ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเยาวชน (สสค.) ได้มีการแถลงข่าวคลี่ตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี เสียงสะท้อนจากครูที่นักปฏิรูปต้องฟัง โดย ดร.ไกรยศ ภัทรวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า จากการวิจัยเรื่อง กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู โดยการสัมภาษณ์ครูที่ได้รับรางวัล “ครูสอนดี” จาก สสค. ทั่วประเทศ 427 คน ระหว่างวันที่ 15 ก.ย.-15 ต.ค.2557 พบว่า ใน 1 ปี มีจำนวนวันเปิดเรียน 200 วัน หรือ 1 ปีการศึกษา ซึ่งครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียน ที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนถึง 84 วัน คิดเป็น 42% โดยกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การประเมินของหน่วยงานภายนอก 43 วันต่อปี การจัดแข่งขันทางวิชาการ 29 วัน และการอบรมที่จัดโดยหน่วยงานภายนอก 10 วัน ทั้งนี้หน่วยงานประเมินที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุดคือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) 98% ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุดคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 52.63% และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 38.30% นอกจากนี้ครูมากกว่า 90% เห็นว่าโรงเรียนต้องมีอิสระในการบริหารจัดการทุกด้าน และควรคืนครูสู่ห้องเรียน ตลอดจนลดภาระงานของครูที่ไม่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตัวเลข 42% ที่ครูใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนเป็นสิ่งที่น่าตกใจมาก เพราะผลการวิจัยขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2555 ที่ได้ศึกษาเวลาของครูที่ใช้ในห้องเรียน พบว่า เมื่อครูถูกดึงออกนอกห้องเรียนที่ไม่เกี่ยวกับการสอนไป 20-30% จะมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดคุณภาพการศึกษาของไทยจึงไม่ดีขึ้น ยิ่งปัจจุบันมีนโยบายว่าทุกโรงเรียนต้องทำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของเด็กให้สูงขึ้น ยิ่งทำให้ครูไม่ต้องสอนหนังสือ เพราะไปติวแต่โอเน็ต ทำให้การคิดวิเคราะห์ของเด็กทุกวันนี้เป็นของปลอม ไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้ แต่เกิดจากการติว ซึ่งอันตรายมาก ส่วนเสียงสะท้อนที่ต้องการให้ลดภาระงานของครูลงนั้น ตนได้ยินมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ปัจจุบันยังเหมือนเดิม ไม่มีการตัดสินใจในเชิงนโยบายของคนข้างบน ดังนั้นในเมื่อเวลานี้กำลังมีการปฏิรูปการศึกษา และต้องการจะหาของขวัญมอบให้ครู ก็ควรลดภาระงานเอกสาร และยุบ สมศ. ลง เชื่อว่าครูจะมีความสุขกับการสอนอย่างแน่นอน
ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า การศึกษาไทยยังขาดข้อมูลอีกเยอะ ที่ผ่านมาการวางแผนจึงอยู่บนความเห็นเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ตนมองว่าปัญหาการศึกษาทุกวันนี้เกิดจากการผูกติดอยู่กับระบบความดีความชอบ และการประเมินวิทยฐานะ ดังนั้นควรมีการรื้อ และแก้กฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการพิจารณาความดีความชอบ และการประเมินวิทยฐานะของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รวมถึงการโยกย้าย และบรรจุแต่งตั้งของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ เพราะปัจจุบันมีปัญหาการเรียกรับเงินกันมาก ซึ่งน่าแปลกใจว่า อ.ก.ค.ศ. ได้เบี้ยประชุมไม่กี่ร้อยบาท แต่ทำไมคนจึงแย่งกันทำหน้าที่นี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เปิดช่องให้คนไม่ดีมาเรียกร้องประโยชน์จากครู นอกจากนี้ตนอยากให้ สมศ. ชะลอการประเมินคุณภายภายนอกรอบสี่ และทบทวนสิ่งที่เป็นปัญหาให้ได้ก่อน ได้แก่ มาตรฐานตัวชี้วัด มาตรฐานผู้ประเมิน และภาระงานเอกสาร เพราะหากยังแก้ไม่ได้การประเมินฯรอบสี่ก็ไร้ความหมาย และเป็นปัญหาแน่
นายอาคม สมพามา ตัวแทนครูสอนดี โรงเรียนสายธรรมจันทร์ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า อยากให้ทบทวนวิธีการสอบโอเน็ตใหม่ เพราะถ้าวัดด้วยคำถามแบบปรนัย โดยใช้ข้อสอบชุดเดียวกันทั้งประเทศ และบอกว่าผลสัมฤทธิ์ของเด็กต่ำ ตนคิดว่าไม่ยุติธรรม เพราะเราไม่ได้วัดในสิ่งที่เด็กใช้ และไม่สอดคล้องกับบริบทของนักเรียนที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ทุกวันนี้โรงเรียนยังถูกฉกฉวยผลประโยชน์จากกระทรวงต่างๆ โดยใช้เด็กเป็นเครื่องมือ และให้ครูเป็นผู้สร้างเครื่องมือ เพื่อสร้างผลงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานตนเอง ทุกวันนี้ครูจึงต้องทำหลายหน้าที่ ทั้งสอน เป็นที่ปรึกษาเด็ก เยี่ยมบ้านเด็ก และทำงานธุรการ ซึ่งรู้สึกไม่ยุติธรรมกับครู จึงอยากให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน.
ที่มา : เดลินิวส์
ข่าวอื่นๆ
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น