ศธ.ตั้งคณะยกระดับคุณภาพการสอน-การประเมิน – ครูระยอง

Print Friendly

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA ของเด็กไทยที่มีคะแนนต่ำกว่าประเทศเวียดนาม และสิงคโปร์ และอยากให้ ศธ.เร่งดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ซึ่งขณะนี้ตนได้มอบหมายให้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตั้งคณะทำงานร่วมศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและการประเมินคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกัน โดยนำคะแนน PISA มาเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงคุณภาพผู้เรียน

การเรียนการสอนของโรงเรียนจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะการประเมินหลังจากนี้จะต้องวัดจากการให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นโดยรูปแบบการประเมินจะเน้นวัดความรู้ความสามารถของเด็กว่าอยู่ในระดับไหน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง และการแก้ไขปัญหาคะแนน PISA ต่ำ ไม่ใช่แก้ที่ตัวข้อสอบเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีความเท่าเทียมกัน โดยไปดูว่าโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นทีห่างไกล โรงเรียนขยายโอกาส เหล่านี้ว่ามีครู และสื่อการเรียน เพียงพอหรือไม่”

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ผลคะแนน PISA ที่ออกมานั้นได้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เพราะเด็กที่ทำคะแนนได้สูง จะมาจากกลุ่มโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนเน้นเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว เช่น โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ได้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เหมือนกับโรงเรียนอื่นๆทั่วประเทศ ดังนั้น คงจะโทษว่าหลักสูตรไม่มีคุณภาพคงไม่ได้

ที่มา : สยามรัฐ

ผู้สอบ ผอ.ผ่านน้อยกว่าที่เปิดรับเตรียมย้ายผู้บริหารโรงเรียนควบรวมแทนตำแหน่งว่าง – ครูระยอง

Print Friendly

เผยผู้สอบคัดเลือกผอ.โรงเรียน ผ่าน 7,890 ราย คิดเป็น 85.16% แจง 3 จังหวัด สิงห์บุรี ประจวบฯ พัทลุง มีผู้สอบผ่านน้อยกว่าอัตราที่เปิดรับ เตรียมย้ายผู้บริหารจากโรงเรียนถูกควบรวมแทนตำแหน่งที่ว่าง ชี้รองผอ.สอบผ่านเพียบ เตรียมคัดเลือกรองผอ.ต่อไป

ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ประจำปี 2559 โดยจัดสอบข้อเขียน ภาค ก. และสอบสัมภาษณ์ ในวันที่ 3-4 ธันวาคม โดยมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) 76 แห่ง และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดสอบ จำนวน 2,891 อัตราร ผู้สอบผ่านการคัดเลือก 7,890 ราย คิดเป็น 85.16% จากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด 9,371 รายภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อยแต่มี 3 จังหวัด ที่จำนวนผู้สมัครสอบและผู้สอบผ่านน้อยกว่าอัตราว่างที่เปิดรับคือ

  • จ.สิงห์บุรี อัตราว่าง 21 ตำแหน่ง สมัคร 16 ราย สอบผ่าน 16 ราย
  • จ.ประจวบคีรีขันธ์ อัตราว่าง 52 ตำแหน่งสอบผ่าน 50 ราย มีอัตราว่างเหลือ 2 ตำแหน่ง
  • จ.พัทลุง อัตราว่าง 51 ตำแหน่ง สอบผ่าน 48 ราย มีอัตราว่างเหลือ 3 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ การสอบผู้บริหารปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองปฏิบัติงาน โดยสพฐ.ได้จัดให้มีการอบรมพัฒนาก่อนบรรจุและแต่งตั้ง ในวันที่ 13-19 ธันวาค จำนวน 60 ชั่วโมง บรรจุและแต่งตั้งวันที่ 22 ธันวาคม ทั้งนี้ ผู้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งต้องเข้ารับการประเมินการบริหารการศึกษาอีก 1 ปี แบ่งการประเมินออกเป็น 2 รอบ ทุก 6 เดือนหากไม่ผ่านรอบแรก คณะกรรมการประเมินจะมีข้อเสนอแนะว่าบกพร่องในเรื่องใดบ้าง และทำการประเมินต่ออีก 6 เดือน หากผ่านการประเมินจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่เลือกต่อไป แต่ถ้าไม่ผ่านจะดำเนินการตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.ครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสั่งการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน

นอกจากนั้น สำหรับจังหวัดที่มีผู้สอบผ่านน้อยกว่าอัตราว่างที่เปิดรับนั้น จะไม่ใช้วิธีการเกลี่ยอัตราสอบได้จากจังหวัดอื่น เพราะการสอบครั้งนี้ไม่มีการขึ้นบัญชีจังหวัดที่มีผู้สอบได้น้อยกว่าอัตราว่าง จะใช้วิธีรับย้ายผู้บริหารจากโรงเรียนที่ถูกควบรวม ตามที่ได้มีนโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ส่งผลให้มีผู้บริหารโรงเรียนที่ถูกควบรวมสามารถย้ายมาแทนตำแหน่งที่ว่างได้

อย่างไรก็ตาม การสอบคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า ผู้สอบผ่านการคัดเลือกส่วนใหญ่เป็นรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ดังนั้นลำดับต่อไปจึงต้องดำเนินการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษาคาดว่าจะมีอัตราว่าง ประมาณ 2,800 กว่าอัตรา

ที่มา : moe

ครม.รับทราบแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล 21 ข้อ – ครูระยอง

Print Friendly

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ รับทราบแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล 21 ข้อ ตามวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล พ.ศ. 2560 โดยเรื่อง “การจัดการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมและทั่วถึง” เป็นเรื่องที่ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจเป็นอย่างมาก

แนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล

พันเอกหญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล ตามวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ดังนี้

1. ตั้งเป้าหมายการพัฒนา ที่ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง กล่าวคือ ทำให้ประชาชนมีความสุข มีความพึงพอใจ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG 2030 ขององค์การสหประชาชาติ

2. สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรักษาสมดุล ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

3. ส่งเสริมการแก้ปัญหาตามแนวทางสันติวิธี และยึดแนวทางการพัฒนา “สีเขียว”

4. ส่งเสริมการปฏิรูปที่กว้างขวางและลึกซึ้งในทุกมิติ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

5. จัดทำแผนงานโครงการที่เป็นรูปธรรม และจับต้องได้ โดยกำหนดเป็นกิจกรรมหลัก กิจกรรมรอง กิจกรรมเสริม ในทุกประเด็นการปฏิรูป ซึ่งต้องกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ สามารถประเมินผลการดำเนินงานได้ตามห้วงระยะเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุก 5 ปี

6. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศชาติและประชาชน โดยมีการพัฒนาประชาธิปไตย ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และมีอัตลักษณ์

7. วางรากฐานของประเทศ ที่ประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ความเป็นไทยอันงดงาม

8. สร้างความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง โดยรักษาความเป็นธรรม ความถูกต้อง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และเสมอภาค

9. สร้างความหวังและศรัทธา บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ แล้วทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างอนาคตร่วมกันที่ดีกว่า

10. สร้างประเทศที่มีความเท่าเทียมทางสังคม และไม่เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมการพัฒนาและปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับฐานราก ให้เข้มแข็ง มั่นคง และปลอดภัย

11. สร้างประเทศไทยให้เป็นนิติรัฐ เสริมด้วยการปฏิบัติงาน คำนึงถึงด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ด้วย ในการบังคับใช้กฎหมาย

12. ยกระดับคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยยกระดับความสำคัญของประเทศไทยในเวทีโลก อย่างมียุทธศาสตร์ ทั้งโดยพฤตินัย นิตินัย ทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคี

13. เอาจริงเอาจังกับการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยสร้างกลไกการทำงาน กลไกการตรวจสอบที่บูรณาการ และสามารถป้องกันปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทั้ง 2 ฝ่าย (ผู้เสนอและผู้รับ)

14. เสริมสร้างศักยภาพระบบราชการไทย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง กองทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ทันสมัย สร้างความเชื่อมั่น และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ตลอดเวลา

15. รักษาความสัมพันธ์อันดีกับทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาคในประชาคมโลก ด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี เพื่อความสมดุลและเสถียรภาพของโลก

16. ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และอาเซียนในการพัฒนาร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน

17. กระชับความสัมพันธ์ ในลักษณะเป็นห่วงโซ่เดียวกัน ด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ลดความหวาดระแวง และสร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียม

18. ขยายความร่วมมือกับประเทศที่กำลังพัฒนา และเชื่อมโยงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ในลักษณะเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเร่งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และความเชื่อมโยง ทั้งภายในและภายนอก โดยจัดลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วน และงบประมาณที่มีอยู่

19. สร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ด้วยการทำให้คนทั้งประเทศ ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกกลุ่มรายได้ มีความสุข ความพึงพอใจ บนพื้นฐานของ “ความพอเพียง” และพัฒนาตนเองต่อไปในอนาคต

20. สร้างการเมืองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ นับเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศไทย แต่การเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล รับผิดชอบทั้งข้าราชการและประชาชนเกือบ 70 ล้านคน ทั้งประเทศ กำกับดูแล ทั้งงาน Function และงาน Agenda

21. ปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ นำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยใช้ดิจิทัล และเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว


 ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจมาทุกปี เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและสะท้อนความต้องการที่จะให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 5,000 คน สรุปดังนี้

1. การติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร้อยละ 86.5 ระบุว่าติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล และ คสช. เช่น รายการคืนความสุขให้คนในชาติ ร้อยละ 13.5 ที่ไม่ติดตาม โดยผู้ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารดังกล่าวระบุว่า ติดตามจากโทรทัศน์ฟรีทีวีมากที่สุด คือ ร้อยละ 53.9 รองลงมาคือ โทรทัศน์จานดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวี ร้อยละ 37.2 สื่ออินเทอร์เน็ต ร้อยละ 18.6 เพื่อน ญาติ คนในครอบครัว ร้อยละ 17.0 และหนังสือพิมพ์หรือเอกสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์ ร้อยละ 15.8

2. ความพึงพอใจต่อการบริหารงานโดยรวมของรัฐบาลที่ผ่านมา  คะแนนความพึงพอใจ อยู่ที่ 7.45 คะแนน  จากคะแนนเต็ม 10 เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของประชาชนพบว่า ร้อยละ 79.7 ระบุว่าพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ภาคใต้ให้คะแนนความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3. เรื่องที่ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมา มากกว่า 7 คะแนนขึ้นไป จากคะแนนเต็ม 10 เช่น การจัดการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมและทั่วถึง  การปราบปรามผู้มีอิทธิพล  การปราบปรามขบวนการทำลายทรัพยากรป่าไม้ / ทรัพยากรธรรมชาติและทวงคืนผืนป่า การปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การจัดระเบียบสังคม การยกระดับคุณภาพและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย การปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด การปราบปรามบ่อนการพนัน การสร้างความปรองดองและคืนความสุขให้แก่คนในชาติ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

4. ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ คะแนนความเชื่อมั่นอยู่ที่ 7.44 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของประชาชนพบว่าร้อยละ 79.8 เชื่อมั่นอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ภาคใต้ให้คะแนนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

5. เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2560  ใน 5 อันดับแรก คือ การแก้ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง รองลงมาได้แก่ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน การแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำหรือพยุงราคา การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และการแก้ไขปัญหาว่างงานหรือจัดหาอาชีพ และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่าภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร  ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในปี พ.ศ. 2560 มากกว่าเรื่องอื่น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ การแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำหรือพยุงราคา

6. ข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของรัฐบาล ร้อยละ 96.6 ได้ให้ข้อเสนอแนะ 5 อันดับแรก คือ การควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง รองลงมาได้แก่ การแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้มีราคาต่ำหรือพยุงราคา การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน การแก้ไขปัญหายาเสพติด และการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการ และนักการเมือง เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่าภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพงมากกว่าเรื่องอื่น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ การแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ และพยุงราคา


อนุมัติร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางในศาสตร์ทางการกีฬา มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมวิชาการทางการกีฬาและวิชาชีพชั้นสูง ผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา การพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการกีฬา บริหารธุรกิจการกีฬา และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เป็นศูนย์ฝึกของนักกีฬาระดับชาติ เป็นแหล่งสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาชั้นเลิศของประเทศ โดยมีโรงเรียนกีฬาสำหรับฝึกฝนเยาวชนก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสถาบันพลศึกษา พ.ศ. 2548 และให้ “สถาบันการพลศึกษา” เป็น “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” ตามพระราชบัญญัตินี้ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยให้แต่ละภาคประกอบด้วยวิทยาเขตและโรงเรียนกีฬา รวมทั้งกำหนดให้มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยสภา 3 สภา ได้แก่ สภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ สภาคณาจารย์และข้าราชการ และกำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลหน่วยงาน

โดย : บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe

ซูเปอร์บอร์ดเห็นชอบร่างแผนการศึกษา 15 ปี – ครูระยอง

Print Friendly

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย และพัฒนาการศึกษาหรือซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ได้ให้ความเห็นชอบร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 เรียบร้อยแล้ว พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) จัดทำรายละเอียดในแผนเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลความต้องการกำลังคน ในระยะ 15 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะช่วง 5 ปีแรก ที่เน้นการรองรับความเปลี่ยนแปลงฐานการผลิต 10 ด้านของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S Curve) รวมทั้งแผนดูแลการศึกษาครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดย สกศ.จะเร่งสรุปรายละเอียดนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ภายในสัปดาห์หน้า

ดร.กมล กล่าวต่อว่า เมื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบแผนแล้ว สกศ.พร้อมที่จะขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ทันที โดยนายกฯ ได้มอบให้ประสานทุกหน่วยงานทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาชาติ ระยะ 15 ปี ให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 เดือน ซึ่ง สกศ.จะกำหนดปฏิทินขับเคลื่อนภารกิจ

  1. เผยแพร่เนื้อหาของแผนถ่ายทอดสู่หน่วยงานด้านการศึกษาและสาธารณชน
  2. ผลักดันการออกกฎหมายด้านการศึกษา นำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการบูรณาการทั้งระบบให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติราชการที่สอดคล้อง กับแผนเร่งรายงานต่อนายกฯ พิจารณาสั่งการเชิงนโยบายต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของแผนการศึกษาชาติ ระยะ 15 ปี ที่ผ่านความเห็นชอบจากซูเปอร์บอร์ดการศึกษาโดยสรุปคือ วิสัยทัศน์คนไทยทุกคนได้รับการศึกษา และเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 จุดมุ่งหมาย 3 ประการ ประกอบด้วย

  1. คนไทยเป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี และยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 กับ
  2. สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  3. ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง โดยขับเคลื่อนภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
    1. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานหลักสูตร การเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล
    2. การยกระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
    3. การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมรองรับความต้องการของตลาดงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
    4. การพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิตอล
    5. การพัฒนาคุณภาพของคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
    6. การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วน
    7. การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการศึกษา

ที่มา : สยามรัฐ

สบ.พท.หนุนตั้งเขตพื้นที่มัธยมฯ ครบทุกจังหวัด – ครูระยอง


สบ.พท.หนุนตั้งเขตพื้นที่มัธยมฯ ครบทุกจังหวัด

Print Friendly

นายกฤตพล ชุติกุลกีรติ นายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (สบ.พท.) เปิดเผยว่าจากการประชุมใหญ่วิสามัญของ สบ.พท.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้สรุปประเด็นเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณา 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

  1. สบ.พบ.จะสนับสนุนและเร่งขับเคลื่อนนโยบาย ศธ.สู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ตามโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน การแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การลดเวลาเรียน-เพิ่มเวลารู้ โรงเรียนประชารัฐ การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การฝึกคิดวิเคราะห์ STEM Education และค่านิยม 12 ประการ เป็นต้น
  2. การสร้างความเข้มแข็งให้แก่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่ประชุมเห็นว่าควรจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสรรหาศึกษาธิการจังหวัดโดยเร็ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และควรปรับปรุงบทบาทอำนาจหน้าที่ของ กศจ.ให้มีความคล่องตัว ครอบคลุมภารกิจด้านการศึกษาของจังหวัด ได้แก่ การเพิ่มภารกิจด้านแผนการจัดการศึกษา การบริหารงบประมาณ และงานบุคคลของหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดทุกหน่วยงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาของจังหวัดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
    ขณะเดียวกันควรปรับปรุงองค์ประกอบของ กศจ.ให้เหมาะสม เช่น การเพิ่มผู้แทนด้านสาธารณสุข ด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น และควรมีผู้แทน ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นกรรมการใน กศจ.ด้วย นอกจากนี้ควรมอบอำนาจให้ อกศจ.ปฏิบัติหน้าที่แทน กศจ. ด้านบริหารงานบุคคล ยกเว้นการสรรหา โยกย้ายและบรรจุแต่งตั้ง
  3. การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารการศึกษาในระดับจังหวัด ควรเพิ่มสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ให้ครบทุกจังหวัด เพื่อความคล่องตัวในการขับเคลื่อนภารกิจของ กศจ.และความเป็นเอกภาพ โดยระยะเริ่มแรกให้คงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) 183 เขตไว้เท่าเดิมก่อน เพื่อให้ สพป.ดำเนินนโยบายโรงเรียนแม่เหล็ก ให้เป็นไปตามเป้าหมายของ ศธ.แล้วค่อยลดจำนวน สพป.ลง

และควรกำหนดให้มีศูนย์เครือข่ายการศึกษาประถมศึกษาอำเภอ ด้วยการกำหนดระเบียบบริหาร ศธ.ว่าด้วยการบริหารศูนย์เครือข่ายการศึกษาประถมศึกษาอำเภอ โดยการรวมโรงเรียนประถมศึกษา ภายในอำเภอไม่เกิน 15 แห่ง เป็นกลุ่มบริหารสถานศึกษาประถมศึกษา และให้รวมกลุ่มทุกกลุ่มในแต่ละอำเภอ ยกระดับเป็นศูนย์เครือข่ายการประถมศึกษาอำเภอ เพื่อเป็นผู้แทนการบริหารการประถมศึกษาในระดับอำเภอ ต่อไป

ที่มา : สยามรัฐ

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ซูเปอร์บอร์ดคลอดแผนศึกษาชาติ 15 ปี – ครูระยอง

Print Friendly

ซูเปอร์บอร์ดไฟเขียวแผนการศึกษาชาติ 15 ปี “บิ๊กตู่” ติงขาดรายละเอียดการวางแผนความต้องการกำลังคนในอนาคต แนะต้องระบุให้ชัดการนำแผนไปสู่การปฏิบัติต้องทำอย่างไร ด้าน “บิ๊กหนุ่ย” เผยเตรียมชงใช้ ม.44 เพิ่มอีก 3 คำสั่ง แก้ปัญหาบริหารงานบุคคลภายใน ศธ.

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 แต่มีข้อสังเกตให้ ศธ.นำกลับไปปรับปรุงในรายละเอียดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น เรื่องของความต้องการกำลังคนในปัจจุบันกับอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งนายกฯ ต้องการทราบจำนวนความต้องการกำลังคนที่ชัดเจน เพื่อวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ซึ่ง ศธ.รับที่จะกลับมาจัดทำแผนเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ในการผลิตกำลังคน ทั้งนี้ หลังจากมีการปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ หลังจากที่ ครม.อนุมัติแผนฉบับนี้แล้วภายใน 30 วัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำแผนรองรับแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

นอกจากนี้นายกฯ ยังเป็นห่วงเรื่องการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยเน้นย้ำให้ ศธ.วางแผนการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2560-2561 จะต้องแยกออกมาให้เห็นชัดเจน เพราะรัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ตามโรดแมป เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อได้อย่างชัดเจน

“ศธ.ยังได้นำเสนอความคืบหน้าการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ที่วางแผนว่าในปี 2564 จะสามารถยุบโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้จำนวน 7,000 โรง ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณประเทศประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งนายกฯ ก็พอใจกับเรื่องนี้ แต่อยากให้เร่งดำเนินการให้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งผมก็รับที่จะมาดูว่าจะเร่งแก้ปัญหาให้เร็วขึ้นได้อย่างไร”

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนยังได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ซึ่งได้ดำเนินการแก้กฎเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จำนวน 21 เกณฑ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ศธ.มีปัญหาในการบริหารงานบุคคล อีกทั้งยังแก้กติกาของคุรุสภา 8 เรื่องคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) อีก 7 เรื่อง และใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 อีก 19 คำสั่งภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าอาจจะมีเสนอของใช้ ม.44 เพิ่มอีก 3 คำสั่งในเร็วๆ นี้ ได้แก่ เรื่องการจัดตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อ.ก.ค.ศ.สพฐ.) เรื่องการยุบรวมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวง ที่มีอยู่ใน 5 องค์กรหลักให้เหลือเพียงคณะเดียว และสุดท้ายคือ เรื่องการแต่งตั้งผู้ตรวจราชการ ศธ.ให้เป็นศึกษาธิการภาค เนื่องจาก ศธ.ได้พยายามเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการระดับ 10 ของทุกส่วนราชการ และมีการหารือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ จึงต้องใช้ ม.44 เข้ามาช่วยดำเนินการ.

ที่มา : ไทยโพสต์

ผอ. กศน. จังหวัดว่างอื้อ128 ตำแหน่ง – ครูระยอง

Print Friendly

นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (เลขาฯ กศน.) กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงาน กศน. ขณะนี้มีตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดและอำเภอว่างอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ แบ่งเป็น ผอ.กศน.จังหวัด จำนวน 10 ตำแหน่ง และ กศน.อำเภอ จำนวน 118 ตำแหน่ง

ซึ่งสำนักงาน กศน.ต้องรอการพิจารณาหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือก ผอ.กศน.จังหวัดและอำเภอ ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะต้องให้ความเห็นชอบก่อน หลังจากนั้นจะทำการสอบคัดเลือกผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่ว่าง โดยในเบื้องต้นได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องของการสอบเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะได้ตัวบุคคลที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งที่ว่างอยู่ทั้ง ผอ.กศน.จังหวัดและอำเภอไปพร้อมๆ กันในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากตำแหน่ง ผอ.กศน.จังหวัดและอำเภอที่สำนักงาน กศน.ต้องเร่งรีบดำเนินการจัดหาบุคคลที่เหมาะสมเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว สำนักงาน กศน.ยังเตรียมที่จะจัดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่มีอัตราอยู่อีก 29 ตำแหน่ง บรรณารักษ์ 11 ตำแหน่ง และข้าราชการครูอีก 100 ตำแหน่ง ซึ่งตนได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับภาระงานในแต่ละหน่วยงาน.

ที่มา : ไทยสต์

เปิดชิงเก้าอี้ ผอ.สถานศึกษา 2,862 อัตรา – ครูระยอง

Print Friendly

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มอบให้คณะกรรมาธิการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2559 ตามเงื่อนไขใหม่

โดยกำหนดรับสมัครวันที่ 18-24 พ.ย.59 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ภายในวันที่ 26 พ.ย.59 ประเมินประวัติและผลงานการปฏิบัติงาน วันที่ 27 พ.ย.-2 ธ.ค.59 สอบข้อเขียน ความรู้ทั่วไปและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน และความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่และสมรรถนะทางการบริหาร วันที่ 3 ธ.ค.59 สอบสัมภาษณ์ วันที่ 4 ธ.ค.59 ประกาศผลการคัดเลือก วันที่ 9 ธ.ค.59 นั้น

ในการประชุม ก.ค.ศ. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ไปคิดแนวทางการคัดเลือก รอง ผอ.สถานศึกษา ให้ที่ประชุมพิจารณา ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่ง ก.ค.ศ. ต้องไปพิจารณาว่า จะใช้แนวทางการสรรหาตามหลักเกณฑ์เดิม หรือเสนอใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ที่ล้อกับการสรรหา ผอ.สถานศึกษา

“การคัดเลือก รอง ผอ.สถานศึกษาปี 2559 นี้ จะยังไม่ได้ใช้วิธีการให้ ผอ.สถานศึกษา เป็นผู้เลือกรอง ผอ. สถานศึกษา แน่นนอน ขณะนี้มีแค่ 2 ทางเลือก คือ จะใช้แนวทางการสรรหาตามหลักเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ หรือเสนอใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ที่ล้อกับการสรรหา ผอ.สถานศึกษา คือ ให้พัฒนาก่อนประจุแต่งตั้ง และให้มีการประเมินการปฏิบัติงาน เป็นต้น” ปลัด.ศธ.กล่าว

สำหรับ จำนวนตำแหน่งว่างตามประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ในสังกัด สพฐ. ปี2559 ดังนี้ กศจ. เปิดรับสมัครคัดเลือก 76 แห่ง แบ่งเป็น ผอ.สถานศึกษา สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 2,848 อัตรา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 6 อัตรา  และ สศศ. 8 อัตรา รวมทั้งสิ้น 2,862 อัตรา โดยจำแนกเป็นราย กศจ./สศศ. ดังนี้

  • กรุงเทพฯ 2 อัตรา
  • กระบี่  52 อัตรา
  • กาญจนบุรี 27 อัตรา
  • กาฬสินธุ์ 19 อัตรา
  • กำแพงเพชร 78 อัตรา
  • ขอนแก่น 34 อัตรา
  • จันทบุรี 34 อัตรา
  • ฉะเชิงเทรา 69 อัตรา
  • ชลบุรี 39 อัตรา
  • ชัยนาท 34 อัตรา
  • ชัยภูมิ 43 อัตรา
  • ชุมพร 57 อัตรา
  • เชียงราย 23 อัตรา
  • เชียงใหม่ 98 อัตรา
  • ตรัง 27 อัตรา
  • ตราด 27 อัตรา
  • ตาก 39 อัตรา
  • นครนายก 30 อัตรา
  • นครปฐม 47 อัตรา
  • นครพนม 12 อัตรา
  • นครราชสีมา 90 อัตรา
  • นครศรีธรรมราช 82 อัตรา
  • นครสวรรค์ 76 อัตรา
  • นนทบุรี 25 อัตรา
  • นราธิวาส 46 อัตรา
  • น่าน 21 อัตรา
  • บุรีรมย์ 34 อัตรา
  • ปทุมธานี 47 อัตรา
  • ประจวบคีรีขันธ์ 52 อัตรา
  • ปราจีนบุรี 5 อัตรา
  • ปัตตานี 53 อัตรา
  • พระนครศรีอยุธยา 80 อัตรา
  • พะเยา 19 อัตรา
  • พังงา 29 อัตรา
  • พัทลุง 51อัตรา
  • พิจิตร 32 อัตรา
  • พิษณุโลก 31 อัตรา
  • เพชรบุรี 54 อัตรา
  • เพชรบูรณ์ 48 อัตรา
  • แพร่ 15 อัตรา
  • ภูเก็ต 7 อัตรา
  • มหาสารคาม 42 อัตรา
  • มุกดาหาร 14 อัตรา
  • แม่ฮ่องสอน 42 อัตรา
  • ยโสธร 15 อัตรา
  • ยะลา 25 อัตรา
  • ร้อยเอ็ด 41 อัตรา
  • ระนอง 17 อัตรา
  • ระยอง 44 อัตรา
  • ราชบุรี 84 อัตรา
  • ลพบุรี 53 อัตรา
  • ลำปาง 39 อัตรา
  • ลำพูน 16 อัตรา
  • เลย 31 อัตรา
  • ศรีสะเกษ  33 อัตรา
  • สกลนคร 20 อัตรา
  • สงขลา 35 อัตรา
  • สตูล 12 อัตรา
  • สมุทรปราการ 28 อัตรา
  • สมุทรสงคราม 23 อัตรา
  • สมุทรสาคร 21 อัตรา
  • สระแก้ว 22 อัตรา
  • สระบุรี 59 อัตรา
  • สิงห์บุรี 14 อัตรา
  • สุโขทัย 37 อัตรา
  • สุพรรณบุรี 83 อัตรา
  • สุราษฎร์ธานี 107 อัตรา
  • สุรินทร์ 18 อัตรา
  • หนองคาย 32 อัตรา
  • หนองบัวลำภู 5 อัตรา
  • อ่างทอง 34 อัตรา
  • อำนาจเจริญ 8 อัตรา
  • อุดรธานี 35 อัตรา
  • อุตรดิตถ์ 18 อัตรา
  • อุทัยธานี 11 อัตรา
  • อุบลราชธานี 48 อัตรา
  • สศศ. 8 อัตรา

ที่มา : สยามรัฐ

ชูแนวทางในหลวง ร.9 แก้ปัญหาการศึกษาไทย – ครูระยอง


ชูแนวทางในหลวง ร.9 แก้ปัญหาการศึกษาไทย

Print Friendly

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ซีมีโอ) ครั้งที่ 39โดยมีผู้แทนอาวุโสระดับสูงจากประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ บูรไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ติมอร์เลสเต และเวียดนาม รวมทั้งผู้แทนสมาชิกสมทบ ศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ ผู้ร่วมสังเกตจากญี่ปุ่น จีน และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 100 คนเข้าร่วม ทั้งนี้ก่อนการประชุมผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมยืนสงบนิ่งแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วย
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอบคุณที่ทุกท่านที่ยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งนี้เป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศที่สุดเท่าที่เคยมีมา แนวทางที่พระองค์ท่านพระราชทานเพื่อการแก้ปัญหาทุกเรื่องรวมถึงการศึกษานั้น เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบการเมือง ซึ่งรัฐบาลและตนได้น้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง พระองค์สอนไม่ให้เราเห็นแก่ตัว ให้นึกถึงเพื่อนในอาเซียนด้วย ซึ่งสิ่งที่ซีมีโอดำเนินการอยู่ก็เป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาการศึกษาในภูมิภาคและกลุ่มสมาชิกสมทบ เพื่ออนาคตของเด็ก ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า เราจะเดินไปด้วยกันจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็จะไม่ทิ้งเด็กสักคนเดียวไว้ข้างหลัง และตนคิดว่าประเทศสมาชิกซีมีโอก็จะไม่ทิ้งเด็กของท่านไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียวด้วย

“ไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งโครงการอันเนื่องพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการนั้น มีกว่า 400 โครงการที่เป็นโครงการเพื่อพัฒนาการศึกษา สวัสดิภาพและสวัสดิการของประชาชนชาวไทย ซึ่งรัฐบาลได้ยึดถือเป็นแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เชื่อมั่นว่าจะนำพาประเทศไทยบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ(2030 Agenda for SDG)ได้”
รมว.ศธ.กล่าว

ที่มา : เดลินิวส์

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

เฟ้นครูใช้วิธีสอนแบบในหลวง ร.9 รับรางวัลวันครูปี 60 – ครูระยอง

Print Friendly

นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เสนอผลการประชุมคณะอนุกรรมการจัดงานวันครู ครั้งที่ 61 ประจำปี 2560 ที่มีแนวคิดจะถวายพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างสูงสุด ในฐานะที่ทรงเป็นบูรพาจารย์ของครู รวมถึงยังมีแนวคิดที่แต่งฉันท์พิเศษ สำหรับพระองค์ขึ้นเพื่อเชิดชูพระเกียรติจากเดิมที่มีเฉพาะคำฉันท์ไหว้ครู ที่ขึ้นต้นว่า “ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา” ซึ่งให้นักเรียนท่องอยู่เพียงบทเดียว

ต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาการ รับทราบ ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ เห็นด้วยในหลักการ และมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ไปประสานกับผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการต่าง ๆ  รวมถึงหาผู้ที่มีความรู้มาแต่งฉันท์ สำหรับเชิดชูเกียรติพระองค์ท่านด้วย

รองปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณามอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่ครูปีนี้ นอกจากจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ปกติแล้ว ยังจะเน้นเชิดชูเกียรติครู ที่นำแนวทางการสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สอนจากการปฏิบัติจริง ดังที่พระองค์ทรงเคยพระราชทานความรู้ให้นักเรียนผ่านทางรายการศึกษาทัศน์ ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยจากนี้คุรุสภาจะต้องไปวางหลักเกณฑ์การพิจารณาให้เหมาะสม และนำเข้าหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง ในเดือน ธ.ค.59 นี้

ที่มา : สยามรัฐ

Our partners from Mexico:
Productos de salud
Carlos Torre