“ปฏิรูปการศึกษา” คือหนึ่งในนโยบาย และภารกิจหลักเร่งด่วน ของคณะรัฐบาลเฉพาะกิจชุดนี้ และท่ามกลางการทำงานเพื่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างเข้มข้นของคณะทำงานในส่วนต่าง ๆ ของรัฐบาล มีกระแสข่าวที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยสะท้อนออกมาเป็นโจทย์ให้กับคณะทำงาน และสังคมได้รับรู้เป็นระยะ ๆ
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานของครูผู้สอน หรือนักศึกษาที่จบการศึกษาออกมาไม่มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น หรือจบมาแล้วไม่สามารถทำงานตามที่องค์กรผู้จ้างงานคาดหวังได้ ตลอดจนการวิจารณ์ของสังคมเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนท่องจำเพื่อการสอบแข่งขันจนผู้ปกครองต้องส่งลูกหลานเรียนพิเศษจนสถาบันการศึกษาประเภทติวเตอร์เติบโตรับทรัพย์จนร่ำรวยกันไปตาม ๆ กัน
กระทั่งมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา
ปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความท้าทาย ที่คณะปฏิรูปการศึกษาต้องขบคิด และใช้เวลาในการแก้ไขอย่างเป็นระบบ
นี่ยังไม่นับรวมปัญหาระดับโครงสร้างของภาคการศึกษาที่ไม่สามารถผลิตนักศึกษาเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่นับวันจะเริ่มเห็นผลของปัญหาชัดเจนมากขึ้น
ผมเคยนำเสนอข้อมูลประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานแต่ละระดับการศึกษาตั้งแต่ปี 2554-2557 จากกระทรวงแรงงานว่านักศึกษาส่วนใหญ่จะศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีจึงเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเป็นกลุ่มวิชาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. แต่กลุ่มนี้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ
คำนวณตัวเลขโดยเฉลี่ยพบว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 25% ในขณะที่ระดับ ปวส. เข้าสู่ตลาดแรงงาน 50% ที่เหลืออีก 50% ศึกษาต่อให้ได้ระดับปริญญาตรี
สำหรับ 50% ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อทำงานสักระยะหนึ่งพยายามศึกษาต่อระดับปริญญาตรีภาคพิเศษช่วงหลังเลิกงานด้วยเวลาการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยจึงมีการเลือกเรียนที่ไม่ใช่สายวิชาชีพเดิมทั้งหมด
ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียกำลังคน ที่ไม่ตรงกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ
ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษา และภาคเอกชนอีกส่วนหนึ่งเริ่มตระหนักแล้วว่าระบบโครงสร้างการศึกษาของไทยนั้นกำลังกลับข้างกัน ระหว่างสายอาชีพกับสายสามัญ และต่างเสนอแนวทางต่าง ๆ ออกมา เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างประปราย ซึ่งในทรรศนะของผมมองว่าสิ่งที่หลาย ๆ ฝ่ายต่างช่วยกันคิดช่วยกันทำนั้นเป็นการเริ่มต้นและกระตุ้นความสนใจให้สังคมเริ่มหันมามองได้
แต่ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จและเป็นรูปธรรม รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษาของประเทศต้องมองเห็นภาพนี้เหมือนกันและเข้ามาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมหรือเป็นระดับนโยบาย เพราะมีรายละเอียด และปัญหาที่เข้ามาท้าทายกำลังความสามารถของทุกภาคส่วน และไม่ได้เป็นภารกิจที่จะทำให้สำเร็จได้โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 หรือ 2 ปี
ซึ่งระยะเวลา 10 ปีอาจจะยังดูว่าน้อยเกินไปเสียด้วยซ้ำ สำหรับปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคม และแวดวงการศึกษาของไทยมานานกว่า 20 ปีในเรื่องนี้
โดยเฉพาะความท้าทายใน 2 ประเด็นหลักต่อไปนี้
เรื่องแรกคือ การเอาชนะและก้าวข้ามค่านิยม ของผู้ปกครองและตัวนักศึกษาเอง ที่ไม่ต้องการเรียนอาชีวะหรือสายอาชีพ เพราะมีทัศนคติว่าการเรียนสายนี้ ถูกสังคมมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองของตลาดแรงงาน หรือ เด็กนักเรียนที่เลือกเรียนในสายนี้มีศักดิ์ศรีที่ด้อยกว่าเรียนสายสามัญและมุ่งสู่ปริญญาตรี
อย่างไรก็ตามหากเราสามารถก้าวข้ามปัญหาเรื่องค่านิยมนี้ไปได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างคุณค่าให้การเรียนสายอาชีวะว่ามีความเท่าเทียมกับการเรียนสายสามัญ และสังคมเกิดความเข้าใจและยอมรับได้แล้วก็จะต้องมาขบคิดกันต่อใน ประเด็นสองก็คือ การจัดการกลับด้านอย่างไร ระหว่างนักเรียนมัธยมปลายที่มีอยู่ขณะนี้นับสี่แสนคน กับนักเรียน ปวช. ที่มีอยู่ราวสองแสนคน
เช่นหากประเทศมีนโยบาย และต้องการวางแผนให้นักเรียนเปลี่ยนมาเรียนสายอาชีวศึกษา หรือสายวิชาชีพ ประมาณ 65%-70% และมีจำนวนนักเรียนในระดับมัธยมปลายประมาณ 30%-35% ก็เท่ากับว่าต้องมีการย้ายนักเรียนจากฝั่งมัธยมปลายประมาณสองแสนคนให้ไปอยู่ในฝั่งของการเรียนสายอาชีพเพื่อให้อาชีวศึกษามีนักเรียนสี่แสนคนแทน
คำถามคือจะย้ายให้นักเรียนมาเรียนในสายอาชีพได้อย่างไร ?
ไม่ง่ายนะครับ ภายใน 1 ปีไม่มีทางทำได้แน่ ในความเห็นของผมคิดว่าใช้เวลาในการทำเรื่องพวกนี้ 10 ปีอาจจะยังไม่เสร็จ
เพราะในเชิงปฏิบัติ ถ้าเริ่มโอนให้นักเรียนไปเรียนสายอาชีพปีละประมาณสองหมื่นคน สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับนักเรียนอาชีวะที่เพิ่มขึ้นปีละสองหมื่นคนคือโรงเรียนอาชีวศึกษา จะมีครู มีเครื่องมือฝึกปฏิบัติและสาธารณูปโภคต่าง ๆ รองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นได้ทันท่วงทีหรือไม่ โดยเฉพาะครูที่สอนในสายอาชีวศึกษาหรือสอนวิชาชีพ
งานนี้รัฐบาลต้องวางแผนยาวเพราะการเพิ่มครูไม่ใช่เรื่องง่าย ครูกลุ่มนี้จะมาจากไหน และต้องผลิตครูเท่าไหร่ถึงจะพอต่อการรองรับนักเรียนสายอาชีวะที่เพิ่มขึ้นปีละ 20,000 คน สถาบันการศึกษาที่สอนสายอาชีพเดิมอย่าง กลุ่ม 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กับ 3 พระจอมเกล้า จะผลิตครูเข้าสู่อาชีวศึกษาให้ทันหรือไม่ ทางด้านกระทรวงศึกษาธิการได้มีการวางแผนการเพิ่มอัตราครูสายอาชีวศึกษาไว้รองรับแล้วหรือยัง
แค่สองประเด็นหลักนี้ไม่นับรวมประเด็นปลีกย่อยอื่น ๆ ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีและต้องใช้การร่วมมือจากหลาย ๆ หน่วยงาน นี่คือความท้าทายที่แท้จริงของคณะปฏิรูปการศึกษา
โดย ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์