สั่งสถาบันภาษาไทยจัดอบรมครูทั่วประเทศ แก้เด็กอ่านเขียนไม่ได้ – ครูระยอง

Print Friendly

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา โดยเน้นความสำคัญไปที่การเรียนการสอนภาษาไทย และประกาศให้ปี 2558 เป็นปีที่ปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มอบหมายให้สถาบันภาษาไทย ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.)

ล่าสุด สถาบันภาษาไทยได้รายงานความคืบหน้า ระหว่างเดือน เม.ย.- มิ.ย. ว่า ได้จัดทำ “โครงการพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี” โดยจัดอบรมแนวทางพัฒนาการทางสมอง (บีบีแอล) ผ่านระบบทางไกลผ่านดาวเทียมดีแอลทีวี และเผยแพร่ทางเว็บไซต์โครงการฯ ให้กับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครูภาษาไทย ป.1 ทั่วประเทศ 65,000 คน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สพฐ. ได้คัดเลือกโรงเรียนแกนนำจากทุกเขตพื้นที่ฯ รวม 2,022 โรง เพื่อให้ผู้บริหาร สพท. ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครูภาษาไทย ป.1 จำนวน 5,600 คน เข้ารับการอบรมระหว่างเดือน พ.ค.- มิ.ย. ก่อนเผยแพร่การอบรมข้างต้นไปยังครูกลุ่มเป้าหมายอีก 400,000 คน ทางเว็บไซต์ดีแอลไอที ควบคู่กันนี้ได้แจกหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ชั้น ป.1 ตอนกลาง ชั้น ป.2 และตอนปลาย ชั้นป.3 พร้อมคู่มือการสอนให้กับโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาทุกโรง เพื่อส่งเสริมการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ ทั้งนี้ สถาบันภาษาไทยของ สวก. ได้กำหนดให้ สพท. ที่มีโรงเรียนประถมศึกษา รายงานผลกลับมาทุกเดือนเป็นรายโรงจนถึง ก.พ. 59

“28 มิ.ย.- 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 18 เขต รวม 54 โรง ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ จะได้รู้ข้อมูลชัดเจนว่า สพท. ไหนมีอัตรานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” นายกมล กล่าว

ที่มา : ผู้จัดการ

สพฐ.เปิดทางรร.จัดตารางการเรียนได้

Print Friendly

สพฐ.วางโครงร่างปรับหลักสูตรระยะสั้น ยืดหยุ่นให้โรงเรียนสามารถจัดตารางการเรียนของตนเองได้ เริ่มภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 นี้ แล้วค่อยนำผลมาประเมิน วิเคราะห์ และถามความเห็นประชาชน ก่อนออกมาเป็นหลักสูตรระยะยาว คาดใช้เวลา 2 ปี เผยล่าสุด รมว.ศธ.นั่งเป็นประธานบอร์ดพัฒนาหลักสูตรแล้ว

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับมติเห็นชอบเรื่องการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ครั้งใหญ่ของประเทศ จากที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยการปรับหลักสูตรจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

  1. โครงการปรับปรุงหลักสูตรระยะสั้น จะปรับหลักสูตรในลักษณะยืดหยุ่น ให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการตารางเรียนได้เอง ที่จะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ซึ่งทาง สพฐ.จะมอบตัวอย่างแนวทางการจัดตารางเรียนในลักษณะยืดหยุ่นให้แต่ละโรงเรียน โดยผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหากโรงเรียนใดมีความพร้อมจะจัดการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าว ก็สามารถมาติดต่อขอรับแนวทางดังกล่าวจากเขตพื้นที่ฯ ได้
  2. การปรับหลักสูตรในระยะยาว ที่ประชุมก็ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาหลักสูตร ที่จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ หน่วยงานที่จัดการศึกษาที่จะต้องนำหลักสูตรไปใช้ และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ อย่าง นักวิชาการด้านสื่อการเรียนรู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สพฐ.ตั้งคณะกรรมการดำเนินการหลักสูตรขึ้น ซึ่งต้องมีนักวิชาการด้านต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการ เนื่องจากการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนไม่เพียงแต่ปรับให้แตกต่างจากเดิมเท่านั้น เมื่อปรับแล้วยังต้องมีการผลิตสื่อการเรียนรู้และตำราเรียนรองรับ อีกทั้งยังมีเรื่องการประเมินผลต่างๆ ตามมาด้วย ซึ่งตัวหลักสูตรคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ซึ่ง สพฐ.ได้ดำเนินการวิเคราะห์ตัวหลักสูตรเดิม ถามความเห็นจากประชาชน และศึกษาตัวอย่างหลักสูตรของประเทศต่างๆ แล้ว ขณะนี้เป็นขั้นตอนการร่างคุณลักษณะของผู้เรียน และเป้าประสงค์ของการพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประเทศ

“การปรับหลักสูตร สพฐ.ต้องฟังความเห็นจากประชาชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางความต้องการคนของซูเปอร์บอร์ดการศึกษา เพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประเทศให้ได้ และยังต้องนำผลการประเมินการดำเนินการของในการปรับหลักสูตรระยะสั้น ว่าทำแล้วได้ผลตอบรับอย่างไร เพื่อมาเป็นตัวอย่างให้กับการปรับหลักสูตรใหญ่ครั้งนี้ด้วย” เลขาฯ กพฐ.กล่าว.

ที่มา : ไทยโพสต์

ปรับเกณฑ์ย้ายครูต้องสอน2ปีถึงมีสิทธิ์

Print Friendly

ปรับเกณฑ์โยกย้ายของครู กำหนดต้องสอนก่อน 2 ปีถึงมีสิทธิ์ขอย้าย ป้องกันกระทบเด็กเรียนไม่ต่อเนื่อง ชี้ที่ผ่านมามีช่องโหว่อ้างเหตุขอย้ายกรณีพิเศษอื้อ พร้อมเห็นชอบ สพฐ.จัดสอบครูผู้ช่วย อัตราว่างกว่า 8,000 ย้ำเขตพื้นที่ฯ ถ้ามีอัตราว่างต้องเปิดสอบเอง ไม่ให้ไปใช้บัญชีข้ามเขต ป้องกันข้อครหาเรียกรับผลประโยชน์

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามที่ ก.ค.ศ.เสนอขอปรับเกณฑ์เสนอขอย้าย จากเดิมที่ไม่มีการระบุระยะเวลาอย่างชัดเจน เพียงแต่กำหนดว่าห้ามขอย้ายในช่วงที่มีการลาศึกษาต่อ และห้ามขอย้ายในช่วงที่มีการพัฒนาอย่างเข้ม แต่สามารถขอย้ายเป็นกรณีพิเศษที่มีภัยคุกคามได้ อาทิ ขอย้ายเพื่อไปดูแลบิดามารดา เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาครูมักจะใช้สาเหตุหรือช่องทางดังกล่าวขอย้ายเปลี่ยนสถานศึกษาจำนวนมาก หรือพออบรมพัฒนาเรียบร้อยก็ขอย้ายทันที ทำให้เกิดผลกระทบกับเด็ก การจัดการเรียนการสอนไม่เกิดความต่อเนื่อง

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งต่อไปครูที่มีความจำนงต้องการขอย้ายสถานศึกษาจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน หรือ 2 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ การย้ายสับเปลี่ยนกับตำแหน่งที่มีคนครอง ในวันที่ยื่นคำร้องขอย้าย และต้องมีอายุราชการเหลือไม่น้อยกว่า 2 เดือน นับถึงวันที่ 30 กันยายนของปีที่ครบเกษียณอายุราชการ ส่วนครูผู้ช่วยจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ทันทีในการขอย้ายเดือนมกราคม 2559 สำหรับการขอย้ายกรณีปกติ ยื่นคำขอได้ปีละ 1 ครั้ง ในเดือนมกราคมของทุกปี ส่วนการขอย้ายกรณีพิเศษ ยื่นคำขอย้ายได้ตลอดปี พร้อมหลักฐานทางราชการ หรือทางการแพทย์ ความเห็นและคำรับรองของผู้บังคับบัญชา ส่วนการยื่นคำร้องขอย้ายตามตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่กำหนดไว้เดิม ตามหลักเกณฑ์ ว.8/2549 สามารถยื่นได้อีก 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2558

พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเห็นชอบตามที่ สพฐ.เสนอขอจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย แทนอัตราว่างที่ยังขาดอยู่อีก 8,000 อัตรา พร้อมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันใหม่แทนหลักเกณฑ์เดิม โดยให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ และให้เขตพื้นที่ฯ รวมกลุ่มในพื้นที่ตรวจราชการ คัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่เหมาะสมเป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบ เพื่อให้ได้ข้อสอบที่มีมาตรฐาน จากเดิมที่ส่วนกลางเป็นผู้ออกข้อสอบ สามารถสมัครสอบได้เพียงแห่งเดียว จากเดิมที่ให้สมัครได้หลายเขตพื้นที่ฯ เพื่อให้การคำนวณค่าใช้จ่ายมีความแม่นยำมากขึ้น และป้องกันปัญหาการรับจ้างสอบ หรือวิ่งรอกสอบหลายที่

ขณะเดียวกันให้เขตพื้นที่ฯ ที่มีอัตราว่างทุกเขตเปิดสอบเอง ไม่ให้ไปใช้บัญชีของเขตพื้นที่ฯ อื่น เพราะที่ผ่านมามักมีข้อครหา เขตพื้นที่ฯ ไม่ยอมเปิดสอบ แต่ไปใช้บัญชีข้ามเขต เป็นช่องทางให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ และต่อไปการใช้บัญชีข้ามเขตจะสามารถดำเนินการได้เฉพาะเขตพื้นที่ฯ ที่เปิดสอบแข่งขันแล้วไม่มีผู้สมัครสอบ ไม่มีผู้สอบได้ หรือมีผู้สอบได้ไม่เพียงพอกับตำแหน่งว่างเท่านั้น โดยจากนี้ สพฐ.จะต้องไปกำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกเพื่อประกาศรับสมัคร โดยจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเดือนกันยายนนี้.

ที่มา : ไทยโพสต์

การเปลี่ยนแปลงการครุศึกษาสำหรับครูในอนาคต – ครูระยอง


การเปลี่ยนแปลงการครุศึกษาสำหรับครูในอนาคต

สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

Print Friendly

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งเรื่อง การผลิตและพัฒนาครู กระบวนทัศน์ใหม่ วิถีใหม่ และวิธีใหม่ ในการประชุมสัมมนาเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการครุศึกษาสำหรับครูในอนาคต ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ผ่านมามีการยกฐานะครูให้ดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะส่งผลดีต่อการเรียนการสอน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น จะเห็นได้ว่าในโรงเรียนต่าง ๆ มีครู ค.ศ.2 และ ค.ศ.3 หลายคน

แต่คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของเด็กยังต่ำ จึงเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทยที่ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมครูได้ดี แต่เด็กไม่ได้ดี นอกจากนี้ต้องทบทวนเป้าหมายการจัดการศึกษาใหม่ ทั้งหลักสูตร วิธีการสอน การบริหาร และกระบวนการเรียนรู้  การเป็นครูยุคใหม่ต้องมองไปข้างหน้า ไม่สอนแค่ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ต้องสอนให้เด็กรู้ความหมายและคุณค่าของชีวิต มองอนาคต เสริมสร้างทักษะชีวิต และเตรียมพร้อมสู่การประกอบอาชีพ

“หลังจากนี้รัฐต้องปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุน กระจายอำนาจการจัดการศึกษาลงสู่พื้นที่ และมีหลักสูตรเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น ต้องไม่มีเสื้อเบอร์เดียว รองเท้าเบอร์เดียว และครูเบอร์เดียวที่สอนเหมือนกันทั้งประเทศ ต่อไปแต่ละพื้นที่ต้องมีเป้าหมาย รูปแบบการเรียนรู้ และการวัดประเมินผลที่แตกต่างกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่  ทำให้ต้องการกำลังคนรุ่นใหม่ ต้องมีครูแบบใหม่ ขณะเดียวกันขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในอนาคต จะมีคนวัยทำงานมากขึ้น เด็กเกิดใหม่จะน้อยลง ดังนั้นการผลิตครูจึงต้องเปลี่ยนไปจะไม่ใช่สำหรับคนในวัยเรียนเท่านั้น ต้องเป็นสำหรับคนวัยทำงาน และคนสูงวัยด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว.

ที่มา : moe

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

การศึกษาไทยหลายเรื่องคงต้องพึ่ง ม. 44 จริง ๆ

การปรับเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะส่วนนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างยิ่งเพราะเป้าหมายของเด็กและผู้ปกครองจะมุ่งที่มหาวิทยาลัยเพื่อใบปริญญา

ไม่รู้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาฮึ่มจะใช้ ม.44 กับการศึกษาเพราะเห็นการขับเคลื่อนล่าช้าหรือทำแล้วเกาไม่ถูกที่คัน การออกมาพูดเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรีหลายฝ่ายอาจจะคิดว่าเป็นแค่คำขู่เพื่อให้งานการศึกษาเดินหน้าได้เร็วขึ้น แต่สำหรับผู้เขียนไม่อยากให้เป็นแค่คำขู่แต่อยากให้ใช้จริง ด้วยคุณภาพการศึกษาตกต่ำอยู่เช่นนี้ เพราะปัจจัยหลักการจัดการศึกษาหลายอย่างยังมีปัญหาอยู่ และปัญหาที่ว่านี้จะอาศัยเพียงกฎระเบียบที่มีอยู่คงแก้ไขได้ยาก การใช้ ม.44 จึงมีความจำเป็นยิ่ง ซึ่งปัจจัยหลักที่ว่านี้มีอยู่มากคงจะขอนำมายกตัวอย่างเพียงบางส่วน ดังนี้

เรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จะเป็นใบเบิกทางให้การดำเนินงานด้านอื่น ๆ เกิดรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ส่วนจะแก้ไขหรือทำใหม่ทั้งฉบับก็คงไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ใช้มาถึง 16 ปี ก็น่าจะทำให้รู้ว่าต้องคงจุดเด่น อุดรูรั่ว หรือ เติมเต็มส่วนไหนบ้างได้แล้ว รวมถึงตอนนี้ทั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำร่างฉบับปรับปรุงแก้ไขไว้แล้ว ซึ่งทั้ง 3 ร่างนี้คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สนช. ก็ได้เป็นเจ้าภาพให้มาพิจารณาร่วมกันไปแล้ว และมีความเห็นตกผลึกตรงกันในหลายประเด็นหลัก ส่วนที่แตกต่างกันก็น่าจะหาจุดลงตัวได้ไม่ยาก การเร่งกฎหมายการศึกษาให้เกิดขึ้นเร็วได้เท่าใดการปฏิรูปด้านอื่นก็จะเดินเร็วตามไปด้วย

เรื่องต่อมา คือ หัวใจหลักของการศึกษา ประกอบด้วย คน การบริหารจัดการ หลักสูตร และการจัดการเรียนรู้ หากปัจจัยเหล่านี้ดี เด็กมีคุณภาพแน่ แต่ที่ผ่านมาแต่ละส่วนยังมีจุดอ่อนอยู่มากมาย ทั้งด้านคน ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงผู้ปฏิบัติ ซึ่งปัญหานี้มักจะคิดกันอยู่แค่การขาดแคลนและขาดคุณภาพแต่ด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบกับคุณภาพของผู้เรียนที่เกิดขึ้นไม่ค่อยพูดถึงกันทำให้ “คน” ที่ว่านี้ส่วนใหญ่จึงมุ่งทำงานที่ส่งผลต่อตัวเองทั้งชื่อเสียง ตำแหน่ง วิทยฐานะมากกว่าตัวเด็ก ข้อมูลนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากผลการประเมินของ สมศ. ทุกครั้งที่มาตรฐานด้านผู้บริหาร ครู สภาพแวดล้อม จะออกมาดีมากหรือดีเยี่ยม แต่คุณภาพเด็กกลับแย่ เมื่อบริหารหรือปฏิบัติงานแล้วคุณภาพผู้เรียนตกต่ำก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แถมมีความก้าวหน้าได้ตามปกติ การปฏิรูปการศึกษาแม้จะกำหนดยุทธศาสตร์ วิธีการไว้สวยหรูสู่สากลแค่ไหน หากผู้มีหน้าที่ไม่นำไปดำเนินการหรือทำแบบไร้ทิศทางขาดประสิทธิภาพแถมไม่ต้องรับผิดชอบความสำเร็จก็คงเกิดขึ้นได้ยาก เบื้องต้นจึงต้องปฏิรูป “คน” ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้ได้ก่อน คุณภาพของเด็กถึงจะเกิดตามมาได้ ปัญหานี้จึงน่าจะมีมาตรการให้คุณให้โทษกับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานกับผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนส่วนนี้จะอาศัยลำพังแค่จรรยาบรรณ คงเอาไม่อยู่แน่

ด้านบริหารจัดการเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่หลายอย่างยังรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้การแก้ปัญหาหรือพัฒนาเกาไม่ถูกที่คัน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่คุ้มค่ากับการลงทุนแถมเพิ่มภาระงานให้กับครู การกระจายอำนาจไปให้ภาคปฏิบัติจึงจำเป็นอย่างยิ่งซึ่งเรื่องนี้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้แล้วแต่ไม่ได้ถูกนำมาดำเนินการเท่านั้นเอง ปัญหาต่อมา คือ เรื่องโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่พิเศษ กรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีอยู่เกือบครึ่งหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมด จะขาดความพร้อมทั้ง ครู อุปกรณ์ อาคารสถานที่ แม้กระทั้งจำนวนเด็ก แต่ภาระงานกลับไม่แตกต่างจากโรงเรียนใหญ่ เมื่อครูมีไม่พอสอนครบชั้น ขาดปัจจัยต่าง ๆ มาสนับสนุน เด็กจึงเสียสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพที่มีอยู่ การที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีความพร้อมทุกด้านได้ภาครัฐคงต้องใช้เงินมหาศาลกับการพัฒนาเด็กจำนวนไม่มากนักจึงเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า การแก้ปัญหาให้ตรงจุดคือต้องยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่การคมนาคมสะดวกทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องใหม่แต่ที่ผ่านมาทำได้ยากเพราะติดขัดด้วยปัจจัยต่าง ๆ การใช้ ม. 44 จึงน่าจะเป็นทางออกได้ดีที่สุดเพื่อจะทำให้เหลือคน เงิน อุปกรณ์มาใช้พัฒนาการศึกษาได้ตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพผู้เรียน ส่วนกรณีของโรงเรียนขนาดใหญ่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเพราะจากจำนวนเด็กที่ต้องรองรับ 3,000–6,000 คนต่อโรงเรียน 40-50 คน ต่อห้อง ผู้บริหาร ครู คงดูแลพัฒนาได้ไม่ทั่วถึงการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฏิบัติจริงก็ทำได้ยาก จึงควรปรับให้โรงเรียนมัธยมจัดการศึกษา ม. 1-3 และ ม. 4-6 แยกออกจากกัน ส่วนนี้จะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดกลางที่เด็กลดลงทุกปีส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ก็จะได้ลดจำนวนเด็กที่เกินกำลังกับการจัดการเรียนรู้ได้

ด้านหลักสูตร ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเหมือนถูกบังคับให้ใส่เสื้อเบอร์เดียวกันด้วยใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดเดียวกันทั้งประเทศซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพจริงของเด็กแต่ละพื้นที่ที่ต่างกันทั้งด้านฐานะความเป็นอยู่ วิถีชีวิตปัจจัยรอบข้างที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะศักยภาพที่มีทั้งกลุ่มอ่อน กลุ่มปานกลางและกลุ่มเก่ง หลักสูตรจึงต้องจัดให้สอดคล้องกับการพัฒนาเด็กแต่ละกลุ่มและบริบท เช่นเด็กที่อยู่ตามเกาะ แก่ง ภูเขา ชายตะเข็บหรือบางส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีปัญหาด้านพื้นฐานการเรียนรู้ เช่น อ่านไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น ดำรงชีวิตไม่ถูกสุขนิสัย หลักสูตรก็ต้องเน้นพื้นฐานให้แน่นก่อน ส่วนกลุ่มเด็กปานกลาง ก็ใช้หลักสูตรแกนกลางพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ประเทศต้องการ สำหรับกลุ่มเด็กเก่ง จะให้เรียนรู้อยู่แค่หลักสูตรแกนกลางอย่างเดียวคงไม่พอต้องเพิ่มสู่ความเป็นเลิศ ให้หากหลักสูตรจัดได้ถูกกลุ่มเช่นนี้การพัฒนาก็จะทำได้ง่ายและเด็กก็จะได้รับพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ การจัดการศึกษาแบบเตี้ยอุ้มค่อมก็จะหมดไป

ด้านจัดการเรียนรู้ ก็ถือว่ายังมีปัญหาอยู่เช่นกันด้วยมีครูจำนวนไม่น้อยยังไม่ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน โดยสอนด้วยการบอกเล่าเนื้อหาจากตำราเรียนหรือไม่ก็สอนตามประสบการณ์จากความรู้เดิม ๆ ไม่ได้นำหลักสูตรสถานศึกษา มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดมาออกแบบการจัดการเรียนรู้และนำลงสู่ภาคปฏิบัติจริง ทักษะที่เกิดขึ้นกับเด็กจึงมีแค่จำเนื้อหาเพื่อสอบเพื่อจบ เมื่อการสอนของครูยังเปลี่ยนได้ยากเช่นนี้จึงควรนำต้นแบบของครูที่จัดการเรียนรู้แล้วทำให้เด็ก คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหา ด้วยวิธีการที่หลากหลายนำมาจัดทำเป็นคู่มือให้ครูนำไปปรับประยุกต์ใช้เพราะหากมัวพัฒนาด้วยการอบรมสัมมนาอยู่เช่นนี้คงเปลี่ยนวิธีสอนได้ยาก รวมถึงด้านเนื้อหาที่จะให้เด็กเรียนรู้น่าจะจัดเป็นตำราเรียนแห่งชาติไปเลยเพื่อเด็กจะได้เรียนแก่นแท้ของเนื้อหาไม่ใช่เรียนทั้งของจริงและขยะผสมปนเปกันอย่างทุกวันนี้

เรื่องต่อมา คือ การปรับเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะส่วนนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างยิ่งเพราะเป้าหมายของเด็กและผู้ปกครองจะมุ่งที่มหาวิทยาลัยเพื่อใบปริญญา คุณภาพการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงเป็นตัวกำหนดคุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การคัดเลือกด้วยข้อสอบปรนัยและเน้นเนื้อหาวิชาการทำให้ความสนใจของเด็กอยู่แค่นั้นทักษะด้านอื่นไม่เกิดแถมยังเป็นต้นเหตุให้เกิดธุรกิจการศึกษาต้องกวดวิชากันตั้งแต่ระดับอนุบาลจนกว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ หากเป้าหมายปลายทางผิดเพี้ยนอย่างนี้ ต้นทางก็พลอยหลงทางไปด้วย

การนำ ม.44 มาใช้เพื่อเปิดทางโล่งให้ปัจจัยต่าง ๆ เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นก็น่าจะทำ ด้วยการศึกษาเป็นระบบใหญ่ จัดหลายระดับ ผู้รับบริการมีหลายบริบทหลายศักยภาพ เป็นงานใหญ่ งานยาก เห็นผลช้า จี้ไปตรงไหนก็เจอปัญหาตรงนั้น หากปล่อยให้เดินตามปกติคงแก้ปัญหาได้ยาก ลองใช้ ม. 44 ดูบ้างอาจทำให้การศึกษาไทยวิ่งฉิวเลยก็ได้.

โดย : กลิ่น สระทองเนียม
ที่มา : เดลินิวส์

ไฟเขียวจัดสอบครูผู้ช่วย 8 พันอัตรา คลอดเกณฑ์ใหม่ สอบได้ที่เดียว สกัดรับจ้าง-วิ่งรอกสอบ ห้ามใช้บัญชีข้ามเขต

สอบราชการ - ครูระยอง

Print Friendly

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ สพฐ. เสนอขอจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุครูผู้ช่วยแทนอัตราว่าง 8,000 อัตรา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ใหม่ โดยให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ และให้เขตพื้นที่ฯรวมกลุ่มผู้ตรวจราชการ ศธ.ในพื้นที่คัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่เหมาะสมเป็นผู้ออกข้อสอบ จากเดิมที่ส่วนกลางเป็นผู้ออกข้อสอบ ขณะเดียวกัน กำหนดให้สมัครสอบได้เพียงแห่งเดียว จากเดิมสมัครได้หลายเขตพื้นที่ เพื่อให้การคำนวณค่าใช้จ่ายมีความแม่นยำมากขึ้น และป้องกันปัญหาการรับจ้างสอบ หรือวิ่งรอกสอบหลายที่
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีมติให้ทุกเขตพื้นที่ฯที่มีอัตราว่างเปิดสอบเอง ไม่ให้ไปใช้บัญชีของเขตพื้นที่อื่น เพราะที่ผ่านมามักมีข้อครหาบางเขตพื้นที่ฯไม่ยอมเปิดสอบ แต่ไปใช้บัญชีข้ามเขต เป็นช่องทางให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ และต่อไปการใช้บัญชีข้ามเขตจะสามารถดำเนินการได้เฉพาะเขตพื้นที่ที่เปิดสอบแข่งขันแล้วไม่มีผู้สมัครสอบ ไม่มีผู้สอบได้ หรือผู้สอบได้ไม่เพียงพอกับตำแหน่งว่าง โดยจากนี้ สพฐ. จะต้องไปกำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกเพื่อประกาศรับสมัคร โดยจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายใน ก.ย. นี้

ที่มา : ผู้จัดการ

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สทศ.รับสมัครสอบวัดความรู้ครู – ครูระยอง


สทศ.รับสมัครสอบวัดความรู้ครู

สทศ

Print Friendly

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า สทศ. เปิดรับสมัครสอบความรู้ทางด้านการวัด และประเมินผลการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2558 ตั้งแต่วันที่ 3-11 ส.ค.2558 เพื่อมุ่งเน้นพัฒนา และส่งเสริมสมรรถนะครูทางด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยเฉพาะการรองรับนโยบายการใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551

ผอ.สทศ. กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่สนใจเข้ารับการทดสอบดังกล่าว ต้องเป็นครูผู้สอนในระดับชั้น ป.1- ม.6 สามารถสมัครสอบได้ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th เสียค่าสมัครสอบ 200 บาท โดยผู้สมัครต้องนำเอกสารใบสมัครไปชำระเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย วันที่ 3-11 ส.ค.2558 ทั้งนี้จะมีการประกาศรายชื่อ เลขที่นั่งสอบ และสถานที่สอบ ในวันที่ 20 ส.ค.2558 สอบวันที่ 29 ส.ค.2558 ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. และประกาศผลสอบวันที่ 7 ก.ย.2558 ทางเว็บไซต์ สทศ.

ที่มา : เดลินิวส์

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ปัดฝุ่น “สถาบันฝึกหัดครู” พัฒนาพลเมืองการศึกษาศตวรรษ 21 – ครูระยอง

Print Friendly

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ต้องยอมรับว่า การศึกษาเป็นหนึ่งในเรื่องที่ท้าทายต่อการคิดค้นแนวการสอนที่เชื่อมโยงกับความเป็นผู้นำ ค่านิยม และสร้างความเป็นพลเมืองให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ และสังคมโลกอนาคต

สถาบันครุศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ National Institute of Education (NIE) เป็นสถาบันผลิตครูนักวิจัย (Teacher Researcher) มีบทบาทสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ทางการศึกษา โดย NIE จะทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่การกำหนดนโยบายจนถึงการปฏิบัติในโรงเรียน ร่วมกันทำวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพแก่ภาครัฐ ผ่านการจัดสัมมนานานาชาติอย่างต่อเนื่อง

สำหรับงานประชุมนานาชาติที่จัดขึ้นโดย NIE เป็นงานที่รวบรวมครู นักปฏิบัติ นักวิจัย ผู้นำทางการศึกษา และผู้กำหนดนโยบายการศึกษา โดยเปิดโอกาสเพื่อพูดคุยแบ่งปันความรู้ข้อมูลวิจัย พร้อมตัวอย่างการปฏิบัติที่ดีที่สุดจากต่างโรงเรียน ต่างวัฒนธรรม เพื่อมุ่งให้เกิดทิศทางและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับงานวิจัยและแนวปฏิบัติทางการศึกษา ล่าสุดจัดสัมมนานานาชาติ RedesigningPedagogy ครั้งที่ 6 เรื่อง “การพัฒนาผู้นำ ค่านิยม และความเป็นพลเมือง ในการจัดการศึกษาศตวรรษที่ 21”

ดังนั้นบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สื่อสารแหล่งเรียนรู้ทางด้านการศึกษาจึงจัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อเรื่อง “บทเรียนจากสัมมนานานาชาติ การออกแบบการสอนใหม่ของสิงคโปร์ : เพื่อผู้นำ ค่านิยม และความเป็นพลเมืองในการศึกษาศตวรรษที่ 21”โดยมี “ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล” ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนสังคมศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเปิดประสบการณ์จากการเข้าร่วมสัมมนา NIE ครั้งนี้

“ผศ.อรรถพล” ชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของประเทศสิงคโปร์ ในฐานะประเทศชั้นนำเรื่องการจัดการศึกษานานาชาติ ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาครูตลอดจนบทบาทของผู้บริหารที่ต้องเปลี่ยนแปลงและรับกับสถานการณ์ของศตวรรษที่ 21

“ที่น่าสนใจคือเวทีนี้ไม่ได้จำกัดวงแค่นักวิชาการ แต่พบว่ามีครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของสิงคโปร์จากหลากหลายวิชาไม่ว่าจะเป็นพลศึกษา ดนตรี และสาขาวิชาอื่น ๆ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีผู้นำการศึกษาทั้งจากสิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เอเชีย-แปซิฟิก และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน ส่งผลให้เกิดการคิดและวิเคราะห์ร่วมกันถึงการพัฒนาระบบการศึกษาสู่แนวทางการปฏิบัติระดับสากลอย่างแท้จริง”

“ผศ.อรรถพล”บอกว่าสิงคโปร์กำลังให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงของสังคมที่เรียกว่า Civic Education หรือการสร้างสมดุลของชาติกับพลเมืองโลก เนื่องจากตลอด 20 ปีผ่านมา มีสัดส่วนคนต่างถิ่นจากตะวันตกเข้ามาอาศัยในสิงคโปร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลต่อการเรียนรู้ในวิชาประวัติศาสตร์ที่จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ไม่เลยเถิดเป็นกระแสชาตินิยมที่สุดโต่ง

“ขณะเดียวกันต้องเคารพและรู้สึกถึงความรักและภาคภูมิใจของคนในชาติดังนั้นการเชื่อมโยงในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องสอนเรื่องความหลากหลายแทรกซึมไปในทุกรายวิชาเพราะถือเป็นมิติสำคัญในการเตรียมพลเมืองให้อยู่ในความหลากหลายและเคารพซึ่งกันและกัน”

“คนสิงคโปร์มองว่าการสร้างอัตลักษณ์ให้เกิดขึ้นในชาติจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศถือเป็นเรื่องเปราะบางโดยอาจส่งผลกระทบต่อสังคมตามมา ดังนั้นความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคมสิงคโปร์ที่มีคนต่างถิ่น ต่างชาติ ต่างภาษามาอยู่รวมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่หลาย ๆ ชาติไม่มี”

ไม่เพียงเท่านั้น สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญต่อเรื่อง Global concern ผ่านการสร้างความตระหนักถึงความเป็นสากลอย่างมีสมรรถนะ โดยหยิบยกการสร้างความเป็นพลเมืองที่ดีของสิงคโปร์ไม่ใช่หน้าที่ของครูวิชาใดวิชาหนึ่ง แต่ครูทุกวิชาสามารถทำงานร่วมกันภายใต้เป้าหมายเดียวกันได้ เพราะหัวใจของการเรียนการสอนไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่เป็นความรู้ ค่านิยมหลักที่ครูผู้สอนพึงมีมากกว่า

นอกจากนี้ “ผศ.อรรถพล” ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองสิงคโปร์อย่างแข็งแกร่ง จึงต้องเริ่มที่เยาวชนเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะเยาวชนคือศูนย์กลางการสร้างค่านิยมที่สำคัญของประเทศ

ดังนั้นสถาบันการศึกษามีหน้าที่สร้างความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เยาวชนเข้าใจถึงสมรรถนะในการเป็นพลเมืองตามบทบาทและหน้าที่ของตนเองบนความคาดหวังอย่างเหมาะสมนี่คือโจทย์ที่นักการศึกษาใช้ขับเคลื่อนพลเมืองของสิงคโปร์ในศตวรรษที่ 21

“เพราะความตั้งใจของ NIE มีองค์ประกอบสำคัญในการทำให้ภาพของนโยบายเกิดขึ้นจริงในห้องเรียน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าสถาบันฝึกหัดครูสามารถตั้งรับนโยบายและมีส่วนร่วมในการวิจัยพัฒนาความรู้ทางการศึกษาที่ก่อให้เกิดนโยบายที่เหมาะสมต่อการทำงานในโรงเรียนทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมจนทำให้เกิดกงล้อแห่งการพัฒนา”

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนต่อการออกแบบการเรียนการสอนในประเทศไทยโดยสามารถประยุกต์วิธีการบริหารงานของสิงคโปร์ได้แม้บริบทและรูปแบบการบริหารงานของไทยและสิงคโปร์จะแตกต่างกันแต่แนวทางเรื่องการพัฒนาครูเป็นเรื่องที่น่าหยิบขึ้นมาดำเนินการโดยเฉพาะการผลิตครูระบบปิดเพื่อควบคุมคุณภาพครูให้ได้ ดังนั้นสถาบันฝึกหัดครูจึงควรเข้ามามีบทบาทร่วมกันอย่างเป็นระบบมากขึ้นในการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นิสิต นักศึกษาครู รวมถึงนำความรู้ความสามารถทางวิชาการและงานวิจัยเพราะจะเป็นข้อมูลสนับสนุนการกำหนดแนวทางเชิงนโยบาย และแผนงานวิจัยพัฒนาครูเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป”

จนนำไปสู่การขับเคลื่อนคุณภาพของเยาวชนและประสิทธิภาพของพลเมืองไทยในอนาคต

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

สพฐ.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สพฐ

Print Friendly

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดทำยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนไทยทุกคน เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ เพราะทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ ที่เกิดจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง จะทำให้บรรลุเป้าหมายคุณภาพ คือ ผู้เรียนมีสมรรถนะด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 และขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างคนในชาติให้มีค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ ครอบคลุมและสอดคล้องกับลักษณะอันพึงประสงค์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ให้เกิดขึ้นกับเยาวชนไทยให้เป็นผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล

การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงเกิดแนวคิด “จุดแตกหักในห้องเรียน” เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3 ด้าน ได้แก่

  • ยุทธศาสตร์ด้านที่ ๑ การปฏิรูปการเรียนการสอน เช่น ปฏิรูปหลักสูตร ตำรา หนังสือเรียน โดยการปรับหลักสูตรปฐมวัย พ.ศ.๒๕๔๖ ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรการศึกษาทางเลือก การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และให้ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ได้เต็มเวลาเต็มหลักสูตร การปฏิรูปสื่อเทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษา ส่งเสริมการผลิต จัดหา ใช้สื่อนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนรู้ การปฏิรูปการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ส่งเสริมการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง จัดทำคลังข้อสอบกลางที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และนำผลการทดสอบไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียน การปฏิรูปการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยพัฒนาระบบการนิเทศกำกับติดตามเป็นแบบแอพพลิเคชั่น ศึกษานิเทศก์ (Supervision Application) ปรับบทบาทศึกษานิเทศก์ให้เป็นผู้นิเทศอย่างแท้จริง
  • ยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 ปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพ เช่น การปฏิรูประบบการผลิตและการสรรหา ปรับระบบการผลิตครูทั้งปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษา สรรหาให้ได้คนเก่งคนดีมาเป็นครู การปฏิรูประบบการพัฒนาครู เน้นการทำแผนพัฒนาครู กำหนดและประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับครู และพัฒนาครูโดยระบบ Action Learning ในสถานที่ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งวัดและประเมินผลการพัฒนาครู การปฏิรูประบบค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน และเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ ซึ่งพัฒนาระบบค่าตอบแทนที่จูงใจให้คนเก่ง คนดี มาเป็นครู พัฒนาระบบการยกย่องเชิดชูเกียรติครูให้สมกับวิชาชีพชั้นสูง ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูให้สูงขึ้น การปฏิรูประบบความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ปรับระบบการประเมินความก้าวหน้าทางวิชาชีพให้เชื่อมโยงกับสมรรถนะการสอนและผลงานการสอนของครู
  • ยุทธศาสตร์ด้านที่ 3 ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ เช่น การปฏิรูปวัฒนธรรมใหม่ของสถานศึกษา เน้นการส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกแห่งเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community = PLC) สร้างระบบความรับผิดชอบระหว่างครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครอง สนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษา สร้างภาวะผู้นำให้ผู้บริหารการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครู และผู้บริหารสถานศึกษา การปฏิรูประบบการวางแผน โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง และกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน การปฏิรูประบบงบประมาณ เน้นกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา สำรวจความเหลื่อมล้ำในการอุดหนุนเงินรายบุคคลกับโรงเรียน สพฐ. ขนาดต่างๆ และความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลในระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การปฏิรูประบบการกำกับ ติดตาม และประเมินผล เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับติดตามและประเมินผลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การปฏิรูปโอกาสและคุณภาพการศึกษา เร่งพัฒนาคุณภาพ เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพ

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ได้ทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วนตามนโยบายเร่งด่วนของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (ปีการศึกษา 2558) เด็กจบ ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ และต้องมีการประเมินผลที่เป็น รูปธรรม การจัดการศึกษา ขั้นพื้นฐานเสริมทักษะอาชีพเด็กชั้น ม.1 – ม.6 ต้องเลือกเรียนวิชาเสริมเป็นสาขาวิชาชีพเพื่อการวางแผนอาชีพในอนาคต อีกทั้งยังเน้นด้านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) การจัดการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) เพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนการสอนให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลิตคุณครูที่มีความเข้มข้น อาทิ คุรุทายาท ที่มีความสามารถตอบรับการสอนของเด็กได้อย่างแท้จริง

โดย : ศูนย์สารนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ที่มา : moe

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

“ณรงค์” ขานรับ “บิ๊กตู่” ถกลดเวลาเรียน

การศึกษาไทย

Print Friendly

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงปัญหาอุปสรรคของการศึกษาไทยที่เวลาเรียนของเด็กมากเกินไป อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)คิดว่า การจัดกลุ่มสาระการเรียนรู้เป็น 8 กลุ่มสาระจำเป็นหรือไม่ อยากให้มีการปรับหลักสูตร และลดเวลาเรียนลง เพื่อให้เด็กมีเวลาทำกิจกรรมกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ได้ทดลองปฎิบัติเรียนรู้ตามวัย โดยยกตัวอย่างต่างประเทศว่า สอนวิธีการทำงานด้วย แต่ปัญหาของไทย คือ จบมาแล้วมีความรู้ทำงานไม่เป็น คิดไม่ออก นั้น วันนี้ (13ก.ค.)พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ. กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เพื่อหาแนวทางดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย อย่างไรที่ผ่านมา ศธ.มีการดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรมาโดยตลอด แต่ไม่ใช่ปรับปรุงแล้วจบลงทันที ต้องมีการทดลองใช้ และประเมินผลว่า หลักสูตรที่ปรับปรุงนั้นได้ผลเป็นอย่างไร ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 2 ปี

“การปรับปรุงก็ต้องดูเป็นรายกลุ่มสาระ ซึ่งผมจะนำเข้าหารือในที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักว่า จะปรับปรุงเนื้อหาสาระ หรือ ปรับลดเวลาเรียนส่วนใดได้บ้าง เพราะที่ผ่านมาก็ได้ปรับลดเวลาเรียนไปแล้วส่วนหนึ่ง เนื้อหาสาระการเรียนก็ไม่ได้แน่นหรือยัดเยียดจนเกินไป” รมว.ศธ.กล่าวและว่า เท่าที่ดูหลักสูตรที่ใช้จัดการเรียนการสอนในปัจจุบันก็ไม่ได้มากหรือยัดเยียดให้เด็กเรียนมากจนเกินไป ซึ่งตนได้มอบเป็นนโยบายไปแล้วว่า การจัดการเรียนการสอนต้องสอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละระดับชั้นด้วย

ที่มา : เดลินิวส์

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

Our partners from Mexico:
Productos de salud
Carlos Torre