“ดาว์พงษ์” สั่ง สพฐ.เดินเครื่องลดชั่วโมงเรียน – ครูระยอง

Print Friendly

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ว่า ผู้บริหารองค์กรหลัก ของ ศธ.ได้รายงานข้อมูลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ฟังคิดว่าโครงการต่าง ๆ น่าจะเริ่มเห็นผลในทางปฏิบัติได้อีกไม่ช้านี้ โดยเฉพาะเรื่องการลดเวลาเรียนของนักเรียน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เริ่มไปบ้างแล้วในระดับประถมศึกษา แต่ยังมีบางจุดที่ต้องเติมเต็ม เพื่อให้เห็นผลชัดเจน เช่น การลดชั่วโมงในวิชาหลักลง เพื่อให้นักเรียนได้กลับบ้านหรือมีเวลาทำกิจกรรมเสริมอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับช่วงวัยได้มากขึ้น รวมถึงให้เน้นการอบรมครูให้เข้าใจและจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เห็นผลภายในภาคเรียนที่ 2/2558 อีกทั้งให้โจทย์ สพฐ. ไปว่าให้นำร่องลดเวลาเรียนให้ได้ 10% ของโรงเรียนทั้งหมด 38,000 โรง โดยเน้นที่ระดับประถมศึกษาก่อน

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ตนขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขยายการเรียนการสอนระบบทวิภาคีเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นสถาบันที่มีปัญหาทะเลาะวิวาทบ่อย ๆ หากเด็กมีทางเลือกที่ดีกว่า เรียนไปทำงานไปมีรายได้เด็กจะไม่ไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขอให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) แต่ละแห่งมีจุดเด่นในการผลิตผู้เรียนในแต่ละสาขาอาชีพเฉพาะทางแตกต่างกันออกไป รวมถึงต้องวางแผนจัดระบบรองรับเด็กที่อยู่ห่างไกล และอยากเรียนในสาขาที่ มทร. มีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น การต่อเรือ ต้องมีสถาบันหลัก สถาบันรองรองรับในการสอนสาขาอาชีพดังกล่าว เป็นต้น

“โดยภาพรวมการทำงานของแต่ละองค์กร ในขณะนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล ผมจึงเน้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลัก ส่วนการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันนั้น ต้องทำควบคู่กันไป โดยเร็ว ๆ นี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) องค์การค้าฯ และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มาพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาของที่ผ่าน และต้องดูว่ามีอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการต่อไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ที่มา : ผู้จัดการ

แจงรัฐบาลเปิดสอบผู้ช่วยครูทั่วประเทศ 8,000 อัตราก.ยนี้ – ครูระยอง

Print Friendly

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการสอบบรรจุในตำแหน่ง ครูผู้ช่วย สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. จำนวน 8,000 อัตรา ว่า เป็นการเปิดสอบบรรจุเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู โดยครูผู้ช่วยจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการระดับซี 3 และเมื่อทำงานครบ 2 ปี ก็มีสิทธิ์เลื่อนวิทยฐานะเป็นตำแหน่งครูต่อไป โดยจะเปิดสมัครสอบในช่วงเดือนกันยายน สอบในช่วงเดือนตุลาคม และจะพยายามประกาศผลสอบให้ทันเพื่อบรรจุครูผู้ช่วยให้ทันในภาคเรียนที่สองของปีการศึกษานี้

ทั้งนี้การสอบบรรจุที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียน ตลอดจนปัญหาหลายประการทำให้ไม่สามารถบรรจุครูได้ครบตามอัตราที่ขาดแคลน อาทิ หลักเกณฑ์เดิม แม้จะสอบวันเดียวกันแต่เปิดโอกาสให้สมัครสอบหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการรับจ้างเข้าสอบแทน จนคนเดียวมีชื่อสอบติดหลายแห่ง

“ที่ผ่านมาหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันมีช่องโหว่ เอื้อให้เกิดการทุจริต และปัญหาความไม่โปร่งใสต่างๆ ทำให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและต้องการพัฒนาท้องถิ่น อาจไม่สามารถสอบเข้าสู่ระบบได้รัฐบาลจึงได้มีการทบทวนจุดอ่อนของการเปิดสอบที่ผ่านมาและมอบหมายให้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบบรรจุใหม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสที่สุด”

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ใหม่กำหนดให้ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน โดยให้รวมกลุ่มกันในพื้นที่เขตตรวจราชการ แล้วมอบให้สถาบันอุดมศึกษาที่เห็นสมควรเป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบตามหลักสูตรที่กำหนด กำหนดวันสอบของทุกเขตในวันเดียวกัน และผู้สมัครสามารถเลือกสอบได้เพียงเขตเดียว

สำหรับการสอบแบ่งเป็น ภาค ก ความรู้ ความสามารถทั่วไป อุดมการณ์ของความเป็นครู จำนวน 150 คะแนน ภาค ข ความรู้ ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง 150 คะแนน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ 50 คะแนน

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านฝากไปยังผู้ตั้งใจอยากทำหน้าที่ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เด็กไทยว่า ขอให้คนเก่ง คนดี คนมีใจรักในวิชาชีพครูมาสอบครั้งนี้กันมากๆ เชื่อว่าระบบการสอบรูปแบบใหม่จะมีความโปร่งใสและให้ความยุติธรรมกับทุกคน อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ และท่านกำชับให้การสอบครั้งนี้ต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา และ เป็นธรรม ห้ามมีการทุจริตโดยเด็ดขาด”

ที่มา : สยามรัฐ

ภาษาไทย ภาษาชาติ และการสอนของครู โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง

Print Friendly

“…เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…”

“…ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี”

(พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฎาคม 2505)

ประเทศไทยถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2505

พระราชดำรัสทั้งสองตอนที่ผู้เขียนน้อมนำมากล่าวข้างตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นคำว่า “รักษา” ภาษาไทย ทั้งรักษาความบริสุทธิ์ในการออกเสียงภาษาไทย รักษาความบริสุทธิ์ในการใช้ความหมายต่างๆ ของคำภาษาไทย รักษาภาษาไทยในฐานะภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็น และสุดท้ายรักษาความงามของภาษาไทยที่ใช้เป็นวัสดุในการแต่งศิลปวรรณคดี

ขอกล่าวถึงข้อเขียนของผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยร่วมสมัยจำนวนสองท่านที่กล่าวถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย เป็นข้อเขียนที่ผู้เขียนคิดว่าเหมาะแก่การนำเข้าไปสู่ห้องเรียนของนักเรียนไทย เพื่อให้นักเรียนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักหวงแหน เพื่อเป็นการ “รักษา” ภาษาไทยของเรา

ภาษาไทยปรากฏงดงามนัก นักภาษาประจักษ์เป็นสักขี

หนึ่งมีความเป็นภาษาดนตรี อาจเลียนเสียงในโลกนี้ทุกลีลา

ทั้งเสียงคนเสียงสัตว์เสียงธรรมชาติ ทั้งสามารถเลียนเสียงทุกภาษา

สองอักษรไทยนี้มีนานมา ปิ่นราชารามคำแหงทรงแต่งไว้

ทั่วโลกานี้มีกว่าสามพันภาษา แต่มีเพียงอักษรานับร้อยได้

หนึ่งในนั้นคืออักษรของชาติไทย เราจึงควรภูมิใจภาษาตน

สามไทยมีตัวเลขเป็นเอกลักษณ์ ตัวเลขไทยส่งเสริมศักดิ์อนุสนธิ์

มีรูปร่างงดงามทุกยามยล ไทยทุกคนควรเขียนใช้เลขไทยงาม

สี่คำไทยเป็นภาษาคำโดด บอกตระกูลความช่วงโชติชาติสยาม

แต่เปิดรับต่างภาษามาเสริมความ ภาษาไทยจึงวาววามตามโลกทัน

ห้าไทยมีฉันทลักษณ์หลากชนิด สื่อนิมิตบทกวีหลากสีสัน

ทั้งโคลงฉันท์กาพย์กลอนสุนทรพรรณ บ่งบอกความเฉิดฉันวัฒนธรรม

หกไทยมีภาษาถิ่นที่หลากหลาย จึงสามารถอภิปรายหลากหลายส่ำ

แต่ก็มีภาษากลางงดงามล้ำ ที่บอกย้ำความกลมเกลียวหนึ่งเดียวกัน

เจ็ดภาษากวีไทยพิไลยิ่ง ทำนองได้เพราะพริ้งสุดเฉิดฉัน

ร้องลำนำนานาสารพัน เพียงสุคันธมาลินประทิ่นพราย

แปดภาษานี้มีคำพ้อง เขียนอย่างหนึ่งอ่านได้สองกรองความหมาย

เขียนต่างกันต้องอ่านเสียงพ้องต้องอธิบาย มากความหมายฉายเฉิดเพริศพรายนัก

นี่คือความงดงามสยามพากษ์ แตกต่างจากหลากภาษาน่าตระหนัก

เพราะภาษาไทยมีอัจฉริยลักษณ์ พึงประจักษ์ความงดงามภาษาไทย

บทกลอนนี้ชื่อ “ความงดงามของภาษาไทย” อาจารย์ประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นผู้ประพันธ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1408 ประจำวันที่ 10-16 สิงหาคม 2550 ผู้ร้อยกรองใช้ชื่อบทกลอนนี้ว่า

“ความงดงามของภาษาไทย” เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อ่านเห็นลักษณะสำคัญของภาษาไทย

ซึ่งกล่าวไว้ 8 ประการ ได้แก่

  1. ภาษาไทยเป็นภาษาดนตรี
  2. ภาษาไทยมีอักษรไทยเป็นของตนเอง
  3. ภาษาไทยมีตัวเลขไทยเป็นเอกลักษณ์
  4. ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด
  5. ภาษาไทยไทยมีฉันทลักษณ์
  6. ภาษาไทยมีภาษาถิ่นหลากหลายทุกภูมิภาค
  7. ภาษาไทยเป็นภาษาที่อ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะได้ไพเราะ
  8. ภาษาไทยภาษานี้มีคำพ้อง

ข้อเขียนที่สองเป็นข้อเขียนของนักวิชาการด้านภาษาไทยชั้นยอดของประเทศไทยผู้ล่วงลับแล้ว นั่นคือศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ได้เขียนเป็นบทความชื่อ “ภาษาไทย ภาษาถิ่น ไม่สิ้นสูญ” ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารวิชาการชื่อ “ภาษาไทยของเรา”ซึ่งเป็นวารสารของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1-2 (เม.ย.2537-มี.ค.2538) กล่าวถึงภาษาไทยในฐานะภาษาประจำชาติไว้ 2 ประเด็น คือ คุณค่าและคุณลักษณะของภาษาไทยที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่คงทน

อาจารย์ฐะปะนีย์กล่าวโดยผูกเป็นคำคล้องเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้จำง่าย ดังนี้

  • คุณค่าของภาษาไทย

ภาษาไทยมีคุณค่าต่อคนไทยและชาติไทย 8 ประการคือ

  1. ใช้เป็นสื่อกลาง
  2. เสริมสร้างวัฒนธรรม
  3. สำแดงเอกลักษณ์
  4. พิทักษ์เอกราช
  5. ประสาทวิทยา
  6. พัฒนาความคิด
  7. กอบกิจการงาน
  8. ประสานสามัคคี
  • คุณลักษณะของภาษาไทยที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่คงทน  อาจารย์ฐะปะนีย์ได้กล่าวไว้เป็นคำคล้องจองว่า
  1. ใช้อักษรแทนเสียง
  2. สำเนียงดุจดนตรี
  3. มีระดับของภาษา
  4. พัฒนาตามกาลสมัย
  5. ใช้วิธีเรียงคำ
  6. สำนวนไทยหลากหลาย
  7. เขียนจากซ้ายไปขวา
  8. รสภาษาสุนทร

ในบทความนี้จบด้วยคำประพันธ์ที่เชิญชวนคนไทยทั้งผองรัก หวงแหน และสืบทอดการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของเราว่า

ภาษาไทยได้มาแต่บรรพบุรุษ ภาษาไทยพิสุทธิ์และสูงส่ง

ภาษาไทยชาวไทยใฝ่จำนง ใช้ถูกต้องมั่นคงคู่ชาติไทย

ภาษาถิ่นสุนทรเสียงอ่อนหวาน ภาษาไทยสื่อสารงานน้อยใหญ่

ภาษาถิ่นสร้างสรรค์จรรโลงใจ ภาษาไทยสอนธรรมนำปัญญา

ภาษาไทยภาษาถิ่นไม่สิ้นสูญ ภาษาไทยเจิดจำรูญศรีสง่า

ภาษาไทยรวมน้ำใจไทยประชา มาเถิดมาพิทักษ์ไว้ให้ถาวร

(ฐะปะนีย์ นาครทรรพ 2538 หน้า 32-47)

ทั้งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บทกวีของอาจารย์ประยอม ซองทอง และอาจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ มุ่งให้เรารู้ประโยชน์ ความสำคัญ รวมทั้งเกิดความรัก หวงแหน และสืบทอดภาษาไทยในฐานะภาษาชาติของเรา

การสอนภาษาไทยให้นักเรียนรักภาษาไทยนั้น จำเป็นต้องสอนให้นักเรียนเรียนรู้ไปถึงขั้น เข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า และนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ประโยชน์ทางการสื่อสารและประโยชน์ทางการพัฒนาสติปัญญาได้

ครูภาษาไทยต้องไม่ลืมว่าวิชาภาษาไทยนั้น ประกอบหลักภาษา การใช้ภาษา และวรรณคดี ผู้เขียนมั่นใจว่าการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาเพื่อให้นักเรียนเกิดความรักต่อภาษาไทยจนถึงขั้นการเกิด “แรงบันดาลใจ” ในการอ่านหนังสือต่างๆ ด้วยความใฝ่รู้ ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นที่มาของการอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ การเขียนภาษาไทยถูกการสะกดคำ ใช้คำได้ถูกความหมาย ถูกหน้าที่ รูปแบบการเรียงคำในประโยคถูกต้องตามโครงสร้างภาษาไทยจนไปถึงขั้นการใช้ภาษาในทางสร้างสรรค์เป็นศิลปะการใช้ถ้อยคำได้

ที่สำคัญคือการอ่านที่จะทำให้ใจเป็นสุข ต้องเริ่มที่การสอนให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความซาบซึ้ง เพลิดเพลินบันเทิงใจในวรรณคดีไทย ซึ่งทั้งหมดผู้เขียนกล้าฟันธงว่าต้องอาศัย “ความรู้และความสามารถในการสอนของครูภาษาไทย”

ศาสตราจารย์ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักวิชาการด้านภาษาไทยและการสอนภาษาไทยของไทยผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (สมควรคารวะวิสัยทัศน์ของผู้เสนอชื่ออาจารย์บุญเหลือต่อยูเนสโกอย่างยิ่ง)

เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม หนังสือเล่มหนึ่งของท่านชื่อว่า “ภาษาไทยวิชาที่ถูกลืม” (ดูเสมือนว่าหนังสือเล่มนี้ก็ถูกลืมไปแล้วจากครูภาษาไทยและแวดวงการศึกษาของเรา) อาจารย์บุญเหลือเขียนไว้ในตอนหนึ่งของผลงานเล่มนี้ว่า

“…โรงเรียนไทยทำผิดไป ในการที่บังคับนักเรียนในวัยที่บังคับไม่ได้คือวัยรุ่น เมื่อถึงวัยนี้เด็กนักเรียนจะขอเหตุผลสำหรับทุกอย่าง และชอบโต้เถียง พอนักเรียนมีความสงสัยในวิชาใด ครูก็ใช้วิธีบังคับให้ท่องจำเหมือนเป็นนักเรียนเล็ก เป็นการปลูกฝังความเบื่อหน่ายรำคาญใจเกือบทุกวิชา นักเรียนที่ชอบวิชาภาษาเบื่อหน่ายวิชาวิทยาศาสตร์ขนาดไม่อยากได้ยินได้ฟัง นักเรียนที่ชอบไปในทางวิทยาศาสตร์ก็เบื่อหน่ายวิชาภาษาไทย ประวัติศาสตร์ และศีลธรรม เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ครูโดยมากก็ไม่เข้าใจว่าวรรณคดีคืออะไร ใช้วรรณคดีสอนจรรยาแก่เยาวชน โดยใช้วรรณคดีผิดเรื่อง เช่น ให้นักเรียนวัยรุ่นเรียนจรรยาจากลิลิตพระลอ หรือนิทราชาคริต เรื่องแรกเป็นเรื่องของคนวันรุ่นที่ไม่ควรจะเอาเยี่ยงอย่างเลย ชีวิตได้ลงโทษให้พระลอและพระเพื่อนพระแพงถึงแก่ความตาย ครูก็ชี้ในข้อนี้ไม่ถูกต้อง…” (2523 หน้า 32)

การสอนวรรณคดีครูจำเป็นต้องขยายความ ยกตัวอย่างประกอบ และประเมินสิ่งที่กำลังสอนได้ การที่ครูจะขยายความ ยกตัวอย่างประกอบและประเมินค่าเนื้อหาของวรรณกรรมได้นั้น ครูต้องตีความ (Interpretation) ความหมายของสิ่งที่กำลังสอนได้ และการตีความใหม่ (Reinterpretation) เนื้อเรื่องที่เป็นตัวบทของวรรณกรรมนั้น เป็นการ “เข้าถึง” ภารกิจทางวรรณคดีอย่าง “สุดซอย” ไม่ว่าจะเป็นภารกิจทางด้านวรรณศิลป์ที่ให้ความบันเทิงเริงใจ และภารกิจด้านให้คุณค่าทางสังคมที่จะบ่มเพาะพลังปัญญาแก่ผู้อ่าน

ตัวอย่างเช่น การที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปลาย เรียนวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครนั้น นอกจากเพื่อความรู้เรื่องวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ความรู้เรื่องสุนทรภู่ซึ่งเป็นผู้แต่งแล้ว สำคัญที่สุดคือ เป็นเรื่องของความสนุกสนานเพลิดเพลิด เรื่องของความซาบซึ้งใน “รสภาษาสุนทร” (ตามคำของอาจารย์ฐะปะนีย์) ทั้งยังเป็นการให้เด็กนักเรียนได้รับรู้ความรู้สึกความทุกข์ทรมานของแม่ที่คลอดลูก เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รู้สำนึกในบุญคุณของแม่ที่อุ้มท้องมายาวนานและทะนุถนอมเลี้ยงดูจนลูกเป็นตัวเป็นตน

ผู้เขียนกล้าพูดว่าความรู้รัก รู้คุณค่า รู้รักษาภาษาไทยของคนไทยนั้น เกิดจากการสอนภาษาไทยที่ “ตีโจทย์แตก” ของครูเป็นหลัก

ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เอกราชเอกลักษณ์เอกศักดิ์ศรี

เป็นคันฉ่องส่องความงามและความดี เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน

(เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

ภาษาไทยน่าจะเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายอันหนึ่งของชาติไทยที่เราจะยังภาคภูมิใจในความเป็นชาติร่วมกันได้ คำถามของวันนี้คือ ภาษาไทย ภาษาชาติของเรา อยู่ในสภาพเช่นไร

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง  คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ที่มา : มติชน

สั่งสถาบันภาษาไทยจัดอบรมครูทั่วประเทศ แก้เด็กอ่านเขียนไม่ได้ – ครูระยอง

Print Friendly

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา โดยเน้นความสำคัญไปที่การเรียนการสอนภาษาไทย และประกาศให้ปี 2558 เป็นปีที่ปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มอบหมายให้สถาบันภาษาไทย ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.)

ล่าสุด สถาบันภาษาไทยได้รายงานความคืบหน้า ระหว่างเดือน เม.ย.- มิ.ย. ว่า ได้จัดทำ “โครงการพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี” โดยจัดอบรมแนวทางพัฒนาการทางสมอง (บีบีแอล) ผ่านระบบทางไกลผ่านดาวเทียมดีแอลทีวี และเผยแพร่ทางเว็บไซต์โครงการฯ ให้กับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครูภาษาไทย ป.1 ทั่วประเทศ 65,000 คน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สพฐ. ได้คัดเลือกโรงเรียนแกนนำจากทุกเขตพื้นที่ฯ รวม 2,022 โรง เพื่อให้ผู้บริหาร สพท. ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครูภาษาไทย ป.1 จำนวน 5,600 คน เข้ารับการอบรมระหว่างเดือน พ.ค.- มิ.ย. ก่อนเผยแพร่การอบรมข้างต้นไปยังครูกลุ่มเป้าหมายอีก 400,000 คน ทางเว็บไซต์ดีแอลไอที ควบคู่กันนี้ได้แจกหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ชั้น ป.1 ตอนกลาง ชั้น ป.2 และตอนปลาย ชั้นป.3 พร้อมคู่มือการสอนให้กับโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาทุกโรง เพื่อส่งเสริมการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ ทั้งนี้ สถาบันภาษาไทยของ สวก. ได้กำหนดให้ สพท. ที่มีโรงเรียนประถมศึกษา รายงานผลกลับมาทุกเดือนเป็นรายโรงจนถึง ก.พ. 59

“28 มิ.ย.- 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 18 เขต รวม 54 โรง ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ จะได้รู้ข้อมูลชัดเจนว่า สพท. ไหนมีอัตรานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” นายกมล กล่าว

ที่มา : ผู้จัดการ

สพฐ.เปิดทางรร.จัดตารางการเรียนได้

Print Friendly

สพฐ.วางโครงร่างปรับหลักสูตรระยะสั้น ยืดหยุ่นให้โรงเรียนสามารถจัดตารางการเรียนของตนเองได้ เริ่มภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 นี้ แล้วค่อยนำผลมาประเมิน วิเคราะห์ และถามความเห็นประชาชน ก่อนออกมาเป็นหลักสูตรระยะยาว คาดใช้เวลา 2 ปี เผยล่าสุด รมว.ศธ.นั่งเป็นประธานบอร์ดพัฒนาหลักสูตรแล้ว

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับมติเห็นชอบเรื่องการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ครั้งใหญ่ของประเทศ จากที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยการปรับหลักสูตรจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

  1. โครงการปรับปรุงหลักสูตรระยะสั้น จะปรับหลักสูตรในลักษณะยืดหยุ่น ให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการตารางเรียนได้เอง ที่จะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ซึ่งทาง สพฐ.จะมอบตัวอย่างแนวทางการจัดตารางเรียนในลักษณะยืดหยุ่นให้แต่ละโรงเรียน โดยผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหากโรงเรียนใดมีความพร้อมจะจัดการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าว ก็สามารถมาติดต่อขอรับแนวทางดังกล่าวจากเขตพื้นที่ฯ ได้
  2. การปรับหลักสูตรในระยะยาว ที่ประชุมก็ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาหลักสูตร ที่จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ หน่วยงานที่จัดการศึกษาที่จะต้องนำหลักสูตรไปใช้ และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ อย่าง นักวิชาการด้านสื่อการเรียนรู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สพฐ.ตั้งคณะกรรมการดำเนินการหลักสูตรขึ้น ซึ่งต้องมีนักวิชาการด้านต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการ เนื่องจากการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนไม่เพียงแต่ปรับให้แตกต่างจากเดิมเท่านั้น เมื่อปรับแล้วยังต้องมีการผลิตสื่อการเรียนรู้และตำราเรียนรองรับ อีกทั้งยังมีเรื่องการประเมินผลต่างๆ ตามมาด้วย ซึ่งตัวหลักสูตรคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ซึ่ง สพฐ.ได้ดำเนินการวิเคราะห์ตัวหลักสูตรเดิม ถามความเห็นจากประชาชน และศึกษาตัวอย่างหลักสูตรของประเทศต่างๆ แล้ว ขณะนี้เป็นขั้นตอนการร่างคุณลักษณะของผู้เรียน และเป้าประสงค์ของการพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประเทศ

“การปรับหลักสูตร สพฐ.ต้องฟังความเห็นจากประชาชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางความต้องการคนของซูเปอร์บอร์ดการศึกษา เพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประเทศให้ได้ และยังต้องนำผลการประเมินการดำเนินการของในการปรับหลักสูตรระยะสั้น ว่าทำแล้วได้ผลตอบรับอย่างไร เพื่อมาเป็นตัวอย่างให้กับการปรับหลักสูตรใหญ่ครั้งนี้ด้วย” เลขาฯ กพฐ.กล่าว.

ที่มา : ไทยโพสต์

ปรับเกณฑ์ย้ายครูต้องสอน2ปีถึงมีสิทธิ์

Print Friendly

ปรับเกณฑ์โยกย้ายของครู กำหนดต้องสอนก่อน 2 ปีถึงมีสิทธิ์ขอย้าย ป้องกันกระทบเด็กเรียนไม่ต่อเนื่อง ชี้ที่ผ่านมามีช่องโหว่อ้างเหตุขอย้ายกรณีพิเศษอื้อ พร้อมเห็นชอบ สพฐ.จัดสอบครูผู้ช่วย อัตราว่างกว่า 8,000 ย้ำเขตพื้นที่ฯ ถ้ามีอัตราว่างต้องเปิดสอบเอง ไม่ให้ไปใช้บัญชีข้ามเขต ป้องกันข้อครหาเรียกรับผลประโยชน์

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามที่ ก.ค.ศ.เสนอขอปรับเกณฑ์เสนอขอย้าย จากเดิมที่ไม่มีการระบุระยะเวลาอย่างชัดเจน เพียงแต่กำหนดว่าห้ามขอย้ายในช่วงที่มีการลาศึกษาต่อ และห้ามขอย้ายในช่วงที่มีการพัฒนาอย่างเข้ม แต่สามารถขอย้ายเป็นกรณีพิเศษที่มีภัยคุกคามได้ อาทิ ขอย้ายเพื่อไปดูแลบิดามารดา เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาครูมักจะใช้สาเหตุหรือช่องทางดังกล่าวขอย้ายเปลี่ยนสถานศึกษาจำนวนมาก หรือพออบรมพัฒนาเรียบร้อยก็ขอย้ายทันที ทำให้เกิดผลกระทบกับเด็ก การจัดการเรียนการสอนไม่เกิดความต่อเนื่อง

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งต่อไปครูที่มีความจำนงต้องการขอย้ายสถานศึกษาจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน หรือ 2 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ การย้ายสับเปลี่ยนกับตำแหน่งที่มีคนครอง ในวันที่ยื่นคำร้องขอย้าย และต้องมีอายุราชการเหลือไม่น้อยกว่า 2 เดือน นับถึงวันที่ 30 กันยายนของปีที่ครบเกษียณอายุราชการ ส่วนครูผู้ช่วยจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ทันทีในการขอย้ายเดือนมกราคม 2559 สำหรับการขอย้ายกรณีปกติ ยื่นคำขอได้ปีละ 1 ครั้ง ในเดือนมกราคมของทุกปี ส่วนการขอย้ายกรณีพิเศษ ยื่นคำขอย้ายได้ตลอดปี พร้อมหลักฐานทางราชการ หรือทางการแพทย์ ความเห็นและคำรับรองของผู้บังคับบัญชา ส่วนการยื่นคำร้องขอย้ายตามตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่กำหนดไว้เดิม ตามหลักเกณฑ์ ว.8/2549 สามารถยื่นได้อีก 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2558

พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเห็นชอบตามที่ สพฐ.เสนอขอจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย แทนอัตราว่างที่ยังขาดอยู่อีก 8,000 อัตรา พร้อมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันใหม่แทนหลักเกณฑ์เดิม โดยให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ และให้เขตพื้นที่ฯ รวมกลุ่มในพื้นที่ตรวจราชการ คัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่เหมาะสมเป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบ เพื่อให้ได้ข้อสอบที่มีมาตรฐาน จากเดิมที่ส่วนกลางเป็นผู้ออกข้อสอบ สามารถสมัครสอบได้เพียงแห่งเดียว จากเดิมที่ให้สมัครได้หลายเขตพื้นที่ฯ เพื่อให้การคำนวณค่าใช้จ่ายมีความแม่นยำมากขึ้น และป้องกันปัญหาการรับจ้างสอบ หรือวิ่งรอกสอบหลายที่

ขณะเดียวกันให้เขตพื้นที่ฯ ที่มีอัตราว่างทุกเขตเปิดสอบเอง ไม่ให้ไปใช้บัญชีของเขตพื้นที่ฯ อื่น เพราะที่ผ่านมามักมีข้อครหา เขตพื้นที่ฯ ไม่ยอมเปิดสอบ แต่ไปใช้บัญชีข้ามเขต เป็นช่องทางให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ และต่อไปการใช้บัญชีข้ามเขตจะสามารถดำเนินการได้เฉพาะเขตพื้นที่ฯ ที่เปิดสอบแข่งขันแล้วไม่มีผู้สมัครสอบ ไม่มีผู้สอบได้ หรือมีผู้สอบได้ไม่เพียงพอกับตำแหน่งว่างเท่านั้น โดยจากนี้ สพฐ.จะต้องไปกำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกเพื่อประกาศรับสมัคร โดยจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเดือนกันยายนนี้.

ที่มา : ไทยโพสต์

การเปลี่ยนแปลงการครุศึกษาสำหรับครูในอนาคต – ครูระยอง


การเปลี่ยนแปลงการครุศึกษาสำหรับครูในอนาคต

สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

Print Friendly

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งเรื่อง การผลิตและพัฒนาครู กระบวนทัศน์ใหม่ วิถีใหม่ และวิธีใหม่ ในการประชุมสัมมนาเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการครุศึกษาสำหรับครูในอนาคต ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ผ่านมามีการยกฐานะครูให้ดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะส่งผลดีต่อการเรียนการสอน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น จะเห็นได้ว่าในโรงเรียนต่าง ๆ มีครู ค.ศ.2 และ ค.ศ.3 หลายคน

แต่คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของเด็กยังต่ำ จึงเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทยที่ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมครูได้ดี แต่เด็กไม่ได้ดี นอกจากนี้ต้องทบทวนเป้าหมายการจัดการศึกษาใหม่ ทั้งหลักสูตร วิธีการสอน การบริหาร และกระบวนการเรียนรู้  การเป็นครูยุคใหม่ต้องมองไปข้างหน้า ไม่สอนแค่ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ต้องสอนให้เด็กรู้ความหมายและคุณค่าของชีวิต มองอนาคต เสริมสร้างทักษะชีวิต และเตรียมพร้อมสู่การประกอบอาชีพ

“หลังจากนี้รัฐต้องปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุน กระจายอำนาจการจัดการศึกษาลงสู่พื้นที่ และมีหลักสูตรเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น ต้องไม่มีเสื้อเบอร์เดียว รองเท้าเบอร์เดียว และครูเบอร์เดียวที่สอนเหมือนกันทั้งประเทศ ต่อไปแต่ละพื้นที่ต้องมีเป้าหมาย รูปแบบการเรียนรู้ และการวัดประเมินผลที่แตกต่างกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่  ทำให้ต้องการกำลังคนรุ่นใหม่ ต้องมีครูแบบใหม่ ขณะเดียวกันขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในอนาคต จะมีคนวัยทำงานมากขึ้น เด็กเกิดใหม่จะน้อยลง ดังนั้นการผลิตครูจึงต้องเปลี่ยนไปจะไม่ใช่สำหรับคนในวัยเรียนเท่านั้น ต้องเป็นสำหรับคนวัยทำงาน และคนสูงวัยด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว.

ที่มา : moe

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

การศึกษาไทยหลายเรื่องคงต้องพึ่ง ม. 44 จริง ๆ

การปรับเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะส่วนนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างยิ่งเพราะเป้าหมายของเด็กและผู้ปกครองจะมุ่งที่มหาวิทยาลัยเพื่อใบปริญญา

ไม่รู้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาฮึ่มจะใช้ ม.44 กับการศึกษาเพราะเห็นการขับเคลื่อนล่าช้าหรือทำแล้วเกาไม่ถูกที่คัน การออกมาพูดเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรีหลายฝ่ายอาจจะคิดว่าเป็นแค่คำขู่เพื่อให้งานการศึกษาเดินหน้าได้เร็วขึ้น แต่สำหรับผู้เขียนไม่อยากให้เป็นแค่คำขู่แต่อยากให้ใช้จริง ด้วยคุณภาพการศึกษาตกต่ำอยู่เช่นนี้ เพราะปัจจัยหลักการจัดการศึกษาหลายอย่างยังมีปัญหาอยู่ และปัญหาที่ว่านี้จะอาศัยเพียงกฎระเบียบที่มีอยู่คงแก้ไขได้ยาก การใช้ ม.44 จึงมีความจำเป็นยิ่ง ซึ่งปัจจัยหลักที่ว่านี้มีอยู่มากคงจะขอนำมายกตัวอย่างเพียงบางส่วน ดังนี้

เรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จะเป็นใบเบิกทางให้การดำเนินงานด้านอื่น ๆ เกิดรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ส่วนจะแก้ไขหรือทำใหม่ทั้งฉบับก็คงไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ใช้มาถึง 16 ปี ก็น่าจะทำให้รู้ว่าต้องคงจุดเด่น อุดรูรั่ว หรือ เติมเต็มส่วนไหนบ้างได้แล้ว รวมถึงตอนนี้ทั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำร่างฉบับปรับปรุงแก้ไขไว้แล้ว ซึ่งทั้ง 3 ร่างนี้คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สนช. ก็ได้เป็นเจ้าภาพให้มาพิจารณาร่วมกันไปแล้ว และมีความเห็นตกผลึกตรงกันในหลายประเด็นหลัก ส่วนที่แตกต่างกันก็น่าจะหาจุดลงตัวได้ไม่ยาก การเร่งกฎหมายการศึกษาให้เกิดขึ้นเร็วได้เท่าใดการปฏิรูปด้านอื่นก็จะเดินเร็วตามไปด้วย

เรื่องต่อมา คือ หัวใจหลักของการศึกษา ประกอบด้วย คน การบริหารจัดการ หลักสูตร และการจัดการเรียนรู้ หากปัจจัยเหล่านี้ดี เด็กมีคุณภาพแน่ แต่ที่ผ่านมาแต่ละส่วนยังมีจุดอ่อนอยู่มากมาย ทั้งด้านคน ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงผู้ปฏิบัติ ซึ่งปัญหานี้มักจะคิดกันอยู่แค่การขาดแคลนและขาดคุณภาพแต่ด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบกับคุณภาพของผู้เรียนที่เกิดขึ้นไม่ค่อยพูดถึงกันทำให้ “คน” ที่ว่านี้ส่วนใหญ่จึงมุ่งทำงานที่ส่งผลต่อตัวเองทั้งชื่อเสียง ตำแหน่ง วิทยฐานะมากกว่าตัวเด็ก ข้อมูลนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากผลการประเมินของ สมศ. ทุกครั้งที่มาตรฐานด้านผู้บริหาร ครู สภาพแวดล้อม จะออกมาดีมากหรือดีเยี่ยม แต่คุณภาพเด็กกลับแย่ เมื่อบริหารหรือปฏิบัติงานแล้วคุณภาพผู้เรียนตกต่ำก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แถมมีความก้าวหน้าได้ตามปกติ การปฏิรูปการศึกษาแม้จะกำหนดยุทธศาสตร์ วิธีการไว้สวยหรูสู่สากลแค่ไหน หากผู้มีหน้าที่ไม่นำไปดำเนินการหรือทำแบบไร้ทิศทางขาดประสิทธิภาพแถมไม่ต้องรับผิดชอบความสำเร็จก็คงเกิดขึ้นได้ยาก เบื้องต้นจึงต้องปฏิรูป “คน” ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้ได้ก่อน คุณภาพของเด็กถึงจะเกิดตามมาได้ ปัญหานี้จึงน่าจะมีมาตรการให้คุณให้โทษกับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานกับผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนส่วนนี้จะอาศัยลำพังแค่จรรยาบรรณ คงเอาไม่อยู่แน่

ด้านบริหารจัดการเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่หลายอย่างยังรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้การแก้ปัญหาหรือพัฒนาเกาไม่ถูกที่คัน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่คุ้มค่ากับการลงทุนแถมเพิ่มภาระงานให้กับครู การกระจายอำนาจไปให้ภาคปฏิบัติจึงจำเป็นอย่างยิ่งซึ่งเรื่องนี้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้แล้วแต่ไม่ได้ถูกนำมาดำเนินการเท่านั้นเอง ปัญหาต่อมา คือ เรื่องโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่พิเศษ กรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีอยู่เกือบครึ่งหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมด จะขาดความพร้อมทั้ง ครู อุปกรณ์ อาคารสถานที่ แม้กระทั้งจำนวนเด็ก แต่ภาระงานกลับไม่แตกต่างจากโรงเรียนใหญ่ เมื่อครูมีไม่พอสอนครบชั้น ขาดปัจจัยต่าง ๆ มาสนับสนุน เด็กจึงเสียสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพที่มีอยู่ การที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีความพร้อมทุกด้านได้ภาครัฐคงต้องใช้เงินมหาศาลกับการพัฒนาเด็กจำนวนไม่มากนักจึงเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า การแก้ปัญหาให้ตรงจุดคือต้องยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่การคมนาคมสะดวกทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องใหม่แต่ที่ผ่านมาทำได้ยากเพราะติดขัดด้วยปัจจัยต่าง ๆ การใช้ ม. 44 จึงน่าจะเป็นทางออกได้ดีที่สุดเพื่อจะทำให้เหลือคน เงิน อุปกรณ์มาใช้พัฒนาการศึกษาได้ตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพผู้เรียน ส่วนกรณีของโรงเรียนขนาดใหญ่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเพราะจากจำนวนเด็กที่ต้องรองรับ 3,000–6,000 คนต่อโรงเรียน 40-50 คน ต่อห้อง ผู้บริหาร ครู คงดูแลพัฒนาได้ไม่ทั่วถึงการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฏิบัติจริงก็ทำได้ยาก จึงควรปรับให้โรงเรียนมัธยมจัดการศึกษา ม. 1-3 และ ม. 4-6 แยกออกจากกัน ส่วนนี้จะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดกลางที่เด็กลดลงทุกปีส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ก็จะได้ลดจำนวนเด็กที่เกินกำลังกับการจัดการเรียนรู้ได้

ด้านหลักสูตร ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเหมือนถูกบังคับให้ใส่เสื้อเบอร์เดียวกันด้วยใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดเดียวกันทั้งประเทศซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพจริงของเด็กแต่ละพื้นที่ที่ต่างกันทั้งด้านฐานะความเป็นอยู่ วิถีชีวิตปัจจัยรอบข้างที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะศักยภาพที่มีทั้งกลุ่มอ่อน กลุ่มปานกลางและกลุ่มเก่ง หลักสูตรจึงต้องจัดให้สอดคล้องกับการพัฒนาเด็กแต่ละกลุ่มและบริบท เช่นเด็กที่อยู่ตามเกาะ แก่ง ภูเขา ชายตะเข็บหรือบางส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีปัญหาด้านพื้นฐานการเรียนรู้ เช่น อ่านไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น ดำรงชีวิตไม่ถูกสุขนิสัย หลักสูตรก็ต้องเน้นพื้นฐานให้แน่นก่อน ส่วนกลุ่มเด็กปานกลาง ก็ใช้หลักสูตรแกนกลางพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ประเทศต้องการ สำหรับกลุ่มเด็กเก่ง จะให้เรียนรู้อยู่แค่หลักสูตรแกนกลางอย่างเดียวคงไม่พอต้องเพิ่มสู่ความเป็นเลิศ ให้หากหลักสูตรจัดได้ถูกกลุ่มเช่นนี้การพัฒนาก็จะทำได้ง่ายและเด็กก็จะได้รับพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ การจัดการศึกษาแบบเตี้ยอุ้มค่อมก็จะหมดไป

ด้านจัดการเรียนรู้ ก็ถือว่ายังมีปัญหาอยู่เช่นกันด้วยมีครูจำนวนไม่น้อยยังไม่ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน โดยสอนด้วยการบอกเล่าเนื้อหาจากตำราเรียนหรือไม่ก็สอนตามประสบการณ์จากความรู้เดิม ๆ ไม่ได้นำหลักสูตรสถานศึกษา มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดมาออกแบบการจัดการเรียนรู้และนำลงสู่ภาคปฏิบัติจริง ทักษะที่เกิดขึ้นกับเด็กจึงมีแค่จำเนื้อหาเพื่อสอบเพื่อจบ เมื่อการสอนของครูยังเปลี่ยนได้ยากเช่นนี้จึงควรนำต้นแบบของครูที่จัดการเรียนรู้แล้วทำให้เด็ก คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหา ด้วยวิธีการที่หลากหลายนำมาจัดทำเป็นคู่มือให้ครูนำไปปรับประยุกต์ใช้เพราะหากมัวพัฒนาด้วยการอบรมสัมมนาอยู่เช่นนี้คงเปลี่ยนวิธีสอนได้ยาก รวมถึงด้านเนื้อหาที่จะให้เด็กเรียนรู้น่าจะจัดเป็นตำราเรียนแห่งชาติไปเลยเพื่อเด็กจะได้เรียนแก่นแท้ของเนื้อหาไม่ใช่เรียนทั้งของจริงและขยะผสมปนเปกันอย่างทุกวันนี้

เรื่องต่อมา คือ การปรับเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะส่วนนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างยิ่งเพราะเป้าหมายของเด็กและผู้ปกครองจะมุ่งที่มหาวิทยาลัยเพื่อใบปริญญา คุณภาพการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงเป็นตัวกำหนดคุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การคัดเลือกด้วยข้อสอบปรนัยและเน้นเนื้อหาวิชาการทำให้ความสนใจของเด็กอยู่แค่นั้นทักษะด้านอื่นไม่เกิดแถมยังเป็นต้นเหตุให้เกิดธุรกิจการศึกษาต้องกวดวิชากันตั้งแต่ระดับอนุบาลจนกว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ หากเป้าหมายปลายทางผิดเพี้ยนอย่างนี้ ต้นทางก็พลอยหลงทางไปด้วย

การนำ ม.44 มาใช้เพื่อเปิดทางโล่งให้ปัจจัยต่าง ๆ เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นก็น่าจะทำ ด้วยการศึกษาเป็นระบบใหญ่ จัดหลายระดับ ผู้รับบริการมีหลายบริบทหลายศักยภาพ เป็นงานใหญ่ งานยาก เห็นผลช้า จี้ไปตรงไหนก็เจอปัญหาตรงนั้น หากปล่อยให้เดินตามปกติคงแก้ปัญหาได้ยาก ลองใช้ ม. 44 ดูบ้างอาจทำให้การศึกษาไทยวิ่งฉิวเลยก็ได้.

โดย : กลิ่น สระทองเนียม
ที่มา : เดลินิวส์

ไฟเขียวจัดสอบครูผู้ช่วย 8 พันอัตรา คลอดเกณฑ์ใหม่ สอบได้ที่เดียว สกัดรับจ้าง-วิ่งรอกสอบ ห้ามใช้บัญชีข้ามเขต

สอบราชการ - ครูระยอง

Print Friendly

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ สพฐ. เสนอขอจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุครูผู้ช่วยแทนอัตราว่าง 8,000 อัตรา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ใหม่ โดยให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ และให้เขตพื้นที่ฯรวมกลุ่มผู้ตรวจราชการ ศธ.ในพื้นที่คัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่เหมาะสมเป็นผู้ออกข้อสอบ จากเดิมที่ส่วนกลางเป็นผู้ออกข้อสอบ ขณะเดียวกัน กำหนดให้สมัครสอบได้เพียงแห่งเดียว จากเดิมสมัครได้หลายเขตพื้นที่ เพื่อให้การคำนวณค่าใช้จ่ายมีความแม่นยำมากขึ้น และป้องกันปัญหาการรับจ้างสอบ หรือวิ่งรอกสอบหลายที่
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีมติให้ทุกเขตพื้นที่ฯที่มีอัตราว่างเปิดสอบเอง ไม่ให้ไปใช้บัญชีของเขตพื้นที่อื่น เพราะที่ผ่านมามักมีข้อครหาบางเขตพื้นที่ฯไม่ยอมเปิดสอบ แต่ไปใช้บัญชีข้ามเขต เป็นช่องทางให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ และต่อไปการใช้บัญชีข้ามเขตจะสามารถดำเนินการได้เฉพาะเขตพื้นที่ที่เปิดสอบแข่งขันแล้วไม่มีผู้สมัครสอบ ไม่มีผู้สอบได้ หรือผู้สอบได้ไม่เพียงพอกับตำแหน่งว่าง โดยจากนี้ สพฐ. จะต้องไปกำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกเพื่อประกาศรับสมัคร โดยจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายใน ก.ย. นี้

ที่มา : ผู้จัดการ

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สทศ.รับสมัครสอบวัดความรู้ครู – ครูระยอง


สทศ.รับสมัครสอบวัดความรู้ครู

สทศ

Print Friendly

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า สทศ. เปิดรับสมัครสอบความรู้ทางด้านการวัด และประเมินผลการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2558 ตั้งแต่วันที่ 3-11 ส.ค.2558 เพื่อมุ่งเน้นพัฒนา และส่งเสริมสมรรถนะครูทางด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยเฉพาะการรองรับนโยบายการใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551

ผอ.สทศ. กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่สนใจเข้ารับการทดสอบดังกล่าว ต้องเป็นครูผู้สอนในระดับชั้น ป.1- ม.6 สามารถสมัครสอบได้ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th เสียค่าสมัครสอบ 200 บาท โดยผู้สมัครต้องนำเอกสารใบสมัครไปชำระเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย วันที่ 3-11 ส.ค.2558 ทั้งนี้จะมีการประกาศรายชื่อ เลขที่นั่งสอบ และสถานที่สอบ ในวันที่ 20 ส.ค.2558 สอบวันที่ 29 ส.ค.2558 ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. และประกาศผลสอบวันที่ 7 ก.ย.2558 ทางเว็บไซต์ สทศ.

ที่มา : เดลินิวส์

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

Our partners from Mexico:
Productos de salud
Carlos Torre