รมช.ศธ. เตรียมติดปีกบุคลากร”แม่พิมพ์”ของชาติ ด้วยการเสริมระบบ TEPE online พัฒนาคุณภาพครู โดยลงไปกำกับดูแลใกล้ชิด ด้วยการมอบนโยบายการพัฒนาครู เน้นการสอนให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน และเสริมวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่ได้รับการยกย่อง เสริมด้วยการยกคุณภาพชีวิตให้ครูสอดคล้องกับเศรษฐกิจ…
ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานมอบนโยบายการพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นฐาน ด้วยระบบ TEPE online โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา รศ.ดร. บัญชา ชลาภิรมย์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1และ ข้าราชการกระทรวงศึกษาฯเข้าร่วมพิธี
พล.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายเร่งด่วนเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โดยทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ รวมทั้งปลูกฝังในเรื่องค่านิยมหลัก 12 ประการ มีความสามารถรอบด้านทั้งทางร่างกายและสังคม ซึ่งในส่วนนี้ยังเล็งเห็นเพิ่มเติมว่า จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมให้วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพชั้นสูงในสังคม เป็นบุคลากรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม มีภูมิความรู้และทักษะในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสม ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ การจะเลื่อน วิทยฐานะของข้าราชการครู จึงเป็นทางเลือกสำคัญ ที่จะช่วยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีโอกาสพัฒนาต่ออย่างมั่นคง ทั้งทางหน้าที่การงานและรายได้ โดยเฉพาะการที่ กคศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธิการในการขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะใหม่ ที่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งวิธีเป็นทางเลือก ที่เรียกว่าหลักเกณฑ์ในการทำข้อตกลงการพัฒนางาน
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ครู 90กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่งผลงานแล้วก็ตก เพราะว่าครูสพฐ.หรือครูระดับประถมและมัธยมของเราไม่มีความถนัดในการทำผลงานรูปแบบของงานวิจัยและพัฒนาแต่ถนัดที่จะทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานได้แก่ โรงเรียนและเขตพื้นที่มากกว่า กคศ.จึงกำหนดหลักเกณฑ์นี้มาให้โอกาสครูทำข้อตกลงการพัฒนางานของตนเอง ทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานของตนเอง ประเมินในพื้นที่ปฏิบัติงานของตนเอง และที่สำคัญประเมินที่ความสำเร็จและคุณภาพที่เกิดกับนักเรียนในความรับผิดชอบของตนเอง เชื่อมั่นว่าครูของเราทำได้และทำได้ดี ตลอดจนเกิดประโยชน์กับนักเรียนโดยตรงอย่างแน่นอน แต่การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์และวิธีการใหม่นี้ กคศ.ได้กำหนดให้ครูที่จะขอทำข้อตกลงการพัฒนางานจะต้องผ่านการพัฒนาตามที่ส่วนราชการ (สพฐ) กำหนด 2 ส่วนก่อน ได้แก่ O ส่วนที่1 การพัฒนาความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎี O ส่วนที่2 การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดหลักสูตรในการพัฒนาความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎีมาไว้ในระบบ TEPE Online โดยครูทั่วประเทศสามารถเข้าสู่ระบบการพัฒนาได้ โดยไม่ต้องไปอบรมในสถานที่อื่นๆนอกพื้นที่การปฏิบัติงาน เป็นการพัฒนาที่สามารถพัฒนาตนเองได้ทุกคน ทุกสถานที่และทุกเวลา ไม่ต้องจ่ายเงินลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้น
“ที่สำคัญไม่ต้องละทิ้งห้องเรียน และครูยังมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นตามภารกิจที่ตนเองรับผิดชอบอีกด้วย จึงเป็นการคืนความสุขให้ครู คืนความสุขให้นักเรียน ประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง และเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของการเดินหน้าประเทศไทยในด้านการจัดการศึกษาของรัฐบาล”พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าว
ด้านดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า คุณภาพการศึกษาระดับประเทศอยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา และเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ย้อนหลังพบว่า คุณภาพผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเหตุปัจจัยของปัญหาที่สำคัญคือ ครูไม่มีโอกาสจัดการเรียนการสอนได้เต็มเวลา เต็มหลักสูตร เนื่องจากข้าราชการครูต้องเข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพตามระบบ เช่น เมื่อครูทำงานวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและนำผลงานนั้นไปนำเสนอขอตำแหน่งใหม่ เมื่อผ่านการประเมินแล้วก่อนเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ต้องเข้ารับการพัฒนาด้วยการประชุมอบรมก่อนแต่งตั้งจำนวน 5–6 วัน และเมื่อมีข้าราชการครูสอบเปลี่ยนตำแหน่งสายงานใหม่ จากครูผู้สอนไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ต้องเข้ารับการอบรมก่อนเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ จำนวน 23 วันทำการ และการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาของข้าราชการครู เมื่อสอบผ่านก่อนได้รับการบรรจุแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง ต้องเข้ารับการอบรมปฏิบัติการเป็นเวลา จำนวน 45 วัน ซึ่งนอกจากจะเสียเวลา และละทิ้งภาระงานประจำไปเข้ารับการอบรมปฏิบัติการทางตรงแล้ว รัฐบาลยังเสียงบประมาณเพื่อการนี้อีกจำนวนไม่น้อยในแต่ละปีงบประมาณ ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของทางราชการ และคืนเวลาปฏิบัติราชการในหน้าที่ให้กับข้าราชการครู สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.จึงได้วางแผนปรับเปลี่ยนรูปการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในรูปแบบใหม่เป็น
“การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยยึดภารกิจและพื้นที่การปฏิบัติงานเป็นฐานด้วยระบบ TEPE Online (Teahers and Educational Personnels Enhancement Based on Mission and Funtional Areas as Major) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาครู และบุคลาการทางการศึกษาที่มีระบบ และกระบวนการที่เน้นให้ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้พัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์ ที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา”นายกมลกล่าว และว่าโดยระบบ TEPE Online ประกอบด้วยส่วนของการพัฒนาตนเอง และส่วนการรับรองความรู้ โดยเริ่มจากความต้องการในการพัฒนาตนเองตามวัตถุประสงค์การพัฒนา เลือกหลักสูตรเพื่อศึกษาเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์การพัฒนาที่มีอย่างหลากหลายสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ และองค์ความรู้สำคัญที่จำเป็น ดำเนินการศึกษาผ่านระบบ TEPE Online ตรวจสอบผลการพัฒนา และเข้าสู่การทดสอบเพื่อรับรองความรู้จากศูนย์สอบจังหวัดที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ด้วยกระบวนการที่ไม่ยุ่งย่าก ซับซ้อน ตลอดจนยังไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางเข้ารับการอบรมตามกระบวนการเดิมอีกด้วย
“สพฐ.เล็งเห็นว่า TEPE Online จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สามารถเรียนรู้ได้ตามความต้องการทุกสถานที่ทุกเวลาตามที่ต้องการด้วยตนเอง ทุกสถานที่ตามความพร้อม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิผล สู่การพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น”เลขาฯสพฐกล่าว.
ที่มา : ไทยรัฐ