นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ในสัปดาห์นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างภายใน สพฐ.ต่อคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. โดยขอตั้งหน่วยงานระดับกรมเพิ่มขึ้น 4 หน่วยงาน คือ กรมประถมศึกษา กรมมัธยมศึกษา กรมวิชาการ และกรมการศึกษาพิเศษ เพื่อให้การทำงานมีความชัดเจน และการตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ มีความคล่องตัว หากมีปัญหาเกี่ยวข้องกับแต่ละกรมเกิดขึ้นก็สามารถแก้ไขได้ทันที ไม่ต้องรอให้เป็นอำนาจของเลขาธิการ กพฐ.อย่างทุกวันนี้ การเสนอปรับโครงสร้างภายใน สพฐ.ครั้งนี้ ไม่ถือเป็นการเพิ่มภาระเรื่องงบประมาณ เพราะไม่ได้เพิ่มบุคลากร หรือต้องจัดสรรงบเพิ่มขึ้น เพียงแต่กระจายงาน และผู้ที่จะมาทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของแต่ละกรม คือรองเลขาธิการ กพฐ. ไม่ได้เพิ่มตำแหน่งใดๆ ส่วนเลขาธิการ กพฐ.จะดูภาพรวมเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาต่างๆ ทั้งการพัฒนาครู บุคลากร รวมถึงงบประมาณ จะได้มีเวลาคิดการทำงานเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่จัดการปัญหารายวันเช่นทุกวันนี้
ค้านไอเดียผู้ตรวจชงยุบสพฐ.
นายกมลกล่าวว่า กรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอโมเดลโครงสร้าง ศธ.ภายหลังการปฏิรูป ให้เน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสถานศึกษา โดยคงสำนักงานปลัด ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่ให้ยุบ สพฐ.โดยตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาปฐมวัย และประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการมัธยมศึกษา และตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขึ้น รวมทั้งยุบสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และจัดตั้งสำนักงานสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ให้มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองอิสระ ภายในการกำกับดูแลของสภานโยบายฯนั้น ไม่แน่ใจว่าสำนักงาน ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจใดมานำเสนอ และจะเสนอใครพิจารณา ที่ผ่านมาแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาจะมาจาก 2 ส่วนหลักๆ คือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีแนวคิดให้จัดตั้งซุปเปอร์บอร์ดเข้ามากำกับดูแลด้านการศึกษาในภาพรวม ส่วนเรื่องโครงสร้าง ทาง สปช.ยังไม่ได้ดำเนินการ เข้าใจว่าให้ ศธ.ไปทบทวน โดยดูความเหมาะสมในเรื่องของการทำงานให้มีความคล่องตัว โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการอำนวยการก็มีมติเห็นชอบจะโอนย้าย สกศ.ให้ไปขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนองค์กรหลักอื่นๆ ก็ขอให้ปรับในเรื่องการทำงานให้คล่องตัว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มี นโยบายว่าช่วงนี้ยังไม่อยากให้แต่ละกระทรวงเดินหน้าเรื่องการปรับโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะนำความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอจากหลายๆ ภาคส่วนมาพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อสรุป และสามารถพัฒนางานด้านการศึกษาได้อย่างแท้จริง
ผอ.ร.ร.สุโขทัยเห็นด้วยยุบสพฐ.
นายธีรศักดิ์ คงเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จ.สุโขทัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วย และสนับสนุนให้แยกการบริหารจัดการการศึกษาระดับปฐมวัย และประถมศึกษา และมัธยมศึกษาออกจาก สพฐ. โดยยกขึ้นมาเป็น 2 แท่ง ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ ไม่มองว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ตรงกันข้ามเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ดี ก่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ลดปัญหาความอุ้ยอ้าย ความเทอะทะ และทำให้จัดการศึกษาเฉพาะกลุ่ม และเฉพาะทางมากขึ้น ส่วนจะทำให้การศึกษาพัฒนาแบบก้าวกระโดดหรือไม่นั้น เชื่อว่าการมีซุปเปอร์บอร์ดโดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเอง หากวางนโยบายดีๆ จะทำให้การศึกษาก้าวกระโดดได้ เนื่องจากการพัฒนาการศึกษา จะต้องเชื่อมโยงกับหลายกระทรวงที่ต้องมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน การมี นายกฯมานั่งเป็นประธาน จะทำให้กระทรวงต่างๆ ทำงานร่วมกับ ศธ.ดีขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยที่จะรวบอำนาจ หรือรวมศูนย์ด้านการบริหารงานบุคคลไว้ที่ซุปเปอร์บอร์ด โดยซุปเปอร์บอร์ดควรคุมเฉพาะนโยบายเท่านั้น แต่ไม่ควรดูแลเรื่องการบริหารงานบุคคล จะทำให้ขาดความคล่องตัว
ผอ.สพม.เขต1หนุนซุปเปอร์บอร์ด
ว่าที่ร้อยตรี อานนท์ สุขภาคกิจ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผ่าทางตันปัญหาของ ศธ. เนื่องจาก ศธ.เป็นกระทรวงใหญ่ ประกอบด้วยข้าราชการกว่า 5 แสนคน มีหลายประเภท ทั้งนักบริหารระดับสูง นักบริหารระดับต้น เป็นข้าราชการพลเรือน ขณะที่ระดับโรงเรียน มีข้าราชการครู พนักงานราชการและลูกจ้าง ดังนั้น การแยกออกเป็นแท่งต่างๆ ทั้งระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา พร้อมกับมีซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็น่าจะช่วยสร้างเอกภาพทางด้านการจัดการศึกษาได้ โดยส่วนตัวเห็นด้วยให้ซุปเปอร์บอร์ดดูแลเรื่องนโยบายการศึกษา แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ดูแลเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เนื่องจากซุปเปอร์บอร์ดอาจจะแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญไม่เหมาะสมกับภารกิจของแต่ละองค์กรหลักได้ ส่วนปัญหาการวิ่งเต้นโยกย้ายที่หลายฝ่ายหวั่นว่าอาจจะวิ่งเข้าหาซุปเปอร์บอร์ดชุดนั้น คนที่ได้รับการแต่งตั้งมาเป็นซุปเปอร์บอร์ด คงต้องผ่านการคัดสรรแล้วว่าเป็นคนดี ห่วงเรื่องการ แต่งตั้ง อาจได้บุคคลไม่เหมาะสมกับงานมากกว่า คงต้องขอศึกษารายละเอียดขององค์ประกอบ และที่มาของซุปเปอร์บอร์ดก่อน
เลขาฯกศน.พร้อมขึ้นเป็นกรม
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อเสนอของสำนักงาน ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่การปรับโครงสร้างต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ใหญ่ หากเห็นว่าควรยกฐานะ กศน.ให้เป็นองค์กรหลักของ ศธ.ก็พร้อมจะทำงาน ที่ผ่านมาในส่วนของสำนักงานปลัด (สป.) ได้หารือถึงการปรับการบริหารจัดการภายใน เพื่อให้การทำงานในแต่ละหน่วยงานมีความคล่องตัว เบื้องต้นขอปรับเปลี่ยน 3 หน่วยงาน คือ กศน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มาเป็นกรมที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ทั้งวิชาการ งบและบุคลากร ได้จบภายในตัวเอง สป.ได้มอบหมายให้ทั้ง 3 หน่วยงานไปยกร่างกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานตามที่เสนอ โดยมีทีมกฎหมายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คอยดูแลให้คำปรึกษา ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปฯ เชื่อว่าหากทุกฝ่ายให้ความเห็นชอบ จะทำให้การบริหารงานมีความคล่องตัว แต่ละหน่วยงานสามารถขับเคลื่อนงานการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
‘สิริกร’ชงฟื้นกรมวิชาการ
นางสิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ในคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ศธ. กล่าวว่า คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้เตรียมเสนอคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาวันที่ 18 มีนาคม ให้ฟื้นกรมวิชาการขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากถูกยุบไปเป็นหน่วยงานภายใต้ สพฐ. ทำให้ไม่สามารถบริหารงานการจัดการหลักสูตรไปได้ครบวงจร ไม่สามารถดูแลเรื่องวิชาการและหลักสูตรให้สถานศึกษาสังกัดอื่นๆ นอกจาก สพฐ.ได้ ปี 2549 มีฐานะเป็นกรม ดูแลเรื่องวิชาการหลักสูตรในภาพรวมของทั้งประเทศ มีบุคลากรกว่า 200 คน แต่หลังใช้โครงสร้างใหม่ถูกยุบเป็นสำนักภายใต้ สพฐ. มีบุคลากร 160 คน แต่มีบุคลากรทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาหลักสูตรโดยตรงแค่ 8 คน ไม่เพียงพอจะจัดระบบบริหารจัดการหลักสูตรตามหลักสากล โดยปกติจะครอบคลุมงาน 4 ด้านหลัก คือ วิจัยและพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครูประจำการให้พร้อมสำหรับหลักสูตร ศึกษาวิจัยติดตามผลนำหลักสูตรไปใช้ และสร้างแบบทดสอบขึ้นมาประเมินผลหลักสูตร ทุกวันนี้บ้านเราทำแค่เรื่องเขียนหลักสูตรเป็นหลักเท่านั้น เพราะกรมวิชาการหายไป
“จะเสนอโยกกรมวิชาการไปขึ้นอยู่กับสถาบันวิจัยระบบการศึกษา เป็น 1 ใน 3 ขององค์กรใหม่ตามรัฐธรรมนูญคือ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือซุปเปอร์บอร์ด สำนักงานหลักประกันการศึกษาแห่งชาติ (สปสช.ด้านการศึกษา) และสถาบันวิจัยฯ เมื่อกรมวิชาการไปอยู่ภายใต้กำกับของสถาบันวิจัยการศึกษาแล้ว จะทำให้การดูแลเรื่องหลักสูตรครบวงจรทั้งการพัฒนา วิจัยและประเมินผลของหลักสูตร ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาคือการยุบกรมวิชาการ เป็นเพียงสำนักใน สพฐ. ไม่มีบทบาท อำนาจหน้าที่จะไปดูแลโรงเรียนอื่นๆ นอกสังกัด สพฐ.ได้ พอขาดวงจรตรงนี้ทำให้การปฏิรูปการเรียนรู้ไม่อาจเกิดผลที่โรงเรียนได้ นอกจากนั้นยังเตรียมเสนอปรับแก้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยเฉพาะหมวด 4 มาตรา 2 โยกอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานออกจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปอยู่ในการดูแลของซุปเปอร์บอร์ดและสถาบันวิจัยการศึกษาด้วย เพื่อจะได้ดูแลงานวิชาการของทั้งประเทศ” นางสิริกรกล่าว
ที่มา : moe