สพฐ.ทำคู่มือลดเวลาเรียน 13 เล่มแจก – ครูระยอง

Print Friendly

หลังทำเวิร์กช็อปผอ.เขต-รร.ศึกษานิเทศก์-อบรมโรงเรียนนำร่อง สพฐ.เตรียมเวิร์กช็อป ผอ.เขต-ผอ.รร.และศึกษานิเทศก์ โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ก่อนอบรมกลุ่ม รร.นำร่องในช่วงต้นตุลาคมนี้ พร้อมทำคู่มือแจก 13 เล่ม เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกิจกรรม 12 เล่ม และการบริหารจัดการโครงการ 1 เล่ม ยันกิจกรรมช่วงบ่ายสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้

นางสุกัญญา งามบรรจง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้เสนอตัวหลักการไปยัง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แล้ว ซึ่งแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ ที่เน้นให้เด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน
  2. กิจกรรมเสรี ให้โรงเรียนจัดตามความเหมาะสมและความพร้อม
  3. กิจกรรมสอนอาชีพ
  4. กิจกรรมสอนเสริมวิชาการ ซึ่งไม่ใช่การติวเด็ก แต่เป็นการดูแลเด็กที่มีปัญหาเรียนอ่อน หรือสอนการบ้าน

และระหว่างนี้ สพฐ.ยังเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว และแนะนำกิจกรรมผ่านทาง mcmk.obec.go.th และเพจลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ทาง www.facebook.com รวมถึงส่งหนังสือเวียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ทั่วประเทศให้สำรวจความคิดเห็นกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะมีแบบสอบถามของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และศึกษานิเทศก์ เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลจัดทำคู่มือที่ลงรายละเอียดในส่วนของกิจกรรม และการบริหารจัดการโครงการดังกล่าวให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

นางสุกัญญากล่าวต่อว่า เมื่อประมวลข้อมูลแล้วเสร็จจะมีการจัดเวิร์กช็อป ซึ่งจะมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ เข้าร่วม เพื่อระดมความคิดจัดทำคู่มือทั้งหมด 13 เล่ม ประกอบด้วย คู่มือกิจกรรม 4 รูปแบบ แบ่งเป็น 3 ช่วงชั้น ชั้น ป.1-3, ป.4-6 และชั้น ม.1-3 จำนวน 12 เล่ม และคู่มือการบริหารจัดการโครงการอีก 1 เล่ม คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มจัดการอบรมครู ผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการภายในต้นเดือนตุลาคม

“สำหรับในส่วนของการเรียนการสอนในช่วงเช้านั้น จะเน้นไปในเชิงวิชาการซึ่งจะครบทุกกลุ่มสาระอย่างแน่นอน และ สพฐ.เองก็มีตัวอย่างตารางสอน รูปแบบต่างๆ ที่สามารถใช้ได้กลับโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ รวมถึงโรงเรียนขยายโอกาสด้วย และดิฉันเชื่อว่ากิจกรรมในช่วงบ่ายนั้นสามารถสอดคล้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ได้ เพราะทุกกลุ่มสาระอยู่ในวิชาประจำวันของเราอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับครูจะมีการถ่ายทอดไปในลักษณะใด อาทิ การเรียนทำอาหาร ที่มองว่าเป็นเพียงเพื่อดำรงชีวิตหรือเสริมอาชีพเท่านั้น แต่ในการทำอาหารจะมีอัตราส่วนของเครื่องปรุงแต่ละชนิด จะสามารถทำให้เด็กเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อเรียนเรื่องอัตราส่วนในวิชาคณิตศาสตร์ เป็นต้น” ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ให้ความสนใจแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ mcmk.obec.go.th จำนวน 2 กระทู้เท่านั้น โดยการแสดงความคิดเห็นจะต้องมีการสมัครสมาชิกเพื่อเข้าสู่ระบบด้วย สำหรับเพจลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ มีผู้ใช้ถูกใจทั้งหมด 548 คน โดยเนื้อหาภายในเป็นการเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ อาทิ รายการครอบครัวข่าวเด็ก ตอน แผนปรับลดเวลาเรียน เป็นต้น

หนึ่งในไม่กี่กระทู้ที่แสดงความคิดเห็นระบุว่า เป็นวิธีการหนึ่งที่สมควรนำมาบริหารจัดการเรื่องการจัดการเรียนการสอน เพราะบางสาระฯ เป็นการปฏิบัติมากกว่า และนักเรียนจะได้เลือกกิจกรรมที่ตนเองสนใจและสมัครใจ ภายใต้การแนะนำและดูแลของครูที่ปรึกษาต่อไป.

ที่มา : moe

สปช.คุย “ดาว์พงษ์”ปฏิรูปการศึกษา – ครูระยอง

Print Friendly

พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานว่า เท่าที่ดูข้อเสนอของสปช. สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่ ศธ.ดำเนินการไปบ้างแล้ว  โดยตนได้ขอให้กรรมาธิการไปจัดทำรายละเอียดข้อมูล  รวมถึงเหตุผลที่ต้องมีการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ เพื่อมาดูแนวทางการดำเนินงานก่อนที่จะนำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

รศ.นพ.กำจร  ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวว่า รมว.ศธ.ได้ขอข้อมูลที่ สปช.ไปรวบรวมและได้กลั่นกรองไว้แล้ว พร้อมทั้งข้อเสนอแนะที่ชี้ถึงวิธีการแก้ปัญหา เพื่อ ศธ.จะได้สานต่อและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตามในการประชุมได้มีการหารือใน  3 วาระสำคัญ คือ

  • ปฏิรูประบบการจัดการศึกษา
  • ปฏิรูประบบการคลังด้านการศึกษา ด้านอุปสงค์
  • ปฏิรูประบบการเรียนรู้

โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างขว้างขวางโดยเฉพาะ วาระระบบการจัดการศึกษา และการกระจายอำนาจ ซึ่งสปช.นำเสนอการดำเนินการ โดยเน้น 5 ด้าน คือ

  1. ปฏิรูปนโยบายการจัดการศึกษาและการจัดองค์กรในระบบการศึกษา ที่เน้นการกระจายอำนาจการจัดการสถานศึกษา การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
  2. ปฏิรูปการเตรียมการผู้เข้าเรียน
  3. ปฏิรูปการบริหารบุคลากรทางการศึกษา ทั้งการผลิต ปรับปรุงพัฒนา การประเมินผล และสร้างระบบคุณธรรมของบุคลากร
  4. ปฏิรูประบบธรรมาภิบาลการจัดการศึกษา
  5. ปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา

ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปฏิรูปการคลังด้านการศึกษา ได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การมีส่วนร่วมของประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน  มีการจัดทำระบบคูปองการศึกษาโดยจัดสรรให้แก่ผู้เรียนนำไปจ่ายให้แก่สถานศึกษาด้านอุปสงค์ตรงตามระดับการศึกษา มีการจัดสรรงบดำเนินการที่ต้องการเพิ่มพิเศษเพื่อจัดสรรงบประมาณให้แก่ผู้เรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เพียงพออย่างมีคุณภาพและตามความเป็นจริง สำหรับการปฏิรูประบบการเรียนรู้ ทุกระดับให้เหมาะสมและทันสมัยทั้งหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรตามภูมิสังคม และหลักสูตรเฉพาะ รวมทั้งมีวิธีการจัดการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักคิดด้วยเหตุและผล หาความรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งการเรียนในห้องเรียน การเรียนจากกิจกรรม การเรียนรู้ชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรม และการฝึกทักษะ ตลอดจนปฏิรูปวิธีการวัดผล เพื่อสะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทั้งการวัดความรู้ร่วม การวัดความรู้เฉพาะ การวัดทักษะ และการวัดผลการจัดการศึกษา โดยวัดผลจากการทำงานของผู้ที่จบไปแล้ว อีกทั้งควรมีการปฏิรูปการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยควรเน้นสร้างความรู้ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเสริมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

“อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้มีการพูดถึง เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างศธ.ด้วย แต่ไม่ได้มีข้อเสนอให้ปรับหรือรื้อโครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นการพูดถึงบทบาทหน้าที่ของกระทรวงที่ต้องดำเนินการในอนาคต คือ ประกันโอกาสทางการศึกษา ประกันคุณภาพทางการศึกษา วางแผนผลิตกำลังคนและการจ้างงาน และวิจัยพัฒนาระบบการศึกษา” รศ.นพ.กำจร กล่าว.

ที่มา : เดลินิวส์

“สุรเชษฐ์”สั่งสางคดีทุจริตในศธ.

ทุจริต ผิดวินัย ไม่เหมาะ

Print Friendly

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งรัดเรื่องการปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มข้น ซึ่งในส่วนของ ศธ.นั้น คณะกรรมการนโยบายแลพัฒนาการศึกษา หรือ ซูเปอร์บอร์ดการศึกษาที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มอบหมายให้ตนรับผิดชอบในการพิจารณาจัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตใน ศธ. ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการศึกษา โดยให้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างน้อยร้อยละ 50 ตามแผนภายใน 3 เดือน และ ร้อยละ 75 ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่คำสั่งมีผลบังคับ ซึ่งก็คือวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา

รมช.ศธ.กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศธ. และผู้แทนจากหน่วยงานที่ทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น ได้ร่วมกันให้ข้อแนะนำในการจัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาอย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งมีมาตรการควบคุมและป้องกันปัญหาอย่างเข้มข้น ซึ่งคณะกรรมการจะเร่งจัดทำแผน และมาตรการเพื่อรายงานนายกรัฐมนตรีทราบต่อไป

“จากข้อมูลที่ได้รับรายงานพบว่า มีข้อมูลการทุจริตที่อยู่ระหว่างดำเนินการมากกว่า 600 คดี จำแนกเป็นประเภทหลัก ๆ ดังนี้ คดีทุจริตร้ายแรงเกี่ยวกับการงบประมาณ(การพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง) คดีทุจริตเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล(การสรรหาแต่งตั้งโยกย้าย การสอบบรรจุครู) คดีเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปไม่โปร่งใส มีพฤติกรรมส่อทุจริต เรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตการบริหารงานไม่โปร่งใส และเรื่องอื่น ๆ โดยเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตบริหารงานไม่โปร่งใสมีมากที่สุดถึง 301 คดี ทั้งนี้ ผมได้ขอให้เร่งรัดดำเนินการทุกคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะคดีที่สังคมให้ความสนใจจะต้องเร่งรัดเป็นพิเศษ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสนามฟุตซอล การเรียกร้องเงินเพื่อการโยกย้าย การสอบบรรจุครูผู้ช่วย รวมถึงกรณีการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา เป็นต้น” พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวและว่า เท่าที่รับฟังเสียงสะท้อนจากข้าราชการและคนในวงการศึกษาต่างรู้สึกดีใจที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพราะจะทำให้การทำงานมีความโปร่งใสและทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเป็นไปได้ดีขึ้น.

ที่มา : เดลินิวส์

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สพฐ.วาง 4 รูปแบบลดเวลาเรียนเปิดเว็บไซต์สอบถามความต้องการของนักเรียน

Print Friendly

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบาย “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ซึ่งจะปรับลดเวลาเรียนวิชาการในชั้นเรียนถึงเวลาประมาณ 14.00 น.โดยช่วงเวลาต่อจากนั้นจะให้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามวัย เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข ซึ่งจะนำร่องในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 3,500 โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยจากนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 225 เขตจะเปิดรับสมัครโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ในช่วงเช้านักเรียนจะได้เรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่วนช่วงบ่ายภายหลังเวลา 14.00 น.จะเป็นกิจกรรมที่เน้นปฏิบัติและบูรณาการ เบื้องต้น สพฐ.ได้กำหนดกิจกรรมให้โรงเรียนเลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ทั้งสิ้น 4 กิจกรรม

  1. กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ ที่เน้นให้เด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ในช่วงเช้าเพื่อให้เด็กมีทักษะและลงมือปฏิบัติจริง อาทิ การทำโครงงาน การวาดรูป เล่นละครประวัติศาสตร์
  2. กิจกรรมเสรี จัดตามความเหมาะสมและความพร้อม อาทิ ชมรมจิตอาสา ชมรมกีฬา
  3. กิจกรรมสอนอาชีพ โรงเรียนอาจชักชวนผู้ปกครอง หรือภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาร่วมให้ความรู้และสอนอาชีพแก่นักเรียน รวมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะชีวิตด้วย
  4. กิจกรรมสอนเสริมวิชาการ ดูแลเด็กที่มีปัญหาเรียนอ่อน หรือสอนการบ้าน ซึ่งการจัดกิจกรรมใดก็ตามต้องไม่เก็บเงินจากผู้ปกครอง

ทั้งนี้ สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงานพร้อมจัดทำคู่มือการบริหารจัดการเรื่องการลดเวลาเรียนให้แก่สถานศึกษาได้นำไปเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ รวมถึงตารางกิจกรรมการเรียนการสอนให้ครูได้นำไปประยุกต์ใช้ จะเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนด้วยว่าอยากได้กิจกรรมรูปแบบไหนด้วย อาจจะเรียกประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต และโรงเรียนประถมศึกษาที่นำร่องในเรื่องดังกล่าวมารับฟังแนวปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จในอนาคต

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า โรงเรียนสังกัดสพฐ.กว่า 38,000 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กถึง 2 หมื่นกว่าแห่ง และมีครูไม่ครบชั้น โรงเรียนหนึ่งมีครูต่ำกว่า 6 คน และส่วนใหญ่ไม่ผ่านการประเมินจากสมศ. ที่รัฐควรเข้ามาดูแลและพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องของการอบรมพัฒนาครู

ที่มา : moe

สพฐ.เสนอแนวทางปรับลดเวลาเรียน ผุด 4 กิจกรรมทำหลังบ่ายสอง – ครูระยอง

Print Friendly

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบาย “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยจะปรับลดเวลาเรียนวิชาการในชั้นเรียนถึงเวลา 14.00 น. และช่วงเวลาต่อจากนั้นจะให้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามวัย โดยนำร่อง 3,500 โรงเรียน ในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น เริ่มภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 225 เขตจะเปิดรับสมัครโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการ

นายกมล กล่าวว่า สพฐ. ได้กำหนดกิจกรรมให้โรงเรียนเลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ 4 กิจกรรม ได้แก่

  1. กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ ที่เน้นให้เด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยกิจกรรมจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ในช่วงเช้า เพื่อให้เด็กมีทักษะและลงมือปฏิบัติจริง อาทิ การทำโครงงาน การวาดรูป เล่นละครประวัติศาสตร์ เป็นต้น
  2. กิจกรรมเสรี ให้โรงเรียนจัดตามความเหมาะสมและความพร้อม อาทิ ชมรมจิตอาสา ชมรมกีฬา ฯลฯ
  3. กิจกรรมสอนอาชีพ ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. กว่าหมื่นโรง มีความต้องการเรื่องดังกล่าว โดยโรงเรียนอาจชักชวนผู้ปกครอง หรือภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาร่วมให้ความรู้และสอนอาชีพแก่นักเรียน รวมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะชีวิตด้วย
  4.  กิจกรรมสอนเสริมวิชาการ ซึ่งไม่ใช่การติวเด็ก แต่เป็นการดูแลเด็กที่มีปัญหาเรียนอ่อน หรือสอนการบ้าน เป็นต้น

สพฐ. มีแนวทางการจัดกิจกรรมชัดเจน ต้องไม่เก็บเงินจากผู้ปกครองแม้แต่บาทเดียว โรงเรียนจะต้องมีความพร้อมในการจัด และ สพฐ. จะสนับสนุนตามความเหมาะสม และทุกกิจกรรมจะออกแบบให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียน ไม่ได้ปล่อยให้เด็กมีอิสระ โดยมีครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ยืนยันว่า เด็กนักเรียนทุกคนยังคงมาเรียนและกลับบ้านเวลาเดิม
นายกมลกล่าว

ส่วนแผนการดำเนินงานต่อจากนี้จะหารือกับ รมว.ศึกษาธิการ ในการกำหนดแผนขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดย สพฐ. ได้ตั้งคณะทำงานพร้อมจัดทำคู่มือการบริหารจัดการเรื่องการลดเวลาเรียนให้แก่สถานศึกษาได้นำไปเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ รวมถึงตารางกิจกรรมการเรียนการสอนให้ครูได้นำไปประยุกต์ใช้ ขณะเดียวกัน จะเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนด้วยว่าอยากได้กิจกรรมรูปแบบไหนด้วย ตนจะเชิญผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต และโรงเรียนประถมศึกษาที่นำร่องในเรื่องดังกล่าวมารับฟังแนวปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ

ที่มา :  ผู้จัดการ

ชะลอใช้เกณฑ์เลื่อนวิทยฐานะชุดใหม่ – ครูระยอง

Print Friendly

บอร์ด ก.ค.ศ.ชะลอใช้เกณฑ์ PA หรือเลื่อนวิทยฐานะของครูใหม่ “กำจร” ชี้มีจุดอ่อนทำให้ครูมีประสบการณ์ สอนเก่ง แต่ไม่ถนัดการสอบวิชาการหมดโอกาสได้วิทยฐานะ ทบทวนใหม่ไม่ให้ครูทิ้งห้องเรียน และต้องเปิดช่องผู้มีจิตวิญญาณครู

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ (Performance Agreement : PA) ว.7/2558 ซึ่งใช้ประกอบการเข้าสู่วิทยฐานะ ซึ่งเดิมผู้เข้ารับการประเมินจะต้องผ่าน 2 ขั้นตอน คือการสอบ วัดความรู้ ตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์

  • ขั้นตอนที่ 1 ที่ประชุมเห็นว่าอาจจะทำให้ครูที่มีความความรู้ มีประสบการณ์ สอนเก่ง แต่ไม่ถนัดวิชาการสอบไม่ผ่าน
  • ขั้นตอนที่ 2 จะดูผลงานทางวิชาการซึ่งจะวัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก

ดังนั้นจึงมีมติชะลอการสอบตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งเดิม ก.ค.ศ.ประกาศจัดสอบวันที่ 1 กันยายน ออกไปก่อน และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจ ที่มีปลัด ศธ.เป็นประธาน พิจารณาปรับแก้หลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยยึดแนวทางลดภาระ และไม่ให้ครูออกจากห้องเรียน เพราะต้องเตรียมตัวสอบ รวมถึงให้ไปพิจารณาการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเกณฑ์การประเมิน ว.17/2552 ซึ่งเป็นการทำผลงานทางวิชาการ และยังไม่ประกาศยกเลิก ที่ประชุมจึงให้กลับไปทบทวนถึงความจำเป็นว่ายังคงต้องมีอยู่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพบว่าการทำผลงานทางวิชาการเป็นสาเหตุหนึ่งที่ดึงครูออกจากห้องเรียน และสุดท้ายให้การประเมินทั้งหมดวัดที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก

“ขณะนี้ได้อนุกรรมการฯ โดยมีปลัด ศธ.เป็นคณะทำงาน และสรุปให้ รมว.ศธ.พิจารณาใน 2 สัปดาห์ ซึ่งผมได้ให้ ก.ค.ศ.ไปนำข้อมูลทั้งหมดมาให้ดู และต้องหากระบวนการที่เพิ่มกำลังใจให้ครูสอนดี สอนเก่ง แต่ความรู้ทางวิชาการอาจจะไม่แน่นเพียงพอด้วย ซึ่งเดิมจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์กลั่นกรองครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับการประเมินวันที่ 1 กันยายน แต่ก็ต้องเลื่อนไปก่อนเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม โดย ก.ค.ศ.ได้รายงานว่ามีครูที่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินไม่ต่ำกว่าแสนคน โดยผมจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้สามารถประเมินตามหลักเกณฑ์ใหม่ได้เร็วที่สุด” ปลัด ศธ.กล่าว.

ที่มา : ไทยโพสต์

สพฐ.แจ้งเขตพื้นที่การศึกษาเตรียมคัดเลือกโรงเรียนทุกระดับ ตามนโยบายการปรับลดเวลาเรียน

Print Friendly

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบาย “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Moderate Class More Knowledge” ซึ่งจะเริ่มต้นนำร่องในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 นั้น ล่าสุดวันนี้ (28 สิงหาคม 2558) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทั่วประเทศเตรียมการแล้ว

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการปรับลดเวลาเรียนให้เรียนในชั้นเรียนถึงเวลา 14.00 น.ของแต่ละวัน หลังจากนั้นจึงให้นักเรียนได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นการพัฒนานักเรียนในด้านอื่นๆ ภายในโรงเรียน โดยจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 และมีเป้าหมายจำนวนโรงเรียนนำร่องร้อยละ 10 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด

ที่มา : moe

ดังนั้น จึงแจ้งให้มีการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาร้อยละ 10 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา โดย

  • เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ให้คัดเลือกโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด โรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ และโรงเรียนอื่นๆ ตามความเหมาะสม
  • เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้คัดเลือกตามความเหมาะสมให้มีความหลากหลายตามขนาดและที่ตั้งของโรงเรียน
  • สำนักบริหารการศึกษาพิเศษ ให้คัดเลือกตามความเหมาะสมให้มีความหลากหลายตามขนาดและที่ตั้งของโรงเรียน

ทั้งนี้ สพฐ.จะส่งแบบสำรวจอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุดต่อไป

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในวันนี้ (28 สิงหาคม 2558) อีกด้วยว่า นโยบายการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มีเจตนาการปรับลดเวลาเรียนให้น้อยลง เป้าหมายเพื่อให้เด็กไม่ต้องเครียดจนเกินไป ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ไปศึกษาและพิจารณาแล้วว่ามีความเป็นไปได้ คือสามารถลดการเรียนวิชาหลักลงได้ จากเดิมนักเรียนต้องเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 840 ชั่วโมงต่อปี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่ง สพฐ.เห็นว่าน่าจะสามารถเลิกเรียนได้ในเวลา 14.00 น.

อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการก็ได้มาพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย หากผู้ปกครองบางกลุ่ม ไม่พร้อมที่จะรับเด็กกลับบ้าน เพราะติดภาระหน้าที่การงาน หรือกลัวลูกจะได้รับอันตราย และสบายใจที่จะให้ลูกอยู่ในโรงเรียนมากกว่า ส่วนผู้ปกครองอีกกลุ่ม อาจจะมีภาระทางบ้านที่ต้องการให้พี่มาช่วยเลี้ยงน้อง มาช่วยดูแลบ้าน ทั้งสองส่วนนี้ไม่ได้ห้าม ถ้าจะกลับบ้านก็ได้ แต่ส่วนที่ไม่พร้อมรับเด็กกลับบ้าน โรงเรียนจะจัดกิจกรรมที่มีความสุขให้เด็กในช่วงเวลาดังกล่าว แนวทางนี้จะตอบคำถามของนายกรัฐมนตรีที่ให้จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข

ดังนั้น เมื่อเลิกเรียนในชั้นเรียนเวลา 14.00 น.แล้ว เด็กสามารถไปทำกิจกรรม เล่นกีฬา ดนตรี หรือครูพาไปทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งจะให้เด็กนั่งทำการบ้านในเวลาดังกล่าวก่อนกลับบ้านก็ได้ โดยกิจกรรมนั้นต้องไม่ใช่การเพิ่มการบ้านให้เด็ก ซึ่งขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างจัดทำกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ โดยได้ย้ำกับ สพฐ. ไปแล้วว่า หากเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้เด็กเครียด ก็สามารถทำได้

โดย : บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe

รมว.ศธ.สั่งผอ.สพท.ส่งการบ้านแผนทำงานใน7วัน – ครูระยอง

Print Friendly

“รมว.ศธ.” มอบกรอบนโยบาย เดินตามพระราชดำรัสในหลวง 3 ข้อ เร่งทำ 10 ข้อ ตามนายกฯ สั่ง ผอ.สพท.ทั่วประเทศส่งการบ้านแผนการดำเนินงานภายใน 7 วัน แจงเด็กเลิกเรียนบ่าย 2 ยังไม่ได้ให้กลับบ้าน แต่จัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงการมอบนโยบายให้ผู้บริหาร ศธ. และการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศนั้น รมว.ศธ.กล่าวว่า ตนขอให้หัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แปลงนโยบายออกมาเป็นงานในของแต่ละองค์กรตามขอบเขตความรับผิดชอบ และส่งการบ้านให้ตนภายใน 7 วัน โดยแบ่งงานออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  1. ขณะนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
  2. ปรับปรุงงานตามนโยบาย
  3. เติมงานใหม่ แบ่งเป็น งานที่เติมได้เลยโดยไม่ต้องใช้งบเพิ่ม และงานที่ต้องเริ่มใหม่

โจทย์ที่ต้องตอบคำถามคือการนำกระแสพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ

  • ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู
  • ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แค่ให้แข่งขันกับตัวเอง
  • ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน

ดังนั้นต่อจากนี้ ศธ.จะต้องยึดกระแสพระราชดำริดังกล่าวเป็นกรอบเดินตามการดำเนินงาน ซึ่งทั้ง 3 ข้อครอบคลุมงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

“ผมขอย้ำให้ผู้บริหารทุกระดับทำแผนงานโครงการ อย่าลอกกัน อย่าปล่อยให้ลูกน้องทำ ต้องฉีกปัญหาให้ขาด ปรับปรุงผลงานเดิมที่ไม่สัมฤทธิผล ดูว่าที่ผ่านมาทำไมถึงไม่สำเร็จ และแก้ไข ทั้งนี้ ในส่วนของกิจกรรมที่จะทำต่อไปต้องตอบได้ว่าตรงกับตรรกะใดในพระราชดำรัส 3 ข้อนี้ได้” รมว.ศธ.กล่าว

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของนโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรีที่ต้องเร่งดำเนินการมีทั้งหมด 10 ข้อ คือ

  1. ให้ทำเร็ว มีผลสัมฤทธิ์ภายในเดือนกันยายน 2559 ที่เหลือส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป
  2. ประชาชน สังคม พึงพอใจ
  3. ปรับลดภาระที่ไม่จำเป็นของ ศธ.ลง
  4. เร่งปรับหลักสูตรตำรา/แต่ละกลุ่มให้เหมาะสม การพิมพ์ตำราต้องคุ้มค่า
  5. ผลิตคนให้ทันกับความต้องการของประเทศ จบแล้วมีงานทำ ช่วยแก้ไขปัญหาว่างงานและปัญหาสังคมได้
  6. ปรับหลักสูตรทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครอง มีความสุข
  7. ใช้สื่อการสอนกระตุ้นผู้เรียน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
  8. ลดความเหลื่อมล้ำจัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ
  9. นำระบบไอซีทีเข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง
  10. เรียนไม่ใช่เพื่อสอบ แต่เรียนให้ได้ทักษะชีวิต อยู่ในยุคโลกไร้พรหมแดน

ซึ่งตนจะให้ความสำคัญกับโครงการพระราชดำริมาก โดยจะมอบหมายให้ รมช.ศธ. 1 คน เข้ามาดูแลเรื่องนี้เป็นหลัก

สำหรับเรื่องงบประมาณที่ผ่านมาได้รับฟังรายงานจากผู้บริหารองค์กรหลัก ว่าการใช้งบเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งในส่วนของปีงบประมาณ 2559 ให้แต่ละหน่วยงานเริ่มวางแผนโครงการตั้งแต่ไตรมาสแรก เสนอขอใช้งบกลางเฉพาะที่จำเป็น โปร่งใส ตรวจสอบได้ บางโครงการต้องมีการบูรณาการข้ามแท่ง ก่อนไปบูรณาการกับสำนักงบประมาณ โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ของแต่ละกระทรวง เพื่อมาช่วยรัฐมนตรีปลัดกระทรวงและผู้บริหารองค์กรหลักดูแลการใช้งบประมาณ ว่าโปร่งใส ถูกต้องหรือไม่ ต่อไปจะไม่เกิดเหตุแบบกรณีการจัดซื้อจัดจ้างสนามฟุตซอลอีก

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตนเองจะให้ลดเวลาเรียน โดยให้นักเรียนเลิกเรียนเวลา 14.00 น.นั้น ขอให้ชื่อว่าเป็น “การลดเวลาเรียน เพื่อเพิ่มเวลารู้” โดยจะใช้เวลาที่เหลือจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็ก นอกห้องเรียนเพื่อลดความเครียด สร้างความสุขให้เด็ก ไม่ได้ปล่อยให้เด็กไปเที่ยวเล่นที่ไหน ซึ่งจะเริ่มในภาคเรียนที่ 2/2558 ใน 3,500 กว่าโรงเรียน จากนั้นจะมีการวัดผลการดำเนินงาน รวมถึงดูในแง่ของปัญหาว่าติดขัดในเรื่องใดบ้าง จะได้แก้ไขอย่างตรงจุด และขยายไปยังโรงเรียนต่างๆ ต่อไป

“การลดชั่วโมงเรียน สพฐ.มีการศึกษาแล้ว สามารถลดได้และไม่เกิดปัญหา นอกจากนี้จะมีการจัดกลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองมีความต้องการให้เด็กกลับบ้านตั้งแต่เวลา 14.00 น.ด้วย เพราะเด็กเหล่านี้อาจจะต้องรีบกลับเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง” รมว.ศธ.กล่าว.

ที่มา : ไทยโพสต์

กำจรถามยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ใครจะดูแลครู

Print Friendly

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) จัดการประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษา ภาคเหนือ ซึ่งมีนางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการสำนักงาน ก.ค.ศ. ผู้บริหาร ก.ค.ศ.และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาภาคเหนือ 51 คณะเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดงานและกล่าวตอนหนึ่งว่า นับแต่วันแรกที่มารับตำแหน่งปลัด ศธ.สิ่งแรกที่พบวางอยู่บนโต๊ะคือเรื่องการร้องเรียน ข้อติชม และการร้องทุกข์ โดยเฉพาะการลุแก่อำนาจของผู้บริหาร ซ้ำร้ายยังมีคนบอกให้ตน ยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เพราะมีเรื่องร้องเรียนถึงการรับเงินในการโยกย้ายแต่งตั้งครูจำนวนมาก ซึ่งบอกไปว่าถ้ายุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ แล้วใครจะมาดูแลครู ถ้าตอบคำถามนี้ได้ สักวันก็ต้องนำมาพิจารณา

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการบริหารงานบุคคล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯจะต้องมีธรรมา ภิบาลในการใช้อำนาจในการโยกย้ายแต่งตั้งครู จะต้องคำนึงเสมอว่าผู้ที่มาติดต่อขอโยกย้ายแต่งตั้ง คือลูกหลานตัวเอง หากเขาไม่มีความจำเป็นก็คงไม่มาขอความช่วยเหลือจากเรา ขณะเดียวกันในเรื่องการให้วิทยฐานะจะต้องสะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาในอนาคตด้วย”

ปลัด ศธ. กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการปรับบทบาทหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯขณะนี้กำลังพิจารณาในหลายๆ เรื่อง ต้องนำเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนและเรื่องการดำเนินการทั้งหมดของ อ.ก.ค.ศ.มาดูก่อน ซึ่งมีกระแสว่าอาจจะมีการปรับองค์ประกอบ และอาจลดอำนาจบทบาทของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ

อย่างไรก็ตามในการประชุมร่วมกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้เสนอเรื่องระบบการปฏิรูปครู เรื่องการสรรหาครู ซึ่งจะใช้โครงการคุรุทายาทมาเป็นต้นแบบ โดยอาจมีการปรับโครงการคุรุทายาท เป็นลักษณะระบบปิด เพื่อให้ครูที่อยู่ในท้องถิ่นได้มีโอกาสกลับมาอยู่ในท้องถิ่น และสร้างคนในท้องถิ่นเจริญก้าวหน้า โดยอย่างน้อยครู ต้องอยู่ในท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี

ที่มา : สยามรัฐ

การแถลงนโยบายด้านการศึกษา ของพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ – ครูระยอง

Print Friendly

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ร่วมแถลงนโยบายด้านการศึกษาผ่านระบบ Video Conference จากห้องประชุมชั้น 9 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ พร้อมทั้งเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดไปยังอินเทอร์เน็ต และห้องประชุมต่างๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการพร้อมกัน

ที่มา : moe

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอปวารณาตัวที่จะทำงานร่วมกันกับทุกท่านในกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอเชิญชวนผู้บริหารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หลับตานึกย้อนอดีตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยของเรา จนเป็นเหตุให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำงาน ถือว่าเป็นการเข้ามาในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ เพื่อมายุติความขัดแย้งและปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งในส่วนของการศึกษานั้น ถือว่าเป็นพื้นฐานของการปฏิรูปในทุกเรื่อง เริ่มจากการปฏิรูป 11 ด้านของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะเป็นพื้นฐานของความยั่งยืนในการปฏิรูปประเทศซึ่งต้องใช้เวลานานและมีแผนงานทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง ระยะยาว งานของกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องมีแผนปฏิรูปทั้ง 3 ระยะเช่นกันด้วย

ดังนั้น ขอให้ทุกคนตระหนักว่าห้วงเวลานี้ไม่ใช่ห้วงเวลาปกติที่ทุกคนจะทำงานแบบปกติ แต่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ขอให้ละทิ้งความขัดแย้งและหันมามองนักเรียนตัวน้อยๆ ซึ่งก็คือลูกหลานของเรา เพื่อปฏิรูปงานด้านการศึกษา อันจะส่งผลให้ลูกหลานของเรามีชีวิตที่สดใสและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ต่อจากนี้ อาจจะต้องรบกวนเวลาทุกคนมากขึ้น เพราะมีงานเร่งด่วนที่จะต้องทำ มีงานที่ต้องการผลลัพธ์มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยภายหลังรับฟังนโยบายแล้ว ขอให้หัวหน้าส่วนราชการแปลงนโยบายไปสู่แผนงานในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง

จุดเน้นและแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา ประกอบด้วย 2 ส่วน

  1. กระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    “ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู”
    “ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่า ช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า”
    “ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี”

  2. นโยบายนายกรัฐมนตรี
  • ทำให้เร็ว มีผลสัมฤทธิ์ภายในเดือนกันยายน 2559 ให้มากที่สุด ที่เหลือส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป
  • ประชาชน สังคมพึงพอใจ ประเทศได้คนมีคุณภาพ
  • ปรับ ลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของกระทรวงศึกษาธิการลง
  • เร่งปรับหลักสูตร/ตำราแต่ละกลุ่มให้เหมาะสม การพิมพ์ตำราต้องคุ้มราคา
  • ผลิตคนให้ทันกับความต้องการของประเทศ จบแล้วต้องมีงานทำ เข้าทำงาน AEC ให้ทันปีนี้ ช่วยแก้ไขปัญหาว่างงาน และปัญหาสังคมได้
  • ปรับหลักสูตร ทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความสุข
  • ใช้สื่อการสอน กระตุ้นผู้เรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้กับเด็ก
  • ลดความเหลื่อมล้ำ จัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ
  • นำระบบ ICT เข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง
  • เรียนไม่ใช่เพื่อสอบ แต่เรียนให้ได้ทักษะชีวิต อยู่ในยุคโลกไร้พรมแดน

นโยบายด้านการศึกษา นโยบายทั่วไป

  1. การจัดทำแผนงานโครงการเริ่มใหม่
    – ต้องเข้าใจจุดหมายว่าทำเพื่ออะไร
    – ต้องวาดภาพงานลงในรายละเอียดให้เห็นว่า อะไรคืองานหลัก แล้วมีงานรองอะไรบ้างที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุงานหลัก อะไรที่ต้องทำก่อน อะไรที่ต้องทำที่หลัง
    – ต้องมีฐานข้อมูลที่แน่น เช่น จะผลิตนักศึกษาอาชีวะ ต้องรู้ว่าตลาดต้องการสาขาอะไรบ้าง แต่ละสาขา ต้องการกี่คน ฐานข้อมูลที่ดีจะทำให้การวิเคราะห์แม่นยำ
  2. การปรับปรุงแผนงาน/โครงการเดิมที่ไม่สัมฤทธิ์ผล
    – หาปัญหาที่ผ่านมาทำไมทำไม่สำเร็จ เช่น ปัญหาอยู่ที่อายุของนักเรียน ปัญหาอยู่ที่ครู ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ ปัญหาอยู่ที่สภาวะแวดล้อม เพราะบางครั้งไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีใดวิธีเดียว
  3. แผนงาน/โครงการพระราชดำริ
    – โครงการอะไรบ้างที่กระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบโดยตรง
    – โครงการไหน เป็นดำริของพระองค์ใด ทำแล้ว และกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนอย่างไร
  4. งบประมาณ
    – โดยเฉพาะงบลงทุน ให้วางแผนโครงการในงบลงทุนในไตรมาสแรกมาเลย
    – การเสนองบกลางให้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การทำแผนงานโครงการบางอย่างไม่ต้องใช้งบประมาณใช้งบปกติที่ได้รับ และการปรับแผนงานที่ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์
    – โปร่งใส ตรวจสอบได้
    – ในงานบางโครงการต้องมีการบูรณาการงบประมาณข้ามแท่ง ก่อนไปบูรณาการกับสำนักงบประมาณ
  5. เน้นการสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร
    – จัดให้มีช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นระบบ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย (การประชุมทางไกล โปรแกรมไลน์ ฯลฯ) เพื่อใช้ในการสร้างความเข้าใจในองค์กร สามารถถ่ายทอดคำสั่งไปยังหน่วยรองได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว สามารถรายงานเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
    – ทุกหน่วยต้องจัดให้มีแผนการประชาสัมพันธ์ ทั้งเสมาสนเทศ และประชาสนเทศ
  6. อำนวยการเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
    – เช่น การเกิดอุบัติเหตุในโรงเรียน/นอกโรงเรียน, ผู้บริหารถูกกล่าวหา, การรวมตัวกันต่อต้านผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียนปวดท้องอาเจียนยกชั้น โรงเรียนถูกขู่วางระเบิด เกิดวาตภัย ฯลฯ ให้ทุกหน่วยไปกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ (อาจจะมีอยู่แล้วให้ไปปรับปรุงหรือทำการซักซ้อม) อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด
    – ใครต้อง Take Action
    – การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น และระยะยาวทำอย่างไร
    – การรายงานด่วน ฯลฯ
  7. การร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
    – ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมให้ครบวงจร เช่น เข้ามาร่วมกำหนดหลักสูตร
    – การรับนักเรียนเข้าไปทำงานขณะที่ยังศึกษาอยู่ การรับนักเรียนเมื่อจบการศึกษา
  8. จะให้ความสำคัญกับการบริหารงานส่วนภูมิภาคและเขตพื้นที่ต่างๆ ของแต่ละแท่งเข้าทำงาน
    – ทบทวนบทบาทหน้าที่
    – สิ่งใดที่ต้องรู้ และยังไม่รู้
    – สิ่งอำนวยความสะดวกพอเพียงหรือไม่
  9. โครงการจัดอบรมสัมมนา ต้องตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ใครควรเข้าร่วมการสัมมนา
    – ผลลัพธ์ที่ต้องการ เนื้อหาต้องสัมพันธ์กับเวลา
  10. ยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร
  11. ให้มีการนำ ICT เข้ามาใช้ในการบริหารงานในกระทรวงอย่างกว้างขวาง
    – ปัจจุบันได้ดำเนินการศูนย์ศึกษาทางไกล (DL Thailand) ให้บูรณาการเข้ากับสถานีวิทยุเพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ETV) และเครือข่ายของอุดมศึกษาโดยใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร เพื่อใช้ในการจัดการศึกษา การเสมาสนเทศ และการประชาสนเทศ
  12. ให้ความสำคัญกับเทคนิคการสอนและการสื่อ
  13. ให้ความสำคัญกับบรรยากาศในการทำงาน
    – ให้ความสำคัญกับการประดับธงประจำพระองค์ของพระราชวงศ์ไทย และธงชาติไทยในหน่วยงานและสถานศึกษาต่างๆ
    – ความสะอาดในพื้นที่รับผิดชอบทุกระดับในเขตพื้นที่
    – การรักษาความปลอดภัย
    – แผนเผชิญเหตุ
  14. ให้ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนของครู
    – เพื่อให้ครูมีเวลาทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนของนักเรียนอย่างจริงจัง
  15. การประเมินเพื่อความก้าวหน้าต้องสอดคล้องกับผลการพัฒนาผู้เรียน ทั้งความรู้และคุณลักษณะและทักษะชีวิต
  16. การแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ
    – โครงการเร่งรัดการขับเคลื่อนตามแผนการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการสานฝันการกีฬาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้
  17. ให้ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน การนำเด็กนักเรียน ครู ออกนอกห้องเรียน
    – สามารถดำเนินการได้ หากเป็นการทัศนศึกษาหรือเสริมสร้างประสบการณ์ เช่น รำอวยพร การแสดง
    – ไม่มีนโยบายให้ครู นักเรียน ต้องออกไปยืนต้อนรับผู้บริหาร

นโยบายด้านการอาชีวศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา)

  1. การเปลี่ยนค่านิยมอาชีวะของผู้ปกครองและนักเรียนให้หันมาเข้าสู่ระบบอาชีวะมากยิ่งขึ้น
    – ทวิศึกษา เป็นการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จบแล้วได้วุฒิการศึกษา 2 ใบ สามารถออกไปประกอบอาชีพได้
    – ความร่วมมือกับสถานประกอบการ เป็นการจัดการศึกษาระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงและเมื่อจบการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ทันที
    – การลดเรื่องการทะเลาะวิวาท เพื่อสร้างความปลอดภัย
    – ให้ความสนใจกับนักศึกษาทุกคนอย่างทั่วถึง
    – ให้โอกาสนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อเป็นการสร้างนิสัยในการรักการประกอบอาชีพ การตรงต่อเวลา ความอดทน ความมั่นใจตนเอง และมองถึงอนาคตข้างหน้า
  2. การทำให้วิทยาลัยอาชีวะมีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน
    – ให้มีการจัดการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
    – การจัดการศึกษาด้านปิโตรเคมี
    – การท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร มัคคุเทศก์
    – การจัดหลักสูตรเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศด้านสาธารณูปโภค และอื่นๆ เช่น การเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับระบบราง หลักสูตรการซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ และหลักสูตรเกี่ยวกับการบิน
  3. จัดการศึกษาอาชีวะมาตรฐานสากล
    – การจัดการอาชีวศึกษาอาเซียน ร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปบางประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมัน

นโยบายด้านการอุดมศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)

  1. กำหนดบทบาทการผลิตนักศึกษาให้ชัดเจน ตามความถนัดและความเป็นเลิศของแต่ละสถาบัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน
  2. Outcome ที่สถาบันอุดมศึกษาควรมี เช่น การวิจัยพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากทรัพยากรท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ
  3. สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียนในการพัฒนาท้องถิ่น

นโยบายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

  1. การแก้ไขปัญหาเด็กประถม อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
    – ปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนที่เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจน เช่น การสอนแบบแจกลูกสะกดคำโดยใช้แนวการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการสมอง (BBL)
    – กำหนดเป้าหมายให้นักเรียนชั้น ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ ชั้น ป.2 ขึ้นไปต้องอ่านคล่องเขียนคล่อง เป็นต้น
  2. การดูแลเด็กออกกลางคัน
    – การดูแลเด็กออกกลางคันให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ เช่น ต้องมีฐานข้อมูลเรื่องนี้ หากเด็กจบออกไปต้องมีระบบติดตามดูแล และหากเด็กออกไปทำงานที่ใด ต้องสนับสนุนให้เรียนต่อในสถานศึกษาของ กศน.
  3. ปรับปรุงหลักสูตร
    – การลดเวลาเรียน ลดการบ้านนักเรียน ให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข แต่ไม่ใช่เวลาเหลือแล้วไปจัดกิจกรรมที่เพิ่มภาระหรือเพิ่มการบ้านให้นักเรียนอีก
    – ไม่ใช่การเรียนเพื่อมาสอบอย่างเดียว
    – ต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับเด็กยุคโลกไร้พรมแดน ให้นักเรียนคิด/ปฏิบัติมากกว่าท่องจำ
  4. การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
    – การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูสอนไม่ครบชั้นเรียน
    – ใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLIT) อย่างจริงจังเต็มรูปแบบ ส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนไกลกังวลให้เป็นโรงเรียนต้นทางที่มีคุณภาพ
  5. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
    – ใช้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกล DLTV และผ่าน ICT ด้วย DLIT
  6. การประเมินครู/นักเรียน/โรงเรียน
    – การประเมินครู/นักเรียน/โรงเรียน หาความสมดุล ระหว่างการควบคุมคุณภาพการศึกษากับภาระงานของครูที่ต้องเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับปรุงการคัดสรรครู ผู้บริหาร การประเมินวิทยฐานะให้เหมาะสม อาจจัดโมบายทีมจากส่วนกลาง เพื่อลดภาระครูหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
  7. การดูแลรักษาสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ในหน่วยงานและสถานศึกษา
    – ควรจัดให้มีระบบในการดูแลรักษาสิ่งของทั้งหมดอย่างแน่นหนา ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ ตลอดจนครุภัณฑ์ต่างๆ ประกอบด้วย
    1) ระบบการจัดหา-แจกจ่าย โดยจะต้องมีตรรกะ-มีเหตุมีผลในการแจกจ่าย ไม่ใช่แจกจ่ายตามความเสน่หา จะทำให้เกิดการเลียแข้งเลียขากัน เป็นเรื่องที่ไม่ดี
    2) ระบบการซ่อมบำรุง ควรตั้งทีมเฉพาะขึ้นมาเพื่อบำรุงดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องทุกวงรอบการใช้งาน พร้อมทั้งมีการรายงานผลการตรวจด้วย โดยเฉพาะยานพาหนะจะต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อให้การบำรุงรักษามีความต่อเนื่อง
    3) การจำหน่าย เพื่อที่จะได้จัดซื้อทดแทน
  8. การดูแลเรื่องสวัสดิการ
    – ให้ความสำคัญกับการบรรจุ โยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง วิทยฐานะ
    – การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจำนวนกว่าล้านล้านบาท ขณะนี้ได้มีการวางแนวทางและจัดระบบแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกับธนาคารออมสินแล้ว จึงขอฝากให้ครูใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต รู้จักใช้ รู้จักเก็บ ไม่แก่งแย่งแข่งขันกัน ขอให้ครูพยายามลดหนี้ลง ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างจิตสำนึกในการใช้จ่ายให้กับลูกหลานของตัวเองด้วย
  9. การขยายโครงการธนาคารขยะในสถานศึกษา
    – ปลูกฝังการคัดแยกขยะและทิ้งขยะให้ถูกที่แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษาในทุกระดับการศึกษาและทุกสังกัด
    – ขยายโครงการธนาคารขยะในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 38,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมอบ สพฐ.ศึกษารายละเอียดเพื่อหาแนวทางขยายโครงการธนาคารขยะให้ครบทุกโรงเรียนภายในปี 2558

นโยบายด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย)

  1. การจัดการศึกษาเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และส่งเสริมให้ประชาชนที่พลาดโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียน
    – ทั้งในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
  2. เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา
    – โดยจัดโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนปลายของสำนักงาน กศน. เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
  3. จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
    – เพื่อให้คนทุกช่วงวัยได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
  4. ดำเนินการปลูกฝังและสร้างอุดมการณ์ให้นักศึกษา กศน.และประชาชน มีความตระหนักในความเป็นชาติ กระตุ้นให้เกิดความรักชาติ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
  5. กำหนดให้ กศน.ตำบล เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเชื่อมประสานระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน
  6. พัฒนาคนทุกช่วงวัย
    – โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถมีความรู้และทักษะใหม่ที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายตามแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต

แนวทางการทำงาน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางการทำงาน 3 ลักษณะ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาข้างต้นทั้งหมด ได้แก่

  • ทำงานแบบ Hit the Point กล่าวคือ งานทุกงานต้องฉีกปัญหาให้ขาด ตีโจทย์ให้แตก ตลอดจนหากิจเฉพาะและกิจแฝงให้เจอ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
  • ทำงานแบบ Dynamic หมายถึงการขับเคลื่อนงานตลอดเวลา หยุดไม่ได้ เมื่อมีการสั่งงานไปแล้ว จะไม่หยุดนิ่งอย่างแน่นอน จะขับเคลื่อนงาน ดูแล และช่วยแก้ปัญหา หากงานนั้นต้องข้ามแท่ง ก็จะต้องข้าม อย่าไปหยุดและจะไม่มีหยุด
  • ทำงานแบบ Lively คือการทำงานแบบมีชีวิตจิตใจ ซึ่งการจะทำงานแบบนี้ได้ ผู้ร่วมงานต้องมีความเข้าใจเนื้องานตรงกับเรา จึงพยายามที่จะสร้างให้ทุกท่านเข้าใจเนื้องานที่จะทำ สร้างให้เห็นประโยชน์ร่วมกันกับสิ่งที่กำลังทำ เมื่อเข้าใจตรงกันและเห็นประโยชน์ร่วมกัน เราก็จะมีความสุขที่จะทำ เพราะใจเราจะไม่ต่อต้าน ถึงแม้จะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข และจะมีชีวิตจิตใจในการทำงาน

ทั้งนี้ ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จนถึงผู้อำนวยการสถานศึกษาต่างๆ ที่จะต้องขับเคลื่อนตามกันไปทั้งหมด

โดย : นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe

Our partners from Mexico:
Productos de salud
Carlos Torre