ปรับรูปแบบประเมินภายในนำร่องระบบ – ครูระยอง

“รมช.ศธ.” ปรับรูปแบบประเมินคุณภาพภายในของ ศธ.นำร่อง การปรับปรุงรูปแบบประเมินใหม่ทั้งภายใน-นอก วางสเต็ป 9 เดือนแล้วเสร็จทั้งหมด เผยตัวบ่งชี้ยืดหยุ่นได้ตามบริบทของโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเดียวกันทุกโรงเรียน

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวภายหลังการประชุมปฏิรูประบบการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษา ร่วมกับนายนภดล ร่มโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินวัดผลองค์กร และคณะกรรมการการประเมินและประกันคุณภาพภายในของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษา นอกจากสถานศึกษาแล้ว ยังคงต้องคำนึงถึงงบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาบุคลากรที่จะเข้าไปทำหน้าที่ประเมินด้วย

เพราะการประเมินต้องใช้คนเข้าไปประเมินโรงเรียน และ ศธ.ต้องศึกษารูปแบบของโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกโรงเรียน สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทของพื้นที่ และในส่วนของตัวบ่งชี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แบบเดียวกันทุกโรงเรียน ต้องมีเฉพาะตัวบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของโรงเรียนขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูก และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่าการประเมินจะต้องสร้างประโยชน์ และทำให้สถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินมีการพัฒนาขึ้น ศธ.จะต้องนำรายงานการประเมินมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ประเมินแล้วพบว่าโรงเรียนมีปัญหาบุคลากรไม่พอ ศธ.ก็จะนำรายงานของทุกโรงเรียนที่พบปัญหามารวบรวมและดำเนินการแก้ไข เป็นต้น

“ผมได้วางกรอบการทำงานไว้ว่า ในส่วนของตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) จะต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และอีก 3 เดือนต่อจากนั้น ทาง ศธ.จะร่วมมือกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพื่อหารือกำหนดให้ตัวบ่งชี้และวิธีการการประเมินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเมื่อได้ตัวบ่งชี้และวิธีการประเมินแล้วจะเริ่มทดสอบรูปแบบการประเมินใหม่ในโรงเรียนนำร่องช่วง 3 เดือนหลัง แต่ถ้าทำออกมาแล้ววิธีการและตัวประเมินยังออกมาแบบเดิมๆ ไม่มีประโยชน์ก็จะขยายเวลาออกไป เพราะต้องทำให้ดีก่อนจึงจะถือว่าการปฏิรูประบบการประเมินเสร็จสิ้นลง”

ที่มา : ไทยโพสต์

“กำจร”ย้ำโครงสร้างใหม่ศธ.ควรยึดคำตอบเพื่อส่วนรวม – ครูระยอง

“กำจร” ย้ำจุดยืนปรับโครงสร้าง ศธ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรถามตัวเองจะอยู่ตรงไหน แต่ควรตอบให้ได้ว่าภาระงานจะอยู่ตรงไหน ไม่ขวางถ้า สอศ.เอาอาชีวะเอกชนมารวมไว้ แต่จะปรับเป็น 4 กรมหรือไม่ ยังไม่ลงตัว ในกรณีซูเปอร์บอร์ดเห็นชอบคาดโครงสร้างใหม่ขยับเร็วสุดได้แค่ 6 เดือน

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้าง ศธ. ว่า ตนได้มอบหมายให้แต่ละองค์กรหลักกลับไปดูภารกิจของแต่ละหน่วยงานว่ามีอะไร ยังขาดตกบกพร่องในส่วนใด รวมถึงให้มีข้อเสนอแนะทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยตั้งกติกาไว้ว่า อย่าถามว่า “ฉันจะอยู่ตรงไหน” แต่ให้ตอบว่า “ภาระงานจะอยู่ตรงไหน” ส่วนคำถามที่ว่า หากมีการปรับโครงสร้างใหม่ และให้มีผู้บริหารระดับ 11 คือปลัด ศธ.เพียงตำแหน่งเดียวนั้น ตามกฎหมายแล้ว ผู้บริหารระดับ 11 ในองค์กรหลักที่เหลือไม่สามารถลดตำแหน่งได้ จะเป็นระดับ 11 เฉพาะตัวจนหมดวาระ หรือได้โยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมในกระทรวงอื่น หรือตำแหน่งอื่น

สำหรับกรณีที่อาชีวศึกษาเอกชนจะย้ายจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีเป้าหมายว่าจะรวมอาชีวศึกษาของรัฐและอาชีวศึกษาเอกชนเข้าด้วยกันภายในเดือนมกราคม 2559 ปลัด ศธ.กล่าวว่า ต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ด้วย แม้ขณะนี้จะอยู่ระหว่างการทบทวนโครงสร้าง ศธ. การดำเนินการดังกล่าวก็ต้องเดินหน้าต่อไป ไม่เบรก เพราะการปรับโครงสร้างยังไม่มีอะไรแน่นอน ถึงไม่รวมกันในตอนนี้ อนาคตถ้ามีการปรับโครงสร้างใหม่ อาชีวศึกษารัฐและเอกชนก็ต้องรวมกันอยู่แล้ว ถึงแม้ สอศ.จะไม่เป็นองค์กรหลัก และมีการแตกเป็นกรมตามร่างโครงสร้าง ศธ.ที่วางไว้ ก็สามารถมาจัดเก้าอี้กันใหม่ได้ ส่วนที่ สอศ.เสนอขอเป็นองค์กรหลักตามเดิม โดยมี 4 กรมในสังกัดนั้น เรื่องนี้ยังไม่มีการเสนอมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณาเลย ดังนั้นจึงยังไม่มีการพูดกันในประเด็นดังกล่าว

“ทั้งนี้ จะมีการยกร่างโครงสร้างใหม่คราวๆ ให้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาและตัดสินว่าจะเดินหน้าตามโครงสร้างที่ ศธ.เสนอหรือไม่ หากซูเปอร์บอร์ดเห็นชอบให้เดินหน้าก็ต้องกลับมาดำเนินการในรายละเอียด อาทิ จัดกลุ่มภาระงาน จัดคนลงงาน ดูผลกระทบทางกฎหมาย ซึ่งใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 6 เดือน จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป” นพ.กำจรกล่าว.

ที่มา : ไทยโพสต์

สพฐ.เชื่อมือครูไม่ปล่อย นร.นอกลู่/ขยายผลสถานศึกษา”ลดเวลาเรียน” – ครูระยอง

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า จากการติดตามการจัดกิจกรรมตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งดำเนินการมาเป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้ว ปรากฏว่า โรงเรียนที่เข้าโครงการส่วนใหญ่สามารถจัดกิจกรรมได้เป็นอย่างดี แต่บางโรงเรียนก็อาจจะจัดไม่เข้าที่ กิจกรรมที่จัดอาจยังไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของเด็กมากนัก ซึ่งต้องให้เวลาอีกระยะหนึ่งน่าจะลงตัว

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า โรงเรียนปล่อยให้เด็กออกนอกโรงเรียนก่อน 4 โมงเย็น แล้วไปมั่วสุมอยู่ตามห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ หรือ ร้านเกม นั้น จากการตรวจกับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ยังไม่พบว่า นักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าโครงการทั้ง 4 พันกว่าโรงเรียน จะมีพฤติกรรมดังกล่าว เพราะโรงเรียนที่เข้าโครงการเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมและได้วางระบบการดูแลเด็ก รวมถึงเตรียมกิจกรรมไว้รองรับเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นหลังจากเลิกเรียนในห้องเรียนแล้วเด็กก็ยังต้องอยู่ในโรงเรียนเพื่อทำกิจกรรมก่อนกลับบ้าน

“เชื่อว่าโรงเรียนที่เข้าโครงการลดเวลาเรียน มีระบบการดูแลนักเรียนอย่างเข้มงวด จะไม่ปล่อยเด็กให้ออกมาเดินตามห้างในช่วงเวลาที่โรงเรียนจัดกิจกรรมแน่นอน เพราะทุกโรงเรียนมีความเข้มแข็งมาก และการดำเนินการครั้งนี้ก็ไม่ได้บังคับ แต่เปิดให้โรงเรียนสมัครใจมาเข้าในโครงการ ดังนั้น โรงเรียนที่สมัครเข้าโครงการก็ต้องมีความพร้อม และสามารถดูแลเด็กได้อย่างเป็นระบบ”

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามในภาพรวมต้องถือว่าโครงการนี้สามารถเดินหน้าได้อย่างดี แต่ทั้งนี้จะต้องมีการประเมินผลโครงการเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีก เพื่อเตรียมการขยายผลให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน สพฐ.จะมอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษาประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนรับทราบถึงโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ อย่างทั่วถึงยิ่งมากขึ้นด้วย

ที่มา : สยามรัฐ

เกณฑ์วิทยฐานะครูใหม่ชัดเป๊ะ – ครูระยอง

เสนอเกณฑ์เลื่อนวิทยฐานะครูรูปแบบใหม่ ขอได้ถ้าสอนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 8 ปี และให้ครูทำรายงานการสอนทุกปีเพื่อสะท้อนผลงานนับตั้งแต่เริ่มสอน ที่สำคัญนักเรียนจะต้องมีคะแนนโอเน็ตตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือถ้าขอระดับเชี่ยวชาญพิเศษจะต้องมีนวัตกรรมการสอนที่ชัดเจน เชื่อลดภาระครูไม่ต้องทิ้งเด็ก

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางานเลื่อนทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะครูใหม่ (Performance Agreement : PA) ที่ตนเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ การทำเอกสารรวบรวมผลงานครูเพื่อขอวิทยฐานะ

ควรให้ครูทำเป็นกิจวัตรทุกปีการศึกษาตั้งแต่เริ่มเป็นครู ซึ่งครูที่จะสามารถขอวิทยฐานะขั้นต้น คือ ชำนาญการได้ ต้องสอนมาเป็นเวลา 8 ปีก่อน โดยภายใน 8 ปีนั้น หากครูมีผลงานเชิงประจักษ์ก็สามารถยื่นขอวิทยฐานะได้ เช่น ใช้ผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของนักเรียนที่ครูเป็นผู้สอนในการยื่น โดยคะแนนต้องอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย หรือ Mean เป็นต้น และหากจะขอระดับชำนาญการพิเศษ นักเรียนอาจจะต้องมีผลคะแนนโอเน็ตต้องสูงกว่าค่าเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องมีการลงรายละเอียดกัน ถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญจะต้องมีผลงานเชิงประจักษ์ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กมีคุณภาพที่ดี และถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งเป็นวิทยฐานสูงสุด ต้องมีผลงานที่เป็นนวัตกรรมหรืองานวิจัยใหม่ๆ ด้วย

“ทั้งหมดนี้เป็นข้อตกลงในหลักการเบื้องต้น ซึ่งคณะทำงานต้องไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่าในการขอวิทยฐานะแต่ละระดับจะต้องใช้ปริมาณผลงานขนาดไหน และใช้ผลงานอะไรบ้างในการยื่นขอวิทยฐานะ”

การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถลดภาระให้ครูไม่ต้องทำเอกสารจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา เพราะครูจะทำรายงานสิ่งที่สอนหรือตั้งเป้าตลอดปีการศึกษาเพียง 2-3 หน้าเท่านั้น ซึ่งจะไม่รบกวนเวลาที่จะจัดการเรียนการสอน ทำให้ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียน ไม่ทิ้งเด็ก และยังทำให้ครูสามารถวางแผนการสอนและการทำงานได้ตลอดทั้งปีได้ด้วย

“การประเมินวิทยฐานะในรูปแบบนี้จะสะท้อนอะไรบางอย่าง เช่น โรงเรียนไหนที่มีครูระดับเชี่ยวชาญพิเศษจำนวนมาก โรงเรียนก็จะมีนวัตกรรมการเรียนการสอนต่างๆ มากมาย เป็นต้น และในการเสนอขอวิทยฐานะแนวใหม่ไม่จำเป็นที่ครูจะต้องเสนอขอด้วยตนเอง อาจจะมีบุคคลอื่น เช่น ผู้บังคับบัญชา นักเรียน เห็นผลงานและเสนอชื่อให้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการนำเข้าคณะกรรมการ ก.ค.ศ.เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบและมีการประกาศใช้ก็อาจจะเหลือหลักเกณฑ์ให้วิทยฐานะแก่ครูเพียงช่องทางเดียว”

ที่มา : ไทยโพสต์

รุกปรับโครงสร้างศธ. – ครูระยอง

ปลัด ศธ.ประชุมบอร์ด ก.พ.ร., ก.พ. และองค์กร 5 แท่งในสังกัดไปเขียนรายงานข้อขัดข้องโครงสร้างใหม่ ศธ. ก่อนทำประชาพิจารณ์ฟังเสียงประชาชน และเสนอซูเปอร์บอร์ดปลายปีนี้

นพ.กำจร ติตยกวี กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจและโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ตนได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานภายนอกคือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และหน่วยงานอื่นๆ ในกำกับของ ศธ. เพื่อให้ความคิดเห็นทบทวนภารกิจของโครงสร้างใหม่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการร่างไว้ ผ่านหลักการที่ว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะไม่มีการเพิ่มอัตรากำลังคน ไม่เพิ่มงบประมาน และเพิ่มความเป็นอิสระให้กับสถานศึกษามากขึ้น

ซึ่งโครงสร้างรูปแบบเดิมมีปัญหาในเรื่องของการติดตามและประเมินงาน การปรับโครงสร้างจะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ สามารถดำเนินการบูรณาการได้อย่างครอบคลุม ครบถ้วน รวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างเต็มที่ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างทันทีด้วย

นพ.กำจรกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้อภิปรายให้ข้อคิดเห็นว่าโครงสร้างของ ศธ.จะต้องมีโครงสร้างที่เป็นไปตามภารกิจ เช่น กรมวิชาการ เป็นต้น และยังต้องมีโครงสร้างที่เป็นโครงสร้างหลัก เช่น กรมปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น ทั้งในส่วนของอาชีวศึกษา ที่มีความกังวลว่าจะปรับโครงสร้างกันอย่างไรเพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยเสนอให้มีอย่างน้อย 4 กรม เพื่อตอบสนองภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ต้องมุ่งเน้นตามที่รัฐมอบหมาย โดยเฉพาะการผลิตกำลังคนในสายอาชีพ ตนคิดว่ายังต้องคงมีหน่วยงานที่ดูแลอาชีวศึกษา แต่ในส่วนที่เสนอเพิ่มคงต้องมีการศึกษาว่าจะต้องปรับไปในทิศทางใด

นพ.กำจรกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อยุติใดๆ ตนจึงได้สั่งการบ้านให้กรรมการทุกคนไปเขียนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข้อขัดข้องในการบริหารงานภายใต้โครงสร้างรูปแบบปัจจุบัน ที่โครงสร้างใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ และในโครงสร้างใหม่คาดว่าจะมีข้อขัดข้องประการใดบ้างที่จะส่งผลต่อการบริหารงาน และกลับมาให้ข้อมูลเพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นรูปแบบโครงสร้าง ศธ.ประมาณ 2-3 รูปแบบ และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลภายนอก เช่น ผู้ปกครอง นักเรียน/นักศึกษา อดีตผู้บริหาร นักวิชาการ เป็นต้น ภายในต้นเดือนธันวาคม และจะเสนอโครงสร้างที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. และองค์กรหลักของ ศธ.ให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในช่วงปลายเดือนธันวาคมต่อไป.

ที่มา : ไทยโพสต์

สพป.ระยอง 2 ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2558 – ครูระยอง

Print Friendly

สพป.ระยอง 2 ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2558

>> รายละเอียด <<

ปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล ต้องปฏิรูปคน(ครู)ก่อน! – ครูระยอง

Print Friendly

แม้ว่าการศึกษา…จะเป็นอาวุธลับสำคัญในการพัฒนาคน แต่เรากลับใช้อาวุธลับนี้ไม่ค่อยได้ผลมากนักทั้งที่ศักยภาพของคนไทยไม่ได้แพ้ชาติใดในโลกเลยที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจากการกำหนดเป้าหมายและวิธีการพัฒนาไม่สอดคล้องกับบริบทของไทยที่มีความโดดเด่นทั้งอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ที่ชาติอื่นเขาไม่มีหรือมีก็สู้เราไม่ได้

แต่การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมากลับไปคิดเลียนแบบต่างชาติ มาดำเนินการ ผลที่ได้ก็คือเด็กให้ความสำคัญแต่วิชาการมุ่งไปที่ปริญญาหวังได้ทำงานในห้องแอร์ โดยไม่ใส่ใจทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ คุณลักษณะความเป็นไทยอันดีงามที่สืบทอดกันมายาวนาน นอกจากนั้นยังขาดการเอาจริงเอาจังกับการปฏิรูปคนที่จะเป็นฟันเฟืองทำให้คุณภาพการศึกษาขับเคลื่อนได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของหลายฝ่ายที่ว่าหากต้องการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลต้องปฏิรูปคนให้ได้ก่อน ซึ่งคนในที่นี้ก็นับตั้งแต่ผู้บริหารทุกระดับฝ่ายสนับสนุนทุกภาคส่วนรวมถึงฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ทุกตำแหน่ง แต่คนที่ต้องรับภาระหนักกว่าทุกฝ่ายแถมเวลาคุณภาพการศึกษาตกต่ำต้องกลายเป็นจำเลยแรกเลยก็คงหนีไม่พ้น “ครู” เพราะมีหน้าที่พัฒนาผู้เรียนโดยตรงนั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ถูกกล่าวหาก็คือ “ขาดคุณภาพ” ซึ่งปัญหาคุณภาพครูที่ว่านี้จริง ๆ แล้วจะไปโทษครูฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก ต้องไปโทษระบบตั้งแต่ “การผลิต การใช้ การพัฒนา และ มาตรการให้คุณให้โทษ” เพราะที่ผ่านมาระบบดังกล่าวทำกันแบบไร้ทิศทางจนกลายเป็นไร้ประสิทธิภาพ หากต้องการให้ได้ครูดีมีคุณภาพก็จะต้องปฏิรูประบบที่ว่านี้กันใหม่

ตั้งแต่ระบบการผลิตครู น่าจะต้องมีสถาบันผลิตครูโดยตรงเช่นเดียวกับสถาบันผลิตแพทย์ หากยังปล่อยให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่เป็น 100 แห่งนี้ แข่งขันกันผลิตที่เน้นแต่ด้านปริมาณอยู่เช่นนี้ คงจะหาครูดีมีคุณภาพเข้าสู่ระบบได้ยาก การมีสถาบันผลิตครูที่ได้มาตรฐานมีความพร้อมทั้งด้านจำนวนและความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ และมีกระบวนการผลิตแต่ละสาขาอย่างเข้มข้นก็น่าจะทำให้เกิดผลทั้งคุณภาพครูและคุณภาพเด็กตามมา เช่น ครูปฐมวัย ก็น่าจะต้องผ่านการผลิตจากสถาบันเฉพาะทางโดยตรงอาจเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีความชำนาญด้านนี้ก็ได้ซึ่งจะทำให้ได้ครูมีทักษะพร้อมไปดูแลพัฒนาเด็กปฐมวัยได้ทั้งระบบ หรือ กรณีโรงเรียนพื้นที่พิเศษและโรงเรียนขนาดเล็ก การที่จะไปจัดการศึกษาเหมือนโรงเรียนทั่วไปคงจะยากเพราะขาดความพร้อมทุกด้าน เด็กก็มีน้อย ครูไม่พอสอนครบชั้น ครูจึงต้องเข้าใจในการพัฒนาเด็กบริบทดังกล่าวและต้องเป็นผู้มีอุดมการณ์ คุณธรรม พร้อมสู้อยู่กับเด็ก ไม่ใช่เก่งวิชาการแต่ไร้อุดมการณ์ได้บรรจุแล้วก็ขอย้าย ส่วนนี้จึงต้องมีสถาบันผลิตครูสำหรับบริบทดังกล่าวโดยตรงเมื่อ จบแล้วให้ไปเป็นครูอัตราจ้างก่อน 2 ปีโดยทำข้อตกลงในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน หากทำงานบรรลุเป้าหมายก็บรรจุให้เป็นครูและต้องอยู่โรงเรียนนั้นต่ออีกอย่างน้อย 3 ปี หากทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้คุณภาพผู้เรียนดีขึ้นและผ่อนคลายการขาดแคลนครูโรงเรียนขนาดเล็กลง

ระบบการสรรหาและการใช้คงต้องมาปรับระบบกันใหม่ตั้งแต่วิธีการสรรหาเพราะหากยังใช้ข้อสอบปรนัยคัดเลือกอยู่เช่นนี้ความหวังที่จะได้ครูมืออาชีพนั้นคงยากด้วยข้อสอบไม่สามารถวัดอุดมการณ์คุณธรรมได้เลย จึงน่าจะต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สรรหาครูโดยตรงเพื่อให้เกิดระบบการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ มีความเข้มข้นในการคัดเลือก ให้ได้ครูพร้อมไปพัฒนาเด็กในแต่ละบริบท หรือไม่ก็ใช้วิธีการสรรหาคนดี คนเก่ง มีอุดมการณ์ในท้องถิ่นเข้าโครงการผลิตครูมืออาชีพเมื่อจบแล้วส่งไปบรรจุท้องถิ่นของตนเอง หรือหากยังเห็นว่าระบบการสอบควรอนุรักษ์ไว้ก็ให้จัดสอบภาคความรู้ขึ้นบัญชีไว้เหมือนการสอบภาค ก. ของ ก.พ. แล้วให้สิทธิใช้ได้ 3 ปี เพื่อนำไปสมัครคัดเลือกระดับโรงเรียนโดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ หากทำได้เช่นนี้โรงเรียนก็จะได้ครูตรงกับความต้องการและคณะกรรมการสถานศึกษาก็จะมีบทบาททั้งการสรรหา นิเทศ ติดตาม กำกับ ประเมินผลด้วย ด้านการใช้ครูนั้น ยิ่งต้องเร่งแก้ไขด่วนเพราะทุกวันนี้ครูถูกใช้แบบผิดฝา ผิดตัว เช่น ให้ไปทำหน้าที่พัสดุ การเงิน ธุรการ จัดซื้อจัดจ้าง ตรวจรับพัสดุ ครุภัณฑ์ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดด้วยไม่รู้และไม่ใช่หน้าที่ ก็จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ หากรวมถึงอีกสารพัดงานที่ถูกสั่งมาจากหน่วยงานต้นสังกัด นอกสังกัด ด้วยแล้ว เวลาที่จะเหลือให้ครูไปวิเคราะห์เด็ก เนื้อหาหรือออกแบบการจัดการเรียนรู้จึงเป็นได้แค่หลักการ การแก้ปัญหาจึงต้องให้ครูได้ทำหน้าที่พัฒนาผู้เรียนอย่างเดียว ส่วนงานอื่นฝ่ายสนับสนุนต้องดำเนินการเองมิใช่ส่งงานมาให้ครูทำแทนอย่างทุกวันนี้

ระบบการพัฒนา ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยครูที่มีอยู่กว่า 7 แสนรายแม้จะต้องเกษียณอายุราชการเป็นแสนรายภายใน 4-5 ปีข้างหน้านี้ก็ตาม แต่ก็ยังเหลือครูเก่าอยู่ในระบบอีกมาก ซึ่งครูรุ่นเก่าที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะขาดคุณภาพไปทั้งหมด แต่ด้วยรูปแบบ วิธีการที่เคยใช้ได้ผลเมื่อยุค AM และ FM นั้นกับยุค Digital อาจใช้ไม่ได้ผลแล้ว การพัฒนาครูเพื่อพัฒนาเด็กยุคใหม่จึงมีความจำเป็นยิ่ง แต่จากวิธีการพัฒนาครูที่ผ่านมาไม่สามารถตอบโจทย์ที่ว่านี้ได้เลย ด้วยขาดการวางแผน ไม่ได้วิเคราะห์ให้รู้ลึกในข้อมูลในแต่ละบริบท วิธีการก็ยึดติดอยู่กับการอบรม สัมมนา โดยวิทยากรที่ส่วนใหญ่ขายแต่แนวคิดของตนเอง ขาดนวัตกรรม รูปแบบ ที่จะให้ครูไปเป็นต้นแบบเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเด็กในศักยภาพต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการจัดที่ซ้ำซ้อนกันจนครูต้องทิ้งห้องเรียนปีละหลายครั้งงบประมาณจึงถูกใช้แบบไม่คุ้มค่า การพัฒนาครูจึงต้องปรับกันใหม่ ทั้งหลักสูตร รูปแบบ นวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนในแต่ละบริบท โดยจัดให้มีสถาบันพัฒนาครูขึ้นในแต่ละจังหวัดหรือหากให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการอยู่ก็ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงศึกษาธิการก่อน และหลังการพัฒนาจะต้องมีระบบการนิเทศ ติดตาม ประเมินผล ทุกระยะเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

ระบบพิทักษ์คุณธรรม ให้คุณ ให้โทษกับผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาถือเป็นอีกความจำเป็นหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าคุณภาพการศึกษาจะตกต่ำ เด็กมีพฤติกรรมไปในทางลบอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีความผิด ไม่กระทบต่อเงินเดือนและความก้าวหน้า ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานจึงขึ้นอยู่กับอุดมการณ์เป็นรายบุคคล หากยังปล่อยให้ระบบเป็นไปเช่นนี้ความหวังที่จะเห็นคุณภาพการศึกษาก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติคงเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีมาตรการให้คุณให้โทษกับทุกฝ่าย เช่น ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษและห่างไกลหรือครูที่พัฒนาผู้เรียนเกิดคุณภาพดียิ่งก็ควรได้รับผลตอบแทนทั้งเงินเดือนและความก้าวหน้ามากขึ้น หากครูไร้ประสิทธิภาพก็ต้องส่งพัฒนาหากไม่ดีขึ้นก็ต้องให้ออกจากระบบ ไม่ใช่ทำดีไม่ดีเงินเดือนก็ห่างกันแค่ครึ่งขั้น วิทยฐานะก็ต้องเสนอขอเอง หลักเกณฑ์ทั้งหลายเหล่านี้คนไร้ประสิทธิภาพก็อยู่ได้ไม่เดือดร้อนแต่ทำให้คนดีพลอยหมดกำลังใจและท้อถอยไปในที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการปฏิรูปคนที่เน้นไปที่ปฏิรูปครูที่จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทั้งระบบการผลิต การใช้ การพัฒนา และมาตรการให้คุณ ให้โทษ โดยมีระบบสารสนเทศการใช้ครูทั้งปัจจุบันและอนาคตที่มีประสิทธิภาพ หากระบบครูของชาติทำได้เช่นนี้เชื่อได้เลยว่าไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรครูก็มีความพร้อมรองรับกับการพัฒนาเด็กได้อย่างทันท่วงทีต่อเนื่องและไม่ขาดตอน แต่หากระบบที่ว่านี้ยังเป็นอยู่เช่นเดิมก็อย่าได้ไปคิดเพ้อฝันเลยว่าคุณภาพการศึกษาไทยจะก้าวไกลสู่สากล แค่ไม่ให้ตามก้นจมบ๊วยที่โหล่ในอาเซียนก็บุญโขแล้ว.

โดย : กลิ่น สระทองเนียม
ที่มา : เดลินิวส์

ชมคลิปการขับเคลื่อนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” – ครูระยอง


ชมคลิปการขับเคลื่อนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”

social media

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge) – ครูระยอง


ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)

ครูระยอง-บทความ

Print Friendly

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มดำเนินการวางแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียน ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)” มาตั้งแต่สมัยพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งมีการหารือและดำเนินการตามแผนมาเป็นระยะ พบว่ามี 4 เรื่องหลักที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์ ดังนี้

  1. หลักสูตร ยืนยันกับผู้ปกครอง นักเรียน และครู ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตร แต่จะใช้วิธีปรับปรุงใน 2 ส่วน คือ
    – เนื้อหาภายในแต่ละวิชาที่มีความซ้ำซ้อนจะต้องตัดออกไป โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัด ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) ในฐานะผู้จัดการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ หรือ NT (National Test) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET (Ordinary National Educational Test) แล้ว
    – การปรับโครงสร้างเวลาเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้ระดับประถมศึกษา เดิมกำหนดเวลาเรียนไว้ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี แต่ในความเป็นจริงใช้เวลาเรียนจริง 1,200-1,400 ชั่วโมงต่อปี จึงจะปรับโครงสร้างเวลาเรียนในห้องเรียนใหม่ ไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี หรือ 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียนในชั่วโมงที่เหลือ 8-13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
    ระดับประถมศึกษา

    ระดับประถมศึกษา

    ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เดิมกำหนดเวลาเรียนไว้ไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี แต่ในความเป็นจริงใช้เวลาเรียน 1,400 ชั่วโมงต่อปี จึงจะปรับโครงสร้างเวลาเรียนในห้องเรียนใหม่ ไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี หรือ 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียนในชั่วโมงที่เหลือ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

    ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

    ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

  2. กระบวนการจัดการเรียนรู้  ซึ่งจะแบ่งการดำเนินงาน ออกเป็น 3 ส่วน คือ
    – จำนวนสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยในขณะนี้มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่มีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการหลากหลายระดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2558 พบว่า มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,948 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด สพป. 2,602 โรงเรียนจาก 137 เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนสังกัด สพม. 346 โรงเรียนจาก 32 เขตพื้นที่การศึกษา) คือ โรงเรียนอนุบาลจังหวัด โรงเรียนอนุบาลอำเภอ โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตลอดจนโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ

    ครู ขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมการที่จะเตรียมความพร้อมให้กับครูใน 2 ส่วน คือ
    1) การอบรม (Workshop) โรงเรียนนำร่องจัดการเรียนรู้สู่ “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ภาคเรียนที่ 2/2558 ใน 6 พื้นที่ เป็นเวลา 2 วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พิษณุโลก อุดรธานี สงขลา อุบลราชธานี และเชียงใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับครู
    2) จัด Smart Trainer จำนวน 300 ทีม เพื่อเป็นทีมพิเศษลงไปดูแลให้ความช่วยเหลือครูในแต่ละโรงเรียนในสัดส่วน 1 ทีมต่อ 10 โรงเรียน ซึ่งทีมนี้เปรียบเสมือนศึกษานิเทศก์ที่จะคอยให้ความดูแล ติดตาม ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

    รูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ของเบนจามิน บลูม (Bloom et al, 1956) และคณะ ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ซึ่งได้จำแนกจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ออกเป็น 3 ด้าน คือ
    1) ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือสมอง ที่จะต้องฝึกให้เด็กรู้จักคิดตามหลักการการพัฒนาสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย
    2) ด้านเจตพิสัย (Affective Domain) หรือหัวใจ ที่จะต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ความมีวินัย ความเป็นชาติไทย รักสถาบันพระมหากษัตริย์ รู้จักสิทธิและหน้าที่ ฝึกให้มีทัศนคติที่ถูกที่ควร
    3) ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) หรือมือ ก็คือการฝึกให้มีทักษะจากการปฏิบัติ

    รูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้

    รูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้

    สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการจะผลิตกำลังสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่อาจจะไปเรียนต่อสายอาชีวะ มีกระบวนการได้เรียนรู้ตัวเอง นอกจากนี้ทฤษฎีดังกล่าวยังสอดคล้องกับพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับองค์ 4 แห่งการจัดการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา

    โดยมีรูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมนอกห้องเรียน แบ่งเป็น 3 หมวด คือ

    สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมพัฒนาด้านการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ อาทิ กิจกรรมสนุกกับภาษาไทย หุ่นยนต์วิเศษ กลคณิตศาสตร์ เที่ยวไกลไร้พรมแดน นิทานหรรษา เป็นต้น

    สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้

    สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้

    สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ปลูกฝังและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย อาทิ กิจกรรมมือปราบขยะ ตามรอยพ่อ ลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ภูมิใจในบ้านเกิด เป็นต้น

    สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม

    สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม

    ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมจะจัดประชุมสัมมนาผู้แทนหน่วยงานและองค์กร ที่จะร่วมจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเด็กนักเรียนและสถานศึกษา ในวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2558 เวลา 10.00 น. ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กลุ่มศิลปินดารา ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริษัทเอกชนที่จัดทำโครงการรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) ฯลฯ

    อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานและครูแล้ว จะทำให้มีกิจกรรมเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเชื่อว่าทุกกิจกรรมจะตอบโจทย์ Head (สมอง) Heart (หัวใจ) และ Hand (มือ) ตามแต่ละช่วงวัยของผู้เรียนทั้งสิ้น

  3. การวัดและประเมินผล แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การประเมินทางวิชาการต่างๆ ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน ส่วนการประเมินความสำเร็จของโครงการ จะมีการประเมินระหว่างเทอม 2 ครั้ง และประเมินหลังปิดเทอม 1 ครั้ง

    รมว.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำว่า ในเรื่องของการประเมินผลเป็นเรื่องใหญ่ที่ให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าส่วนใดสำเร็จ และมีส่วนใดที่ยังล้มเหลว จึงได้มอบให้ สพฐ. รวบรวมหัวข้อในการประเมินทั้งหมดมานำเสนอ ทั้งในส่วนการประเมินด้านวิชาการ และการประเมินความสุขของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมทั้งต้องตอบโจทย์ปัญหาด้านการศึกษาด้วย เช่น เด็กไทยเรียนมากและมีการบ้านจำนวนมาก ทำให้พ่อแม่และเด็กมีความเครียด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยไม่ดีขึ้น เด็กไทยขาดทักษะชีวิต ขาดระเบียบวินัย เป็นต้น

    ทั้งนี้ หากจำเป็นที่จะต้องนำบุคคลที่สามหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นผู้ประเมิน ก็ต้องทำ เพื่อให้ได้คำตอบของการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่จะต้องพิจารณาถึงรายละเอียดของวิธีการประเมินก่อนว่า เป็นการสร้างภาระให้กับครูหรือไม่อย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงก็คงจะต้องมีภาระอยู่บ้าง แต่ไม่ควรจะมากเกินไป

    ในส่วนการประเมินของครู ให้ความสำคัญและมีความเห็นใจมาก เพราะครูจะต้องได้รับการประเมินต่างๆ ที่ล้วนเป็นภาระกับครูทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีครูบางคนที่เป็นครูที่เก่ง ครูดีในพื้นที่ห่างไกล และเป็นที่รักของลูกศิษย์ แต่อาจจะสอบไม่เป็น จึงจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องพัฒนาวิธีการประเมินครูในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการสอบที่ไม่ควรสร้างภาระให้กับครูมากจนเกินไป โดยเตรียมที่จะพัฒนาการประเมินครูทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่ “ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน” เป็นส่วนสำคัญของการประเมินด้วย

  4. การทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR)โดยจะดำเนินการทันทีหลังปิดเทอม เพื่อประมวลและรวบรวมปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ จากการดำเนินโครงการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครูและสถานศึกษา เพื่อนำระบบ AAR (After Action Review) มาทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ในการวางแผนดำเนินโครงการในปีการศึกษา 2559 ตลอดจนมีการศึกษารูปแบบการจัดการของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อขยายไปยังโรงเรียนที่เหลือต่อไปด้วย
    การทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR)

    การทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR)

โดย : นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

สั่งลงโทษ “ชินภัทร” อดีตเลขาธิการ สพฐ. พร้อมพวก 6 คน กรณีทุจริตสอบครูผู้ช่วย – ครูระยอง

Print Friendly

หลังคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงสรุปมีความผิด มีทั้งโทษปลดออกและไล่ออก เผยผลสอบยึดตามหลักฐานดีเอสไอ พบเฉลยข้อสอบรั่วไหลและมีการทุจริตจริง นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวถึงกรณีการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงนายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อดีตเลขาฯ กพฐ.) และพวกรวม 6 คน กรณีทุจริตการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว.12 ที่มีการสอบเมื่อปี 2557 ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงมีนายอภิชาต จีระวุฒิ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้นำผลการสอบสวนกรณีดังกล่าวส่งให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณาแล้ว ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์สั่งการให้ต้นสังกัดดำเนินการลงโทษตามที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเสนอมา

ปลัด ศธ.กล่าวว่า ในส่วนของนายชินภัทร ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับ 11 จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สพฐ. ทำหน้าที่แทน อ.ก.พ.กระทรวง ที่มี รมว.ศธ.เป็นประธาน ส่วนคนอื่นๆ ให้ อ.ก.พ.ของต้นสังกัด ซึ่งคือ สพฐ. และสำนักงานปลัด ศธ. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเท่าที่ดูมีทั้งผู้ที่ได้รับโทษปลดออกและไล่ออก ในจำนวนนี้มีผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วและยังไม่เกษียณอายุราชการ สำหรับผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว หากถูกลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง ไล่ออก ก็จะต้องคืนบำเหน็จบำนาญที่ได้รับไปแล้ว แต่หากลงโทษปลดออกก็แค่เสียชื่อเสีย ไม่ต้องคืนบำเหน็จบำนาญ ส่วนใครจะได้รับโทษอย่างไรนั้น ในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้

ด้านนายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว แต่เมื่อ รมว.ศธ.มีคำสั่งให้ต้นสังกัดดำเนินการลงโทษตามที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเสนอมา ก็ต้องดำเนินการตามนั้น ซึ่งคงต้องไปดูว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ เสนอให้ดำเนินการอย่างไรบ้าง ส่วนจะประชุม อ.ก.พ.สพฐ.เพื่อพิจารณาเรื่องนี้เมื่อไรนั้น ยังไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสอบสวนกรณีดังกล่าว แบ่งเป็น 2 คำสั่ง คือ คำสั่งแรกให้สอบสวนวินัยร้ายแรงนายชินภัทรคนเดียว ซึ่งคำสั่งนี้ คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้เสนอให้ลงโทษปลดออกนายชินภัทร ส่วนคำสั่งที่ 2 ให้ทำการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงนายชินภัทร และพวกรวม 6 คน ซึ่งผลการสอบสวนระบุว่า เชื่อว่าน่าจะมีการทุจริตในการจัดสอบครูผู้ช่วย โดยของคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้นำหลักฐานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มาประกอบการพิจารณา ทำให้พบว่าคำเฉลยข้อสอบได้รั่วไหลจริงๆ และมีการทุจริตการสอบครูผู้ช่วย จึงถือว่ามีความผิดและควรต้องมีผู้รับผิดชอบ โดยเสนอให้ปลดออกข้าราชการสังกัด สพฐ. 2 ราย ส่วนนายชินภัทรและพวกที่เหลือให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาโทษของต้นสังกัด.

ที่มา : ไทยโพสต์

Our partners from Mexico:
Productos de salud
Carlos Torre