รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
ที่มา : moe
– การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ในการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 515,516.1964 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 385,757.6254 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 74.83 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 75
– หลักเกณฑ์ฯ การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในกรณีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.ตั้งใด มีตำแหน่งว่างและไม่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งว่าที่จะบรรจุและแต่งตั้ง ให้ดำเนินการตามลำดับการขอชื่อบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่ง ไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ดังนี้
- ให้ขอจากบัญชีรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ของ กศจ.ก่อน
- กรณีไม่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของ กศจ. ให้ขอจากบัญชีรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ของ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง โดยดำเนินการตามลำดับการขอรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ฯ ได้แก่ 1) อ.ก.ค.ศ.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 2) อ.ก.ค.ศ.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
- กรณีไม่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง ให้ขอจากบัญชีรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในประเภทข้าราชการพลเรือนสามัญของส่วนราชการต้นสังกัด โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด โดยอนุโลม
- กรณีไม่มีบัญชีรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ของส่วนราชการต้นสังกัด ให้ขอจากบัญชีรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในประเภทข้าราชการพลเรือนสามัญของส่วนราชการอื่นได้ โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.กำหนด โดยอนุโลม
ทั้ง 4 ข้อดังกล่าวข้างต้น ต้องเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งเดียวกัน กับตำแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้ง และมีคุณวุฒิตรงตามมาตรฐานตำแหน่งที่จะบรรจุและแต่งตั้ง โดยการใช้ตำแหน่งว่างในการบรรจุและแต่งตั้งนั้นให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นผู้พิจารณาการใช้ตำแหน่งว่างได้ตามความเหมาะสม ภายใต้กรอบอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนด
– ศูนย์ดิจิทัลชุมชน
จากการที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร – สำนักงาน กศน. – บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีของภาคประชาชนอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ ผ่านเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชนอย่างน้อย 1 ล้านคน และเพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานครอบคลุมทั่วประเทศ
โดยมีขอบเขตความร่วมมือใน 3 ส่วน คือ สำนักงาน กศน.จะพัฒนาบุคลากรของ กศน.ตำบล ให้เป็นวิทยากรหรือผู้อำนวยการจัดกิจกรรมเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัลในระดับหมู่บ้าน, สำนักงานปลัดกระทรวง ICT พัฒนาวิทยากรและการจัดอบรมในชุมชน ตลอดจนประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมสนับสนุนกิจกรรม วิทยากร หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ การจัดทำหลักสูตรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับชุมชน เช่น e-Commerce การสร้างเครือข่ายเน็ตอาสา ตลอดจนประเมินผลการดำเนินงาน
สำนักงาน กศน.จึงได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ ถึงความก้าวหน้าในการจัดอบรมบุคลากรของสำนักงาน กศน. ด้วยงบประมาณที่ ICT จัดสรรมาให้เพื่อพัฒนาเครือข่ายดิจิทัลชุมชน กศน.ตำบล ดังนี้
- จัดอบรมวิทยากรแกนนำ ครู ก. (ระดับจังหวัด) จำนวน 77 จังหวัดๆ ละ 2 คน รวม 154 คน โดยมีสถาบัน กศน.ภาค รับผิดชอบดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- จัดอบรมวิทยากรแกนนำ ครู ข. (ระดับอำเภอ) จำนวน 928 อำเภอๆ ละ 2 คน รวม 1,856 คน โดยวิทยากรแกนนำ ครู ก. ดำเนินการอบรมเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2559
- จัดอบรมวิทยากรแกนนำ ครู ค. (ระดับตำบล) จำนวน 7,424 ตำบลๆ ละ 1 คน โดยวิทยากรแกนนำ ครู ข. ดำเนินการอบรมเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2559
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบให้สำนักงาน กศน. จัดทำแผนติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากศูนย์ดิจิทัลชุมชนของประชาชน ทั้งในส่วนของระดับการใช้งาน และการนำเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้ไปใช้งานจริง
– ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล
สำนักงาน กศน. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานักศึกษาและประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมทั้งได้จัดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามโครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เพื่อสร้างเครือข่ายพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องยั่งยืนในระดับตำบล 7,424 ตำบล พร้อมตั้งคณะกรรมการ ศส.ปชต.รวม 74,240 คนทั่วประเทศ
และในช่วงของการเตรียมการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ได้ร่วมกับสำนักงาน กกต. จัดกิจกรรม 3 สัปดาห์ประชามติ โดยได้จัดประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติให้กับผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้อำนวยการศูนย์ กศน.อำเภอ/เขตทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน
จากนั้นคณะกรรมการ ศส.ปชต. ในทุกตำบล จะได้ใช้แนวทางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ความเข้าใจและคำแนะนำเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติแก่ประชาชนทุกหมู่บ้าน ให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจและลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด การเพิ่มถอนชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ การจัดเตรียมเอกสารแสดงตน การเชิญชวนประชาชนให้ไปใช้สิทธิ์ นอกจากนี้ให้ติดตามการจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติด้วย
– การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
- สาเหตุ จากการวิเคราะห์พบว่าการทะเลาะวิวาทเกิดจากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม : ความอยากเป็นข่าว-เด่น-ดัง การปลูกฝังเรื่องศักดิ์ศรีสถาบัน การแก้แค้น ความรักเพื่อน, ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง : การแสดงศักยภาพและปลูกฝังความเชื่อในทางที่ผิด การอวดรุ่นน้อง, สื่อ/สังคม : การรวมกลุ่ม-ลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง การใช้โซเชียลมีเดียในการก่อเหตุ สังคมให้ความสนใจกับข่าวลบ อาวุธสามารถหา-ประดิษฐ์ได้ง่าย, พฤติกรรมส่วนบุคคล : พื้นฐานปัญหาเดิม การใช้เวลาว่างในทางที่ผิด ความต้องการอวดเพศตรงข้าม ความคึกคะนอง-ก้าวร้าว หรือติดยาเสพติด
- พฤติกรรมการทะเลาะวิวาท พฤติกรรมส่วนใหญ่ที่พบในการก่อเหตุทะเลาะวิวาท ได้แก่ การรวมกลุ่ม-กลุ่มเพื่อน, ผู้นำในทางลบ, ก้าวร้าวรุ่นแรง วิตกกังวล, มองตนเองต่ำต้อย ขาดการยอมรับ
- มาตรการ ที่ผ่านมา สอศ.ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการเรื่องนี้ในหลายส่วน คือ การส่งเสริมภาพลักษณ์, การจัดหลักสูตรเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย,การสร้างค่านิยมให้เคารพกฎหมาย, การส่งเสริมสนับสนุนการเข้าเรียนในระบบทวิภาคี, การส่งเสริมกิจกรรมเชิงบวก ทั้งด้านจิตอาสา กีฬา ดนตรี, การเน้นย้ำ อาชีวะคือพระเอกตัวจริง จากกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ-การประดิษฐ์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์-ตั้งศูนย์ Fix It Center ในช่วงเทศกาลต่างๆ, การเตรียมความพร้อมอาชีวศึกษาร่วมกับกองทัพเรือ, การบูรณาการการทำงานร่วมกับตำรวจและทหาร, การจัดชุดพิเศษไล่ล่า ปะฉะดะ, การทำงานในรูปแบบเครือข่ายสหวิชาชีพ, การเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวทางสื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ ภายหลังมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2559 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา สอศ.ได้ดำเนินงานให้สอดรับกับคำสั่งดังกล่าวในหลายส่วน อาทิ สร้างความเข้าใจและความตระหนักแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาทุกคนภายใน 2 สัปดาห์, อบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษา, ทำงานร่วมกับทหาร/ตำรวจในพื้นที่, ปรับระบบการสื่อสาร, อบรมนักศึกษาอาชีวะคู่กรณี, อบรมเตรียมอาชีวศึกษา, สร้างเครือข่ายเข้มข้นและร่วมมือกันอย่างจริงจัง, ปรับแผนให้สอดรับและมีความเข้มข้นมากขึ้น
โดย : นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร ,นวรัตน์ รามสูต
ที่มา : moe