(ร่าง) ตารางกำหนดการคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ (ว16,ว17) ปี 2558

Print Friendly

การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ( ว 16/2557 และ ว 17/2557)

สพฐ. ดำเนินการ 

1) กำหนดวัน และเวลา ในการดำเนินการ

    คัดเลือกพร้อมกัน ทั้ง สพป.,สพม.,และสศศ.

2) กำหนดภาระงานการสอน สำหรับ

    ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก

3) กำหนดตัวชี้วัด องค์ประกอบการประเมิน

   ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง

อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาหรือ อ.ก.ค.ศ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษดำเนินการ

ดำเนินการคัดเลือกทุกขั้นตอน ดังนี้

– การประกาศรับสมัคร

– การรับสมัคร

– ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ

– ดำเนินการคัดเลือก (จัดสอบข้อเขียน ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง)

– การประมวลผลการคัดเลือก

– การประกาศผลการคัดเลือก

ตารางกำหนดการคัดเลือกครูผู้ช่วย

1) ประกาศรับสมัครคัดเลือก

ภายในวันจันทร์ที่ 9 ก.พ.2558

2) รับสมัครคัดเลือก

วันจันทร์ที่ 16 ก.พ.-วันอาทิตย์ที่ 22 ก.พ.2558(ไม่เว้นวันหยุดราชการ)

3) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก

ภายในวันที่ 25 ก.พ.2558

4) การประเมิน

ประเมินประวัติและผลงาน

ระหว่างวันที่ 26 – 28 ก.พ.2558

5) สอบข้อเขียน

วันเสาร์ที่ 28 ก.พ.2558

6) สอบสัมภาษณ์

วันอาทิตย์ที่  1 มี.ค. 2558

7) ประกาศผลการคัดเลือก

ภายในวันที่ 6 มีนาคม 2558

ทั้งหมดนี้ยังเป็นฉบับร่าง เพื่อความชัดเจนและถูกต้อง ต้องรอหนังสือสั่งการอย่างเป็นทางการจาก สพฐ.

ภาพจาก ครูวันดี

ที่มา : ครูวันดี

ปรับเงินเดือนข้าราชการ

Print Friendly

รายการปรับเงินเดือนข้าราชการตามมติ ครม.เมื่อวันอังคารที่ 9 ธันวาคม 2557 นั้น เรียกขานกันตามภาษาราชการว่าเป็นการยกระดับรายได้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ 4 ข้อ คือ

  1. เห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายเพื่อปรับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และ นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557
  2. เห็นชอบในหลักการการปรับเงินเดือนข้าราชการ
  3. เห็นชอบในหลักการการได้รับเงินเดือนกรณีข้าราชการได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูง
  4. อนุมัติให้ใช้งบประมาณเพื่อการปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐการปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ดังกล่าวประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ คือ

ประการแรก การปรับบัญชีเงินเดือนและการแก้ไขกฎหมาย โดยขยายเพดานเงินเดือนขั้นสูงของทุกระดับหรือทุกอันดับของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทเพิ่มขึ้น 3 ขั้น สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบขั้น หรือประมาณร้อยละ 10 สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบช่วง รวมทั้งปรับปรุงบัญชีเงินเดือนข้าราชการให้สอดคล้องกับการดำรงตำแหน่ง

โดยในส่วนของ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการได้รับเงินเดือนโดยแก้ไขชื่อระดับในบัญชีเงินเดือนเพื่อให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนในระดับสูงกว่าหรือต่ำกว่าระดับตำแหน่งที่ดำรงได้ รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อให้ ก.พ.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเยียวยาให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนและ/หรือเงินประจำตำแหน่งได้

ส่วน ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และ นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ปรับปรุงจำนวนขั้นเงินเดือนของบางระดับ (ป.3 และ น.1-น.3) ให้สอดคล้องกับระดับชั้นยศ

ข้าราชการตำรวจ ปรับปรุงจำนวนขั้นเงินเดือนของบางระดับ (ป 3. และ ส.1-ส.3) ให้สอดคล้องกับระดับชั้นยศ

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับเงินเดือนขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วยมากกว่าร้อยละ 10 เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของคุณวุฒิปริญญาเอก ทั้งนี้ โดยการแก้ไขบัญชีเงินเดือนแนบท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการประเภทต่างๆ และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557

สำหรับสาระสำคัญอีก 2 ประการเห็นจะต้องว่ากันต่อในวันพรุ่งนี้ก่อนถึงเรื่องการปรับขึ้นบำนาญสำหรับผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วอีกกว่า 5 แสนราย.

โดย : ซี12
ที่มา : ไทยรัฐ

จ่อชงครม.ปรับเพิ่มเงินอุดหนุดรายหัวนักเรียน-เงินเดือนครูเอกชน

ครูระยอง - เงินเดือน

Print Friendly

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่โรงเรียนเอกชนประสบปัญหาในด้านต่างๆ และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร จนต้องทยอยปิดกิจการไปจำนวนมาก เนื่องจากภาครัฐไม่ให้ความช่วยเหลือนั้น เร็วๆ นี้ ศธ.จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ปรับเพดานเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน และเงินเดือนครู โดยใช้สูตรปรับตามขั้นบันได จากเดิมรัฐอุดหนุนอยู่ประมาณ 60% เป็น 70%, 80% จนถึง 100% ลำดับ แต่ต้องพูดคุยว่าเมื่อรัฐอุดหนุน 100% แล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่โรงเรียนเอกชนเก็บจากนักเรียนจะต้องลดลงด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องอื่นๆ ศธ.พยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ให้โรงเรียนเอกชนคล่องตัวมากขึ้น อาทิ การขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ครูสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีเสียงสะท้อนว่าหลักเกณฑ์ของคุรุสภาค่อนข้างยุ่งยาก รวมถึง การอบรมและการพัฒนาทางวิชาการที่โรงเรียนเอกชนอยากให้ ศธ.ดูแล เพราะตามนโยบายแล้วภาครัฐอยากให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

ที่มา : มติชน

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สทศ.รับสมัครสอบ GAT-PAT วันที่ 5-27 มกราคม สอบ 7-10 มีนาคม

สทศ

Print Friendly

นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า สทศ.จะเปิดสมัครสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) ครั้งที่ 2/2558 สอบเดือนมีนาคม 2558 มีกำหนดการดังนี้

  • สมัครสอบ วันที่ 5-27 มกราคม โดยปิดระบบรับสมัครวันที่ 27 มกราคม เวลา 23.59 น.
  • ชำระเงิน วันที่ 5-28 มกราคม โดยปิดระบบชำระเงินวันที่ 28 มกราคม เวลา 20.00 น.
  • ตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลผู้สมัคร วันที่ 5-29 มกราคม
  • ประกาศเลขที่นั่งสอบ สถานที่สอบ พิมพ์บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ วันสอบ วันที่ 7-10 มีนาคม
  • ประกาศผลสอบ วันที่ 10 เมษายน

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครสอบ จะต้องเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ เทียบเท่า ม.6 หรือสูงกว่า ม.6 ขึ้นไป ทั้งนี้ สทศ.ขอให้ผู้ที่ต้องการสมัครสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 2/2558 ตรวจสอบกำหนดการรับสมัครสอบ และชำระเงินให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของผู้สมัครเอง ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th

ที่มา : มติชน

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

กบข. เตือน ขรก.ตัดสินใจรอบคอบ ก่อนออกไปรับบำนาญ ยืนยันผลตอบแทนกองทุนสูงกว่าดอกเบี้ย

Print Friendly

นายสมบัติ นราวุฒิชัย   เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า หลังจากได้เปิดให้ข้าราชการสมาชิกกองทุน กบข. สมัครกลับไปรับเงินเดือนบำนาญเพื่อให้ตัดสินใจได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ขณะนี้ทยอยส่งเอกสารไปให้ข้าราชการแล้ว 1 ล้านราย จึงต้องการให้ข้าราชการตัดสินใจให้รอบคอบ หลังจากเห็นตัวอย่างข้าราชการ 10 ราย ได้ตัดสินใจกลับไปรับบำนาญ

เมื่อพบว่าเมื่อออกเกษียณอายุราชการจะได้รับบำนาญและเงินก้อนประมาณ   7 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท จึงต้องการกลับไปเข้าเป็นสมาชิก กบข.เหมือนเดิม แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ห้ามเปลี่ยนใจเมื่อได้ตัดสินใจออกจากสมาชิก กบข.แล้ว จึงต้องการแนะนำให้ข้าราชการสมาชิก กบข.ตัดสินใจให้รอบคอบ เนื่องจากผู้ได้รับประโยชน์ดีที่สุด คือ กลุ่มข้าราชการที่มีอายุราชการตั้งแต่ 40-50 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่มข้าราชการทหาร ตำรวจ เพราะนับอายุราชการตั้งแต่ศึกษาเป็นนักเรียนทหาร ตำรวจ และเป็น กลุ่มที่ได้รับอายุราชการทวีคูณจากกรณีไปรับราชการในถิ่นทุกันดาน

หากคำนวณแล้วได้รับเงินเดือนบำนาญเพิ่มจากเดิม 15,000 บาทต่อเดือน นับว่าคุ้มในการกลับไปรับบำนาญ แต่หากได้รับเงินบำนาญเพิ่มเพียงไม่กี่พันบาท ต้องการให้คิดอย่างรอบคอบ ยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมาย กบข.ไม่ได้เป็นการเอาใจทหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงกว่าราชการกลุ่มอื่น แต่เป็นการสานต่อการดำเนินการของราชการชุดที่ผ่านมา และกลุ่มข้าราชการตำรวจที่มีอายุราชการทวีคูณจำนวนมากยังได้รับประโยชน์สูงเช่นกัน

สำหรับผลตอบแทนของกองทุน กบข.ในปี 57 แม้หุ้นตกนับร้อยจุด แต่กองทุน กบข.ยังให้ผลตอบแทนมากกว่าร้อยละ 6 และยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 4  จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 1.75  เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว ส่วนแนวทางการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน เพื่อเรียกความมั่นใจให้กับสมาชิกกองทุน กบข. ยืนยันว่าผลตอบแทนเข้ากองทุนจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3 ในส่วนของปี 58 คาดว่าจีดีพีขยายตัวประมาณร้อยละ 3-4.5 บริษัทจดทะเบียนน่าจะทำกำไรได้สูงกว่าร้อยละ 10 โดยกำชับให้ทีมพิจาณาแผนการลงทุนตัดสินใจลงทุนในด้านต่างๆอย่างรอบคอบ เพื่อดูแลสมาชิกกองทุน กขบ.

ที่มา : มติชน

ร.ร.เอกชนวิกฤต! ปิดแล้ว400 ขาดครู-ค่าใช้จ่ายสูง-รัฐเมิน

Print Friendly

นายชิตวร ลีละผลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลทองพูน เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนระดับอนุบาล และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป

โดยรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ จะทำให้โรงเรียนเอกชนทยอยปิดกิจการลงเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะโรงเรียนเอกชนถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการจัดการศึกษาระดับอนุบาล และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในขณะที่โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เน้นจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาปลายเป็นส่วนใหญ่

นายชิตวรกล่าวว่า จากการรวบรวมรายงานสถิติการศึกษาฉบับย่อของศูนย์สารสนเทศ ศธ. ซึ่งได้รวบรวมสถิติของโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ โดยตั้งแต่ปี 2540 พบว่าโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯทยอยเลิกกิจการมาตลอด ดังนี้ ปี 2540 มีจำนวนโรงเรียน 849 แห่ง ปี 2541 ปิดกิจการ 6 แห่ง เหลือ 843 แห่ง,

ปี 2542 ปิดกิจการ 11 แห่ง เหลือ 832 แห่ง, ปี 2543 ปิดกิจการ 3 แห่ง เหลือ 829 แห่ง, ปี 2544 ปิดกิจการ 1 แห่ง เหลือ 828 แห่ง, ปี 2545 ปิดกิจการ 9 แห่ง เหลือ 819 แห่ง, ปี 2546 ปิดกิจการ 14 แห่ง เหลือ 805 แห่ง, ปี 2547 เปิดเพิ่ม 13 แห่ง เหลือ 818 แห่ง, ปี 2548 ปิดกิจการ 63 แห่ง เหลือ 755 แห่ง, ปี 2549 ปิดกิจการ 6 แห่ง เหลือ 733 แห่ผง,

ปี 2550 เปิดเพิ่ม 16 แห่ง เหลือ 749 แห่ง, ปี 2551 ปิดกิจการ 14 แห่ง เหลือ 735 แห่ง, ปี 2552 ปิดกิจการ 11 แห่ง เหลือ 724 แห่ง, ปี 2553 เปิดเพิ่ม 8 แห่ง เหลือ 732 แห่ง, ปี 2554 ปิดกิจการ 14 แห่ง เหลือ 718 แห่ง, ปี 2555 ปิดกิจการ 20 แห่ง เหลือ 698 แห่ง และปี 2556 ปิดกิจการ 49 แห่ง เหลือ 649 แห่ง

“จากสถิติย้อนหลัง 16 ปี ตั้งแต่ปี 2540-2556 ดังกล่าว จะเห็นว่าโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯเลิกกิจการทั้งหมดถึง 225 โรงเรียน และมีแนวโน้มจะเลิกกิจการอีกจำนวนมากในอนาคต ด้วยสาเหตุต่างๆ ได้แก่

1.ความไม่เท่าเทียมกันของการบริหารจัดการของภาครัฐระหว่างโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐทั้งด้านนโยบายงบประมาณ อุปกรณ์ และการจัดสรรครู โดยจากการเปรียบเทียบจำนวนนักเรียนประเภทสายสามัญของโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ และโรงเรียนสังกัด สพฐ.ในปี 2556 โรงเรียนเอกชนมีนักเรียนรวม 324,934 คน แต่โรงเรียนสังกัด สพฐ.มีนักเรียนเพียง 287,101 คน

และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนโรงเรียน มีโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯถึง 649 แห่ง แต่โรงเรียนสังกัด สพฐ.มีเพียง 156 โรงเรียนเท่านั้น ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าโรงเรียนเอกชนดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษา และแบกภาระจำนวนนักเรียนมากกว่าภาครัฐหลายเท่า แต่ภาครัฐยังให้ความสำคัญกับโรงเรียนเอกชนน้อยมาก

2.เกิดจากลูกหลานเห็นความยากลำบากในการดำเนินกิจการโรงเรียนที่บรรพบุรุษได้ก่อตั้่งขึ้นจึงไม่นิยมประกอบกิจการต่อจากพ่อแม่

3.ที่ดินมีราคาแพงขึ้น จึงเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า

4.ค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เพิ่มขึ้น และเงินเดือนครูวุฒิปริญญาตรีที่ถูกกำหนดให้ต้องจ่ายขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล

5.ปัญหาเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในส่วนของหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตฯ ทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหา” นายชิตวรกล่าว

6.ขาดแคลนครู ซึ่งรัฐไม่เคยสนับสนุนอัตรากำลังครูเอกชน แต่โรงเรียนรัฐกลับเปิดสอบบรรจุจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนเอกชนถูกแย่งครูไป จนทำให้ครูเอกชนขาดแคลนมาก

7.อัตราเงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐจัดให้ระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและใหญ่ในจำนวนเท่ากัน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับเงินอุดหนุนฯไม่เพียงพอกับการบริหาร ต่างจากโรงเรียนขนาดใหญ่ที่นอกจากมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการเรียนแล้ว ยังได้เงินอุดหนุนจากรัฐอีก

8.การเก็บอัตราภาษีโรงเรือน ซึ่งรัฐควรยกเว้นให้กับโรงเรียนเอกชน เพราะดำเนินกิจการช่วยรัฐ

9.รัฐไม่มีความเท่าเทียมกันด้านวิชาการ เช่น รัฐเปิดโอกาสให้เด็กของโรงเรียนรัฐสอบโอเน็ต แต่ไม่มีนโยบายให้นักเรียนเอกชนสอบโอเน็ต

10.รัฐปล่อยให้โรงเรียนเอกชนเปิดกิจการโดยไม่คำนึงถึงพื้นที่ระยะใกล้และไกล ซึ่งในระเบียบกำหนดให้ต้องเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 2 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันปล่อยให้สร้างโดยไม่คำนึงถึงกฎระเบียบ

11.จำนวนเด็กที่เกิดในแต่ละปีลดลง

12.การลงทุนสร้างโรงเรียนในยุคนี้ต้องลงทุนสูง ทั้งค่าที่ดิน และค่าก่อสร้าง และ

13.การแข่งขันสูง ทำให้แต่ละโรงเรียนต้องใช้กลยุทธ์ในการได้มาซึ่งนักเรียน

“ปัญหาเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรับรู้ข้อมูลเพื่อหาแนวทางแก้ไขการบริหารจัดการด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯโดยเร็วที่สุดก่อนที่โรงเรียนเอกชนจะทยอยปิดกิจการไปมากกว่านี้ และถ้ารัฐปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ ก็เป็นห่วงว่าในอนาคตจะไม่มีใครมาช่วยรัฐจัดการศึกษา” นายชิตวรกล่าว

ด้านนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ศธ. กล่าวว่า การยุบเลิกกิจการของโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญฯนั้น เฉลี่ยแต่ละปีจะปิดกิจการประมาณ 5-10 โรงเรียน ในขณะที่โรงเรียนที่ขอจัดตั้งใหม่ก็มีจำนวนพอๆ กันในแต่ละปี ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10,000-20,000 คน ส่วนสาเหตุของการยุบเลิกกิจการโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญฯนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะต้องการไปประกอบธุรกิจอื่นที่ทำรายได้ดีกว่า และกำไรมากกว่ากิจการโรงเรียนเอกชน และหลายโรงเรียนเลิกกิจการเพราะทายาทไม่ต้องการสืบทอดกิจการต่อ

นายบัณฑิตย์กล่าวต่อว่า สำหรับสถิติโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศที่ยุบเลิกกิจการตั้งแต่ปี 2545-2556 รวมจำนวน 431 โรงเรียน แบ่งเป็น ประเภทสามัญฯ 375 แห่ง และประเภทอาชีวศึกษา 56 แห่ง เมื่อดูเป็นรายปีพบว่า ประเภทสามัญฯ มีการปิดตัวมากกว่าสายอาชีวศึกษา

โดยในปี 2545 ประเภทสามัญฯปิดตัว 21 แห่ง อาชีวะ 3 แห่ง, ปี 2546 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 28 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 8 แห่ง, ปี 2547 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 27 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 8 แห่ง, ปี 2548 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 49 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 6 แห่ง, ปี 2549 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 52 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 6 แห่ง,

ปี 2550 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 23 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 4 แห่ง, ปี 2551 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 57 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 8 แห่ง, ปี 2552 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 47 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 6 แห่ง, ปี 2553 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 19 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 1 แห่ง, ปี 2554 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 21 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 4 แห่ง, ปี 2555 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 21 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 3 แห่ง และ ปี 2556 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 10 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 1 แห่ง

ที่มา : มติชน

ผลการดำเนินงานด้านการศึกษาในรอบ 3 เดือน และทิศทางการดำเนินงานด้านการศึกษา – ครูระยอง

Print Friendly

สรุปผลการดำเนินงานด้านการศึกษาในรอบ 3 เดือนของกระทรวงศึกษาธิการ (กันยายน-ธันวาคม 2557) ความก้าวหน้าตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษา และทิศทางการดำเนินงานด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การบริหารงานของพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

  1. การดำเนินงานด้านการศึกษาช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาล

จากการที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 โดยได้กำหนดนโยบายไว้ 11 ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 มาตรา 19  ที่ระบุให้รัฐบาลมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะที่มีภารกิจในการจัดและส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำพาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยมีบทบาทหลักดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในข้อที่ 4  นโยบายการศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม  นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังเป็นส่วนราชการที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายที่ 1 การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์  นโยบายที่ 2 นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ  นโยบายที่ 7 นโยบายการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน   นโยบายที่ 8 นโยบายการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม และนโยบายที่ 10 นโยบายการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา 3 เดือน นับตั้งแต่ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกรและพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 จนถึงเดือนธันวาคม 2557 ได้มีผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านต่างๆ ดังนี้

นโยบายที่ 1 การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

– ได้จัดงาน “เทิดไท้พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 3 – 5ธันวาคม 2557 ณ บริเวณโดยรอบกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์และปฏิญาณตนเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน

– จัดกิจกรรมคาราวานจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ โดยให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่งในส่วนกลางจัดข้าราชการออกไปบำเพ็ญประโยชน์ในสถานที่ต่างๆ อาทิ วัด โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา

– จัดโครงการเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา และเทิดทูนพระมหากษัตริย์ โดยจัดประชุมผู้บริหาร กศน. ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอใน4 ภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ ความตระหนัก เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในชาติ รวมทั้งสามารถนำไปถ่ายทอดแก่ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทุกภาคส่วน

นโยบายที่ 2 การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ

– ดำเนินโครงการรณรงค์และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา โดยเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกัน
ยาเสพติดแก่เด็กปฐมวัยในโรงเรียนอนุบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งทั่วประเทศ 20,000 แห่ง

– จัดกิจกรรมป้องกันเด็กและเยาวชนก่อนวัยเสี่ยงให้มีภูมิคุ้มกันยาเสพติด ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน

– จัดทำคู่มือจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6  และส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับโรงเรียนและสถานศึกษาเป้าหมายทุกแห่งทั่วประเทศ ที่เป็นสถานศึกษาขยายโอกาสมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ทั้งสังกัดภาครัฐและเอกชน

– ดำเนินโครงการ To Be Number One โดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

– ดำเนินการจัดตั้งและการดำเนินงานศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือ “กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า” ณ สำนักงานศึกษาธิการ ภาค 12 จังหวัดยะลา โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้การดำเนินงานทุกหน่วยในพื้นที่ให้มีเอกภาพและบูรณาการงานของกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและความสันติสุขอย่างยั่งยืน  พัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้มีคุณภาพ จัดค่ายพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ จัดค่าย O–NET ม.6 และ ป.6 จัดกิจกรรมสนับสนุนการฝึกอาชีพในโรงเรียนและกิจกรรมเข้าค่ายอาเซียนสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา จัดสรรเงินอุดหนุนสถาบันศึกษาปอเนาะ สำหรับเป็นค่าบริหารจัดการสถาบันศึกษาปอเนาะ จำนวน 373แห่ง จัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกเพื่อผลิตและพัฒนาอาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาชุดนวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาไทย หลักสูตร 350 ชั่งโมงอ่านออกเขียนได้ เพื่อให้เป็นหลักสูตรต้นแบบในการสอนภาษาไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพัฒนาครูเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการสอนภาษาไทย จำนวน 4 หลักสูตร

นโยบายที่ 4 การศึกษาและการเรียนรู้ ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

– มุ่งมั่นที่จะนำการศึกษามาสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม โดยเร่งปฏิรูปการศึกษาและยกระดับคุณภาพการศึกษาซึ่งใช้ผลประเมินเป็นโจทย์ในการพัฒนา นำแนวทางการสอบ PISA มาใช้ขับเคลื่อนระบบการวัดและประเมินสมรรถนะผู้เรียน

– ดำเนินโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พัฒนาทักษะการเรียนรู้ และคุณลักษณะการเป็นพลเมืองไทยที่ดี โดยกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ในสถานศึกษา โดยใช้ระบบ Coaching Team และTeacher’s Feedback

– ดำเนินกิจกรรมยกระดับคุณภาพการศึกษาในเขตเป้าหมาย เพื่อยกระดับผลทดสอบระดับชาติ (O-NET) ของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ดำเนินการส่งเสริมผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ (เด็กอัจฉริยะ) เพื่อเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

ด้านการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้ยากจนหรือด้อยโอกาส 

– ศธ.ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ในภาคเรียนที่ 2/2557 และภาคเรียนที่ 1/2558 มีผู้เรียนได้รับการสนับสนุน จำนวน 11,591,627 คน

– ดำเนินการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในปีการศึกษา 2557 สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่จำนวน 54,946 ราย

– โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว จำนวน 4 รุ่น มีผู้ได้รับทุน 3,093 คน ให้ไปเรียนต่อในสาขาตามที่สนใจในต่างประเทศ และมีการปรับแนวทางการดำเนินงานที่การส่งเสริมให้ไปเรียนสายอาชีวศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านกำลังคนของประเทศในสายอาชีวะจำนวนมาก ทั้งภาคอุตสาหกรรม การไฟฟ้า และเกษตรกรรม โดยเฉพาะผู้ที่จบสายอาชีวะโดยตรงจากต่างประเทศ

– ดำเนินงาน กศน.ตำบล จำนวน 7,424 แห่ง โดยจัดบริการการศึกษาให้แก่เด็กที่ตกหล่น ยากจน และไร้ที่พึ่ง อันเนื่องมาจากอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล หรือยากลำบากในการคมนาคม ติดต่อสื่อสารเด็ก/เยาวชนที่ออกกลางคันจากระดับการศึกษาภาคบังคับ กลุ่มผู้จบการศึกษาภาคบังคับแต่ไม่ได้เรียนต่อ กลุ่มเด็ก/เยาวชนเร่ร่อน/ไร้บ้าน กลุ่มเด็ก/เยาวชน/บุตรกรรมกรก่อสร้าง

ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

– นำเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเข้ามาใช้ โดยจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. จำนวน 15,369 โรง ครอบคลุมผู้เรียน จำนวน 1,015,974 คน และได้เตรียมการขยายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

– มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การศึกษานอกระบบในวัดแบบไม่เป็นทางการ เชื่อมโยงระหว่างบ้าน-วัด-โรงเรียน (บวร) เข้าด้วยกัน โดยการจัดการเรียนการสอนในขั้นพื้นฐาน อาทิ จัดการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดค่ายพักแรมลูกเสือเนตรนารี เป็นต้น การจัดการศึกษาต่อเนื่อง (ฝึกอาชีพระยะสั้น)

– ดำเนินโครงการจัดการความรู้เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งชุมชน โดยส่งเสริมจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนในระดับต่ำกว่าปริญญา การศึกษาเพื่ออาชีพ และจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรเพื่อพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งมีเป้าหมายการให้บริการ 15,025 คน ใน 44 ชุมชนทั่วประเทศ

            การส่งเสริมค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ

– ดำเนินการจัดกิจกรรมค่าย “เยาวชนคนรุ่นใหม่ใฝ่ค่านิยม” โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นนักศึกษา ประชาชน จำนวน 64,900 คน ใน 928 อำเภอทั่วประเทศ

– ดำเนินโครงการส่งเสริมความเป็นพลเมือง โดยผ่านทักษะการอ่านคำกลอน “ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ” สำหรับผู้เรียนประถมศึกษา การเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาล “มหาวิทยาลัยโปร่งใส บัณฑิตไทยไม่โกง” โดยใช้หลักค่านิยม 12 ประการ คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ครอบครัว ศาสนา และชุมชน ในการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง รวมทั้งจัดทำบทเรียนสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม

– กิจกรรมการพัฒนาผู้บริหารและครูเอกชนในระดับจังหวัด เรื่อง การคิดวิเคราะห์การเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ความพอเพียง การเสริมสร้างค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ที่มีเป้าหมายเป็นผู้บริหารและครู จำนวน 30,180 คน

           ด้านการส่งเสริมอาชีวศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะโดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีความต้องการแรงงาน และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพ

– ออกประกาศเรื่อง มาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ากรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา

– จัดงาน “อาชีวศึกษาทวิภาคีไทย” เพื่อสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดอาชีวศึกษา
ระบบทวิภาคี ส่งเสริมสนับสนุนให้มีผู้เข้าเรียนอาชีวศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทวิภาคีให้มากขึ้น

– ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถานประกอบในการพัฒนาและผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษา อาทิ ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย หอการค้าไทย และกลุ่มมิตรผล เพื่อผลิตกำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและภาคบริการ โดยนำร่องในวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 6 แห่ง ใน 3 จังหวัด ข้อตกลงความร่วมมือกับศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) เพื่อพัฒนากำลังคนด้านการควบคุมเรือประมง ในระยะเวลา 3 ปี มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ จำนวน  4 แห่ง   ข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรผลิตกำลังคนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาพาณิชยกรรม สาขาธุรกิจค้าปลีก เพื่อป้อนอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศ

การพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เน้นครูผู้สอนให้มีวุฒิตรงตามที่สอน

– ดำเนินโครงการผลิตครูมืออาชีพ ในรูปแบบประกันการมีงานทำ เพื่อผลิตครูคุณภาพและแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู ในปี 2557 มีนิสิตนักศึกษาครูที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 5 และกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษา ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,047 คน ซึ่งได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูเรียบร้อยแล้ว

– ดำเนินการพัฒนาครูผู้สอนในทุกระดับการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน อาทิ จัดทำหลักสูตรเพื่ออบรมครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (ครู สควค.)เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เตรียมการพัฒนาบุคลากรด้านการวัดผลประเมินผลที่เน้นการคิดวิเคราะห์ตามแนวทาง PISA วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ความรู้ สามารถนำไปจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

– การแก้ไขปัญหาความขาดแคลนครู  ศธ.ได้จัดทำประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง กำหนดประเภทวิชาและสาขาวิชาขาดแคลน ด้านอาชีวศึกษา(9 ประเภทวิชา 86 สาขาวิชา) จัดทำแนวทางปฏิบัติในการออกหนังสืออนุญาตปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กรณีผู้มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาวิชาขาดแคลน กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยที่มีเหตุพิเศษ ปรับหลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่นมาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน  ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย และพัฒนาระบบเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังครูในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอาชีวศึกษา

นโยบายที่ 7 การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน

– ได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (post 2015) พ.ศ. 2559 – 2563

– จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาเซียนศึกษาในหน่วยงานในสังกัด เพื่อประสานและขับเคลื่อนความเข้าใจ ส่งเสริมต้นแบบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงด้านภาษา

– จัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม

– พัฒนาโรงเรียนมาตรฐานสากล หลักสูตรภาษาอังกฤษ EP MEP EIS ในสถานศึกษา

– จัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

– ดำเนินการพัฒนาทักษะการเรียนการสอน ด้านภาษาอังกฤษและ ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาครูวิทยากรแกนนำการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ English Bilingual Education (EBE)

– จัดค่ายวิชาการภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนภายในเดือนมกราคม 2558 

นโยบายที่ 8 การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม

– มุ่งเน้นการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้กับการทำงาน การให้บุคลากรด้านการวิจัยของภาครัฐสามารถไปทำงานภาคเอกชน และสามารถสร้างสังคมนวัตกรรม โดยสนับสนุนทุนให้แก่มหาวิทยาลัยภายใต้โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา 70 แห่ง รวมทั้งสิ้น 538 โครงการ สนับสนุนผลงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้โดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี

– ดำเนินโครงการบูรณาการการยกระดับการพัฒนาและส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากล โดยพัฒนาและขยายผลอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับเยาวชน

– ดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ปีการศึกษา 2557 ซึ่งมีนักเรียนสมัครสอบเข้าแข่งขันจำนวน 131,740 คน

– ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตครูผู้มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) โดยสรรหาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 1,136 คน

นโยบายที่ 10 การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

– ได้กำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการให้ความรู้กับบุคลากรในสถาบันการศึกษา และกระบวนการจัดการโดยการวางระบบ และให้ ป.ป.ช. จังหวัดมีส่วนร่วมกับโครงการขนาดใหญ่

– ดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา “ป้องกันการทุจริต” โรงเรียนสุจริต

– จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงาน Best Practice “โรงเรียนสุจริต ผลิตนวัตกรรม นำสู่การปฏิบัติ” โดยมีผู้ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยนักเรียน ครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์/นักวิชาการ

  1. ความก้าวหน้านโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา

1) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรหลักที่มุ่งจัดและส่งเสริมการศึกษาให้ประชาชนมีความรูความสามารถ มีคุณภาพและศักยภาพในการพัฒนาตนเองเสริมสร้างสังคมคุณธรรม พัฒนาสังคมฐานความรูและสามารถยืนหยัดในเวทีโลกบนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยมีการจัดระเบียบบริหารราชการในส่วนกลาง เพื่อทำหนาที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ส่งเสริมและประสานงานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬาเพื่อการศึกษา ติดตามตรวจสอบและประเมินผล

แต่จากการปฏิบัติราชการพบสภาพปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ การกระจายโอกาสทางการศึกษายังไมเป็นธรรมและทั่วถึง เกิดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการการศึกษา มาตรฐานและการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในทุกระดับกำหนดจากส่วนกลาง ซึ่งไมสอดคลองกับสภาพปัจจุบันและความแตกต่างของแต่ละท้องถิ่น การส่งเสริมการจัดการศึกษายังไมเหมาะสมกับการศึกษาแต่ละระดับและประเภท นโยบายการผลิตผู้สำเร็จการศึกษาไมสอดคลองกับทิศทางความต้องการของตลาดแรงงานนโยบายการบริหารจัดการศึกษาขาดความต่อเนื่องและชัดเจน เนื่องจากมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

โครงสร้างการจัดระเบียบบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการยังไมสอดคลองกับภารกิจและไมเป็นเอกภาพ การตัดสินใจการบริหารและจัดสรรงบประมาณรวมศูนย์กลางไว้ในส่วนกลาง สถานศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานมีปริมาณไม่เพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการในทุกระดับและทุกสาขาวิชา

ดังนั้น จากสภาพปัญหาอุปสรรคต่างๆ จึงเป็นกรอบกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ดังนี้

  1. เพิ่มและสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทยอย่างเท่าเทียม
  2. ปฏิรูปการเรียนรู้และยกระดับคุณภาพการศึกษา
  3. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และส่งเสริมการวิจัยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
  4. ผลิตและพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ
  5. ปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
  6. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย

2) เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่จัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาของชาติ ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ และการพัฒนาประเทศโดยรัฐบาลมุ่งจัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือกไปพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ

  1. สร้างคุณภาพคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้ ด้วยความใฝ่รู้และทักษะที่เหมาะสม
  2. คนไทยเป็นคนดีมีคุณธรรม
  3. สร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ เพื่อสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการเหมาะสมกับพื้นที่

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ได้กำหนดจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายหลักของการปฏิรูปการศึกษาไว้ คือ สร้างระบบการศึกษาของไทยเป็นที่ยอมรับและเกิดความมั่นคงยั่งยืน  สร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทยอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล  ยกสถานะวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ครูเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และบูรณาการการปฏิบัติราชการทุกระดับเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

3) ผลการดำเนินงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

คณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย – นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์  – นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์  – นายตวง อันทะไชย  – นางทิชา ณ นคร – นายมีชัย วีระไวทยะ

คณะกรรมการ  โดยมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ นายกฤษณพงศ์  กีรติกร และพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการ โดยมีกรรมการอีก 21 คน เช่น – พลเอก สุทัศน์  กาญจนานนท์กุล  – นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ – นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา  – นายวิจารณ์ พานิช  – นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์  – นายสมชัย ฤชุพันธุ์ – นางประภาภัทร นิยม – นายวรากรณ์ สามโกเศศ  – นางสิริกร มณีรินทร์  – นายนคร ตังคะพิภพ  – นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ – นายอมรวิชช์ นาครทรรพ  – นายสมพร ใช้บางยาง  – นางสุทธศรี วงษ์สมาน – นายแพทย์กำจร ตติยกวี – นายกมล  รอดคล้าย  – นายชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์ – นายพินิติ รตะนานุกูล เป็นกรรมการและเลขานุการ
– นายประวิต เอราวรรณ์  นายชาญ ตันติธรรมถาวร และนายเฉลิมชนม์  แน่นหนา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่จัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อปฏิรูปด้านการศึกษา เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับด้านการศึกษาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบหมายบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการตามที่เห็นสมควร รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานเพื่อดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย

คณะกรรมการดังกล่าว ได้ประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดยที่ประชุมได้หารือถึงกรอบการปฏิรูปการศึกษา เพื่อต้องการให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นนโยบายพื้นฐานของทุกรัฐบาล ที่ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ควรดำเนินการตามกรอบ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาของไทยเกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และไม่ถูกแทรกแซงจากระบบการเมือง ทั้งยังเห็นพ้องในหลักการว่าควรมี “คณะกรรมการระดับชาติ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิรูปการศึกษา” ทั้งระยะเร่งด่วน (1 ปี) ระยะปานกลาง (1-3 ปี) และระยะยาว (5-10 ปี)

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ในคณะกรรมการชุดนี้ 7 คณะ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาทิ คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา, คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล, คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายการศึกษา, คณะอนุกรรมการด้านการกระจายอำนาจ, ด้านการปฏิรูปหลักสูตร ด้านการผลิตและพัฒนาครู เป็นต้น

ประการสำคัญ คือ ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปฏิรูประบบการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Education Reform Lab & Coaching Lab) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการเพื่อนำร่องการกระจายความรับผิดชอบ (หรือกระจายอำนาจ) ลงสู่เขตพื้นที่การศึกษา เป็นเวลา 3ปีต่อเนื่อง (พ.ศ.2558-2560) ในเขตพื้นที่การศึกษา 20 เขตๆ ละ 15 โรงเรียน ครอบคลุมโรงเรียนแกนนำซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีผลการเรียนรู้ต่ำเป็นกลุ่มเป้าหมายการดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 300 โรง โดยให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาวิเคราะห์สถานภาพและตั้งโจทย์การพัฒนาโรงเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งจัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน (Reform Lab) และปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Coaching Lab) จากนั้นจึงจะร่วมกันเลือกประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องการแก้ไข เพื่อให้คณะทำงาน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักประเมินผลติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะทุกๆ 3 เดือน และ 6 เดือนต่อไป

ทั้งนี้ จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 7 มกราคม 2558 ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นการวางรากฐานที่ดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศอย่างยั่งยืน จึงจะให้มีการประชุมหารือร่วมกันมากขึ้น ทั้งในส่วนของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการทั้ง 7 คณะ อาจเป็นเดือนละ 1-2 ครั้ง

  1. ทิศทางการดำเนินงานด้านการศึกษาในอนาคต

“การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ เป็นคำพูดที่ชี้ให้เห็นว่าการศึกษานั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาคนและประเทศ เพราะคนถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนทรัพยากรในด้านอื่นๆ ของชาติ หากประเทศใดประชาชนมีความรูสูง มีความฉลาดทั้งด้านปัญญา อารมณ์และจิตสำนึกเพื่อสังคม มีความเข้มแข็งทางภูมิปัญญามากพอที่จะช่วยกันแกไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ย่อมส่งผลให้ประเทศนั้นมีความเจริญตามไปด้วย

จึงสรุปไดวาการศึกษาเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาชาติ เนื่องจากการศึกษาจะช่วยให้ประชาชนอ่านออกเขียนได คิดวิเคราะห์เป็น เรียนรูคุณธรรมจริยธรรม ความเป็นพลเมือง และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมตลอดจนถึงทักษะในการประกอบอาชีพและทักษะทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้มีความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลี่อมล้ำในสังคมในระยะยาว

กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่จัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาของชาติ ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ และการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลมุ่งจัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือกไปพร้อมกัน เพื่อสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้โดยมีความใฝ่รู้และทักษะที่เหมาะสม เป็นคนดีมีคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการเหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ

จึงได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในภาพรวม และทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในอนาคต ดังนี้

แนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในภาพรวม

  1. การพัฒนาและปฏิรูปการศึกษา จะต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นไปตามกระบวนการของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นที่ยอมรับและเกิดความมั่นคงยั่งยืนในระบบการศึกษาของไทย
  2. การสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมโดยการน้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยสะดวก และสามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม
  3. การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับความรู้ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และปลูกฝังคุณธรรม การสร้างวินัย ปลูกฝังอุดมการณ์ความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การมีจิตสาธารณะ ความตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด อุดมการณ์ และความเชื่อ รวมทั้งรู้คุณค่าและสืบสานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย
  4. การส่งเสริมและยกสถานะของครูซึ่งเป็นบุคลากรหลักในระบบการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในสังคม เป็นบุคลากรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม มีภูมิความรู้และทักษะในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสม มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู ตลอดจนมีฐานะและคุณภาพชีวิตที่ดีสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน
  5. การบริหารและการปฏิบัติราชการกระทรวงในทุกระดับ จะต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการการปฏิบัติของทุกหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและประสานสอดคล้องกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของสังคม

ทิศทางในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในอนาคต

การขับเคลื่อนการศึกษาในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นคณะที่ปรึกษา เช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์กระแส  ชนะวงศ์  มีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ

กรอบแนวทางการขับเคลื่อนด้านการศึกษาภาพรวม

  1. การปฏิรูปครู โดยที่ผลการวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า “ครู” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการศึกษา การปฏิรูประบบครู เพื่อให้ได้ครู ดี เก่ง และมีคุณธรรม จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูขึ้น ซึ่งกรอบเพื่อดำเนินการแนวทางและมาตรการสำคัญ มีดังนี้

– ปรับระบบบริหารบุคคล เนื่องจากเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้ได้ครูและผู้บริหารที่เก่ง ดี มีคุณธรรม โดยต้องมีการปรับทั้งระบบ ได้แก่ การสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีความดี ความเก่งจากทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน และนักเรียนทุนให้มาเป็นครูได้

– ปรับระบบการผลิตและการพัฒนา โดยให้มีกระบวนการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู  ให้มีการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ โดยเน้นพัฒนาด้านสมรรถนะในการสอน จัดให้มีคูปองการพัฒนาครู

– ปรับเกณฑ์การโยกย้าย เพื่อให้ครูและผู้บริหารได้มีระยะเวลาในการพัฒนานักเรียน และโรงเรียนให้ก้าวหน้าอย่างเหมาะสม ซึ่งมีการดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์แล้ว

– จัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ระยะ 5-10 ปี  เพื่อบริหารจัดการในการกำหนดการลด/เพิ่ม กระจายครูที่เหมาะสมรวมทั้งวางระบบผลิตและพัฒนาและมาตรการจูงใจ แผนพัฒนาสมรรถนะ และความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ตลอดจนแนวทางการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิผล

– ปรับระบบการจูงใจ เพื่อดึงดูดและธำรงรักษาครูและผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถ ความดี ให้อยู่ในระบบ ตลอดจนให้เกิดระบบที่เป็นธรรมเช่นปรับระบบฐานเงินเดือนครู

  1. การปฏิรูปการเรียนรู้ โดยผลการวิจัยชี้ชัดว่า การศึกษาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ จึงมีแนวทางและมาตรการในการดำเนินการระยะต่อไป ดังนี้

– ส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามศักยภาพและความหลากหลายของผู้เรียน ตลอดจนเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานและคุณภาพแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ด้วยการส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ส่งเสริมการศึกษาทางเลือก ขยายผลต้นแบบ/รูปแบบที่ดีพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต โทรทัศน์เพื่อการศึกษา

– ขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระบวนการเรียนการสอน ที่เน้นความเป็นพลเมือง ประวัติศาสตร์ ระเบียบ วินัย ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ทักษะในศตวรรษที่ 21 อาชีพและภาษาอังกฤษ อย่างต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน

– จัดทำโครงการนำร่องโครงการปฏิรูประบบการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Education Reform Lab & Coaching Lab) เป็นการกระจายอำนาจลงสู่เขตพื้นที่การศึกษานำร่อง 20 เขต โรงเรียนแกนนำ 300 โรงเรียน และปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในสาระวิชาหลักให้สูงขึ้นกว่าเดิม ฯลฯ

  1. การเพิ่มและกระจายโอกาสอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง เท่าเทียม เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยมีแนวทาง ดังนี้

– พัฒนาเครือข่ายโรงเรียนให้เข้มแข็ง เพื่อช่วยกันยกระดับและพัฒนาคุณภาพ

– พัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรงเรียนชายขอบ ตลอดจนแก้ไขปัญหาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก

– เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม เช่น ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาร่วมกับภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) เพื่อสนับสนุนการกระจายโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ขอความร่วมมือให้ทุกสื่อจัดรายการเพื่อการศึกษาในช่วงที่เหมาะสม

– ปรับระบบกองทุนต่างๆ ทั้งระบบ เพื่อส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสและการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง เช่น วิจัยให้ได้ข้อสรุปในเรื่องระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ระบบการจัดสรรทุน เพื่อให้มีเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อน และได้พัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในภาพรวม

  1. การปฏิรูประบบการบริหารจัดการศึกษา โดยที่การบริหารจัดการเป็นแกนในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ในระยะปานกลาง และระยะยาวต้องมีแนวทางและมาตรการเพื่อขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องได้แก่

– ขยายผลการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ โดยใช้โรงเรียน/พื้นที่เป็นฐานให้ครอบคลุมมากขึ้น และเพิ่มอิสระในการบริหาร สามารถตรวจสอบได้

– ปรับระบบการบริหารการอาชีวศึกษาให้มีเอกภาพ เนื่องจากปัจจุบันอาชีวศึกษาเอกชนและอาชีวศึกษาของรัฐ แยกการบริหารจัดการ ไม่มีความเชื่อมโยงกันทำให้ยังมีความลักลั่น

– แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง สร้างความโปร่งใสในแวดวงการศึกษา พร้อมปลูกจิตสำนึกสร้างวัฒนธรรมธรรมาภิบาล

  1. การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อให้การผลิตและพัฒนากำลังคนสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ ควรมีแนวทางและมาตรการ ดังนี้

– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้มีส่วนร่วมพัฒนาโรงเรียนดี-อาชีวะดี-ครูดี-สื่อดี และเรื่องอื่นๆให้มากขึ้น อันจะส่งผลให้การผลิตกำลังคนเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น

– ขยายผลการจัดหลักสูตรทวิภาคี และสหกิจศึกษา โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการสนับสนุนโรงเรียนในโรงงาน เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้นและมีความเป็นมาตรฐานสากล

– จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) โดยส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการอาชีวศึกษาอย่างจริงจัง

– จัดให้มีหลักสูตรทักษะอาชีพควบคู่สามัญในระดับมัธยมศึกษา อันจะช่วยเพิ่มกำลังแรงงานระดับกลาง และเป็นการเพิ่มช่องทางแก่เด็กและเยาวชนที่มีเป้าหมายเข้าสู่ระบบแรงงานระดับกลางด้วย

– พัฒนาระบบค่าตอบแทนตามสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ และเร่งใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้ค่าตอบแทนสะท้อนสมรรถนะของแรงงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบการจ้างงาน และส่งเสริมค่านิยมในการเรียนสายอาชีพ

– ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ตลอดจนเชื่อมโยงการวิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ

– ผลิตและพัฒนาอาจารย์ระดับปริญญาเอกเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการระดับสูง

– ผลิตกำลังคนตอบสนองความต้องการเร่งด่วนและการพัฒนาประเทศ โดยร่วมมือผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษาตอบสนองภาคการผลิตและบริการในสาขาจำเป็นและขยายโอกาสทางการศึกษา และยกระดับแรงงานไทยร่วมกับสถานประกอบการ โดยพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ

– ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา โดยเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจระบบการเรียนอาชีวศึกษา โอกาสในการทำงาน และความก้าวหน้าของอาชีพในรูปแบบต่างๆ  เปิดสอนหลักสูตรหรือฝึกอาชีพระยะสั้นในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้มีการเข้าเรียนต่อในสายอาชีวศึกษา และเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต

– ยกระดับความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีศักยภาพให้มากขึ้น โดยจัดทำความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา พัฒนาทักษะวิชาชีพกับประเทศเพื่อนบ้าน

  1. การปรับระบบการใช้ ICT เพื่อการศึกษาโดยที่ปัจจุบันระบบ ICT มีความก้าวหน้าและมีผลต่อการเรียนรู้อย่างมาก ในระยะต่อไปควรมีแนวทางและมาตรการเพื่อขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

– การจัดให้มีระบบ BOI การศึกษา เพื่อยกเว้นภาษี-อากรการนำเข้าอุปกรณ์ สื่อเพื่อการศึกษา

– ขยายผลระบบ Free Wifi ในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัดเวลา และสถานที่

– พัฒนากองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ

  1. การพัฒนาการศึกษาระหว่างประเทศ โดยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกลุ่มประเทศในอาเซียนในระดับภูมิภาค ด้วยการจัดทำแผน กรอบแนวการดำเนินงานความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ ในการเสริมสร้างคุณภาพและโอกาสทางการศึกษา การเคลื่อนย้ายพรมแดน การจัดการศึกษาให้เป็นสากล

ที่มา : moe
โดย : กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี

สมศ.ย้ำเกณฑ์ประเมินคุณภาพต้องยึดตามมาตรฐาน ไม่ตามแต่สากล พร้อมหนุนทปอ.หากจะพัฒนา

สมศ

Print Friendly

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษาเอง โดยจะส่งรายละเอียดให้ สมศ.พิจารณาภายใน 15 มกราคมนั้น ว่า ที่ผ่านมา สมศ. ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาลุกขึ้นมากำหนดตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การประเมินด้วยตนเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหาก ทปอ.จะดำเนินการก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สำคัญคือตัวบ่งชี้ และเกณฑ์ที่กำหนดต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ต้นสังกัดกำหนดด้วย ไม่ใช่ยึดตามแต่สากล โดยเฉพาะเกณฑ์ประเมินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของหน่วยงานต่างๆ เพราะเน้นประเด็นบางด้านเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ ทปอ. จะกำหนดเกณฑ์การประเมินเอง แต่ในส่วนผู้ประเมินยืนยันว่าควรเป็นหน่วยงานกลาง ที่ไม่ได้อยู่สังกัดเดียวกับผู้รับการประเมิน

“ผมคาดว่าตัวบ่งชี้ และเกณฑ์ที่ ทปอ.จะกำหนดขึ้นมานั้น คงหนีไม่พ้นองค์ประกอบหลักของการประเมินคุณภาพที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เช่น คุณภาพศิษย์ อาจารย์ และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งเมื่อ ทปอ.ส่งเกณฑ์มาให้ สมศ.ตามที่ระบุ ภายในวันที่ 15 มกราคม ก็จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ. ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ นอกจากนี้ต้องเสนอให้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณาร่วมด้วย”ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตา เชื่อว่าหากตัวบ่งชี้ และเกณฑ์ที่ ทปอ.กำหนดมามีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่ สมศ. ดำเนินการอยู่ ก็คิดว่าน่าจะไม่มีปัญหาอะไร และคงจะนำมาใช้ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งจะเริ่มประเมินในวันที่ 1 ต.ค.2558

ที่มา : ผู้จัดการ

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สพป.ระยอง เขต 2 เรียกบรรจุครูผู้ช่วยครั้งที่ 9 จำนวน 10 อัตรา – ครูระยอง

Print Friendly

สพป.ระยอง เขต 2 เรียกบรรจุครูผู้ช่วยครั้งที่ 9 จำนวน 10 อัตรา รายงานตัวบรรจุวันที่ 6 มกราคม 2558

สพป.ระยอง เขต 2 เรียกบรรจุครูผู้ช่วยครั้งที่ 9 จำนวน 10 อัตรา

สพป.ระยอง เขต 2 เรียกบรรจุครูผู้ช่วยครั้งที่ 9 จำนวน 10 อัตรา

>> รายละเอียด <<

บวงสรวงหนังสั้น”ครูพันธุ์ใหม่”หวังเสริมการพัฒนาจากล่างขึ้นบน – ครูระยอง

Print Friendly

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันผลักดันภาพยนตร์ สะท้อนปัญหา และแนวทางปฏิรูปการศึกษาไทย ต่อยอดจากจากเวทีเสวนา 4 ภาค ที่กระทรวงศึกษาธิการ บริเวณลานหน้ากระทรวงศึกษาธิการมีพิธีบวงสรวงเปิดตัวภาพยนตร์สั้นเรื่อง ครูพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อสื่อให้รู้ถึงแก่นแท้ของการศึกษาไทยที่ต้องพัฒนาจากล่างขึ้นบน การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คุณภาพชีวิตครู ที่จะต้องนำมาบูรณาการร่วมมกัน โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบง่ายมีการจัดพิธีในแบบพราหมณ์ เพื่อบวงสรวงเปิดกล้องภาพยนตร์สั้นเรื่องครูพันธุ์ใหม่ที่ เบื้องต้นได้นักแสดงเป็นอดีตดัชชี่บอยปี 2013 นายภานุพงษ์ สมบัติพล มาเป็นนักแสดงหลัก และนักแสดงตัวน้อยจากจังหวัดร้อยเอ็ด

ภาพจาก มติชน

ดร.อธิปรัชญ์ ภัควัฒภักดี ที่ปรึกษากิติมศักดิ์คณะกร ธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติ ตัวแทนนายตวง อันทะไชย ประธานกรรมา ธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติ กล่าวว่า ภาพยนตร์ ดังกล่าวเกิดจากการจัดเวทีเสวนา 4 ภาค เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ที่รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาจาก 7 ประชาคมการศึกษา ซึ่งเป็นการต่อยอดจากเวทีเสวนา เพื่อสะท้อนปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาในระบบการศึกษาไทย ที่จะต้องนำเด็กมาเป็นศูนย์กลาง และแก้ปัญหาจากโรงเรียนโดยเน้นที่ครูผู้สอน ซึ่งภาพยนตร์ดังกล่าว เกิดจากจิตอาสานักแสดงเป็นครูฝึกสอนจริงที่รับรู้ปัญหาการศึกษาไทยในพื้นที่ ซึ่งรายได้การจัดทำภาพยนตร์ส่วนหนึ่งมาจากจิตอาสา นักแสดงไม่มีค่าตัว

ขณะที่นางธัญวรรณ เหมพนม ผู้กำกับ เปิดเผยว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวจะสะท้อนแนวทางปฏิรูปการศึกษา ว่าครูต้องทำตัวเช่นใด และจะเป็นกานสะท้อนปฏิสัมพันธ์ของเด็ก กับครู ว่าจะเป็นอย่างไร และจะเป็นการกระตุ้นให้สังคมรู้ว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นของทุกคนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในวันที่ 16 มกราคมนี้ จะมีการเปิดตัวตอนแรกซึ่งจะเป็นการแนะนำตัวละคร ส่วนเรื่องเต็มทั้ง 13 ตอนนั้น ต้องรอข้อสรุปที่ตกผลึกจากคณะกรรมาธิการเสียก่อน ซึ่งอาจต้องมีการเพิ่มนักแสดง ส่วนเรื่องงบประมาณในการจัดสร้าวภาพยนตร์ขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด

ที่มา : มติชน

Our partners from Mexico:
Productos de salud
Carlos Torre