“ตั้งแต่เล่นหมากล้อมมา ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นคนนิ่ง มีสมาธิ มีสติในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีความรอบคอบ และรู้จักการวางแผนมากขึ้น เน้นเข้าร่วมการแข่งขันในหลายๆ ที่ ทำให้ได้ลองสนามแข่ง แล้วยังทำให้เจอคู่ซ้อม คู่แข่งที่หลากหลาย ทำให้ต้องรู้จักวางแผน ปรับกลยุทธ์ ปรับแนวคิดใหม่ๆ เพื่อให้ชนะ ส่วนใหญ่จะฝึกซ้อมเล่นบนอินเทอร์เน็ต การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย มีการจ้างโค้ชมาฝึกสอนกับเพื่อนร่วมทีม” ภูมิใจ ฉัตรไมตรี หรือ น้องสมาย นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
หมากล้อม ภาพจาก thongkasem.com
“น้องสมาย” วัย 19 ปี เล่นหมากล้อมอย่างจริงจังตั้งแต่ ม.5 เล่าว่า เขารู้จักกีฬาหมากล้อมมาตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่ออยากให้ลองเล่นดู เพราะน่าจะช่วยเรื่องการเรียน ระบบการคิด การวางแผนต่างๆ ได้ ก็ลองเล่นมาเรื่อยๆ เมื่อขึ้น ม.5 ก็ได้เป็นประธานชมรมหมากล้อมของโรงเรียน ทำให้เล่นอย่างจริงจัง ยิ่งเมื่อได้ย้ายบ้านมาอยู่แถวสมาคมกีฬาหมากล้อมฯ ก็ทำให้ได้ฝึกฝนและจริงจัง
วันที่ 8 กุมภาพันธ์-26 เมษายน 2557 “สมาย” จะแข่งขันหมากล้อม ที่ชั้น 11 ซีพี ทาวเวอร์ ซึ่งมีนักกีฬาจากประเทศไทยและในเอเชีย เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 27 ทีม (ทีมละ 5 คน)จากประเทศไทย จำนวน 20 ทีม และจากต่างประเทศ 7 ทีม ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน รวมมีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 135 คน โดยแข่งทุกวันเสาร์ ส่วนนักกีฬาจากต่างจังหวัดและต่างชาติจะจัดแข่งขันทางออนไลน์ เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1.6 ล้านบาท
การแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของ “สมาย” ไม่ได้เตรียมพร้อมอะไรเป็นพิเศษ เพราะทุกๆ วันก็เตรียมพร้อม ฝึกฝนอยู่เสมอ และคอยหารูปแบบวิธีการเล่นใหม่ๆ อยู่แล้ว เทคนิคในการเล่นต้องอาศัยความนิ่ง ใจเย็น มีสติ ความรอบคอบ ที่สำคัญเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องใช้ตรรกศาสตร์ค่อนข้างมาก และการเล่นหมากล้อมก็เป็นเหมือนฝึกการใช้ตรรกะอยู่แล้วก็ทำไปปรับใช้ได้ จึงอยากให้สมาคมกีฬาหมากล้อมฯ จัดกิจกรรมการแข่งขันแบบนี้ไปตลอด เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยมาเล่นหมากล้อม เปิดโอกาส เวทีให้ได้เด็กไทยฝึกฝนทักษะ พัฒนาศักยภาพของตนเอง
เช่นเดียวกับ “ตูน” ภัทราพร อรุณไพจิตรา อายุ 26 ปี หนึ่งสาวที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้ และปีที่แล้วได้รับรางวัลทีมคนไทยที่ได้อันดับดีที่สุด เล่าเสริมว่า การแข่งขันหมากล้อม มีความสำคัญต่อนักกีฬาหมากล้อมมาก เพราะแต่ละสนามไม่เหมือนกัน คู่แข่งแตกต่างกัน ทำให้ฝึกระบบคิด วางแผน ทักษะต่างๆ ที่พัฒนาสติปัญญาผู้เล่นได้เป็นอย่างดี เล่นหมากล้อมมา 12 ปี เล่นตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เปิดเป็นคาบเรียนให้เด็กได้เรียน จนถึงตอนนี้ ไม่มีเกมไหนที่ซ้ำกัน
“ประโยชน์ที่ได้จากการเล่นหมากล้อมทำให้ได้เพื่อน ได้สังคม ช่วยให้มีความคิดที่เป็นระบบ มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะการคิดบนกระดาษก็เหมือนการคิดในชีวิตจริง ที่ต้องรอบคอบ มีการวางแผนที่ดี และเรียนรู้ เวลาเราจะทำอะไร เราต้องคิดวางแผนไว้เยอะๆ หาทางหนีทีไล่เอาไว้ ยิ่งเราวางแผนมากเท่าไหร่ ก็จะมีผลดีต่อตัวเรามากเท่านั้น กิจกรรมการแข่งขันกีฬาหมากล้อม ไทยแลนด์ 16 ดั้ง โกะ ลีก 2014 เป็นกิจกรรมที่ดีมาก อยากให้จัดไปเรื่อยๆ เพราะครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เข้าร่วมแข่งขัน ได้รับโอกาส ประสบการณ์ เทคนิคใหม่ๆ จากการเล่น”
“ตูน” และสมาชิกในทีม ได้ร่วมกันฝึกซ้อมโดยได้เรียนกับมืออาชีพ ฝึกซ้อมกันเองทางอินเทอร์เน็ต และเล่นกันเอง ไม่ได้แบ่งประเภทในการเล่นหญิงหรือชาย ตูน เริ่มจากการซื้อหนังสือมาอ่าน ฝึกฝนเล่นด้วยตนเอง จนทำให้ก้าวขึ้นสู่ดั้ง 3
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ นายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยพยายามส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กไทยหันมาเล่นหมากล้อม และพัฒนาฝีมือ ผ่านกิจกรรมการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ผ่านมาผลงานเด็กไทยอยู่ในระดับดี ชนะเลิศในการแข่งขันหลายแห่ง เมื่อเทียบประเทศไทยเล่นหมากล้อมมา 20 ปี มีผู้เล่นประมาณ 1 ล้านคน ขณะที่เกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมนี เล่นมาหลายร้อยปี ถือว่านักกีฬาหมากล้อมของเราไม่ด้อยมีศักยภาพไม่เป็นรองใคร การแข่งขันครั้งนี้ สมาคมกีฬาหมากล้อมฯ พร้อมสนับสนุน และเป็นหนึ่งในนโยบายส่งเสริมการศึกษาพัฒนาเยาวชนของซีพี ออลล์ เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางของการแข่งขันกีฬาหมากล้อมที่สำคัญในทวีปเอเชียอย่างน่าภาคภูมิใจ สนใจเข้าร่วมชมการแข่งขัน สอบถามข้อมูล ดูได้ที่ http://www.thaigo.org หรือโทร. (662)648-2900
โดย : ชุลีพร อร่ามเนตร
ที่มา : คมชัดลึก