สพฐ.วาง 4 รูปแบบลดเวลาเรียนเปิดเว็บไซต์สอบถามความต้องการของนักเรียน

Print Friendly

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบาย “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ซึ่งจะปรับลดเวลาเรียนวิชาการในชั้นเรียนถึงเวลาประมาณ 14.00 น.โดยช่วงเวลาต่อจากนั้นจะให้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามวัย เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข ซึ่งจะนำร่องในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 3,500 โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยจากนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 225 เขตจะเปิดรับสมัครโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ในช่วงเช้านักเรียนจะได้เรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่วนช่วงบ่ายภายหลังเวลา 14.00 น.จะเป็นกิจกรรมที่เน้นปฏิบัติและบูรณาการ เบื้องต้น สพฐ.ได้กำหนดกิจกรรมให้โรงเรียนเลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ทั้งสิ้น 4 กิจกรรม

  1. กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ ที่เน้นให้เด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ในช่วงเช้าเพื่อให้เด็กมีทักษะและลงมือปฏิบัติจริง อาทิ การทำโครงงาน การวาดรูป เล่นละครประวัติศาสตร์
  2. กิจกรรมเสรี จัดตามความเหมาะสมและความพร้อม อาทิ ชมรมจิตอาสา ชมรมกีฬา
  3. กิจกรรมสอนอาชีพ โรงเรียนอาจชักชวนผู้ปกครอง หรือภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาร่วมให้ความรู้และสอนอาชีพแก่นักเรียน รวมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะชีวิตด้วย
  4. กิจกรรมสอนเสริมวิชาการ ดูแลเด็กที่มีปัญหาเรียนอ่อน หรือสอนการบ้าน ซึ่งการจัดกิจกรรมใดก็ตามต้องไม่เก็บเงินจากผู้ปกครอง

ทั้งนี้ สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงานพร้อมจัดทำคู่มือการบริหารจัดการเรื่องการลดเวลาเรียนให้แก่สถานศึกษาได้นำไปเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ รวมถึงตารางกิจกรรมการเรียนการสอนให้ครูได้นำไปประยุกต์ใช้ จะเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนด้วยว่าอยากได้กิจกรรมรูปแบบไหนด้วย อาจจะเรียกประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต และโรงเรียนประถมศึกษาที่นำร่องในเรื่องดังกล่าวมารับฟังแนวปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จในอนาคต

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า โรงเรียนสังกัดสพฐ.กว่า 38,000 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กถึง 2 หมื่นกว่าแห่ง และมีครูไม่ครบชั้น โรงเรียนหนึ่งมีครูต่ำกว่า 6 คน และส่วนใหญ่ไม่ผ่านการประเมินจากสมศ. ที่รัฐควรเข้ามาดูแลและพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องของการอบรมพัฒนาครู

ที่มา : moe

สพฐ.เสนอแนวทางปรับลดเวลาเรียน ผุด 4 กิจกรรมทำหลังบ่ายสอง – ครูระยอง

Print Friendly

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบาย “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยจะปรับลดเวลาเรียนวิชาการในชั้นเรียนถึงเวลา 14.00 น. และช่วงเวลาต่อจากนั้นจะให้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามวัย โดยนำร่อง 3,500 โรงเรียน ในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น เริ่มภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 225 เขตจะเปิดรับสมัครโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการ

นายกมล กล่าวว่า สพฐ. ได้กำหนดกิจกรรมให้โรงเรียนเลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ 4 กิจกรรม ได้แก่

  1. กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ ที่เน้นให้เด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยกิจกรรมจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ในช่วงเช้า เพื่อให้เด็กมีทักษะและลงมือปฏิบัติจริง อาทิ การทำโครงงาน การวาดรูป เล่นละครประวัติศาสตร์ เป็นต้น
  2. กิจกรรมเสรี ให้โรงเรียนจัดตามความเหมาะสมและความพร้อม อาทิ ชมรมจิตอาสา ชมรมกีฬา ฯลฯ
  3. กิจกรรมสอนอาชีพ ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. กว่าหมื่นโรง มีความต้องการเรื่องดังกล่าว โดยโรงเรียนอาจชักชวนผู้ปกครอง หรือภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาร่วมให้ความรู้และสอนอาชีพแก่นักเรียน รวมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะชีวิตด้วย
  4.  กิจกรรมสอนเสริมวิชาการ ซึ่งไม่ใช่การติวเด็ก แต่เป็นการดูแลเด็กที่มีปัญหาเรียนอ่อน หรือสอนการบ้าน เป็นต้น

สพฐ. มีแนวทางการจัดกิจกรรมชัดเจน ต้องไม่เก็บเงินจากผู้ปกครองแม้แต่บาทเดียว โรงเรียนจะต้องมีความพร้อมในการจัด และ สพฐ. จะสนับสนุนตามความเหมาะสม และทุกกิจกรรมจะออกแบบให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียน ไม่ได้ปล่อยให้เด็กมีอิสระ โดยมีครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ยืนยันว่า เด็กนักเรียนทุกคนยังคงมาเรียนและกลับบ้านเวลาเดิม
นายกมลกล่าว

ส่วนแผนการดำเนินงานต่อจากนี้จะหารือกับ รมว.ศึกษาธิการ ในการกำหนดแผนขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดย สพฐ. ได้ตั้งคณะทำงานพร้อมจัดทำคู่มือการบริหารจัดการเรื่องการลดเวลาเรียนให้แก่สถานศึกษาได้นำไปเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ รวมถึงตารางกิจกรรมการเรียนการสอนให้ครูได้นำไปประยุกต์ใช้ ขณะเดียวกัน จะเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนด้วยว่าอยากได้กิจกรรมรูปแบบไหนด้วย ตนจะเชิญผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต และโรงเรียนประถมศึกษาที่นำร่องในเรื่องดังกล่าวมารับฟังแนวปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ

ที่มา :  ผู้จัดการ

ชะลอใช้เกณฑ์เลื่อนวิทยฐานะชุดใหม่ – ครูระยอง

Print Friendly

บอร์ด ก.ค.ศ.ชะลอใช้เกณฑ์ PA หรือเลื่อนวิทยฐานะของครูใหม่ “กำจร” ชี้มีจุดอ่อนทำให้ครูมีประสบการณ์ สอนเก่ง แต่ไม่ถนัดการสอบวิชาการหมดโอกาสได้วิทยฐานะ ทบทวนใหม่ไม่ให้ครูทิ้งห้องเรียน และต้องเปิดช่องผู้มีจิตวิญญาณครู

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ (Performance Agreement : PA) ว.7/2558 ซึ่งใช้ประกอบการเข้าสู่วิทยฐานะ ซึ่งเดิมผู้เข้ารับการประเมินจะต้องผ่าน 2 ขั้นตอน คือการสอบ วัดความรู้ ตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์

  • ขั้นตอนที่ 1 ที่ประชุมเห็นว่าอาจจะทำให้ครูที่มีความความรู้ มีประสบการณ์ สอนเก่ง แต่ไม่ถนัดวิชาการสอบไม่ผ่าน
  • ขั้นตอนที่ 2 จะดูผลงานทางวิชาการซึ่งจะวัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก

ดังนั้นจึงมีมติชะลอการสอบตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งเดิม ก.ค.ศ.ประกาศจัดสอบวันที่ 1 กันยายน ออกไปก่อน และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจ ที่มีปลัด ศธ.เป็นประธาน พิจารณาปรับแก้หลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยยึดแนวทางลดภาระ และไม่ให้ครูออกจากห้องเรียน เพราะต้องเตรียมตัวสอบ รวมถึงให้ไปพิจารณาการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเกณฑ์การประเมิน ว.17/2552 ซึ่งเป็นการทำผลงานทางวิชาการ และยังไม่ประกาศยกเลิก ที่ประชุมจึงให้กลับไปทบทวนถึงความจำเป็นว่ายังคงต้องมีอยู่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพบว่าการทำผลงานทางวิชาการเป็นสาเหตุหนึ่งที่ดึงครูออกจากห้องเรียน และสุดท้ายให้การประเมินทั้งหมดวัดที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก

“ขณะนี้ได้อนุกรรมการฯ โดยมีปลัด ศธ.เป็นคณะทำงาน และสรุปให้ รมว.ศธ.พิจารณาใน 2 สัปดาห์ ซึ่งผมได้ให้ ก.ค.ศ.ไปนำข้อมูลทั้งหมดมาให้ดู และต้องหากระบวนการที่เพิ่มกำลังใจให้ครูสอนดี สอนเก่ง แต่ความรู้ทางวิชาการอาจจะไม่แน่นเพียงพอด้วย ซึ่งเดิมจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์กลั่นกรองครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับการประเมินวันที่ 1 กันยายน แต่ก็ต้องเลื่อนไปก่อนเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม โดย ก.ค.ศ.ได้รายงานว่ามีครูที่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินไม่ต่ำกว่าแสนคน โดยผมจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้สามารถประเมินตามหลักเกณฑ์ใหม่ได้เร็วที่สุด” ปลัด ศธ.กล่าว.

ที่มา : ไทยโพสต์

สพฐ.แจ้งเขตพื้นที่การศึกษาเตรียมคัดเลือกโรงเรียนทุกระดับ ตามนโยบายการปรับลดเวลาเรียน

Print Friendly

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบาย “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Moderate Class More Knowledge” ซึ่งจะเริ่มต้นนำร่องในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 นั้น ล่าสุดวันนี้ (28 สิงหาคม 2558) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทั่วประเทศเตรียมการแล้ว

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการปรับลดเวลาเรียนให้เรียนในชั้นเรียนถึงเวลา 14.00 น.ของแต่ละวัน หลังจากนั้นจึงให้นักเรียนได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นการพัฒนานักเรียนในด้านอื่นๆ ภายในโรงเรียน โดยจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 และมีเป้าหมายจำนวนโรงเรียนนำร่องร้อยละ 10 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด

ที่มา : moe

ดังนั้น จึงแจ้งให้มีการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาร้อยละ 10 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา โดย

  • เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ให้คัดเลือกโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด โรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ และโรงเรียนอื่นๆ ตามความเหมาะสม
  • เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้คัดเลือกตามความเหมาะสมให้มีความหลากหลายตามขนาดและที่ตั้งของโรงเรียน
  • สำนักบริหารการศึกษาพิเศษ ให้คัดเลือกตามความเหมาะสมให้มีความหลากหลายตามขนาดและที่ตั้งของโรงเรียน

ทั้งนี้ สพฐ.จะส่งแบบสำรวจอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุดต่อไป

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในวันนี้ (28 สิงหาคม 2558) อีกด้วยว่า นโยบายการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มีเจตนาการปรับลดเวลาเรียนให้น้อยลง เป้าหมายเพื่อให้เด็กไม่ต้องเครียดจนเกินไป ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ไปศึกษาและพิจารณาแล้วว่ามีความเป็นไปได้ คือสามารถลดการเรียนวิชาหลักลงได้ จากเดิมนักเรียนต้องเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 840 ชั่วโมงต่อปี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่ง สพฐ.เห็นว่าน่าจะสามารถเลิกเรียนได้ในเวลา 14.00 น.

อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการก็ได้มาพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย หากผู้ปกครองบางกลุ่ม ไม่พร้อมที่จะรับเด็กกลับบ้าน เพราะติดภาระหน้าที่การงาน หรือกลัวลูกจะได้รับอันตราย และสบายใจที่จะให้ลูกอยู่ในโรงเรียนมากกว่า ส่วนผู้ปกครองอีกกลุ่ม อาจจะมีภาระทางบ้านที่ต้องการให้พี่มาช่วยเลี้ยงน้อง มาช่วยดูแลบ้าน ทั้งสองส่วนนี้ไม่ได้ห้าม ถ้าจะกลับบ้านก็ได้ แต่ส่วนที่ไม่พร้อมรับเด็กกลับบ้าน โรงเรียนจะจัดกิจกรรมที่มีความสุขให้เด็กในช่วงเวลาดังกล่าว แนวทางนี้จะตอบคำถามของนายกรัฐมนตรีที่ให้จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข

ดังนั้น เมื่อเลิกเรียนในชั้นเรียนเวลา 14.00 น.แล้ว เด็กสามารถไปทำกิจกรรม เล่นกีฬา ดนตรี หรือครูพาไปทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งจะให้เด็กนั่งทำการบ้านในเวลาดังกล่าวก่อนกลับบ้านก็ได้ โดยกิจกรรมนั้นต้องไม่ใช่การเพิ่มการบ้านให้เด็ก ซึ่งขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างจัดทำกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ โดยได้ย้ำกับ สพฐ. ไปแล้วว่า หากเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้เด็กเครียด ก็สามารถทำได้

โดย : บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe

รมว.ศธ.สั่งผอ.สพท.ส่งการบ้านแผนทำงานใน7วัน – ครูระยอง

Print Friendly

“รมว.ศธ.” มอบกรอบนโยบาย เดินตามพระราชดำรัสในหลวง 3 ข้อ เร่งทำ 10 ข้อ ตามนายกฯ สั่ง ผอ.สพท.ทั่วประเทศส่งการบ้านแผนการดำเนินงานภายใน 7 วัน แจงเด็กเลิกเรียนบ่าย 2 ยังไม่ได้ให้กลับบ้าน แต่จัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงการมอบนโยบายให้ผู้บริหาร ศธ. และการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศนั้น รมว.ศธ.กล่าวว่า ตนขอให้หัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แปลงนโยบายออกมาเป็นงานในของแต่ละองค์กรตามขอบเขตความรับผิดชอบ และส่งการบ้านให้ตนภายใน 7 วัน โดยแบ่งงานออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  1. ขณะนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
  2. ปรับปรุงงานตามนโยบาย
  3. เติมงานใหม่ แบ่งเป็น งานที่เติมได้เลยโดยไม่ต้องใช้งบเพิ่ม และงานที่ต้องเริ่มใหม่

โจทย์ที่ต้องตอบคำถามคือการนำกระแสพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ

  • ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู
  • ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แค่ให้แข่งขันกับตัวเอง
  • ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน

ดังนั้นต่อจากนี้ ศธ.จะต้องยึดกระแสพระราชดำริดังกล่าวเป็นกรอบเดินตามการดำเนินงาน ซึ่งทั้ง 3 ข้อครอบคลุมงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

“ผมขอย้ำให้ผู้บริหารทุกระดับทำแผนงานโครงการ อย่าลอกกัน อย่าปล่อยให้ลูกน้องทำ ต้องฉีกปัญหาให้ขาด ปรับปรุงผลงานเดิมที่ไม่สัมฤทธิผล ดูว่าที่ผ่านมาทำไมถึงไม่สำเร็จ และแก้ไข ทั้งนี้ ในส่วนของกิจกรรมที่จะทำต่อไปต้องตอบได้ว่าตรงกับตรรกะใดในพระราชดำรัส 3 ข้อนี้ได้” รมว.ศธ.กล่าว

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของนโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรีที่ต้องเร่งดำเนินการมีทั้งหมด 10 ข้อ คือ

  1. ให้ทำเร็ว มีผลสัมฤทธิ์ภายในเดือนกันยายน 2559 ที่เหลือส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป
  2. ประชาชน สังคม พึงพอใจ
  3. ปรับลดภาระที่ไม่จำเป็นของ ศธ.ลง
  4. เร่งปรับหลักสูตรตำรา/แต่ละกลุ่มให้เหมาะสม การพิมพ์ตำราต้องคุ้มค่า
  5. ผลิตคนให้ทันกับความต้องการของประเทศ จบแล้วมีงานทำ ช่วยแก้ไขปัญหาว่างงานและปัญหาสังคมได้
  6. ปรับหลักสูตรทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครอง มีความสุข
  7. ใช้สื่อการสอนกระตุ้นผู้เรียน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
  8. ลดความเหลื่อมล้ำจัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ
  9. นำระบบไอซีทีเข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง
  10. เรียนไม่ใช่เพื่อสอบ แต่เรียนให้ได้ทักษะชีวิต อยู่ในยุคโลกไร้พรหมแดน

ซึ่งตนจะให้ความสำคัญกับโครงการพระราชดำริมาก โดยจะมอบหมายให้ รมช.ศธ. 1 คน เข้ามาดูแลเรื่องนี้เป็นหลัก

สำหรับเรื่องงบประมาณที่ผ่านมาได้รับฟังรายงานจากผู้บริหารองค์กรหลัก ว่าการใช้งบเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งในส่วนของปีงบประมาณ 2559 ให้แต่ละหน่วยงานเริ่มวางแผนโครงการตั้งแต่ไตรมาสแรก เสนอขอใช้งบกลางเฉพาะที่จำเป็น โปร่งใส ตรวจสอบได้ บางโครงการต้องมีการบูรณาการข้ามแท่ง ก่อนไปบูรณาการกับสำนักงบประมาณ โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ของแต่ละกระทรวง เพื่อมาช่วยรัฐมนตรีปลัดกระทรวงและผู้บริหารองค์กรหลักดูแลการใช้งบประมาณ ว่าโปร่งใส ถูกต้องหรือไม่ ต่อไปจะไม่เกิดเหตุแบบกรณีการจัดซื้อจัดจ้างสนามฟุตซอลอีก

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตนเองจะให้ลดเวลาเรียน โดยให้นักเรียนเลิกเรียนเวลา 14.00 น.นั้น ขอให้ชื่อว่าเป็น “การลดเวลาเรียน เพื่อเพิ่มเวลารู้” โดยจะใช้เวลาที่เหลือจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็ก นอกห้องเรียนเพื่อลดความเครียด สร้างความสุขให้เด็ก ไม่ได้ปล่อยให้เด็กไปเที่ยวเล่นที่ไหน ซึ่งจะเริ่มในภาคเรียนที่ 2/2558 ใน 3,500 กว่าโรงเรียน จากนั้นจะมีการวัดผลการดำเนินงาน รวมถึงดูในแง่ของปัญหาว่าติดขัดในเรื่องใดบ้าง จะได้แก้ไขอย่างตรงจุด และขยายไปยังโรงเรียนต่างๆ ต่อไป

“การลดชั่วโมงเรียน สพฐ.มีการศึกษาแล้ว สามารถลดได้และไม่เกิดปัญหา นอกจากนี้จะมีการจัดกลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองมีความต้องการให้เด็กกลับบ้านตั้งแต่เวลา 14.00 น.ด้วย เพราะเด็กเหล่านี้อาจจะต้องรีบกลับเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง” รมว.ศธ.กล่าว.

ที่มา : ไทยโพสต์

กำจรถามยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ใครจะดูแลครู

Print Friendly

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) จัดการประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษา ภาคเหนือ ซึ่งมีนางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการสำนักงาน ก.ค.ศ. ผู้บริหาร ก.ค.ศ.และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาภาคเหนือ 51 คณะเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดงานและกล่าวตอนหนึ่งว่า นับแต่วันแรกที่มารับตำแหน่งปลัด ศธ.สิ่งแรกที่พบวางอยู่บนโต๊ะคือเรื่องการร้องเรียน ข้อติชม และการร้องทุกข์ โดยเฉพาะการลุแก่อำนาจของผู้บริหาร ซ้ำร้ายยังมีคนบอกให้ตน ยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เพราะมีเรื่องร้องเรียนถึงการรับเงินในการโยกย้ายแต่งตั้งครูจำนวนมาก ซึ่งบอกไปว่าถ้ายุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ แล้วใครจะมาดูแลครู ถ้าตอบคำถามนี้ได้ สักวันก็ต้องนำมาพิจารณา

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการบริหารงานบุคคล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯจะต้องมีธรรมา ภิบาลในการใช้อำนาจในการโยกย้ายแต่งตั้งครู จะต้องคำนึงเสมอว่าผู้ที่มาติดต่อขอโยกย้ายแต่งตั้ง คือลูกหลานตัวเอง หากเขาไม่มีความจำเป็นก็คงไม่มาขอความช่วยเหลือจากเรา ขณะเดียวกันในเรื่องการให้วิทยฐานะจะต้องสะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาในอนาคตด้วย”

ปลัด ศธ. กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการปรับบทบาทหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯขณะนี้กำลังพิจารณาในหลายๆ เรื่อง ต้องนำเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนและเรื่องการดำเนินการทั้งหมดของ อ.ก.ค.ศ.มาดูก่อน ซึ่งมีกระแสว่าอาจจะมีการปรับองค์ประกอบ และอาจลดอำนาจบทบาทของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ

อย่างไรก็ตามในการประชุมร่วมกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้เสนอเรื่องระบบการปฏิรูปครู เรื่องการสรรหาครู ซึ่งจะใช้โครงการคุรุทายาทมาเป็นต้นแบบ โดยอาจมีการปรับโครงการคุรุทายาท เป็นลักษณะระบบปิด เพื่อให้ครูที่อยู่ในท้องถิ่นได้มีโอกาสกลับมาอยู่ในท้องถิ่น และสร้างคนในท้องถิ่นเจริญก้าวหน้า โดยอย่างน้อยครู ต้องอยู่ในท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี

ที่มา : สยามรัฐ

การแถลงนโยบายด้านการศึกษา ของพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ – ครูระยอง

Print Friendly

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ร่วมแถลงนโยบายด้านการศึกษาผ่านระบบ Video Conference จากห้องประชุมชั้น 9 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ พร้อมทั้งเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดไปยังอินเทอร์เน็ต และห้องประชุมต่างๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการพร้อมกัน

ที่มา : moe

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอปวารณาตัวที่จะทำงานร่วมกันกับทุกท่านในกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอเชิญชวนผู้บริหารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หลับตานึกย้อนอดีตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยของเรา จนเป็นเหตุให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำงาน ถือว่าเป็นการเข้ามาในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ เพื่อมายุติความขัดแย้งและปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งในส่วนของการศึกษานั้น ถือว่าเป็นพื้นฐานของการปฏิรูปในทุกเรื่อง เริ่มจากการปฏิรูป 11 ด้านของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะเป็นพื้นฐานของความยั่งยืนในการปฏิรูปประเทศซึ่งต้องใช้เวลานานและมีแผนงานทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง ระยะยาว งานของกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องมีแผนปฏิรูปทั้ง 3 ระยะเช่นกันด้วย

ดังนั้น ขอให้ทุกคนตระหนักว่าห้วงเวลานี้ไม่ใช่ห้วงเวลาปกติที่ทุกคนจะทำงานแบบปกติ แต่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ขอให้ละทิ้งความขัดแย้งและหันมามองนักเรียนตัวน้อยๆ ซึ่งก็คือลูกหลานของเรา เพื่อปฏิรูปงานด้านการศึกษา อันจะส่งผลให้ลูกหลานของเรามีชีวิตที่สดใสและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ต่อจากนี้ อาจจะต้องรบกวนเวลาทุกคนมากขึ้น เพราะมีงานเร่งด่วนที่จะต้องทำ มีงานที่ต้องการผลลัพธ์มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยภายหลังรับฟังนโยบายแล้ว ขอให้หัวหน้าส่วนราชการแปลงนโยบายไปสู่แผนงานในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง

จุดเน้นและแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา ประกอบด้วย 2 ส่วน

  1. กระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    “ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู”
    “ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่า ช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า”
    “ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี”

  2. นโยบายนายกรัฐมนตรี
  • ทำให้เร็ว มีผลสัมฤทธิ์ภายในเดือนกันยายน 2559 ให้มากที่สุด ที่เหลือส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป
  • ประชาชน สังคมพึงพอใจ ประเทศได้คนมีคุณภาพ
  • ปรับ ลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของกระทรวงศึกษาธิการลง
  • เร่งปรับหลักสูตร/ตำราแต่ละกลุ่มให้เหมาะสม การพิมพ์ตำราต้องคุ้มราคา
  • ผลิตคนให้ทันกับความต้องการของประเทศ จบแล้วต้องมีงานทำ เข้าทำงาน AEC ให้ทันปีนี้ ช่วยแก้ไขปัญหาว่างงาน และปัญหาสังคมได้
  • ปรับหลักสูตร ทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความสุข
  • ใช้สื่อการสอน กระตุ้นผู้เรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้กับเด็ก
  • ลดความเหลื่อมล้ำ จัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ
  • นำระบบ ICT เข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง
  • เรียนไม่ใช่เพื่อสอบ แต่เรียนให้ได้ทักษะชีวิต อยู่ในยุคโลกไร้พรมแดน

นโยบายด้านการศึกษา นโยบายทั่วไป

  1. การจัดทำแผนงานโครงการเริ่มใหม่
    – ต้องเข้าใจจุดหมายว่าทำเพื่ออะไร
    – ต้องวาดภาพงานลงในรายละเอียดให้เห็นว่า อะไรคืองานหลัก แล้วมีงานรองอะไรบ้างที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุงานหลัก อะไรที่ต้องทำก่อน อะไรที่ต้องทำที่หลัง
    – ต้องมีฐานข้อมูลที่แน่น เช่น จะผลิตนักศึกษาอาชีวะ ต้องรู้ว่าตลาดต้องการสาขาอะไรบ้าง แต่ละสาขา ต้องการกี่คน ฐานข้อมูลที่ดีจะทำให้การวิเคราะห์แม่นยำ
  2. การปรับปรุงแผนงาน/โครงการเดิมที่ไม่สัมฤทธิ์ผล
    – หาปัญหาที่ผ่านมาทำไมทำไม่สำเร็จ เช่น ปัญหาอยู่ที่อายุของนักเรียน ปัญหาอยู่ที่ครู ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ ปัญหาอยู่ที่สภาวะแวดล้อม เพราะบางครั้งไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีใดวิธีเดียว
  3. แผนงาน/โครงการพระราชดำริ
    – โครงการอะไรบ้างที่กระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบโดยตรง
    – โครงการไหน เป็นดำริของพระองค์ใด ทำแล้ว และกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนอย่างไร
  4. งบประมาณ
    – โดยเฉพาะงบลงทุน ให้วางแผนโครงการในงบลงทุนในไตรมาสแรกมาเลย
    – การเสนองบกลางให้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การทำแผนงานโครงการบางอย่างไม่ต้องใช้งบประมาณใช้งบปกติที่ได้รับ และการปรับแผนงานที่ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์
    – โปร่งใส ตรวจสอบได้
    – ในงานบางโครงการต้องมีการบูรณาการงบประมาณข้ามแท่ง ก่อนไปบูรณาการกับสำนักงบประมาณ
  5. เน้นการสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร
    – จัดให้มีช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นระบบ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย (การประชุมทางไกล โปรแกรมไลน์ ฯลฯ) เพื่อใช้ในการสร้างความเข้าใจในองค์กร สามารถถ่ายทอดคำสั่งไปยังหน่วยรองได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว สามารถรายงานเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
    – ทุกหน่วยต้องจัดให้มีแผนการประชาสัมพันธ์ ทั้งเสมาสนเทศ และประชาสนเทศ
  6. อำนวยการเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
    – เช่น การเกิดอุบัติเหตุในโรงเรียน/นอกโรงเรียน, ผู้บริหารถูกกล่าวหา, การรวมตัวกันต่อต้านผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียนปวดท้องอาเจียนยกชั้น โรงเรียนถูกขู่วางระเบิด เกิดวาตภัย ฯลฯ ให้ทุกหน่วยไปกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ (อาจจะมีอยู่แล้วให้ไปปรับปรุงหรือทำการซักซ้อม) อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด
    – ใครต้อง Take Action
    – การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น และระยะยาวทำอย่างไร
    – การรายงานด่วน ฯลฯ
  7. การร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
    – ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมให้ครบวงจร เช่น เข้ามาร่วมกำหนดหลักสูตร
    – การรับนักเรียนเข้าไปทำงานขณะที่ยังศึกษาอยู่ การรับนักเรียนเมื่อจบการศึกษา
  8. จะให้ความสำคัญกับการบริหารงานส่วนภูมิภาคและเขตพื้นที่ต่างๆ ของแต่ละแท่งเข้าทำงาน
    – ทบทวนบทบาทหน้าที่
    – สิ่งใดที่ต้องรู้ และยังไม่รู้
    – สิ่งอำนวยความสะดวกพอเพียงหรือไม่
  9. โครงการจัดอบรมสัมมนา ต้องตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ใครควรเข้าร่วมการสัมมนา
    – ผลลัพธ์ที่ต้องการ เนื้อหาต้องสัมพันธ์กับเวลา
  10. ยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร
  11. ให้มีการนำ ICT เข้ามาใช้ในการบริหารงานในกระทรวงอย่างกว้างขวาง
    – ปัจจุบันได้ดำเนินการศูนย์ศึกษาทางไกล (DL Thailand) ให้บูรณาการเข้ากับสถานีวิทยุเพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ETV) และเครือข่ายของอุดมศึกษาโดยใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร เพื่อใช้ในการจัดการศึกษา การเสมาสนเทศ และการประชาสนเทศ
  12. ให้ความสำคัญกับเทคนิคการสอนและการสื่อ
  13. ให้ความสำคัญกับบรรยากาศในการทำงาน
    – ให้ความสำคัญกับการประดับธงประจำพระองค์ของพระราชวงศ์ไทย และธงชาติไทยในหน่วยงานและสถานศึกษาต่างๆ
    – ความสะอาดในพื้นที่รับผิดชอบทุกระดับในเขตพื้นที่
    – การรักษาความปลอดภัย
    – แผนเผชิญเหตุ
  14. ให้ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนของครู
    – เพื่อให้ครูมีเวลาทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนของนักเรียนอย่างจริงจัง
  15. การประเมินเพื่อความก้าวหน้าต้องสอดคล้องกับผลการพัฒนาผู้เรียน ทั้งความรู้และคุณลักษณะและทักษะชีวิต
  16. การแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ
    – โครงการเร่งรัดการขับเคลื่อนตามแผนการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการสานฝันการกีฬาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้
  17. ให้ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน การนำเด็กนักเรียน ครู ออกนอกห้องเรียน
    – สามารถดำเนินการได้ หากเป็นการทัศนศึกษาหรือเสริมสร้างประสบการณ์ เช่น รำอวยพร การแสดง
    – ไม่มีนโยบายให้ครู นักเรียน ต้องออกไปยืนต้อนรับผู้บริหาร

นโยบายด้านการอาชีวศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา)

  1. การเปลี่ยนค่านิยมอาชีวะของผู้ปกครองและนักเรียนให้หันมาเข้าสู่ระบบอาชีวะมากยิ่งขึ้น
    – ทวิศึกษา เป็นการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จบแล้วได้วุฒิการศึกษา 2 ใบ สามารถออกไปประกอบอาชีพได้
    – ความร่วมมือกับสถานประกอบการ เป็นการจัดการศึกษาระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงและเมื่อจบการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ทันที
    – การลดเรื่องการทะเลาะวิวาท เพื่อสร้างความปลอดภัย
    – ให้ความสนใจกับนักศึกษาทุกคนอย่างทั่วถึง
    – ให้โอกาสนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อเป็นการสร้างนิสัยในการรักการประกอบอาชีพ การตรงต่อเวลา ความอดทน ความมั่นใจตนเอง และมองถึงอนาคตข้างหน้า
  2. การทำให้วิทยาลัยอาชีวะมีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน
    – ให้มีการจัดการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
    – การจัดการศึกษาด้านปิโตรเคมี
    – การท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร มัคคุเทศก์
    – การจัดหลักสูตรเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศด้านสาธารณูปโภค และอื่นๆ เช่น การเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับระบบราง หลักสูตรการซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ และหลักสูตรเกี่ยวกับการบิน
  3. จัดการศึกษาอาชีวะมาตรฐานสากล
    – การจัดการอาชีวศึกษาอาเซียน ร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปบางประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมัน

นโยบายด้านการอุดมศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)

  1. กำหนดบทบาทการผลิตนักศึกษาให้ชัดเจน ตามความถนัดและความเป็นเลิศของแต่ละสถาบัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน
  2. Outcome ที่สถาบันอุดมศึกษาควรมี เช่น การวิจัยพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากทรัพยากรท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ
  3. สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียนในการพัฒนาท้องถิ่น

นโยบายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

  1. การแก้ไขปัญหาเด็กประถม อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
    – ปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนที่เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจน เช่น การสอนแบบแจกลูกสะกดคำโดยใช้แนวการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการสมอง (BBL)
    – กำหนดเป้าหมายให้นักเรียนชั้น ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ ชั้น ป.2 ขึ้นไปต้องอ่านคล่องเขียนคล่อง เป็นต้น
  2. การดูแลเด็กออกกลางคัน
    – การดูแลเด็กออกกลางคันให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ เช่น ต้องมีฐานข้อมูลเรื่องนี้ หากเด็กจบออกไปต้องมีระบบติดตามดูแล และหากเด็กออกไปทำงานที่ใด ต้องสนับสนุนให้เรียนต่อในสถานศึกษาของ กศน.
  3. ปรับปรุงหลักสูตร
    – การลดเวลาเรียน ลดการบ้านนักเรียน ให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข แต่ไม่ใช่เวลาเหลือแล้วไปจัดกิจกรรมที่เพิ่มภาระหรือเพิ่มการบ้านให้นักเรียนอีก
    – ไม่ใช่การเรียนเพื่อมาสอบอย่างเดียว
    – ต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับเด็กยุคโลกไร้พรมแดน ให้นักเรียนคิด/ปฏิบัติมากกว่าท่องจำ
  4. การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
    – การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูสอนไม่ครบชั้นเรียน
    – ใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLIT) อย่างจริงจังเต็มรูปแบบ ส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนไกลกังวลให้เป็นโรงเรียนต้นทางที่มีคุณภาพ
  5. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
    – ใช้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกล DLTV และผ่าน ICT ด้วย DLIT
  6. การประเมินครู/นักเรียน/โรงเรียน
    – การประเมินครู/นักเรียน/โรงเรียน หาความสมดุล ระหว่างการควบคุมคุณภาพการศึกษากับภาระงานของครูที่ต้องเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับปรุงการคัดสรรครู ผู้บริหาร การประเมินวิทยฐานะให้เหมาะสม อาจจัดโมบายทีมจากส่วนกลาง เพื่อลดภาระครูหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
  7. การดูแลรักษาสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ในหน่วยงานและสถานศึกษา
    – ควรจัดให้มีระบบในการดูแลรักษาสิ่งของทั้งหมดอย่างแน่นหนา ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ ตลอดจนครุภัณฑ์ต่างๆ ประกอบด้วย
    1) ระบบการจัดหา-แจกจ่าย โดยจะต้องมีตรรกะ-มีเหตุมีผลในการแจกจ่าย ไม่ใช่แจกจ่ายตามความเสน่หา จะทำให้เกิดการเลียแข้งเลียขากัน เป็นเรื่องที่ไม่ดี
    2) ระบบการซ่อมบำรุง ควรตั้งทีมเฉพาะขึ้นมาเพื่อบำรุงดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องทุกวงรอบการใช้งาน พร้อมทั้งมีการรายงานผลการตรวจด้วย โดยเฉพาะยานพาหนะจะต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อให้การบำรุงรักษามีความต่อเนื่อง
    3) การจำหน่าย เพื่อที่จะได้จัดซื้อทดแทน
  8. การดูแลเรื่องสวัสดิการ
    – ให้ความสำคัญกับการบรรจุ โยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง วิทยฐานะ
    – การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจำนวนกว่าล้านล้านบาท ขณะนี้ได้มีการวางแนวทางและจัดระบบแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกับธนาคารออมสินแล้ว จึงขอฝากให้ครูใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต รู้จักใช้ รู้จักเก็บ ไม่แก่งแย่งแข่งขันกัน ขอให้ครูพยายามลดหนี้ลง ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างจิตสำนึกในการใช้จ่ายให้กับลูกหลานของตัวเองด้วย
  9. การขยายโครงการธนาคารขยะในสถานศึกษา
    – ปลูกฝังการคัดแยกขยะและทิ้งขยะให้ถูกที่แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษาในทุกระดับการศึกษาและทุกสังกัด
    – ขยายโครงการธนาคารขยะในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 38,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมอบ สพฐ.ศึกษารายละเอียดเพื่อหาแนวทางขยายโครงการธนาคารขยะให้ครบทุกโรงเรียนภายในปี 2558

นโยบายด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย)

  1. การจัดการศึกษาเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และส่งเสริมให้ประชาชนที่พลาดโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียน
    – ทั้งในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
  2. เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา
    – โดยจัดโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนปลายของสำนักงาน กศน. เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
  3. จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
    – เพื่อให้คนทุกช่วงวัยได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
  4. ดำเนินการปลูกฝังและสร้างอุดมการณ์ให้นักศึกษา กศน.และประชาชน มีความตระหนักในความเป็นชาติ กระตุ้นให้เกิดความรักชาติ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
  5. กำหนดให้ กศน.ตำบล เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเชื่อมประสานระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน
  6. พัฒนาคนทุกช่วงวัย
    – โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถมีความรู้และทักษะใหม่ที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายตามแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต

แนวทางการทำงาน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางการทำงาน 3 ลักษณะ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาข้างต้นทั้งหมด ได้แก่

  • ทำงานแบบ Hit the Point กล่าวคือ งานทุกงานต้องฉีกปัญหาให้ขาด ตีโจทย์ให้แตก ตลอดจนหากิจเฉพาะและกิจแฝงให้เจอ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
  • ทำงานแบบ Dynamic หมายถึงการขับเคลื่อนงานตลอดเวลา หยุดไม่ได้ เมื่อมีการสั่งงานไปแล้ว จะไม่หยุดนิ่งอย่างแน่นอน จะขับเคลื่อนงาน ดูแล และช่วยแก้ปัญหา หากงานนั้นต้องข้ามแท่ง ก็จะต้องข้าม อย่าไปหยุดและจะไม่มีหยุด
  • ทำงานแบบ Lively คือการทำงานแบบมีชีวิตจิตใจ ซึ่งการจะทำงานแบบนี้ได้ ผู้ร่วมงานต้องมีความเข้าใจเนื้องานตรงกับเรา จึงพยายามที่จะสร้างให้ทุกท่านเข้าใจเนื้องานที่จะทำ สร้างให้เห็นประโยชน์ร่วมกันกับสิ่งที่กำลังทำ เมื่อเข้าใจตรงกันและเห็นประโยชน์ร่วมกัน เราก็จะมีความสุขที่จะทำ เพราะใจเราจะไม่ต่อต้าน ถึงแม้จะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข และจะมีชีวิตจิตใจในการทำงาน

ทั้งนี้ ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จนถึงผู้อำนวยการสถานศึกษาต่างๆ ที่จะต้องขับเคลื่อนตามกันไปทั้งหมด

โดย : นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe

“ดาว์พงษ์” สั่ง สพฐ.เดินเครื่องลดชั่วโมงเรียน – ครูระยอง

Print Friendly

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ว่า ผู้บริหารองค์กรหลัก ของ ศธ.ได้รายงานข้อมูลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ฟังคิดว่าโครงการต่าง ๆ น่าจะเริ่มเห็นผลในทางปฏิบัติได้อีกไม่ช้านี้ โดยเฉพาะเรื่องการลดเวลาเรียนของนักเรียน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เริ่มไปบ้างแล้วในระดับประถมศึกษา แต่ยังมีบางจุดที่ต้องเติมเต็ม เพื่อให้เห็นผลชัดเจน เช่น การลดชั่วโมงในวิชาหลักลง เพื่อให้นักเรียนได้กลับบ้านหรือมีเวลาทำกิจกรรมเสริมอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับช่วงวัยได้มากขึ้น รวมถึงให้เน้นการอบรมครูให้เข้าใจและจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เห็นผลภายในภาคเรียนที่ 2/2558 อีกทั้งให้โจทย์ สพฐ. ไปว่าให้นำร่องลดเวลาเรียนให้ได้ 10% ของโรงเรียนทั้งหมด 38,000 โรง โดยเน้นที่ระดับประถมศึกษาก่อน

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ตนขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขยายการเรียนการสอนระบบทวิภาคีเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นสถาบันที่มีปัญหาทะเลาะวิวาทบ่อย ๆ หากเด็กมีทางเลือกที่ดีกว่า เรียนไปทำงานไปมีรายได้เด็กจะไม่ไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขอให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) แต่ละแห่งมีจุดเด่นในการผลิตผู้เรียนในแต่ละสาขาอาชีพเฉพาะทางแตกต่างกันออกไป รวมถึงต้องวางแผนจัดระบบรองรับเด็กที่อยู่ห่างไกล และอยากเรียนในสาขาที่ มทร. มีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น การต่อเรือ ต้องมีสถาบันหลัก สถาบันรองรองรับในการสอนสาขาอาชีพดังกล่าว เป็นต้น

“โดยภาพรวมการทำงานของแต่ละองค์กร ในขณะนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล ผมจึงเน้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลัก ส่วนการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันนั้น ต้องทำควบคู่กันไป โดยเร็ว ๆ นี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) องค์การค้าฯ และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มาพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาของที่ผ่าน และต้องดูว่ามีอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการต่อไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ที่มา : ผู้จัดการ

แจงรัฐบาลเปิดสอบผู้ช่วยครูทั่วประเทศ 8,000 อัตราก.ยนี้ – ครูระยอง

Print Friendly

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการสอบบรรจุในตำแหน่ง ครูผู้ช่วย สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. จำนวน 8,000 อัตรา ว่า เป็นการเปิดสอบบรรจุเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู โดยครูผู้ช่วยจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการระดับซี 3 และเมื่อทำงานครบ 2 ปี ก็มีสิทธิ์เลื่อนวิทยฐานะเป็นตำแหน่งครูต่อไป โดยจะเปิดสมัครสอบในช่วงเดือนกันยายน สอบในช่วงเดือนตุลาคม และจะพยายามประกาศผลสอบให้ทันเพื่อบรรจุครูผู้ช่วยให้ทันในภาคเรียนที่สองของปีการศึกษานี้

ทั้งนี้การสอบบรรจุที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียน ตลอดจนปัญหาหลายประการทำให้ไม่สามารถบรรจุครูได้ครบตามอัตราที่ขาดแคลน อาทิ หลักเกณฑ์เดิม แม้จะสอบวันเดียวกันแต่เปิดโอกาสให้สมัครสอบหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการรับจ้างเข้าสอบแทน จนคนเดียวมีชื่อสอบติดหลายแห่ง

“ที่ผ่านมาหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันมีช่องโหว่ เอื้อให้เกิดการทุจริต และปัญหาความไม่โปร่งใสต่างๆ ทำให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและต้องการพัฒนาท้องถิ่น อาจไม่สามารถสอบเข้าสู่ระบบได้รัฐบาลจึงได้มีการทบทวนจุดอ่อนของการเปิดสอบที่ผ่านมาและมอบหมายให้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบบรรจุใหม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสที่สุด”

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ใหม่กำหนดให้ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน โดยให้รวมกลุ่มกันในพื้นที่เขตตรวจราชการ แล้วมอบให้สถาบันอุดมศึกษาที่เห็นสมควรเป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบตามหลักสูตรที่กำหนด กำหนดวันสอบของทุกเขตในวันเดียวกัน และผู้สมัครสามารถเลือกสอบได้เพียงเขตเดียว

สำหรับการสอบแบ่งเป็น ภาค ก ความรู้ ความสามารถทั่วไป อุดมการณ์ของความเป็นครู จำนวน 150 คะแนน ภาค ข ความรู้ ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง 150 คะแนน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ 50 คะแนน

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านฝากไปยังผู้ตั้งใจอยากทำหน้าที่ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เด็กไทยว่า ขอให้คนเก่ง คนดี คนมีใจรักในวิชาชีพครูมาสอบครั้งนี้กันมากๆ เชื่อว่าระบบการสอบรูปแบบใหม่จะมีความโปร่งใสและให้ความยุติธรรมกับทุกคน อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ และท่านกำชับให้การสอบครั้งนี้ต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา และ เป็นธรรม ห้ามมีการทุจริตโดยเด็ดขาด”

ที่มา : สยามรัฐ

ภาษาไทย ภาษาชาติ และการสอนของครู โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง

Print Friendly

“…เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…”

“…ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี”

(พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฎาคม 2505)

ประเทศไทยถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2505

พระราชดำรัสทั้งสองตอนที่ผู้เขียนน้อมนำมากล่าวข้างตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นคำว่า “รักษา” ภาษาไทย ทั้งรักษาความบริสุทธิ์ในการออกเสียงภาษาไทย รักษาความบริสุทธิ์ในการใช้ความหมายต่างๆ ของคำภาษาไทย รักษาภาษาไทยในฐานะภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็น และสุดท้ายรักษาความงามของภาษาไทยที่ใช้เป็นวัสดุในการแต่งศิลปวรรณคดี

ขอกล่าวถึงข้อเขียนของผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยร่วมสมัยจำนวนสองท่านที่กล่าวถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย เป็นข้อเขียนที่ผู้เขียนคิดว่าเหมาะแก่การนำเข้าไปสู่ห้องเรียนของนักเรียนไทย เพื่อให้นักเรียนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักหวงแหน เพื่อเป็นการ “รักษา” ภาษาไทยของเรา

ภาษาไทยปรากฏงดงามนัก นักภาษาประจักษ์เป็นสักขี

หนึ่งมีความเป็นภาษาดนตรี อาจเลียนเสียงในโลกนี้ทุกลีลา

ทั้งเสียงคนเสียงสัตว์เสียงธรรมชาติ ทั้งสามารถเลียนเสียงทุกภาษา

สองอักษรไทยนี้มีนานมา ปิ่นราชารามคำแหงทรงแต่งไว้

ทั่วโลกานี้มีกว่าสามพันภาษา แต่มีเพียงอักษรานับร้อยได้

หนึ่งในนั้นคืออักษรของชาติไทย เราจึงควรภูมิใจภาษาตน

สามไทยมีตัวเลขเป็นเอกลักษณ์ ตัวเลขไทยส่งเสริมศักดิ์อนุสนธิ์

มีรูปร่างงดงามทุกยามยล ไทยทุกคนควรเขียนใช้เลขไทยงาม

สี่คำไทยเป็นภาษาคำโดด บอกตระกูลความช่วงโชติชาติสยาม

แต่เปิดรับต่างภาษามาเสริมความ ภาษาไทยจึงวาววามตามโลกทัน

ห้าไทยมีฉันทลักษณ์หลากชนิด สื่อนิมิตบทกวีหลากสีสัน

ทั้งโคลงฉันท์กาพย์กลอนสุนทรพรรณ บ่งบอกความเฉิดฉันวัฒนธรรม

หกไทยมีภาษาถิ่นที่หลากหลาย จึงสามารถอภิปรายหลากหลายส่ำ

แต่ก็มีภาษากลางงดงามล้ำ ที่บอกย้ำความกลมเกลียวหนึ่งเดียวกัน

เจ็ดภาษากวีไทยพิไลยิ่ง ทำนองได้เพราะพริ้งสุดเฉิดฉัน

ร้องลำนำนานาสารพัน เพียงสุคันธมาลินประทิ่นพราย

แปดภาษานี้มีคำพ้อง เขียนอย่างหนึ่งอ่านได้สองกรองความหมาย

เขียนต่างกันต้องอ่านเสียงพ้องต้องอธิบาย มากความหมายฉายเฉิดเพริศพรายนัก

นี่คือความงดงามสยามพากษ์ แตกต่างจากหลากภาษาน่าตระหนัก

เพราะภาษาไทยมีอัจฉริยลักษณ์ พึงประจักษ์ความงดงามภาษาไทย

บทกลอนนี้ชื่อ “ความงดงามของภาษาไทย” อาจารย์ประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นผู้ประพันธ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1408 ประจำวันที่ 10-16 สิงหาคม 2550 ผู้ร้อยกรองใช้ชื่อบทกลอนนี้ว่า

“ความงดงามของภาษาไทย” เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อ่านเห็นลักษณะสำคัญของภาษาไทย

ซึ่งกล่าวไว้ 8 ประการ ได้แก่

  1. ภาษาไทยเป็นภาษาดนตรี
  2. ภาษาไทยมีอักษรไทยเป็นของตนเอง
  3. ภาษาไทยมีตัวเลขไทยเป็นเอกลักษณ์
  4. ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด
  5. ภาษาไทยไทยมีฉันทลักษณ์
  6. ภาษาไทยมีภาษาถิ่นหลากหลายทุกภูมิภาค
  7. ภาษาไทยเป็นภาษาที่อ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะได้ไพเราะ
  8. ภาษาไทยภาษานี้มีคำพ้อง

ข้อเขียนที่สองเป็นข้อเขียนของนักวิชาการด้านภาษาไทยชั้นยอดของประเทศไทยผู้ล่วงลับแล้ว นั่นคือศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ได้เขียนเป็นบทความชื่อ “ภาษาไทย ภาษาถิ่น ไม่สิ้นสูญ” ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารวิชาการชื่อ “ภาษาไทยของเรา”ซึ่งเป็นวารสารของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1-2 (เม.ย.2537-มี.ค.2538) กล่าวถึงภาษาไทยในฐานะภาษาประจำชาติไว้ 2 ประเด็น คือ คุณค่าและคุณลักษณะของภาษาไทยที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่คงทน

อาจารย์ฐะปะนีย์กล่าวโดยผูกเป็นคำคล้องเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้จำง่าย ดังนี้

  • คุณค่าของภาษาไทย

ภาษาไทยมีคุณค่าต่อคนไทยและชาติไทย 8 ประการคือ

  1. ใช้เป็นสื่อกลาง
  2. เสริมสร้างวัฒนธรรม
  3. สำแดงเอกลักษณ์
  4. พิทักษ์เอกราช
  5. ประสาทวิทยา
  6. พัฒนาความคิด
  7. กอบกิจการงาน
  8. ประสานสามัคคี
  • คุณลักษณะของภาษาไทยที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่คงทน  อาจารย์ฐะปะนีย์ได้กล่าวไว้เป็นคำคล้องจองว่า
  1. ใช้อักษรแทนเสียง
  2. สำเนียงดุจดนตรี
  3. มีระดับของภาษา
  4. พัฒนาตามกาลสมัย
  5. ใช้วิธีเรียงคำ
  6. สำนวนไทยหลากหลาย
  7. เขียนจากซ้ายไปขวา
  8. รสภาษาสุนทร

ในบทความนี้จบด้วยคำประพันธ์ที่เชิญชวนคนไทยทั้งผองรัก หวงแหน และสืบทอดการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของเราว่า

ภาษาไทยได้มาแต่บรรพบุรุษ ภาษาไทยพิสุทธิ์และสูงส่ง

ภาษาไทยชาวไทยใฝ่จำนง ใช้ถูกต้องมั่นคงคู่ชาติไทย

ภาษาถิ่นสุนทรเสียงอ่อนหวาน ภาษาไทยสื่อสารงานน้อยใหญ่

ภาษาถิ่นสร้างสรรค์จรรโลงใจ ภาษาไทยสอนธรรมนำปัญญา

ภาษาไทยภาษาถิ่นไม่สิ้นสูญ ภาษาไทยเจิดจำรูญศรีสง่า

ภาษาไทยรวมน้ำใจไทยประชา มาเถิดมาพิทักษ์ไว้ให้ถาวร

(ฐะปะนีย์ นาครทรรพ 2538 หน้า 32-47)

ทั้งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บทกวีของอาจารย์ประยอม ซองทอง และอาจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ มุ่งให้เรารู้ประโยชน์ ความสำคัญ รวมทั้งเกิดความรัก หวงแหน และสืบทอดภาษาไทยในฐานะภาษาชาติของเรา

การสอนภาษาไทยให้นักเรียนรักภาษาไทยนั้น จำเป็นต้องสอนให้นักเรียนเรียนรู้ไปถึงขั้น เข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า และนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ประโยชน์ทางการสื่อสารและประโยชน์ทางการพัฒนาสติปัญญาได้

ครูภาษาไทยต้องไม่ลืมว่าวิชาภาษาไทยนั้น ประกอบหลักภาษา การใช้ภาษา และวรรณคดี ผู้เขียนมั่นใจว่าการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาเพื่อให้นักเรียนเกิดความรักต่อภาษาไทยจนถึงขั้นการเกิด “แรงบันดาลใจ” ในการอ่านหนังสือต่างๆ ด้วยความใฝ่รู้ ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นที่มาของการอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ การเขียนภาษาไทยถูกการสะกดคำ ใช้คำได้ถูกความหมาย ถูกหน้าที่ รูปแบบการเรียงคำในประโยคถูกต้องตามโครงสร้างภาษาไทยจนไปถึงขั้นการใช้ภาษาในทางสร้างสรรค์เป็นศิลปะการใช้ถ้อยคำได้

ที่สำคัญคือการอ่านที่จะทำให้ใจเป็นสุข ต้องเริ่มที่การสอนให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความซาบซึ้ง เพลิดเพลินบันเทิงใจในวรรณคดีไทย ซึ่งทั้งหมดผู้เขียนกล้าฟันธงว่าต้องอาศัย “ความรู้และความสามารถในการสอนของครูภาษาไทย”

ศาสตราจารย์ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักวิชาการด้านภาษาไทยและการสอนภาษาไทยของไทยผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (สมควรคารวะวิสัยทัศน์ของผู้เสนอชื่ออาจารย์บุญเหลือต่อยูเนสโกอย่างยิ่ง)

เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม หนังสือเล่มหนึ่งของท่านชื่อว่า “ภาษาไทยวิชาที่ถูกลืม” (ดูเสมือนว่าหนังสือเล่มนี้ก็ถูกลืมไปแล้วจากครูภาษาไทยและแวดวงการศึกษาของเรา) อาจารย์บุญเหลือเขียนไว้ในตอนหนึ่งของผลงานเล่มนี้ว่า

“…โรงเรียนไทยทำผิดไป ในการที่บังคับนักเรียนในวัยที่บังคับไม่ได้คือวัยรุ่น เมื่อถึงวัยนี้เด็กนักเรียนจะขอเหตุผลสำหรับทุกอย่าง และชอบโต้เถียง พอนักเรียนมีความสงสัยในวิชาใด ครูก็ใช้วิธีบังคับให้ท่องจำเหมือนเป็นนักเรียนเล็ก เป็นการปลูกฝังความเบื่อหน่ายรำคาญใจเกือบทุกวิชา นักเรียนที่ชอบวิชาภาษาเบื่อหน่ายวิชาวิทยาศาสตร์ขนาดไม่อยากได้ยินได้ฟัง นักเรียนที่ชอบไปในทางวิทยาศาสตร์ก็เบื่อหน่ายวิชาภาษาไทย ประวัติศาสตร์ และศีลธรรม เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ครูโดยมากก็ไม่เข้าใจว่าวรรณคดีคืออะไร ใช้วรรณคดีสอนจรรยาแก่เยาวชน โดยใช้วรรณคดีผิดเรื่อง เช่น ให้นักเรียนวัยรุ่นเรียนจรรยาจากลิลิตพระลอ หรือนิทราชาคริต เรื่องแรกเป็นเรื่องของคนวันรุ่นที่ไม่ควรจะเอาเยี่ยงอย่างเลย ชีวิตได้ลงโทษให้พระลอและพระเพื่อนพระแพงถึงแก่ความตาย ครูก็ชี้ในข้อนี้ไม่ถูกต้อง…” (2523 หน้า 32)

การสอนวรรณคดีครูจำเป็นต้องขยายความ ยกตัวอย่างประกอบ และประเมินสิ่งที่กำลังสอนได้ การที่ครูจะขยายความ ยกตัวอย่างประกอบและประเมินค่าเนื้อหาของวรรณกรรมได้นั้น ครูต้องตีความ (Interpretation) ความหมายของสิ่งที่กำลังสอนได้ และการตีความใหม่ (Reinterpretation) เนื้อเรื่องที่เป็นตัวบทของวรรณกรรมนั้น เป็นการ “เข้าถึง” ภารกิจทางวรรณคดีอย่าง “สุดซอย” ไม่ว่าจะเป็นภารกิจทางด้านวรรณศิลป์ที่ให้ความบันเทิงเริงใจ และภารกิจด้านให้คุณค่าทางสังคมที่จะบ่มเพาะพลังปัญญาแก่ผู้อ่าน

ตัวอย่างเช่น การที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปลาย เรียนวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครนั้น นอกจากเพื่อความรู้เรื่องวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ความรู้เรื่องสุนทรภู่ซึ่งเป็นผู้แต่งแล้ว สำคัญที่สุดคือ เป็นเรื่องของความสนุกสนานเพลิดเพลิด เรื่องของความซาบซึ้งใน “รสภาษาสุนทร” (ตามคำของอาจารย์ฐะปะนีย์) ทั้งยังเป็นการให้เด็กนักเรียนได้รับรู้ความรู้สึกความทุกข์ทรมานของแม่ที่คลอดลูก เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รู้สำนึกในบุญคุณของแม่ที่อุ้มท้องมายาวนานและทะนุถนอมเลี้ยงดูจนลูกเป็นตัวเป็นตน

ผู้เขียนกล้าพูดว่าความรู้รัก รู้คุณค่า รู้รักษาภาษาไทยของคนไทยนั้น เกิดจากการสอนภาษาไทยที่ “ตีโจทย์แตก” ของครูเป็นหลัก

ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เอกราชเอกลักษณ์เอกศักดิ์ศรี

เป็นคันฉ่องส่องความงามและความดี เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน

(เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

ภาษาไทยน่าจะเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายอันหนึ่งของชาติไทยที่เราจะยังภาคภูมิใจในความเป็นชาติร่วมกันได้ คำถามของวันนี้คือ ภาษาไทย ภาษาชาติของเรา อยู่ในสภาพเช่นไร

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง  คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ที่มา : มติชน

Our partners from Mexico:
Productos de salud
Carlos Torre