การศึกษาไทยหลายเรื่องคงต้องพึ่ง ม. 44 จริง ๆ

การปรับเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะส่วนนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างยิ่งเพราะเป้าหมายของเด็กและผู้ปกครองจะมุ่งที่มหาวิทยาลัยเพื่อใบปริญญา

ไม่รู้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาฮึ่มจะใช้ ม.44 กับการศึกษาเพราะเห็นการขับเคลื่อนล่าช้าหรือทำแล้วเกาไม่ถูกที่คัน การออกมาพูดเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรีหลายฝ่ายอาจจะคิดว่าเป็นแค่คำขู่เพื่อให้งานการศึกษาเดินหน้าได้เร็วขึ้น แต่สำหรับผู้เขียนไม่อยากให้เป็นแค่คำขู่แต่อยากให้ใช้จริง ด้วยคุณภาพการศึกษาตกต่ำอยู่เช่นนี้ เพราะปัจจัยหลักการจัดการศึกษาหลายอย่างยังมีปัญหาอยู่ และปัญหาที่ว่านี้จะอาศัยเพียงกฎระเบียบที่มีอยู่คงแก้ไขได้ยาก การใช้ ม.44 จึงมีความจำเป็นยิ่ง ซึ่งปัจจัยหลักที่ว่านี้มีอยู่มากคงจะขอนำมายกตัวอย่างเพียงบางส่วน ดังนี้

เรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จะเป็นใบเบิกทางให้การดำเนินงานด้านอื่น ๆ เกิดรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ส่วนจะแก้ไขหรือทำใหม่ทั้งฉบับก็คงไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ใช้มาถึง 16 ปี ก็น่าจะทำให้รู้ว่าต้องคงจุดเด่น อุดรูรั่ว หรือ เติมเต็มส่วนไหนบ้างได้แล้ว รวมถึงตอนนี้ทั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำร่างฉบับปรับปรุงแก้ไขไว้แล้ว ซึ่งทั้ง 3 ร่างนี้คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สนช. ก็ได้เป็นเจ้าภาพให้มาพิจารณาร่วมกันไปแล้ว และมีความเห็นตกผลึกตรงกันในหลายประเด็นหลัก ส่วนที่แตกต่างกันก็น่าจะหาจุดลงตัวได้ไม่ยาก การเร่งกฎหมายการศึกษาให้เกิดขึ้นเร็วได้เท่าใดการปฏิรูปด้านอื่นก็จะเดินเร็วตามไปด้วย

เรื่องต่อมา คือ หัวใจหลักของการศึกษา ประกอบด้วย คน การบริหารจัดการ หลักสูตร และการจัดการเรียนรู้ หากปัจจัยเหล่านี้ดี เด็กมีคุณภาพแน่ แต่ที่ผ่านมาแต่ละส่วนยังมีจุดอ่อนอยู่มากมาย ทั้งด้านคน ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงผู้ปฏิบัติ ซึ่งปัญหานี้มักจะคิดกันอยู่แค่การขาดแคลนและขาดคุณภาพแต่ด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบกับคุณภาพของผู้เรียนที่เกิดขึ้นไม่ค่อยพูดถึงกันทำให้ “คน” ที่ว่านี้ส่วนใหญ่จึงมุ่งทำงานที่ส่งผลต่อตัวเองทั้งชื่อเสียง ตำแหน่ง วิทยฐานะมากกว่าตัวเด็ก ข้อมูลนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากผลการประเมินของ สมศ. ทุกครั้งที่มาตรฐานด้านผู้บริหาร ครู สภาพแวดล้อม จะออกมาดีมากหรือดีเยี่ยม แต่คุณภาพเด็กกลับแย่ เมื่อบริหารหรือปฏิบัติงานแล้วคุณภาพผู้เรียนตกต่ำก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แถมมีความก้าวหน้าได้ตามปกติ การปฏิรูปการศึกษาแม้จะกำหนดยุทธศาสตร์ วิธีการไว้สวยหรูสู่สากลแค่ไหน หากผู้มีหน้าที่ไม่นำไปดำเนินการหรือทำแบบไร้ทิศทางขาดประสิทธิภาพแถมไม่ต้องรับผิดชอบความสำเร็จก็คงเกิดขึ้นได้ยาก เบื้องต้นจึงต้องปฏิรูป “คน” ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้ได้ก่อน คุณภาพของเด็กถึงจะเกิดตามมาได้ ปัญหานี้จึงน่าจะมีมาตรการให้คุณให้โทษกับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานกับผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนส่วนนี้จะอาศัยลำพังแค่จรรยาบรรณ คงเอาไม่อยู่แน่

ด้านบริหารจัดการเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่หลายอย่างยังรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้การแก้ปัญหาหรือพัฒนาเกาไม่ถูกที่คัน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่คุ้มค่ากับการลงทุนแถมเพิ่มภาระงานให้กับครู การกระจายอำนาจไปให้ภาคปฏิบัติจึงจำเป็นอย่างยิ่งซึ่งเรื่องนี้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้แล้วแต่ไม่ได้ถูกนำมาดำเนินการเท่านั้นเอง ปัญหาต่อมา คือ เรื่องโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่พิเศษ กรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีอยู่เกือบครึ่งหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมด จะขาดความพร้อมทั้ง ครู อุปกรณ์ อาคารสถานที่ แม้กระทั้งจำนวนเด็ก แต่ภาระงานกลับไม่แตกต่างจากโรงเรียนใหญ่ เมื่อครูมีไม่พอสอนครบชั้น ขาดปัจจัยต่าง ๆ มาสนับสนุน เด็กจึงเสียสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพที่มีอยู่ การที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีความพร้อมทุกด้านได้ภาครัฐคงต้องใช้เงินมหาศาลกับการพัฒนาเด็กจำนวนไม่มากนักจึงเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า การแก้ปัญหาให้ตรงจุดคือต้องยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่การคมนาคมสะดวกทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องใหม่แต่ที่ผ่านมาทำได้ยากเพราะติดขัดด้วยปัจจัยต่าง ๆ การใช้ ม. 44 จึงน่าจะเป็นทางออกได้ดีที่สุดเพื่อจะทำให้เหลือคน เงิน อุปกรณ์มาใช้พัฒนาการศึกษาได้ตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพผู้เรียน ส่วนกรณีของโรงเรียนขนาดใหญ่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเพราะจากจำนวนเด็กที่ต้องรองรับ 3,000–6,000 คนต่อโรงเรียน 40-50 คน ต่อห้อง ผู้บริหาร ครู คงดูแลพัฒนาได้ไม่ทั่วถึงการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฏิบัติจริงก็ทำได้ยาก จึงควรปรับให้โรงเรียนมัธยมจัดการศึกษา ม. 1-3 และ ม. 4-6 แยกออกจากกัน ส่วนนี้จะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดกลางที่เด็กลดลงทุกปีส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ก็จะได้ลดจำนวนเด็กที่เกินกำลังกับการจัดการเรียนรู้ได้

ด้านหลักสูตร ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเหมือนถูกบังคับให้ใส่เสื้อเบอร์เดียวกันด้วยใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดเดียวกันทั้งประเทศซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพจริงของเด็กแต่ละพื้นที่ที่ต่างกันทั้งด้านฐานะความเป็นอยู่ วิถีชีวิตปัจจัยรอบข้างที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะศักยภาพที่มีทั้งกลุ่มอ่อน กลุ่มปานกลางและกลุ่มเก่ง หลักสูตรจึงต้องจัดให้สอดคล้องกับการพัฒนาเด็กแต่ละกลุ่มและบริบท เช่นเด็กที่อยู่ตามเกาะ แก่ง ภูเขา ชายตะเข็บหรือบางส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีปัญหาด้านพื้นฐานการเรียนรู้ เช่น อ่านไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น ดำรงชีวิตไม่ถูกสุขนิสัย หลักสูตรก็ต้องเน้นพื้นฐานให้แน่นก่อน ส่วนกลุ่มเด็กปานกลาง ก็ใช้หลักสูตรแกนกลางพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ประเทศต้องการ สำหรับกลุ่มเด็กเก่ง จะให้เรียนรู้อยู่แค่หลักสูตรแกนกลางอย่างเดียวคงไม่พอต้องเพิ่มสู่ความเป็นเลิศ ให้หากหลักสูตรจัดได้ถูกกลุ่มเช่นนี้การพัฒนาก็จะทำได้ง่ายและเด็กก็จะได้รับพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ การจัดการศึกษาแบบเตี้ยอุ้มค่อมก็จะหมดไป

ด้านจัดการเรียนรู้ ก็ถือว่ายังมีปัญหาอยู่เช่นกันด้วยมีครูจำนวนไม่น้อยยังไม่ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน โดยสอนด้วยการบอกเล่าเนื้อหาจากตำราเรียนหรือไม่ก็สอนตามประสบการณ์จากความรู้เดิม ๆ ไม่ได้นำหลักสูตรสถานศึกษา มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดมาออกแบบการจัดการเรียนรู้และนำลงสู่ภาคปฏิบัติจริง ทักษะที่เกิดขึ้นกับเด็กจึงมีแค่จำเนื้อหาเพื่อสอบเพื่อจบ เมื่อการสอนของครูยังเปลี่ยนได้ยากเช่นนี้จึงควรนำต้นแบบของครูที่จัดการเรียนรู้แล้วทำให้เด็ก คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหา ด้วยวิธีการที่หลากหลายนำมาจัดทำเป็นคู่มือให้ครูนำไปปรับประยุกต์ใช้เพราะหากมัวพัฒนาด้วยการอบรมสัมมนาอยู่เช่นนี้คงเปลี่ยนวิธีสอนได้ยาก รวมถึงด้านเนื้อหาที่จะให้เด็กเรียนรู้น่าจะจัดเป็นตำราเรียนแห่งชาติไปเลยเพื่อเด็กจะได้เรียนแก่นแท้ของเนื้อหาไม่ใช่เรียนทั้งของจริงและขยะผสมปนเปกันอย่างทุกวันนี้

เรื่องต่อมา คือ การปรับเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะส่วนนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างยิ่งเพราะเป้าหมายของเด็กและผู้ปกครองจะมุ่งที่มหาวิทยาลัยเพื่อใบปริญญา คุณภาพการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงเป็นตัวกำหนดคุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การคัดเลือกด้วยข้อสอบปรนัยและเน้นเนื้อหาวิชาการทำให้ความสนใจของเด็กอยู่แค่นั้นทักษะด้านอื่นไม่เกิดแถมยังเป็นต้นเหตุให้เกิดธุรกิจการศึกษาต้องกวดวิชากันตั้งแต่ระดับอนุบาลจนกว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ หากเป้าหมายปลายทางผิดเพี้ยนอย่างนี้ ต้นทางก็พลอยหลงทางไปด้วย

การนำ ม.44 มาใช้เพื่อเปิดทางโล่งให้ปัจจัยต่าง ๆ เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นก็น่าจะทำ ด้วยการศึกษาเป็นระบบใหญ่ จัดหลายระดับ ผู้รับบริการมีหลายบริบทหลายศักยภาพ เป็นงานใหญ่ งานยาก เห็นผลช้า จี้ไปตรงไหนก็เจอปัญหาตรงนั้น หากปล่อยให้เดินตามปกติคงแก้ปัญหาได้ยาก ลองใช้ ม. 44 ดูบ้างอาจทำให้การศึกษาไทยวิ่งฉิวเลยก็ได้.

โดย : กลิ่น สระทองเนียม
ที่มา : เดลินิวส์

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น