นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาและบุคลากรดีเด่น พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานวันกำพล วัชรพล ครั้งที่ 20 ประจำปี 2559 เมื่อบ่ายวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 ณ สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ประธานกรรมการบริษัท วัชรพล จำกัด ตลอดจนคณะผู้บริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้บริหาร และข้าราชการครูโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 500 คน
นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานกรรมการพิจารณาให้รางวัล “กำพล วัชรพล” ได้กล่าวอาเศียรวาทแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และนำแขกผู้มีเกียรติยืนสงบนิ่งไว้อาลัยเป็นเวลา 89 วินาที จากนั้นกล่าวรายงานการจัดงานในครั้งนี้ว่า งานวันกำพล วัชรพล เป็นงานที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมูลนิธิไทยรัฐจัดขึ้น เพื่อรำลึกถึงนายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐ และผู้ให้กำเนิดโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาในชนบท ห่างไกลความเจริญ ซึ่งงานเช่นนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นเวลา 19 ปีนับตั้งแต่นายกำพล วัชรพล ถึงแก่อนิจกรรม
นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล รองประธานและเหรัญญิกมูลนิธิไทยรัฐ ได้มอบรางวัลวิทยานิพนธ์ในปีนี้ โดยเป็นรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ น.ส.อรวี ศรีชำนาญ สาขานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายพีระวัฒน์ อัฐนาค สาขาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งมอบโล่รางวัลแก่คณบดีทั้งสองคณะดังกล่าว
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น ผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น และครูโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น ประจำปี 2559 ดังนี้
- โรงเรียนดีเด่น
ชนะเลิศ ได้แก่ ภาคเหนือ-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 36 จังหวัดร้อยเอ็ด, ภาคใต้-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 74 จังหวัดนครศรีธรรมราช, ภาคกลางและภาคตะวันออก-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 93 จังหวัดปราจีนบุรี
รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ภาคเหนือ-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 5 จังหวัดอุตรดิตถ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 28 จังหวัดอุบลราชธานี, ภาคใต้-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 54 จังหวัดพังงา, ภาคกลางและภาคตะวันออก-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 55 จังหวัดนนทบุรี และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 64 จังหวัดราชบุรี
รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ภาคเหนือ-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 8 จังหวัดพิษณุโลก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 81 จังหวัดหนองบัวลำภู, ภาคใต้-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 89 จังหวัดนราธิวาส, ภาคกลางและภาคตะวันออก-โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 100 จังหวัดลพบุรี
- ผู้บริหารดีเด่น
ชนะเลิศ ได้แก่ ภาคเหนือ-นายทรงฤทธิ์ วรรณรักษ์ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 72 จังหวัดเชียงราย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-นายสุรพล ณ รุณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 87 จังหวัดอุบลราชธานี, ภาคใต้-นายกมล ธรมีฤทธิ์ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 77 จังหวัดชุมพร, ภาคกลางและภาคตะวันออก-นายวิทยา ประชากุล โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 1 จังหวัดลพบุรี
รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ภาคเหนือ-นายไพรัช ไกรเกรียงศรี โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 8 จังหวัดพิษณุโลก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-นายพิชิต พลเยี่ยม โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 36 จังหวัดร้อยเอ็ด, ภาคใต้-นายสมปอง ชาวสมบูรณ์ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 74 จังหวัดนครศรีธรรมราช และนายเสกสรร เส็นเจริญ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 94 จังหวัดยะลา, ภาคกลางและภาคตะวันออก-นายชาลี กองแก้ว โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 93 จังหวัดปราจีนบุรี
รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ภาคเหนือ-นายสมบูรณ์ ติ๊บเตปิน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 48 จังหวัดลำพูน , ภาคกลางและภาคตะวันออก-นายเจริญศักดิ์ ศรีทอง โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 65 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ครูดีเด่น
ชนะเลิศ ได้แก่ ภาคเหนือ-นายเด่นชัย ป้อมทอง โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 60 จังหวัดพิจิตร, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-นางวิภาพร เบียดกลาง โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 26 จังหวัดบุรีรัมย์, ภาคใต้-นางสาวสีวรรณ์ ไชยกุล โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 94 จังหวัดยะลา, ภาคกลางและภาคตะวันออก-นางสาวณหทัย แม้นชล โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 93 จังหวัดปราจีนบุรี
รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ภาคเหนือ-นายวัชระ ยะสง่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 จังหวัดเชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-นางกนกพร สมปัญญา โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 34 จังหวัดขอนแก่น, ภาคใต้-นางรัชดาวัลย์ แดงเกตุชัยโรจน์ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 จังหวัดพัทลุง, ภาคกลางและภาคตะวันออก-นางภภัสสร แพรสายทอง โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 64 จังหวัดราชบุรี
รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ภาคเหนือ-นางเกสร สวัยษร โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 31 จังหวัดแพร่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-นางสาวมาลี พรหมเดเวช โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 81 จังหวัดหนองบัวลำภู, ภาคใต้-นางสมฤดี โพธิจันทร์ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 77 จังหวัดชุมพร, ภาคกลางและภาคตะวันออก-นางสาวดวงนภา วงศ์ใจ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 57 จังหวัดชัยนาท และนางสาวรัตนาภรณ์ สุขประสม โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 69 จังหวัดปทุมธานี
โอกาสนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคน และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มามอบรางวัลเพื่อยกย่องครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาจากทั่วประเทศ ตลอดจนร่วมงาน “วันกำพล วัชรพล” ในครั้งนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณกำพล วัชรพล มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลที่ได้ริเริ่มโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อให้การศึกษากับเด็กในท้องถิ่นห่างไกล ถือเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติและเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สอดคล้องกับแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานให้ก่อตั้งมูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อต้องการให้เด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารและขาดโอกาสได้รับการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรับผิดชอบดูแลด้านการศึกษาของประเทศ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัยติดตามและให้ความสำคัญกับการศึกษาของไทยมาโดยตลอด โดยกระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำใส่เกล้าฯ และมอบเป็นนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาไทยให้ดียิ่งขึ้น อาทิ
ในเรื่องที่เกี่ยวกับนักเรียน “ครูต้องสอนให้เด็กนักเรียนมีน้ำใจ เช่น คนเรียนเก่งช่วยติวเพื่อนที่เรียนล้าหลัง มิใช่สอนให้เด็กคิดแต่จะแข่งขัน (Compete) กับเพื่อน เพื่อให้คนเก่งได้ลำดับดี ๆ เช่น สอบได้ที่หนึ่งของชั้น แต่ต้องให้เด็กแข่งขันกับตนเอง”
ในเรื่องที่เกี่ยวกับครู “ต้องปรับปรุงครู…ครูจะอายุ 40-50 ปี ก็ต้องเรียนใหม่ ต้องปฏิวัติครูอย่างจริงจัง”
ในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษา “การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 2 ด้าน คือ 1) ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง 2) การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education)”
ในเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption) “…ท่านต้องห้ามไม่ให้มีการทุจริตขึ้น แล้วท่านจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอที่มีประสิทธิภาพ ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่ง แช่งให้มีอันเป็น พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไปถ้าไม่ทุจริต สุจริต และมีความตั้งใจในธรรม ขอให้ต่ออายุได้ถึงร้อยปี หรือถ้าอายุมากแล้วก็แข็งแรง ประเทศไทยจะรอดพ้นอันตรายอย่างมาก”
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยมียุทธศาสตร์ด้านการศึกษา 6 ด้าน คือ 1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งกล่าวได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยจะเน้นพัฒนาจากจุดที่สำคัญที่สุด คือ โรงเรียน ในรูปแบบที่ไม่ตายตัวปรับเปลี่ยนได้ตามบริบท (No One Size Fits All) พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากระดับล่างขึ้นมาสู่ระดับบน (Bottom Up) โดยเริ่มจากโรงเรียนที่มีอาการย่ำแย่ เหมือนคนไข้ที่อยู่ในห้อง ICU จำนวน 3,000 โรงเรียน หรือ 3,000 เตียง จากโรงเรียนที่เข้าข่ายทั้งหมดกว่า 10,000 แห่ง
นโยบายการพัฒนาโรงเรียน ICU เป็นนโยบายที่ยึดนักเรียนและโรงเรียนเป็นตัวตั้ง โดยให้โรงเรียนวินิจฉัยปัญหาของโรงเรียนเองว่าอยู่ที่ใด จากนั้นนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ พร้อมเสนอแผนการรักษาตัวเองมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งโรงเรียนจะต้องดึงผู้ปกครอง ท้องถิ่น และชุมชน เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาโรงเรียนร่วมกัน ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณตามแผนงานโครงการที่โรงเรียนเสนอมา หากโรงเรียนใดสามารถออกจากสถานะคนไข้ ICU ได้ ผู้บริหารโรงเรียนต้องได้รับรางวัลหรือได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เอื้ออำนวยต่อไป
ย้ำด้วยว่า โครงการนี้ถือเป็นนโยบายที่มีความชัดเจนแล้ว เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเป็นการแก้ปัญหาจากระดับล่างหรือระดับโรงเรียนอย่างแท้จริง โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเกลี่ยงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการนี้ก่อน สำหรับโครงการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ จะคงไว้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้ทำงานได้ เพราะต้องการทุ่มงบประมาณทั้งหมดลงไปสนับสนุนโรงเรียนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและขาดแคลนจริง ๆ
นอกจากนโยบายโรงเรียน ICU จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก “โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน” ของอดีต รมว.ศึกษาธิการ (พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) กล่าวคือเมื่อโรงเรียนได้วินิจฉัยสาเหตุของปัญหาแล้ว อาจเสนอแนวทางให้ยุบรวมโรงเรียนก็เป็นได้ เพราะหากอยู่เพียงลำพังโรงเรียนเดียวอาจไม่รอด จึงต้องย้ายนักเรียนไปเรียนรวมในโรงเรียนที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งแนวทางแก้ปัญหานี้จะเกิดจากโรงเรียนเสนอแผนงานโครงการขึ้นมาเอง เรียกได้ว่าเกิดขึ้นจากความต้องการของโรงเรียนอย่างแท้จริง
โดย : นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe