รัฐบาลแถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในรอบ 6 เดือน – ครูระยอง

Print Friendly

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษา ว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ มีองค์กรหลักถึง 5 แท่ง ซึ่งจะต้องทำงานให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ชายขอบ บนเขาบนดอย เช่น โครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่ช่วยสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ การจัดรายการติวเข้มเติมเต็มความรู้ โดยนำครูและติวเตอร์ที่เก่งๆ เช่น ครูอุ๊ ที่สอนได้ดีและเข้าใจง่าย มาช่วยสอนช่วยติวให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับจัดทำรายการติวเข้มเติมเต็มความรู้ในรูปแบบดีวีดี เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพิ่มเติมในโรงเรียนที่ขาดแคลนครูอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรหาวิธีการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กมีความเก่งขึ้น เช่น การคิดเลขในใจ ที่พบเห็นได้จากสื่อออนไลน์ มีความสามารถในการคิดเลขจำนวนหลายหลักได้อย่างรวดเร็ว การอ่านเอาเรื่องและการย่อความ เพื่อให้เด็กสามารถเขียนหนังสือเป็น มีความกระชับ ได้ใจความ เข้าใจง่ายและต่อเนื่อง ซึ่งการย่อความเป็นการฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างหนึ่ง หากเด็กย่อความได้ก็จะทำให้เด็กคิดเป็นและเขียนเป็น

1) ผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในรอบ 6 เดือน (12 กันยายน 2557 – 12 มีนาคม 2558)

ตามเอกสารผลงานรัฐบาลรอบ 6 เดือน จัดทำโดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จากการที่รัฐบาลโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินและแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 19 ที่ระบุให้รัฐบาลมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ พร้อมทั้งได้เร่งแก้ไขปัญหาในทุกด้านที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้

โดยมีผลงานการดำเนินการตามแนวนโยบายรัฐบาล 11 ด้าน ได้แก่

  1. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์
  2. การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ
  3. การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ
  4. การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
  5. การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน
  6. การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
  7. การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน
  8. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม
  9. การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
  10. การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ
  11. การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

2) ผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ด้านการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะที่มีภารกิจในการจัดและส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำพาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยมีบทบาทหลักดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในข้อที่ 4 นโยบายการศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม มีผลการดำเนินงานที่สำคัญดังนี้

  • การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการปรับหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพครูและผู้เรียน การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การใช้จ่ายงบประมาณ และการกระจายอำนาจ โดยมุ่งเน้น 3 ภารกิจหลัก คือ 1) การดำเนินงานตามภารกิจประจำ 2) การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล 3) การวางรากฐานเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป
  • การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยได้จัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน เช่น ค่ายปิดภาคเรียนฤดูร้อน “MOE Summer Camp 2015” โดยกระทรวงศึกษาธิการได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ
  • การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอาชีวศึกษา โดยได้จัดการอบรมและเปิดสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ เช่น จัดอบรมติวเข้มหลักสูตรเร่งรัด 2 เดือน การเปิดสอนหลักสูตร English Program อย่างเต็มรูปแบบในทุกวิชา ยกเว้นวิชาภาษาไทย จำนวน 6 แห่ง รวมทั้งหลักสูตร Mini English Program ใน 4 วิชา ในสถานศึกษา 141 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมประมาณ 4,000 คน
  • การดำเนินโครงการ “อาชีวะสร้างผู้ประกอบการใหม่แบบครบวงจร” และปรับภาพลักษณ์นักเรียนอาชีวศึกษา โดยการให้บริการและดูแลประชาชนผ่านกิจกรรมศูนย์อาชีวะอาสาและโครงการซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center)
  • การอนุรักษ์และพัฒนามรดกศิลปะและวัฒนธรรม อาทิ โครงการเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาปราชญ์แผ่นดินศิลปินแห่งชาติ โดยมีกิจกรรม “สอนศิลป์ ถิ่นกวี ขับกล่อมดนตรีพื้นบ้าน ร่วมสานงานศิลปวัฒนธรรม”
  • การสนับสนุนการเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านและวัฒนธรรมสากล โดยการนำคณะทูตานุทูตและคู่สมรสจาก 27 ประเทศ ผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชน เยี่ยมชมแหล่งมรดกโลก แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงและอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี และการจัดแสดงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยภายใต้โครงการนำความเป็นไทยสู่สากล ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐฝรั่งเศส

3) ผลการดำเนินงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

  • นโยบายที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ มีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การเร่งสร้างโอกาส อาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคง โดยจัดหางานแก่ประชาชนกว่า 4 แสนราย การดูแลผู้สูงอายุ เด็ก สตรี คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส เช่น การให้เงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็ก และด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น การจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน 312 ศูนย์นำร่อง ใน 18 จังหวัด มีกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการประกันตัว ค่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียมศาลและตรวจพิสูจน์แก่ประชาชน 573 ราย รวมเป็นเงิน 83 ล้านบาท
  • นโยบายที่ 7 การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน  มีคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าในการเตรียมการ ซึ่งพบว่าหน่วยงานของไทยมีความพร้อมที่จะสามารถเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ทันตามเวลาที่กำหนด
  • นโยบายที่ 8 การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม มีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิจัยและพัฒนา โดยการปลดเงื่อนไขให้นักวิจัยและนักเรียนทุนในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ให้สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนได้ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาครัฐสู่ภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนถึงการเร่งพัฒนาคนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ในส่วนของการดำเนินงานด้านระบบขนส่งทางราง ได้นำร่องจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ รวมทั้งส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้เยาวชนหันมาสนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

โดย : นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น