สมศ.ชี้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานน่าห่วงที่สุด

Print Friendly

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ทั้งสามรอบ ตั้งแต่ปี 2544-2557 พบว่ามีจำนวนสถานศึกษาที่ได้รับผลการประเมินคงที่ ทั้ง 3 รอบ ดังนี้

  • สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลประเมินระดับดี-ดีมาก จำนวน 4,420 แห่ง จากทั้งหมด 31,375 แห่ง
  • สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาที่มีผลระดับดี-ดีมาก จำนวน 254 แห่ง จาก749 แห่ง
  • ระดับอุดมศึกษาที่มีระดับดี-ดีมาก จำนวน153 แห่ง จาก 260 แห่ง

ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ผลการวิเคราะห์ พบว่า ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด โดยกลุ่มโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินทั้ง 3 รอบ มีจำนวน 1,755 แห่ง และกลุ่มที่ผ่านการประเมิน รอบ 2 แต่รอบสามไม่ผ่านการประเมิน มีจำนวน 9,418 แห่ง ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมทั้งประเทศได้ชัดเจนว่า ต้นสังกัดของสถานศึกษาจำเป็นต้องหาสาเหตุและวางแนวทางแก้ไขเร่งด่วนที่สุด และเมื่อวิเคราะห์ลงลึกที่พบว่าสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการโยกย้ายของผู้บริหาร หรือครู ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าคุณภาพของสถานศึกษาผูกติดกับตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบ ทั้งๆที่สถานศึกษาควรสร้างคุณภาพในเชิงระบบให้เกิดขึ้น แม้จะเปลี่ยนตัวบุคคล คุณภาพไม่ควรจะต่ำลง

“ ปี 2558 ระบบการศึกษาไทยต้องสร้างค่านิยมการประเมินรอบด้าน โดยการประเมินรอบสี่ที่จะเริ่มในปี 2559-2563 ผมคาดหวังให้สถานศึกษาได้รับรองมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสะท้อนศักยภาพการศึกษาของไทยในระดับสากล และเป็นหลักประกันว่าเด็กไทยทุกคนจะได้รับการศึกษาในสถานศึกษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการจัดตั้ง สมศ. ทำให้สถานศึกษาเกิดการรับรู้ ผู้บริหาร ครู เริ่มตื่นตัว มีความเข้าใจการประเมินที่ดีขึ้น ได้สะท้อนผลด้านจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา เสนอแนะทิศทางสู่เป้าหมายการจัดการศึกษา เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาให้แก่สถานศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างคนคุณภาพให้แก่ประเทศ.

ที่มา : เดลินิวส์

สกศ.ผุดแนวคิด แยกใบประกอบวิชาชีพครู′ประถม-มัธยม′

ครูระยอง-บัณฑิต ครู

Print Friendly

นายพินิติ  รตะนานุกูล  เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาการผลิตครูและมีแนวคิดว่าควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  โดยแยกเป็นระดับประถม มัธยม รวมถึงเพิ่มช่องทางการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสำหรับผู้ที่จบในสาขาอื่นให้สามารถมาเป็นครูได้

สาเหตุที่ควรจะต้องแยกใบอนุญาตฯ เพราะที่ผ่านมา สถาบันผลิตครู จะเปิดสอนโดยแยกออกเป็นสาขาวิชาเอกต่าง ๆ อาทิ วิชาเอกคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ  สังคมศึกษา เป็นต้น ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ต้องเรียกบรรจุครูตามวิชาเอก ทำให้ครูไม่มีความถนัดที่จะสอนข้ามเอก โดยเฉพาะในระดับประถม ที่เด็กยังไม่จำเป็นต้องเรียนลงลึกเป็นรายวิชา  จึงต้องการครูที่สามารถเชื่อมโยงศาสตร์ต่าง ๆ มาใช้ในการสอนได้ เพื่อให้เด็กเห็นภาพชัดเจน เกิดความเข้าใจ ส่วนระดับมัธยม สามารถใช้ครูที่จบในวิชาเอกต่าง ๆ ได้ตามปกติ 

“ต่อไปผู้ที่จะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะต้องผ่านการสอบตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด  ไม่ใช่ได้โดยอัตโนมัติเช่นปัจจุบัน  แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงแนวคิด เพราะต้องหารือกับคุรุสภาและสถาบันผลิตครู รวมถึงดูแนวโน้มการปรับหลักสูตรว่าจะมีความสอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่  แต่เท่าที่ดูขณะนี้ ทุกฝ่ายค่อนข้างมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน”

ที่มา : มติชน

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ความท้าทาย ของคณะปฏิรูปการศึกษา

Print Friendly

“ปฏิรูปการศึกษา” คือหนึ่งในนโยบาย และภารกิจหลักเร่งด่วน ของคณะรัฐบาลเฉพาะกิจชุดนี้ และท่ามกลางการทำงานเพื่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างเข้มข้นของคณะทำงานในส่วนต่าง ๆ ของรัฐบาล มีกระแสข่าวที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยสะท้อนออกมาเป็นโจทย์ให้กับคณะทำงาน และสังคมได้รับรู้เป็นระยะ ๆ

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานของครูผู้สอน หรือนักศึกษาที่จบการศึกษาออกมาไม่มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น หรือจบมาแล้วไม่สามารถทำงานตามที่องค์กรผู้จ้างงานคาดหวังได้ ตลอดจนการวิจารณ์ของสังคมเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนท่องจำเพื่อการสอบแข่งขันจนผู้ปกครองต้องส่งลูกหลานเรียนพิเศษจนสถาบันการศึกษาประเภทติวเตอร์เติบโตรับทรัพย์จนร่ำรวยกันไปตาม ๆ กัน

กระทั่งมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา

ปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความท้าทาย ที่คณะปฏิรูปการศึกษาต้องขบคิด และใช้เวลาในการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

นี่ยังไม่นับรวมปัญหาระดับโครงสร้างของภาคการศึกษาที่ไม่สามารถผลิตนักศึกษาเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่นับวันจะเริ่มเห็นผลของปัญหาชัดเจนมากขึ้น

ผมเคยนำเสนอข้อมูลประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานแต่ละระดับการศึกษาตั้งแต่ปี 2554-2557 จากกระทรวงแรงงานว่านักศึกษาส่วนใหญ่จะศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีจึงเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเป็นกลุ่มวิชาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. แต่กลุ่มนี้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ

คำนวณตัวเลขโดยเฉลี่ยพบว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 25% ในขณะที่ระดับ ปวส. เข้าสู่ตลาดแรงงาน 50% ที่เหลืออีก 50% ศึกษาต่อให้ได้ระดับปริญญาตรี

สำหรับ 50% ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อทำงานสักระยะหนึ่งพยายามศึกษาต่อระดับปริญญาตรีภาคพิเศษช่วงหลังเลิกงานด้วยเวลาการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยจึงมีการเลือกเรียนที่ไม่ใช่สายวิชาชีพเดิมทั้งหมด

ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียกำลังคน ที่ไม่ตรงกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ

ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษา และภาคเอกชนอีกส่วนหนึ่งเริ่มตระหนักแล้วว่าระบบโครงสร้างการศึกษาของไทยนั้นกำลังกลับข้างกัน ระหว่างสายอาชีพกับสายสามัญ และต่างเสนอแนวทางต่าง ๆ ออกมา เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างประปราย ซึ่งในทรรศนะของผมมองว่าสิ่งที่หลาย ๆ ฝ่ายต่างช่วยกันคิดช่วยกันทำนั้นเป็นการเริ่มต้นและกระตุ้นความสนใจให้สังคมเริ่มหันมามองได้

แต่ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จและเป็นรูปธรรม รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษาของประเทศต้องมองเห็นภาพนี้เหมือนกันและเข้ามาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมหรือเป็นระดับนโยบาย เพราะมีรายละเอียด และปัญหาที่เข้ามาท้าทายกำลังความสามารถของทุกภาคส่วน และไม่ได้เป็นภารกิจที่จะทำให้สำเร็จได้โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 หรือ 2 ปี

ซึ่งระยะเวลา 10 ปีอาจจะยังดูว่าน้อยเกินไปเสียด้วยซ้ำ สำหรับปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคม และแวดวงการศึกษาของไทยมานานกว่า 20 ปีในเรื่องนี้

โดยเฉพาะความท้าทายใน 2 ประเด็นหลักต่อไปนี้

เรื่องแรกคือ การเอาชนะและก้าวข้ามค่านิยม ของผู้ปกครองและตัวนักศึกษาเอง ที่ไม่ต้องการเรียนอาชีวะหรือสายอาชีพ เพราะมีทัศนคติว่าการเรียนสายนี้ ถูกสังคมมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองของตลาดแรงงาน หรือ เด็กนักเรียนที่เลือกเรียนในสายนี้มีศักดิ์ศรีที่ด้อยกว่าเรียนสายสามัญและมุ่งสู่ปริญญาตรี

อย่างไรก็ตามหากเราสามารถก้าวข้ามปัญหาเรื่องค่านิยมนี้ไปได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างคุณค่าให้การเรียนสายอาชีวะว่ามีความเท่าเทียมกับการเรียนสายสามัญ และสังคมเกิดความเข้าใจและยอมรับได้แล้วก็จะต้องมาขบคิดกันต่อใน ประเด็นสองก็คือ การจัดการกลับด้านอย่างไร ระหว่างนักเรียนมัธยมปลายที่มีอยู่ขณะนี้นับสี่แสนคน กับนักเรียน ปวช. ที่มีอยู่ราวสองแสนคน

เช่นหากประเทศมีนโยบาย และต้องการวางแผนให้นักเรียนเปลี่ยนมาเรียนสายอาชีวศึกษา หรือสายวิชาชีพ ประมาณ 65%-70% และมีจำนวนนักเรียนในระดับมัธยมปลายประมาณ 30%-35% ก็เท่ากับว่าต้องมีการย้ายนักเรียนจากฝั่งมัธยมปลายประมาณสองแสนคนให้ไปอยู่ในฝั่งของการเรียนสายอาชีพเพื่อให้อาชีวศึกษามีนักเรียนสี่แสนคนแทน

คำถามคือจะย้ายให้นักเรียนมาเรียนในสายอาชีพได้อย่างไร ?

ไม่ง่ายนะครับ ภายใน 1 ปีไม่มีทางทำได้แน่ ในความเห็นของผมคิดว่าใช้เวลาในการทำเรื่องพวกนี้ 10 ปีอาจจะยังไม่เสร็จ

เพราะในเชิงปฏิบัติ ถ้าเริ่มโอนให้นักเรียนไปเรียนสายอาชีพปีละประมาณสองหมื่นคน สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับนักเรียนอาชีวะที่เพิ่มขึ้นปีละสองหมื่นคนคือโรงเรียนอาชีวศึกษา จะมีครู มีเครื่องมือฝึกปฏิบัติและสาธารณูปโภคต่าง ๆ รองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นได้ทันท่วงทีหรือไม่ โดยเฉพาะครูที่สอนในสายอาชีวศึกษาหรือสอนวิชาชีพ

งานนี้รัฐบาลต้องวางแผนยาวเพราะการเพิ่มครูไม่ใช่เรื่องง่าย ครูกลุ่มนี้จะมาจากไหน และต้องผลิตครูเท่าไหร่ถึงจะพอต่อการรองรับนักเรียนสายอาชีวะที่เพิ่มขึ้นปีละ 20,000 คน สถาบันการศึกษาที่สอนสายอาชีพเดิมอย่าง กลุ่ม 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กับ 3 พระจอมเกล้า จะผลิตครูเข้าสู่อาชีวศึกษาให้ทันหรือไม่ ทางด้านกระทรวงศึกษาธิการได้มีการวางแผนการเพิ่มอัตราครูสายอาชีวศึกษาไว้รองรับแล้วหรือยัง

แค่สองประเด็นหลักนี้ไม่นับรวมประเด็นปลีกย่อยอื่น ๆ ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีและต้องใช้การร่วมมือจากหลาย ๆ หน่วยงาน นี่คือความท้าทายที่แท้จริงของคณะปฏิรูปการศึกษา

โดย ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ไฟเขียวปรับเกณฑ์ย้ายรอง ผอ.เขต ขอชำนาญการพิเศษเน้นผลผู้เรียน

โรงเรียน - ครูระยอง

Print Friendly

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรฯ เลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน โดยมีสาระสำคัญ อาทิ คุณสมบัติผู้ขอรับการประเมิน สามารถยื่นคำขอได้ก่อนที่จะดำรงวิทยฐานะครบตามที่กำหนดในมาตรฐานวิทยฐานะได้ก่อนไม่เกิน 2 ปี ผ่านการพัฒนาจากส่วนราชการ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎี ส่วนที่ 2 ประสบการณ์วิชาชีพ ต้องได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีวินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ จากผู้บังคับบัญชาชั้นต้น การพัฒนางานและผลการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงาน พิจารณาจากความสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำ และผลที่เกิดกับผู้เรียนหรือคุณภาพผู้เรียน โดยกำหนดให้ยื่นคำขอได้ปีละ1 ครั้ง 2 ช่วงเวลา คือ ก่อนภาคเรียนที่ 1 และก่อนภาคเรียนที่ 2 ไม่น้อยกว่า 90 วัน เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้าย รองผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สังกัด สพฐ. ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.4/ ว16 ลงวันที่ 5 ก.ย.56 ดังนี้ 1.กรณีย้ายเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ ให้ย้ายรอง ผอ.สพท.ประเภทตำแหน่งที่มีเงื่อนไขไปดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สพท.ประเภทตำแหน่งโครงสร้างที่ว่างอยู่ได้ 2.กำหนดสัดส่วนของตำแหน่งรองผอ.สพท.ประเภทตำแหน่งโครงสร้างที่ว่าง เพื่อใช้รับย้าย และใช้ในการคัดเลือกบุคคลมาบรรจุและแต่งตั้งในสัดส่วนที่เท่ากัน 50:50 ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์นี้จะทำให้ตำแหน่งรอง ผอ.สพท.ในประเภทตำแหน่งที่มีเงื่อนไขซึ่งมีจำนวนมากลดลงได้เร็วขึ้น เพราะจะยุบเลิกเมื่อมีตำแหน่งว่างลงและเปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา : สยามรัฐ

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

แนะรัฐเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กยากจน

ประเมินผลนักเรียน - ครูระยอง

Print Friendly

ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาถึง 4.2 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ได้คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น เห็นได้จากผลสะท้อนของการทดสอบระดับนานาชาติ เช่น โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซ่า และผลการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือ ทิมส์ ที่พบว่า ผลการเรียนของเด็กไทยในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีพัฒนาการต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จึงอนุมานได้ว่าปัญหาคุณภาพการศึกษาของไทยไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนงบฯ แต่อยู่ที่ความด้อยประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรมากกว่า

“ เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่า เด็กไทยยังอ่อนใน 3 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่าเด็กไทยจะใช้เวลาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนถึง 6 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่านักเรียนในประเทศเกาหลีใต้ แต่ผลการสอบระดับนานาชาติเด็กไทยกลับได้คะแนนต่ำกว่า ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการขาดแคลนครูที่มีทักษะในสาขาวิชาดังกล่าวด้วย ” ดร.ตรีนุช กล่าวและว่า นอกจากนี้ไทยยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา โดยเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี จะมีคะแนนสอบดีกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ในปี 2553 ซึ่งมีนักเรียนในสังกัด 7.7 ล้านคน โดยนักเรียนจำนวนครึ่งหนึ่งมีฐานะยากจน และได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมเพียงปีการศึกษาละ 1,000 บาทต่อหัว ซึ่งเงินจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอต่อการยกระดับการศึกษาของเด็กยากจน

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแต่ละวิชาใหม่ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา นอกจากนี้ควรจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนยากจนเพิ่มเติม เพิ่มความรับผิดชอบของผู้อำนวยการโรงเรียน และครู ต่อผลการเรียนของเด็กให้มีผลสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น และปรับเปลี่ยนการผลิตครู และคัดเลือกครูที่มีคุณภาพ ด้วยการคัดครองบุคลากรที่เก่งเข้าสู่ระบบ และเป็นไปตามความต้องการของโรงเรียน ขณะเดียวกันต้นสังกัดที่ทำหน้าที่ผลิตครูรุ่นใหม่ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการฝึกครูให้สอนได้หลากหลายวิชา โดยเฉพาะวิชาหลัก สิ่งนี้จะสามารถตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนครูในวิชาหลักลงได้.

ที่มา : เดลินิวส์

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สั่งองค์การค้าฯ ทำแผนพิมพ์แบบฝึกหัดแยกตำรา เสนอ ศธ.รื้อ กก.ไกล่เกลี่ยฟ้อง “สมมาตร” – ครูระยอง

Print Friendly

มติบอร์ด สกสค. ให้ยกเลิกตั้ง กก. ไกล่เกลี่ยกรณีองค์การค้าของคุรุสภา ยื่นฟ้อง “สมมาตร” และพวกรวม 5 ราย ตั้งแต่ปี 42 เหตุเรื่องผ่านมานานนับ 10 ปี พร้อมตั้ง เลขาธิการ ก.ค.ศ. มาเป็นประธาน กก. สอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวใหม่ พร้อมสั่งให้ทำแผนจัดพิมพ์ตำราเรียนมาเสนอ “สุทธศรี” เผย นายกฯ แนะพิมพ์ตำราและแบบฝึกหัดแยกกัน ฟาก องค์การค้า สกสค. ดอดพบทีมงาน “สุรเชษฐ์” ยื่นข้อเสนอขอแยกตัวจาก สกสค.

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการตั้งกรรมการไกล่เกลี่ยกรณีองค์การค้าของคุรุสภา (ชื่อเดิม) ซึ่งปัจจุบันคือ องค์การค้าของ สกสค. มอบหมายให้อัยการสูงสุดเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง นายสมมาตร มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การ สกสค. และผู้เกี่ยวข้องรวม 5 คน ข้อหา “เบียดบังทรัพย์สินขององค์การค้าฯประมาณ 250 ล้านบาท มาเป็นของตนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.องค์การค้าของคุรุสภา ตั้งแต่ปี 2542 เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแทน โดยมี นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ตั้งกรรมการตรวจสอบการเบิกจ่ายที่นอกเหนือจากระเบียบราชการ เพื่อนำเงินคืนคลังตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือทวงถาม กรณีอดีตบอร์ด สกสค. ให้มีการักษาการ ผอ.องค์การค้าฯ โดยมี นายสมยศ ศิริบรรณ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นประธาน

ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ขอให้องค์การค้าฯ ทำแผนการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2558 มารายงานให้ บอร์ด สกสค. รับทราบในการประชุมนัดต่อไป เพื่อจะได้วางแผนและให้สามารถจัดส่งหนังสือไปถึงมือนักเรียนทันก่อนเปิดภาคเรียนได้ รวมถึงได้ขอให้ สพฐ. กำชับให้โรงเรียนสั่งซื้อตามแผนที่กำหนดไว้ด้วย ที่สำคัญ มีการย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากมาว่า อยากให้องค์การค้าฯ พิมพ์หนังสือเรียนและแบบฝึกหัดแยกออกจากกัน เพราะอยากให้เด็กทำแบบฝึกหัดขีด เขียน ได้อย่างเต็มที่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนสหภาพแรงงานองค์การค้าฯและ นายสมมาตร มีศิลป์ ผอ.องค์การค้าฯ ได้เข้าพบทีมที่ปรึกษาของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งกำกับดูแลองค์การค้าฯ เพื่อรายงานการวางแผนพิมพ์หนังสือแบบเรียนปี 2558 และได้ยื่นข้อเรียกร้องที่จะขอแยกออกจากการกำกับดูแลของ สกสค. ด้วย

ที่มา : ผู้จัดการ

สพฐ.ระดมสมองผู้รู้ด้านการศึกษา เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน

โรงเรียน - ครูระยอง

Print Friendly

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผย ถึงการจัดการประชุมเสวนาแนวทางการปฏิรูปการศึกษาขั้นฐาน เมื่อวัน 11 มกราคม 2558 ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร ว่า เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นที่ยอมรับ ดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติมากที่สุด จึงได้เชิญคณะอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานผู้บริหารระดับสูง และผู้เกี่ยวข้อง ระดมสมองร่วมเสวนากำหนดแนวทางการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2558-2564 ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายวางไว้ชัดเจนว่าจะได้แนวทางการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้น ฐานที่ครอบคลุมและมีความสมบูรณ์ ใน 4 ด้าน คือ

  1. การปฏิรูปการเรียนรู้ (หลักสูตรแกนกลาง ลดภาระงานครูพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ทักษะ เนื้อหา คุณลักษณะนักเรียนศตวรรษที่ 21 การใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ และการวัดประเมินผล)
  2. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา(ระบบการบริหารบุคคล ระบบการผลิต สรรหา ส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู การพัฒนาครู การประเมินครู)
  3. การเพิ่ม-กระจายโอกาสและคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (การศึกษาทางไกล ระบบ ICT ทางการศึกษา การจัดทุนการศึกษา ระบบงบประมาณอุดหนุน คุณภาพการศึกษา การประกันคุณภาพภายใน ระบบดูแลช่วยเหลือ)
  4. ระบบการบริหารจัดการ (ปรับโครงสร้างการบริหาร การกระจายอำนาจ การบริหารสถานศึกษานิติบุคคล หลักธรรมาภิบาล การปรับระบบอุดหนุน งบประมาณพัฒนาสถานศึกษา ระบบ ICT เพื่อการบริหารจัดการ)

แนวทางการปฏิรูปทุกด้านจะส่งผลให้การศึกษาของไทยมีคุณภาพยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างไม่อายใคร

ที่มา : แนวหน้า

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สช.เร่งศึกษาปรับเงินอุดหนุนเอกชน รองรับระบบคูปอง-ลดค่าเล่าเรียน – ครูระยอง


สช.เร่งศึกษาปรับเงินอุดหนุนเอกชน รองรับระบบคูปอง-ลดค่าเล่าเรียน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)

Print Friendly

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) เปิดเผยว่าจากการประชุมคณะทำงานศึกษาแนวทางการให้การอุดหนุนของรัฐในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเอกชน ที่มีนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานฯเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีมติมอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช. )จัดทำแนวทางทางการให้การอุดหนุนของรัฐในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชนเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใน3 ส่วนได้แก่

  1. ปรับโครงสร้างเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนโรงเรียนเอกชนจากองค์ประกอบเดิมที่ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เงินอุดหนุนสมทบเป็นเงินเดือนครู และเงินอุดหนุนเพิ่มร้อยละ 10 ตามนโยบายเรียนฟรี ไปสู่รูปแบบการอุดหนุนด้านอุปสงค์ หรือระบบคูปองศึกษาในอนาคต เพื่อช่วยสร้างกระบวนการแข่งขันในเชิงคุณภาพให้แก่ระบบการศึกษา ในระยะยาวในระยะเริ่มแรกจะอุดหนุนในอัตราร้อยละ 70 ของอัตราค่าใช้จ่ายรายบุคคลสำหรับนักเรียนภาครัฐที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ศึกษาไว้ในปี 2553 เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนในปัจจุบันให้มีรายได้ที่เพียงพอสำหรับปรับคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐาน และให้ สกศ. คำนวณอัตราค่าใช้จ่ายรายบุคคลนักเรียนภาครัฐที่เป็นปัจจุบันในแต่ละปี เพื่อใช้เป็นฐานในการปรับอัตราเงินอุดหนุนให้สอดคล้องกับสภาพค่าใช้จ่ายที่แท้จริง
  2. การอุดหนุนในระยะต่อไปให้มีการเชื่อมโยงเงินอุดหนุนกับคุณภาพการจัดการศึกษา โดยกำหนดให้โรงเรียนที่จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ต้องมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)กำหนด และให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลนักเรียนไม่ให้เกิดความ ซ้ำซ้อนด้วย
  3. การเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ปกครองในระยะแรกให้โรงเรียนลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลงเท่ากับจำนวนที่ได้รับการอุดหนุนเพิ่มขึ้นในแต่ละครั้งด้วย

ที่มา : มติชน

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ประกาศปี 58 ปลอด นร.อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ “ณรงค์” ฟุ้ง! ทำได้จริง 110%

สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

Print Friendly

ศธ. ประกาศนโยบายปี 2558 เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ “ณรงค์” มั่นใจ 110% ลดปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ในทุกระดับชั้นได้แน่นอน จากข้อมูลปัจจุบันมีเด็ก ป.3 มีปัญหานี้อยู่ประมาณ 2.5 – 2.6 หมื่นคนทั่วประเทศ ย้ำเด็กที่โตขึ้นต้องอ่านเขียนคล่องและสื่อสารได้ พร้อมวาง 3 มาตรการให้ สพฐ.- เขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษา นำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลตามที่ประกาศไว้

ภาพจาก : กลุ่มประสัมพันธ์ สร.ศธ.

วันนี้ (12 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และผู้บริหาร สพฐ. แถลงข่าวประกาศนโยบาย ปี 2558 เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดย พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในปี 2558 นี้ ศธ. จึงได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งจากข้อมูล สพฐ. พบว่า ขณะนี้มีนักเรียนประมาณ 25,000 – 26,000 คน ที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในพื้นที่ชายแดน กลุ่มชาติพันธุ์ เด็กต่างด้าวที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงาน ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ในการสื่อสารหลัก ทำให้เมื่อเข้ามาสู่ระบบการศึกษาเด็กจึงประสบปัญหาในการเรียน และเมื่อเด็กอ่านเขียนไม่ได้ก็เป็นผลให้ไม่สามารถเรียนรู้ในวิชาอื่นๆ ได้ตรงนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็ก เพาะฉะนั้น การแก้ปัญหาอันดับแรก คือ ต้องทำให้นักเรียนทุกคนในระบบการศึกษา อ่านเขียนภาษาไทยได้และเข้าใจในสิ่งที่อ่านเขียน ถือเป็นหัวใจำคัญของการจัดการ ศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้ สพฐ. ประกาศนโยบายและกำหนดมาตรการเร่งรัดคุณภาพให้นักเรียนทุกระดับชั้นสามารถต้องอ่านออกเขียนได้ อ่านคล่อง เขียนคล่องและสื่อสารได้ มีการกำกับติดตามการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั้ง 225 เขตทั่วประเทศ ซึ่งต้องรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อ ศธ. 2. กำหนดให้ สพท. ดำเนินการประกาศโยบายแก่โรงเรียนในสังกัด ต้องมีข้อมูลการอ่านเขียนของนักเรียนทุกระดับชั้น เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนการพัฒนาเด็กร่วมกับโรงเรียน และสรุปข้อมูลดังกล่าวรายงานต่อ สพฐ. มีการนิเทศ จัดทำแผนงาน กิจกรรมให้ความช่วยเหฃือสถานศึกษาในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และรายงานความก้าวหน้าต่อ สพฐ. เป็นระยะ และ 3. สถานศึกษา ต้องกำหนดเป็นนโยบายสำคัญให้ครูและผู้เกี่ยวข้องดำเนินการทุกวิธีให้นักเรียนอ่านเขียนได้ตามมาตรฐานของหลักสูตร ปรับระบบบริหารจัดการให้ครูทุกคน ไม่เฉพาะครูวิชาภาษาไทย มีส่วนร่วมรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาอ่านเขียนของนักเรียน มีแผนซ่อมเสริมนักเรียนทุกคนที่มีปัญหา โดยการซ่อมเสริมต้องแล้วเสร็จภายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ต้องประสานผู้ปกครองให้รับทราบปัญหาและมีส่วนร่วมในการดูแลบุตรหลานให้อ่านเขียนได้ กำกับติดตาม นิเทศ ช่วยเหลือครูในการแก้ปัญหาอ่านเขียนของนักเรียน พร้อมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อ สพท.อย่างต่อเนื่อง

ที่มา : ผู้จัดการ

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

“ป้ามล” ครูต้นแบบเปลี่ยน “เด็กต้องโทษ” เป็นคนดีคืนสังคม

Print Friendly

สคล.-สสส.จัดกิจกรรมเชิดชูครู “ป้ามล” ต้นแบบครูผู้กล้าเปลี่ยน ดึงเด็กก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคม “อดีตเด็กบ้านกาญฯ” เผยได้ชีวิตใหม่กลับใจเป็นคนดีเพราะแง่คิดคำสอนจากป้ามล ด้าน “รองผู้ว่าฯ กทม.”หวังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ครู นักเรียน บุคคลทั่วไปในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

วันนี้ (11 ม.ค.) ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ เมื่อเวลา10.00 น. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันครู และเชิดชูต้นแบบครูผู้กล้าเปลี่ยน “ป้ามล” ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในงานมีการร่วมร้องเพลงจุดเปลี่ยน การอ่านบทกวี “ครูคือใคร” และพิธีไหว้ครูที่เคารพจากกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมกว่า 150 คน

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก แสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เพื่ออนาคตลูกหลานไทย (ผู้ใหญ่) ควรทำอย่างไรดี” ว่า ตนต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำให้ทุกคนเห็นว่า ความพิการทั้งกาย และจิตใจของเด็กๆ นั้นมาจากเชื้อโรคที่เรียกว่า “คนทำ” การที่สังคมวางเฉยต่อเรื่องเหล่านี้จึงไม่ต่างอะไรจากการเป็นผู้เพาะเชื้อ และขอให้เชื่อว่าความผิดพลาดในชีวิตของเด็กไม่ได้เกิดจาการไม่มีทักษะอาชีพ แต่เป็นเพราะเด็กยังไม่มีทักษะในการจัดการกับความทุกข์ ความรัก ความจนความคับแค้นในชีวิต แม้สถานพินิจฯ จะเป็นสถานที่ที่สามารถบำบัดฟื้นฟูเยาวชน และคืนคนดีกลับสู่สังคม ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงของผู้คุมจะหมดศรัทธาในระบบความยุติธรรม ไม่ศรัทธาในผู้ใหญ่ ไร้ศรัทธาในเจ้าหน้าที่ และที่เลวร้ายที่สุดคือ เขาจะยอมแพ้ที่จะศรัทธาในความดีที่เหลืออยู่ในตัวเอง

“กระบวนการที่บ้านกาญฯ ใช้คือจะให้เด็กๆ มองที่ตัวเอง ว่าเขามีอะไรที่หายไป มีอะไรที่เหลืออยู่ อย่าให้ปัญหาต่างๆ มาปิดกั้นแสงสว่าง และโอกาสในชีวิต ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เพราะเด็กเหมือนต้นไม้พวกเขาโตเข้าหาแสงเสมอ จึงอยากให้ผู้ใหญ่ช่วยทำตัวเป็นแหล่งกำเนิดแสงให้เด็ก เพราะการไปด่าไปว่าเด็กซ้ำๆ ไม่ได้ทำให้อะไรๆ ดีขึ้น ผลคือ เด็กจะจำไม่ได้อีกต่อไปว่าตัวเองก็มีด้านดีอยู่ เมื่อเด็กเชื่ออย่างนั้นแล้วก็ยากที่จะแก้ไขได้ ดังนั้น เราต้องช่วยกันเป็นครู คอยหล่อหลอมเด็ก สร้างเด็กด้วยความเข้าใจ อย่าลืมว่าเด็กทุกคนต้องการความรักในปริมาณที่มาก และจะต้องการมากที่สุดในวันที่เขาทำเรื่องไม่ดีทำเรื่องเลวร้ายที่สุด วันที่เขาโดนจับ วันที่เด็กหญิงคนหนึ่งตั้งท้อง วันที่เขาเป็นผู้แพ้ ทุกวันนี้สังคมไทยมีพื้นที่ดีๆ ที่ให้โอกาสเด็ก เยาวชน ทำสิ่งดีๆ สร้างสรรค์ น้อยมาก แต่กลับปล่อยให้ผู้ใหญ่บางกลุ่มบางพวกเห็นเด็ก เยาวชนเป็นเหยื่อ หาผลประโยชน์แม้จะทำลายชีวิต อนาคตของเยาวชน เช่น บรรดาอบายมุข สิ่งเสพติดทั้งหลาย ผู้มีอำนาจในสังคมไทยจึงต้องตระหนักถึงปัญหานี้ให้มาก” นางทิชา กล่าว

นายเอ (นามสมมติ) อายุ 27 ปี อดีตเยาวชนที่เคยใช้ชีวิตในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เคยต้องโทษคดีชิงทรัพย์ตอนอายุ 16 ปี และอยู่ที่บ้านเมตตาได้ไม่นานขอทำเรื่องย้ายไปอยู่ที่บ้านกาญฯ แรกๆ ไม่เคยเชื่อว่ากระบวนการจากบ้านกาญฯ จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เมื่อได้เจอป้ามล ทำให้เรียนรู้อะไรจากที่นั่นมากมาย ป้ามลเป็นทั้งแม่ทั้งครู สอนให้รู้จักการให้เกียรติเคารพผู้อื่น ที่ผ่านมา ได้รับโอกาสจากป้ามลเยอะมาก ไม่คิดว่านอกจากพ่อแม่จะมีใครที่หวังดีกับเรา แม้จะเคยทำผิดลาดบ่อยครั้ง เช่น แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก้าวร้าว ไม่เคารพกฎในบ้าน และที่ร้ายแรงคือ มีเรื่องชกต่อยกับครู่อริในบ้านกาญฯ จนต้องถูกส่งไปดำเนินคดีหลายครั้ง แต่ป้ามล ก็ให้โอกาส ไม่เคยโกรธ หรือแสดงความไม่พอใจ ขณะเรียกให้ไปพบก็คอยอบรมสั่งสอน มีคำแนะนำในสิ่งดีๆ ทำให้ฉุกคิดจนตั้งสติได้เห็นถึงอนาคต

“กว่า 8 เดือนที่ผมได้อยู่ที่บ้านกาญฯ ทำให้รู้ว่านี่คือบ้านที่อบอุ่น และป้ามลเป็นครูคนแรกที่ให้โอกาส สอนผมทุกอย่างทำให้ผมคิดได้ และเลิกต่อต้าน เลิกเอาแต่ใจ เลิกเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ป้ามลเป็นครูที่ให้ชีวิตใหม่ หากเปรียบก็คงเป็นเหมือนไม้พายเรือที่คอยช่วยให้เด็กคนนี้ไปถึงฝั่ง จนปัจจุบันนี้ผมได้นำสิ่งดีๆ ที่ป้ามล และกระบวนการจากบ้านกาญฯ มาใช้ในการดำเนินชีวิต และการทำงานของผม” นายเอ กล่าว

ขณะที่ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในฐานะเพื่อนที่ร่วมทำงาน และสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ว่า ป้ามล เป็นคนที่มีลักษณะพิเศษ 4 อย่าง คือ

  1. เชื่อมั่นและศรัทธาในความดีของทุกคน
  2. มีความอดทนสูง ติดตามและแก้ไขปัญหาต่อสิ่งที่ท้าทายเสมอ
  3. เป็นนักสู้ที่ยืนหยัดบนความถูกต้อง กล้าเผชิญต่อสิ่งต่างๆ เพื่อเด็กเยาวชน
  4. รักคนอื่นโดยไม่มีเงื่อนไข

ที่ผ่านมาป้ามล สามารถดึงเด็กที่ก้าวพลาด กล่อมเกลา ให้โอกาสจนคืนกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ โดยมองที่หลักการไม่มองที่ตัวบุคคล สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเหมือนการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ครู นักเรียน และบุคคลทั่วไปในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ป้ามล เป็นผู้หญิงธรรมดาที่มีพลังยิ่งใหญ่ กล้าคิด กล้าทำ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้กำลังใจ และชื่นชมครูทุกท่านที่ร่วมกันทำงานหนักบ่มเพาะเด็กๆ เพื่อเป็นอนาคตของชาติต่อไป

ที่มา : ผู้จัดการ

Our partners from Mexico:
Productos de salud
Carlos Torre