เสวนาวิชาการ “สะเต็มศึกษา” นักวิชาการมองเพื่อเป็นการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ด้าน ผอ.รร.ภาคใต้เผยสามารถผนวกในกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ได้ทันที แต่ผู้บริหารโรงเรียนต้องจริงจัง
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์สะเต็มศึกษาจำเป็นต้องมี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
- การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน
- การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษา
- การพัฒนาครูและบุคลากรสะเต็ม และการส่งเสริมให้ทูตสะเต็มเข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจต่ออาชีพด้านสะเต็ม
- การปรับเปลี่ยนการประเมินในโรงเรียนและระดับชาติให้สอดคล้องกับสะเต็มศึกษา โดยมุ่งเน้นการประเมินความรู้ควบคู่ไปกับทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และพัฒนาระบบการประเมินให้ครอบคลุมการวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาในชีวิตจริง
ผอ.สสวท.ยังได้กล่าวถึงความก้าวหน้าในเรื่องนี้ว่า ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนจัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ ตลอดจนมาตรการในการดำเนินงานร่วมกับศูนย์สะเต็มศึกษาภาค 13 ศูนย์ เพื่อสร้างและพัฒนากำลังคนด้านสะเต็มศึกษาที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น โดยมุ่งสร้างโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 91 โรงเรียน เป็นโรงเรียนต้นแบบของการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา พร้อมทั้งขยายโรงเรียนเครือข่ายสะเต็มศึกษาให้ครอบคลุมทุกสังกัด ทุกเขตพื้นที่การศึกษา โดยกลไกการพัฒนาครูในรูปแบบ Train the Trainer สร้างและพัฒนาวิทยากรหลัก (core trainer) เพื่อพัฒนาวิทยากรท้องถิ่น (local trainer) และครูผู้สอนสะเต็มศึกษา (STEM teacher)
ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาให้นักเรียน ผู้ปกครองและครู จึงได้จัดกิจกรรม Thailand STEM Festival เป็นประจำทุกปีด้วย
ในส่วนของการเสวนา หัวข้อ “สะเต็มศึกษา : เรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา พัฒนานวัตกรรม นำสู่อาชีพ” นั้น ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบัณฑิตในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการกำลังคนด้าน STEM จำนวนมาก ให้สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยกำลังคนด้าน STEM จำเป็นต้องมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่ง World Economic Forum (WEF) ได้ให้นิยามไว้ครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่
- ทักษะในการดำรงชีวิต อาทิ การอ่าน เขียน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ICT ฯลฯ
- ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม
- บุคลิกภาพแบบใหม่ เช่น การมีจิตอาสา ความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้ริเริ่ม
นายภักดี เหมทานนท์ ผู้อำนวยการ รร.เบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การผลักดันให้สะเต็มศึกษาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแบบองค์รวมในโรงเรียนได้นั้น ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเอาจริงเอาจัง ส่งเสริมให้ครูทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องมีความตระหนักถึงความสำคัญของสะเต็มศึกษา และต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา โดยการบริหารจัดการการเรียนการสอนสะเต็มศึกษานั้นจะต้องให้สอดรับกับนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของ ศธ. โดยโรงเรียนสามารถนำกิจกรรมสะเต็มศึกษาไปใช้จัดกิจกรรมได้เลย นอกจากนี้ ผู้บริหารโรงเรียนต้องสนับสนุนการทำงานเชิงบูรณาการของครูใน 3-4 วิชาที่เกี่ยวข้องในสะเต็มศึกษา และต้องส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ร่วมกันของครู สร้างเป็นชุมชนของการเรียนรู้ของครู เพื่อช่วยกระตุ้นให้ครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน และตื่นตัวในการใช้สะเต็มศึกษา.
ที่มา : ไทยโพสต์