ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 สพฐ.ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ดำเนินการสร้างความตระหนักรู้และความพร้อมกับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด โดยกำหนดเป็นนโยบายและดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอาเซียนที่สามารถแข่งขันได้ และอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านได้อย่างสันติสุข ผ่านการเรียนรู้ด้านหลักสูตร โครงการ กิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงพัฒนาภาษาอังกฤษสู่อาเซียน โครงการภาษาที่สอง โครงการพัฒนาโรงเรียนสู่ประชาคมอาเซียน (Spririt of ASEAN) โครงการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) เป็นต้น
เพื่อเป็นการนำเสนอผลงานการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ตลอดจนถึงจุดเน้นและทิศทางในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานภายหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงได้จัดงาน “สพฐ. ก้าวไกล นำการศึกษาไทยสู่อาเซียน” ภายในงานประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่
- การเสวนาพัฒนาการศึกษาไทย ในหัวข้อ “การศึกษาไทยในเวทีอาเซียน” “เตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่เวทีอาเซียน” ของผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
- นิทรรศการแสดงผลการดำเนินงาน ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ 1) นิทรรศการอาเซียนกับการศึกษาไทย 2) นิทรรศการ “สพฐ.ก้าวไกล นำการศึกษาไทยสู่อาเซียน” เป็นค่ายภาษาอังกฤษของนักเรียน 4 ระดับชั้น 3) นิทรรศการ “สพฐ.ต่อยอด อนาคตการศึกษาไทย ก้าวสู่เวทีอาเซียนอย่างยั่งยืน” นำเสนอสถานการณ์จำลองเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและภายหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เชิงบูรณาการ ทั้งเนื้อหา กระบวนการ ภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียน
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า สพฐ.ดำเนินการกิจกรรมการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและสู่โลกในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนและบุคลากรในสังกัดมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะภาษา ทั้งภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลางที่ใช้ในประชาคมอาเซียน และภาษาที่ใช้ในประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนถึงการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ คุณลักษณะที่สำคัญของความเป็นพลเมืองอาเซียนและพลเมืองของโลก
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการศึกษาในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และได้กำหนดเป็นนโยบายเฉพาะในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังจากการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว โดยมีเป้าหมายดังนี้
- เพื่อให้มีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นักเรียนนักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
- เพื่อให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ ขยายความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษา ตลอดจนการเปลี่ยนทางการศึกษากับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อให้สามารถพัฒนาและเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาประเทศสมาชิกอาเซียน
- เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายในลักษณะของสังคมพหุวัฒนธรรม และให้ความเคารพในอุดมการณ์ ความเชื่อ บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้กับนักเรียนนักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ
จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องที่ได้ดำเนินการไปแล้วหรือเรื่องที่กำลังจะดำเนินการต่อไป บรรลุถึงเป้าหมายและบังเกิดผลได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รักสันติสุข มีความอดทนอดกลั้น ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา และความท้าทายต่างๆ ในศตวรรษที่ 21
ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในเรื่องของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของ ศธ.ได้พิจารณางานที่ต้องดำเนินการจากหลายส่วน เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 นโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน และประเด็นสำคัญด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้สรุปเป็นแนวทางในการดำเนินงานของ ศธ.ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไว้ ดังนี้
“เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ เท่าทันเทคโนโลยี สามัคคีอาเซียน” ซึ่งสามารถขยายความได้ดังนี้
- เสริมสร้างความเข้าใจ หมายถึง การเข้าใจในสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์พื้นฐานของแต่ละประเทศและในประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก
- ใฝ่รู้ภาษา หมายถึง ใฝ่รู้ที่จะเข้าใจภาษาอังกฤษ ภาษาอาเซียน และภาษาของประเทศคู่เจรจา
- มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ หมายถึง การพัฒนาความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมทั้งกับประเทศสมาชิกอาเซียน
- เท่าทันเทคโนโลยี หมายถึง การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาคนและการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในทุกระดับและตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ดำเนินการทั้ง 4 กระบวนการที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะส่งผลให้เรามีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเมื่อทุกประเทศมีความพร้อม ก็จะนำเข้าสู่ “ความสามัคคีของอาเซียน” ต่อไป
ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ช่วยขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกคนจะประสบความสำเร็จและเกิดผลสัมฤทธิ์ในที่สุด
โดย : นวรัตน์ รามสูต,บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe