การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นำมาซึ่งการสูญเสียอำนาจการต่อรองของหน่วยเศรษฐกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะหน่วยผลิตพื้นฐานอย่างเกษตรกร ที่มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ การนำรูปแบบสหกรณ์มาใช้ในโรงเรียน ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ให้เด็กมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมีการอำนาจการต่อรอง ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการปลูกฝังแนวคิดเรื่องสหกรณ์ คือ รั้วของสถาบันการศึกษานั่นเอง
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีภารกิจหลักในการจัดและส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเยาวชนไทย ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับบริบททางสังคม โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน ถึงแม้เรื่องของสหกรณ์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ นับถึงปัจจุบันก็ 100 ปีแล้ว แต่เราก็ยังตระหนักว่าเป็นเรื่องที่ไม่ล้าสมัย เพราะเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้การส่งเสริมมาโดยตลอด เห็นได้จากที่ทรงได้จัดตั้งหมู่บ้านสหกรณ์ที่หุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของสหกรณ์ให้คนไทยได้ศึกษาและเรียนรู้ ในฐานะข้าราชบริพาร เราจึงถือเป็นหน้าที่ในการน้อมนำองค์ความรู้ที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานนี้ มาขยายผลให้กับลูกหลานคนไทยได้มีโอกาสได้เรียนรู้
เลขาธิการ กพฐ.-การุณ สกุลประดิษฐ์ ที่มา : สยามรัฐ
ที่สำคัญที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยเราเป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมโลกที่เปิดกว้างทางการค้า และเรามีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งจากภายในและต่างประเทศที่เข้ามาค้าขาย ซึ่งต่างก็มุ่งหวังหาผลกำไรสูงสุด ซึ่งจะทำทุกอย่างให้ลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำสุด เพื่อสร้างอำนาจในการแข่งขัน และกลายมาเป็นผู้กำหนดราคาของตลาดโดยเฉพาะผลิตผลทางด้านการเกษตร ซึ่งหากประชาชนไม่เข้มแข็งก็อาจจะถูกกดราคาได้ การรวมตัวในรูปแบบของสหกรณ์ ถือเป็นทางออกที่สามารถขจัดปัญหาเหล่านี้ได้
สพฐ. จึงเล็งเห็นว่า การปลูกฝังเรื่องของหลักการสหกรณ์ ถือเป็นหน้าที่เร่งด่วนที่จะต้องมีการส่งเสริม เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ และเข้าใจ จนสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต หลังจากที่เขาจบการศึกษาไปแล้ว ซึ่งจะมีการส่งเสริมกันในทุกมิติ ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ สู่การปฏิบัติ และการขยายผล สำหรับในกระบวนการเรียนรู้นั้น สพฐ. จัดสหกรณ์ในโรงเรียนใน 4 รูปแบบ ได้แก่ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การผลิต และสหกรณ์บริการ ซึ่งโรงเรียนจะต้องส่งเสริม โดยโรงเรียนจะเลือกเอารูปแบบของสหกรณ์ที่สอดรับกับท้องถิ่นมาสอนเด็ก
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละมิติของการปฏิบัตินั้น เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้และลงมือทำ อย่างในสหกรณ์ร้านค้า เด็กๆ จะเรียนรู้เรื่องของการจัดทำบัญชี การจัดซื้อสินค้า การจำหน่าย เรียกว่าบริหารจัดการครบวงจร ส่วนเด็กที่ไม่ได้ทำงานในสหกรณ์ ก็จะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ เมื่อมาซื้อของที่สหกรณ์ก็จะได้เรียนรู้ว่าได้สินค้าที่ดีในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด และยังได้เงินปันผลในตอนสิ้นปีอีกด้วย
สหกรณ์ออมทรัพย์ เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องของกระบวนการจัดการเงินออม รวมไปถึงการวางแผนการเงินในอนาคต ซึ่งเด็กบางคนเขาสามารถนำเงินออมที่ได้จากที่เขาออมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ในโรงเรียนไปช่วยเหลือครอบครัวได้ด้วย อย่างไรก็ตาม โรงเรียนจะไม่ส่งเสริมแค่การออมเงิน แต่จะใส่องค์ความรู้ให้กับเด็กด้วยว่าจะหาเงินออมจากที่ไหน
ซึ่งก็จะโยงมาถึงสหกรณ์รูปแบบที่ 3 คือสหกรณ์การผลิตนั่นเอง ซึ่งเขาจะได้เรียนรู้ว่าจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และที่สำคัญ สพฐ.จะมีโครงการอาหารกลางวัน ผลผลิตที่นักเรียนผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก เนื้อสัตว์ ปลา ไก่ หรือไข่ไก่ เหล่านี้โรงเรียนก็จะรับซื้อ และนำผลผลิตเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน ซึ่งเรื่องนี้ สพฐ.ได้ส่งเสริมอย่างจริงจังมาโดยตลอด คือไม่ว่าเด็กจะได้ผลผลิตอะไรก็ตาม ด่านแรกเลย คือจะต้องนำผลผลิตเหล่านั้นเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน เพราะผลผลิตเหล่านี้จะมีความปลอดภัยสูงไม่มีสารปนเปื้อน หรือสารเคมีเจือปน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างทั่วถึงและอิ่มท้อง เพราะได้ปริมาณมากกว่าซื้อในท้องตลาด และที่สำคัญโรงเรียนจะส่งเสริมให้เด็กทำการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
และสุดท้ายคือ สหกรณ์บริการ ก็จะมีทั้งการสอนตัดผมในโรงเรียน บางแห่งก็มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการนวดเข้ามาสอน รวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าร่วมเขาจะได้เรียนรู้เรื่องของการมีจิตสาธารณะ การบริการชุมชน การมีน้ำใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในสังคมปัจจุบัน
“จากนี้ไป สพฐ.จะผลักดันเรื่องของสหกรณ์โรงเรียนให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งในส่วนของโรงเรียนต้นแบบสหกรณ์ ก็จะให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับโรงเรียนอื่นๆ จากนั้นเราจะขยายผลให้ทุกโรงเรียนนำเรื่องของสหกรณ์เข้าไปจัดการให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเขาสามารถเลือกรูปแบบสหกรณ์ที่สอดรับกับขนาด และทรัพยากรที่มีอยู่ของโรงเรียนได้ ๆ อย่างที่โรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรี มีนักเรียนเพียงร้อยคน มีครูอยู่ไม่ถึงสิบคน เขาก็เลือกที่จะประสานกับชุมชนนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดให้กับเด็กๆ คือการนวดฝ่าเท้า ใส่หลักการของสหกรณ์เข้าไป กลายเป็นสหกรณ์บริการนวดฝ่าเท้าให้กับผู้ปกครอง ชาวบ้าน ที่มารับลูกหลานตอนเย็น ซึ่งเราจะให้อิสระกับโรงเรียนในการเลือกสหกรณ์ไปประยุกต์ใช้ บางแห่งอยู่ในเมืองไม่มีพื้นที่ทำเกษตร ก็ยังมีสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์ร้านค้า นำไปทำได้แบบนี้เป็นต้น”
นายการุณ กล่าวและว่า ส่วนโรงเรียนที่มีพื้นที่และพื้นฐานของสังคมเป็นครอบครัวเกษตร ก็จะส่งเสริมเรื่องของสหกรณ์การผลิตเพราะผลผลิตที่ได้จะได้เข้าสู่โครงการอาหารกลางวันที่มีการส่งเสริมอยู่แล้ว เป็นการ บูรณาการกันแบบครบวงจรได้
“สิ่งแรกที่ผมคิดว่าจะได้เห็นได้อย่างชัดเจน คือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความเข้มแข็งของชุมชน ที่สามารถกำหนดทิศทางทางด้านการตลาดของตัวเองได้ สามารถที่จะแข่งขันและอยู่รอดในภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของสังคมได้”
โดย : @วารินทร์ พรหมคุณ
ที่มา : สยามรัฐ