึ้นอย่างไรด้วย อีกทั้งการปฏิรูปโครงสร้างเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เช่นนี้ ศธ.จึงต้องโฟกัสไปที่ภาพใหญ่ของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาก่อนว่าต้องทำอะไรบ้าง ถ้าไปกระทบกับโครงสร้างก็จะทำจุดนั้น
งานชิ้นใหญ่อีกชิ้นที่จะเกิดกับการศึกษาของปี 2558 นั่นคือ การปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เนื่องจากใช้มาเป็นระยะเวลา 6 ปีและถึงวงรอบที่จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ประกอบกับมีการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่จึงต้องมีการปรับให้ตรงกับทิศทางของประเทศด้วยจึงถึงเวลาต้องปรับครั้งใหญ่ ซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดกระบวนการและปฏิทินการดำเนินการเอาไว้เรียบร้อย โดยช่วงระยะครึ่งปีแรกตั้งแต่ม.ค.-พ.ค. 2558 จะเป็นการทำงานในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล การกำหนดกรอบทิศทางหลักสูตร รับฟังความเห็น และช่วงครึ่งปีหลังมิ.ย.-ธ.ค. 2558 จะยกร่างหลักสูตรแกนกลาง เป็นต้น จากนั้นจะนำร่องหลักสูตรฯและคาดประกาศใช้หลักสูตรในเดือนพฤษภาคม 2560
แม้งานหลักของ ศธ.ในปีนี้จะไม่ใช่งานที่จะเห็นผลได้ในระยะสั้น แต่ต้องวาดภาพเผื่อยาวไปนับ 10 ปีจึงเป็นงานวางรากฐานและหวังผลสำเร็จที่ปลายทางเรียกว่า “อนาคต”
ที่มา : ผู้จัดการ