คุรุสภาจับมือทรูพัฒนาแอพพลิเคชั่น “PuenKru”

คุรุสภา

Print Friendly

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ร่วมกับบริษัท ทรูคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตครู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 โดยมีวัตถุประสงค์จะร่วมมือกัน เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยกำหนดระยะเวลาความร่วมมือตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2562

บริษัท ทรูคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการโครงการเพื่อ(น)ครู ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ร่วมกับบริษัท ทรูคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)ดังกล่าว เพื่อมอบสิทธิพิเศษสำหรับครู หรือบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นสมาชิกคุรุสภา และผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยจัดกิจกรรม/สิทธิพิเศษของโครงการเพื่อ(น)ครู ประกอบด้วย

  1. สิทธิพิเศษจากโครงการเพื่อ(น)ครู
    มอบสิทธิพิเศษอีกมากมาย ที่เป็นประโยชน์กับครูและบุคลากรทีมีอยู่ทั่วประเทศภายใต้โครงการเพื่อ(น)ครู อาทิ การคัดเลือกครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเข้าร่วมการอบรมและสัมมนาของคุรุสภาร่วมกับบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การมอบสิทธิพิเศษแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆของของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แก่ โปรโมชั่นเคเบิลทีวีราคาพิเศษ เครื่องโทรศัพท์/มือถือราคาพิเศษ เป็นต้น
  2. แอพพลิเคชั่น PuenKru
    เป็นสื่อสังคมออนไลน์ระดับประเทศที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นสมาชิกของคุรุสภา รวมถึงผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารรูปแบบใหม่ไปยังสมาชิกในกลุ่มการศึกษาด้วยกัน พร้อมเป็นแหล่งความรู้และช่องทางในการรับข่าวสารด้านต่างๆ จากคุรุสภาและอื่นๆ รวมทั้ง การแนะนำเทคนิคการเรียนการสอน โดยแชร์ภาพถ่ายหรือวีดีโอที่ประทับใจและรับชมรายการทีวี หรือเพลงที่ชื่นชอบ
  3. ร้านเพื่อ(น)ครู by True
    เปิดเพื่อให้บริการรับสมัครสิทธิพิเศษสำหรับครู หรือบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นสมาชิกคุรุสภา และผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ตามโครงการเพื่อ(น)ครู ประกอบด้วย
    1) true coffee ราคาพิเศษ
    2) true visions ราคาพิเศษ
    3) truemove H โปรโมชั่นพิเศษ /Smart device ราคาพิเศษ

>> Google play << >> App Store <<

ที่มา : คุรุสภา

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โรงเรียนบ้านด่าน (ราษฎรบำรุง) – ครูระยอง

Print Friendly

โรงเรียนบ้านด่าน (ราษฎรบำรุง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 รับสมัครพนักงานราชการ เอกคอมพิวเตอร์
วันที่รับสมัคร : 17-20 มีนาคม 2558

สั่งปรับลดกิจกรรม นร.หลังพบเบียดเวลาเรียน 82 วันจาก 200 วัน

โรงเรียน - ครูระยอง

Print Friendly

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมปรับลดกิจกรรมนักเรียนลง หลังมีผลศึกษาพบว่า เวลาเรียนซึ่งมีอยู่ปีละ 200 วันนั้น นักเรียนต้องไปทำกิจกรรมอื่นๆ ถึง 82 วัน เพราะแต่ละปีมีกิจกรรมมจากหน่วยงานต่างๆ ให้นักเรียนร่วมถึง 67 กิจกรรม อย่างไรก็ตาม โดยหลักวิชาการแล้ว นักเรียนไม่ควรใช้เวลาเรียนไปทำกิจกรรมอื่นๆ เกินร้อยละ 10 ของเวลาเรียนทั้งหมด หรือ คิดเป็น 40 วัน และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลการเรียนของเด็กไม่สูงตามที่เราตาดหวัง สพฐ. จึงต้องการลดทอนกิจกรรมเหล่านี้ลงเพื่อคืนเวลาเรียนให้เด็ก

สำหรับกิจกรรมที่นักเรียนต้องเข้าร่วมในแต่ละปีนั้น จะแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ

  • ประเภทแรก เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับนักเรียนโดยตรงหรือเกี่ยวข้องกับวิชาเรียน อาทิ กิจกรรมสร้างเสริมสุขอนามัย รณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม กิจกรรมปลูกป่าพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน ค่ายวิทยาศาสตร์
  • ประเภทที่ 2 เป็นกิจกรรมช่วยงานหน่วยงานภายนอก เช่น รณรงค์เลือกตั้ง กิจกรรมประจำปีของจังหวัด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนของเด็ก หรือการเกณฑ์เด็กไปร่วมกิจกรรมการจัดงานต่างๆ เพราะให้ดูเหมือนมีคนไปร่วมงานจำนวนมาก
  • ประเภทที่ 3 เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการประเมินต่างๆ ซึ่งกำหนดไว้ว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 9 วัน แต่ในทางปฏิบัติต้องมีการเตรียมความพร้อมรับการประเมินเป็นเดือน กระทบต่อเวลาเรียนของเด็ก

“ปลายเดือน มี.ค. นี้ สพฐ. จะเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทั้ง 67 โครงการ มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อหาทางปรับลดเวลาการทำกิจกรรมเหล่านี้ให้เหลือไม่เกิน ร้อยละ 10 เพื่อที่เด็กจะได้มีเวลาเรียนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่า สพฐ. จะเลิกกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นกิจกรรมที่ดี แค่จัดระบบใหม่ แบ่งหมวดหมู่ให้ชัด เช่น หมวดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ หมวดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม แล้วบูรณาการกิจกรรมประเภทเดียวกันจากหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ถ้าทำอย่างนี้จะช่วยลดเวลาทำกิจกรรมไปได้มาก แต่ทุกวันนี้หน่วยงานเจ้าของกิจกรรมไม่ค่อยคุยกัน ต่างคนต่างมา อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หน่วยงานภายในมีกิจกรรมที่หลากหลายมาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้บูรณาการกิจกรรมเข้าด้วยกัน หรือกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ก็มีโครงการทำนองนี้จากหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการรัฐสภา ทุกหน่วยงานก็อยากเอาเด็กเป็นเป้าหมาย แต่ไม่ได้นึกว่าจะทำให้เด็กเสียเวลาเรียน ซึ่งจริงๆ ทุกกิจกรรมก็พาเด็กไปทำเรื่องดีๆ แต่ถ้ามากเกินไปก็ทำให้เด็กเสียเวลาเรียน” นายกมล กล่าวและว่า กิจกรรมบางประเภท เช่น การแข่งกีฬา อาจจะให้จัดในช่วงปิดภาคเรียนแทน ที่สำคัญในช่วงเดือนที่นักเรียนสอบ จะไม่ให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น

ที่มา : ผู้จัดการ

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สพฐ.ย้ำแนวปฏิบัติงดดูงานเมืองนอก

สพฐ

Print Friendly

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำหนังสือเรื่อง การเดินทางไปศึกษาดูงาน ประชุม สัมมนา อบรม ในต่างประเทศ แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ทุกเขตฯ ให้ถือเป็นแนวปฎิบัติ ดังนี้

  1. งดเว้นการเดินทางไปศึกษาดูงาน ประชุม สัมมนา อบรม ณ ต่างประเทศ แม้จะมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานต่างประเทศ ยกเว้นกรณี สพฐ.มอบหมาย
  2. การเดินทางตามโครงการค่ายเยาวชนระหว่างประเทศ หรือ โครงการแลกเปลี่ยนครู นักเรียน ผู้บริหาร ระหว่างรัฐบาล กระทรวง หรือหน่วยงานต้องมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หรือมีข้อตกลงความร่วมมือกันมาก่อน ไม่เป็นการเดินทางไปลงนามในข้อตกลงใหม่
  3. การเดินทางเพื่อพานักเรียนไปร่วมประกวดแข่งขันนานาชาติ ที่จัดโดยองค์กรที่เป็นที่รู้จักจัดเป็นประจำต่อเนื่อง ต้องมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ
  4. หากมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาดูงาน อบรม สัมมนา ให้ปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษาดูงานภายในประเทศแทน โดยเฉพาะการศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการตามแนวพระราชดำริ หรือ ให้พิจารณาเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบรรยาย

ทั้งนี้ หากไม่เป็นไปตามแนวปฎิบัติให้ทำเรื่องเสนอขออนุมัติจาก รมว.ศึกษาธิการ เป็นรายกรณี สำหรับโครงการประกวดวงโยธวาทิตในต่างประเทศ ของโรงเรียนต่างๆ ก็ห้ามไปประกวดที่ต่างประเทศเช่นกัน

ที่มา : เดลินิวส์

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สช.เตรียมออกประกาศพัฒนาการคิดวิเคราะห์เด็ก – ครูระยอง


สช.เตรียมออกประกาศพัฒนาการคิดวิเคราะห์เด็ก

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)

Print Friendly

ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศนโยบายให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงได้ยกร่างประกาศ สช.เรื่องนโยบาย “ปีการศึกษา 2558 ปีแห่งการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด” เพื่อให้โรงเรียนเอกชน และหน่วยงานที่ส่งเสริมการศึกษาเอกชนทุกแห่งร่วมพัฒนาคุณภาพนักเรียน โรงเรียนเอกชน และผลักดันให้นโยบายดังกล่าวเกิดผลเป็นรูปธรรม

เลขาธิการ กช. กล่าวต่อไปว่า ร่างประกาศดังกล่าวได้กำหนดจุดเน้นให้สถานศึกษาเอกชนร่วมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ คิดเป็นระบบเหมาะสมตามระดับชั้น และประเภทของการศึกษา มีค่านิยมในการทำความดี มีจิตสำนึกต่อสังคมและความเป็นพลเมือง พร้อมกันนี้ได้กำหนดตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการประเมินผลด้วย เช่น นักเรียน ชั้น ป.4 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 สามารถเขียนแผนที่ความคิดของตนเองได้ ชั้น ม.3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80สามารถคิดสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ได้ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. 3 สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการอาชีพตามเกณฑ์ที่ สช.กำหนดได้ ขณะที่โรงเรียนทุกโรง หรือ 100% ต้องจัดโครงการ/กิจกรรมเสริมสร้างค่านิยม 12 ประการ เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรรมให้แก่นักเรียน และส่งเสริมให้นักเรียนทำความดีเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วย เป็นต้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ สช. อยู่ระหว่างนำร่างประกาศดังกล่าวสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียนเอกชน หากไม่มีการปรับแก้ไขตัวชี้วัด หรือเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ในเร็วๆ นี้ตนจะลงนามในประกาศต่อไป

ที่มา : เอกชน

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

รัฐมนตรีศึกษาธิการ จี้ สพฐ. หาต้นตอโอเน็ตต่ำ!

โอเน็ต

Print Friendly

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีผลคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2557 ซึ่งพบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนในแต่ละวิชาส่วนใหญ่ไม่ถึง 50%โดยเฉพาะวิชาหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ว่า เรื่องนี้คงต้องมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการวิเคราะห์ผลคะแนนอย่างละเอียดในทุกรายวิชา ทั้ง ป.6 และ ม.3 ว่ามีวิชาใดบ้างที่คะแนนลดลง และการลดลงนั้นเกิดจากสาเหตุใด นอกจากนี้ต้องพิจารณาเจาะลึกลงไปด้วยว่า คะแนนที่ลดลงนั้นส่วนใหญ่เกิดจากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ใด ซึ่งหากเราสามารถหาต้นตอได้ ก็จะทำให้เราแก้ปัญหาได้ถูกจุดมากขึ้น

“ทั้งนี้เมื่อผลคะแนนโอเน็ตของเด็กออกมาระบุว่าต่ำลง เราก็ต้องเข้าไปเข้มงวดกวดขันมากขึ้น และเพิ่มมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยทำให้คะแนนของเด็กเพิ่มสูงขึ้น แต่เวลานี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนคงทำอะไรลำบาก แม้จะมีหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรม หรือค่ายความรู้ต่างๆ แต่ก็ครอบคลุมไม่ทั่วถึงเด็กทุกคน ดังนั้นคงต้องรอให้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ก่อน ถึงจะเริ่มดำเนินการเข้มงวดอย่างจริงจังได้ ทั้งในเรื่องของการเรียนการสอนด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม รวมทั้งการพัฒนาการเรียนการสอนของครู และนักเรียน”รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าว กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่หลายคนมองว่าคะแนนที่ลดลงน่าจะเกิดจาก การเรียนการสอนกับการออกข้อสอบไม่เหมือนกัน เพราะการสอนมักเน้นท่องจำ แต่ข้อสอบเป็นการคิดวิเคราะห์นั้น คงต้องรอดูผลการวิเคราะห์จาก สพฐ. ก่อน หากพบว่าเป็นไปตามนี้จริง ก็ต้องปรับการสอนของครู

ที่มา : มติชน

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จ่อชงบอร์ดปฏิรูป ศธ.ฟื้น “กรมวิชาการ” แยกตัวจาก สพฐ.ดูแลหลักสูตรภาพรวมประเทศ – ครูระยอง

Print Friendly

นางสิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ในคณะอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน กล่าวว่า ในการประชุมคณะอำนวยการปฏิรูปฯ ในพุธที่ 18 มี.ค. นี้ คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ เตรียมเสนอให้ฟื้นกรมวิชาการขึ้นมาอีกครั้ง เพราะหลังจากที่ยุบกรมวิชาการเดิมไปเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)แล้ว ทำให้ไม่สามารถบริหารงานการจัดการหลักสูตรได้ครบวงจร อีกทั้ง ไม่สามารถดูแลเรื่องวิชาการและหลักสูตรให้สถานศึกษาสังกัดอื่นๆ นอกจาก สพฐ.ด้วย

“ก่อนปี 2549 ที่จะมีการปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่นั้น กรมวิชาการมีฐานะเป็นกรมดูแลเรื่องวิชาการ หลักสูตรในภาพรวมของทั้งประเทศ มีบุคลากรกว่า 200 คน แต่หลังจากประกาศใช้โครงสร้างกระทรวงใหม่ กรมวิชาการถูกยุบเป็นสำนักภายใต้ สพฐ. มีบุคคลากรประมาณ 160 คน แต่มีบุคลลากรที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาหลักสูตรโดยตรงแค่ 8 คนซึ่ง กำลังคนเท่านี้ ไม่เพียงพอจะจัดระบบบริหารจัดการหลักสูตรตามหลักสากล โดยปกติจะครอบคลุมงาน 4 ด้านหลัก คือ

  • วิจัยและพัฒนาหลักสูตร , พัฒนาครูประจำการให้พร้อมสำหรับหลักสูตร , ศึกษา วิจัย ติดตามผลนำหลักสูตรไปใช้ ผู้เรียนได้ตามสมรรถนะตามที่กำหนดในหลักสูตรหรือ และสร้างแบบทดสอบขึ้นมาประเมินผลหลักสูตรที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน เพื่อปรับปรุงหลักสูตรเป็นระยะทุกวันนี้ ของบ้านเราทำแค่เรื่องการเขียนหลักสูตรเป็นหลักเท่านั้น เพราะกรมวิชาการหายไป”นางสิริกร กล่าว

นางสิริกร กล่าวต่อว่า การฟื้นกรมวิชาการขึ้นมาใหม่ จะทำให้มีหน่วยงานดูแลเรื่องหลักสูตรในภาพรวมอย่างครบวงจร และจะโยกให้กรมวิชาการไปขึ้นอยู่กับสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ขององค์กรใหม่ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ คือ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด , สำนักงานหลักประกันการศึกษาแห่งชาติ (สปสช.ด้านการศึกษา ) และสถาบันวิจัยฯ เมื่อกรมวิชาการไปอยู่ภายใต้กำกับของสถาบันวิจัยการศึกษาแล้ว จะทำให้การดูแลเรื่องหลักสูตรครบวงจรทั้งการพัฒนา วิจัยและประเมินผลของหลักสูตร

“ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา คือ การไปยุบกรมวิชาการ เพียงสำนักใน สพฐ.ไม่มีบทบาท อำนาจหน้าที่จะไปดูแลโรงเรียนอื่นๆ นอกสังกัด สพฐ.ได้ อีกทั้ง ยังมีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานวิจัยหลักสูตรอย่างครบวงจรและเป็นระบบ ให้ได้เกิดผลที่เกิดกับผู้เรียนที่ชั้นเรียน แต่พอมันขาดวงจรตรงนี้ นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูปการเรียนรู้ไม่อาจเกิดผลที่โรงเรียนได้ เพราะไม่มีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบด้านการวิจัยและพัฒนาคุณภาพวิชาการ”นางสิริกร กล่าวและว่า ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังเตรียมเสนอปรับแก้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหมวด 4 มาตราที่ 2 โยกอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักสูตรแกนกลางออกจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ไปอยู่ที่ซุปเปอร์บอร์ด และสถาบันวิจัยการศึกษาด้วย เพื่อจะได้ดูแลงานวิชาการของทั้งประเทศ

ที่มา : ผู้จัดการ

สมศ.เผยผ่านประเมินดีมากทั้ง 3รอบมีแค่1%

Print Friendly

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา 3 รอบที่ผ่านมาในรอบ 15 ปี ซึ่งมีสถานศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทั่วประเทศเข้ารับประเมินฯ 32,099 แห่ง พบว่า มีสถานศึกษาที่ได้รับผลประเมินระดับดีมากทั้ง 3 รอบเพียง 354 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.10 แบ่งเป็น สถานศึกษาขนาดเล็ก 127 จาก 22,985 แห่ง สถานศึกษาขนาดกลาง 79 แห่ง จาก 7,042 แห่ง และสถานศึกษาขนาดใหญ่-ใหญ่พิเศษ 148 แห่ง จาก 2,072 แห่ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีครูผู้สอนเพียง 5-10 คน แต่สามารถได้รับผลการประเมินระดับดีมากติดต่อกันทั้ง 3 รอบ ดังนั้นคุณภาพของสถานศึกษาจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมากกว่า 

นายนิคม พรหมอนันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเหล่ายาว จังหวัดลำพูน กล่าวว่า โรงเรียนบ้านเหล่ายาวเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแห่งเดียวของจังหวัดลำพูนที่ได้รับผลการประเมินจาก สมศ. ระดับดีมากทั้ง 3 รอบ ซึ่งผลสำเร็จทั้งหมดเกิดจากการตื่นตัวของครูในโรงเรียนที่มีต่อการประกันคุณภาพภายใน โดยจะเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาครู และบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ  เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามเราต้องรู้จักทำงานให้เป็นประจำวัน ซึ่งจะทำให้การเตรียมตัวรับการประเมินจาก สมศ. ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องเร่งทำในช่วงเวลาที่โรงเรียนใกล้จะถูกประเมิน

“การประเมินเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติย้อนดูว่า สิ่งที่ทำนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ และต้องแก้ไขอย่างไร  ซึ่งแม้โรงเรียนบ้านเหล่ายาวจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูเพียง 11 คน แต่ครูทุกคนตื่นตัวต่อการประเมิน และนำข้อเสนอแนะของ สมศ. มาเป็นพื้นฐานในการกำหนดเป้าหมาย และกลยุทธ์ในการพัฒนาการเรียนการสอนของครูในโรงเรียน ตลอดจนอาศัยการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง กรรมการ ผู้นำหมู่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ จึงทำให้โรงเรียนใกล้ชิดกับชุมชน ครูมีความสุขในการสอน จึงสอนได้อย่างมีคุณภาพ” นายนิคม กล่าว.

ที่มา : เดลินิวส์

ชง13 ร่าง กม.ปฏิรูปการศึกษา หวังขับเคลื่อนทั้งระบบ

Print Friendly

นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เชิญคลังสมองด้านการศึกษา มาร่วมกันหาแนวทางและข้อเสนอแนะประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา โดยครอบคลุมทั้งเรื่องของการปรับปรุงกฎหมาย โครงสร้างหน่วยงานทางการศึกษา หลักสูตรการสอน การบริหารบุคคล การถ่ายโอนอำนาจให้สถานศึกษา และจากการรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบว่าเกิดปัญหาทั้งระบบ อาทิ ปัญหาด้านงบประมาณที่ได้รับสูงแต่สวนทางกับประสิทธิภาพการใช้เงิน ด้านบุคลากรมีปริมาณมากกว่างานและมีกระบวนการทำงานที่ล่าช้า ด้านคุณภาพครูที่เร่งผลิตผลงานวิชาการแต่คุณภาพนักเรียนลดลง สถานศึกษาหลายแห่งยังขาดแคลนบุคลากรครู และมีสื่อการสอนที่ไม่ทันสมัย ครูและผู้บริหารละทิ้งโรงเรียน การบริหารงานบุคคลไม่ยุติธรรมโปร่งใส

ขณะที่การศึกษานอกระบบ ยังไม่ทำให้ผู้จบการศึกษามีคุณภาพในด้านการแสวงหาความรู้ และทักษะต่างๆ ที่ตอบสนองตลาดแรงงาน ส่วนระดับอาชีวศึกษายังขาดแคลนผู้เรียนในหลายสาขา ขาดการฝึกงานจริงในสถานประกอบการที่มีเครื่องมือทันสมัย และมีแนวโน้มอยากปรับเป็นอุดมศึกษา สำหรับระดับอุดมศึกษามีการเปิดหลักสูตรจำนวนมากที่ไม่สนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศและวัฒนธรรมไทย เป็นต้น

นายศรีราชา กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกระดับ ทุกประเภทการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานตั้งแต่ส่วนกลางถึงสถานศึกษา ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงจัดตั้งคณะทำงานการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ เพื่อเสนอแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ ด้วยการเสนอร่างกฎหมายที่ปรับทั้งโครงสร้างการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจ การจัดการเรื่องการสอน และตัวบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งสิ้นจำนวน 12 ฉบับ ดังนี้

(1) ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) โดยให้มีสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (Super Board) ที่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่จำเป็นการกำหนดนโยบายและการจัดการศึกษากรรมการ ผู้แทนขององค์กรภาคเอกชนผู้เกี่ยวข้องการการค้าและการลงทุน และกรรมการผู้แทนภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ซึ่งปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง โดยมีอำนาจในการกำหนดนโยบายการศึกษาของชาติทั้งระบบ ทุกระดับและทุกประเภทการ ให้ความเห็นชอบ และตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของชาติ ติดตามตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายการศึกษาของชาติการกำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของสำนักงานสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติให้มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่เป็นอิสระ

(2) ร่าง พ.ร.บ.การวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจในการศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบการศึกษาและนโยบายการศึกษาของชาติในทุกระดับ ให้ทุนอุดหนุนศึกษาและวิจัยแก่บุคคลหรือคณะบุคคลในอำนาจหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาแห่งชาติ

(3) ร่าง พ.ร.บ.การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ ให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจศึกษา วิจัย พัฒนา และจัดทำหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท เสนอการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานในทุกประเภทและทุกระดับต่อสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 (4) ร่าง พ.ร.บ.สถาบันครุศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันครุศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจกำหนดทิศทางในการผลิตครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารการศึกษาของโรงเรียนและสถานศึกษาในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา และจัดให้มีการอบรมการจัดการเรียนการสอนให้คณาจารย์และผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านครุศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอนอย่างเต็มศักยภาพ

 (5) ร่าง พ.ร.บ.การรับรองมาตรฐานการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจในการทดสอบทางการศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษาในทุกระดับจัดให้มีการรับรองและไม่รับรองคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และการพิจารณาเสนอการพักใช้หรือปิดโรงเรียน สถานศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

     (6) ร่าง พ.ร.บ.การรับรองคุณวุฒิการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานรับรองคุณวุฒิการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจในการทดสอบและรับรองคุณวุฒิวิชาชีพครูและผู้บริหารการศึกษา การพักใช้และเพิกถอนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพครู เป็นศูนย์ข้อมูลคุณวุฒิการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท ตรวจสอบและรับรองการสำเร็จการศึกษาและคุณวุฒิการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

     (7) ร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาตามนโยบายการศึกษาแห่งชาติ การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาของรัฐกับภาคเอกชนผู้ใช้แรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อผลิตผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะตอบสนองต่อการประกอบการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมอย่างแท้จริง

(8) ร่าง พ.ร.บ.กรจัดการและบริหารการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ กำหนดระยะเวลาในการถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดระดับและประเภทของการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบริหารโรงเรียนและสถานศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และการอุดหนุนงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้แก่โรงเรียนและสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

   (9) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจการศึกษา วิจัย และผลิตนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อใช้ในการเรียนการสอนที่คุณภาพและมาตรฐาน กำหนดการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมกับระบบการศึกษาของชาติในทุกระดับและทุกประเภท

นอกจากนี้กำหนดการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสื่อการสอนทุกระดับที่ทันสมัยและเหมาะสมกับการจัดการศึกษาจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่การจัดการศึกษาในทุกระดับ รวมทั้งการประสานความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษากับผู้ประกอบการเอกชน

     (10) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายที่จะให้อำนาจในการสร้างระบบงานการบริหารบุคคลเป็นของคณะกรรมการที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาในระดับต่างๆ การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน โยกย้าย การพัฒนา การเลื่อนระดับ การดำเนินการทางวินัย และการลงโทษ ที่เป็นไปตามระบบคุณธรรมทางวิชาชีพ

 (11) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายที่ปรับปรุงจัดระเบียบการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประกอบด้วยสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นปฐมวัยและประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการมัธยมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายใน ซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และหลักการการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาอย่างสมบูรณ์ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และสถานศึกษา

     (12) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิทักษ์ระบบคุณธรรมการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมการศึกษา ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในระดับต่างๆ และด้านอื่นที่จำเป็น มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คำสั่งของผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐที่จัดการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท การพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานศึกษา และการไม่รับรองคุณวุฒิการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การเสนอร่างกฎหมายทั้ง 12 ฉบับ จะมีผลกระทบต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงเห็นสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติด้วย โดยเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ ขึ้นอีกหนึ่งฉบับ รวมเป็นการเสนอร่างกฎหมายทั้งหมด 13 ฉบับ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน 

     “ขณะนี้ได้จัดทำร่างกฎหมายแล้วเสร็จ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดการศึกษา เพื่อดูแลการศึกษา ซึ่งเป็นมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค.58 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งส่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ไปยังประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช..) คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรรมาธิการการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ ยุทธวงศ์) รมว.ศึกษาธิการ คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา และอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อพิจารณาผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเตรียมส่งร่างกฎหมายอีก 11 ฉบับโดยเร็ว”นายศรีราชา กล่าว

  สำหรับรายละเอียดร่างกฎหมายที่แล้วเสร็จทั้ง 2 ฉบับ สามารถติดตามได้ทาง www.ombudsman.go.th และ http://www.ombudsman.go.th

ที่มา : สยามรัฐ

คุรุสภาเปิดช่องขอรับใบอนุญาตฯ กรณีเร่งด่วน! เพื่อใช้ในการสอบครูผู้ช่วย สพฐ.

Print Friendly

การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กรณีเร่งด่วน เพื่อใช้ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจะออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กรณีเร่งด่วน ให้แก่ผู้ประสงค์จะนำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไปใช้สมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ระหว่างวันที่ 10 – 29 มีนาคม 2558 ยกเว้นวันหยุดราชการ (เปิดให้บริการเฉพาะวันเสาร์ที่ 28 และวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2558)

ณ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ทั้งนี้ผู้ยื่นคำขอจะต้องมีคุณสมบัติและเอกสารประกอบการขอที่ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยจะให้แก่ผู้ที่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและผู้ที่มาขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

ผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองสิทธิไปแล้ว และต้องการนำใบอนุญาตฯ ไปใช้เพื่อการดังกล่าว ให้มาติดต่อสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ โดยผู้ยื่นคำขอจะได้รับใบอนุญาตฯ ภายในวันที่มายื่นขอและหากไม่สามารถมายื่นคำขอได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมายื่นแทนได้ โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบด้วย

ที่มา : คุรุสภา

Our partners from Mexico:
Productos de salud
Carlos Torre