ครม.รับทราบแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล 21 ข้อ – ครูระยอง

Print Friendly

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ รับทราบแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล 21 ข้อ ตามวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล พ.ศ. 2560 โดยเรื่อง “การจัดการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมและทั่วถึง” เป็นเรื่องที่ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจเป็นอย่างมาก

แนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล

พันเอกหญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล ตามวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ดังนี้

1. ตั้งเป้าหมายการพัฒนา ที่ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง กล่าวคือ ทำให้ประชาชนมีความสุข มีความพึงพอใจ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG 2030 ขององค์การสหประชาชาติ

2. สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรักษาสมดุล ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

3. ส่งเสริมการแก้ปัญหาตามแนวทางสันติวิธี และยึดแนวทางการพัฒนา “สีเขียว”

4. ส่งเสริมการปฏิรูปที่กว้างขวางและลึกซึ้งในทุกมิติ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

5. จัดทำแผนงานโครงการที่เป็นรูปธรรม และจับต้องได้ โดยกำหนดเป็นกิจกรรมหลัก กิจกรรมรอง กิจกรรมเสริม ในทุกประเด็นการปฏิรูป ซึ่งต้องกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ สามารถประเมินผลการดำเนินงานได้ตามห้วงระยะเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุก 5 ปี

6. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศชาติและประชาชน โดยมีการพัฒนาประชาธิปไตย ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และมีอัตลักษณ์

7. วางรากฐานของประเทศ ที่ประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ความเป็นไทยอันงดงาม

8. สร้างความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง โดยรักษาความเป็นธรรม ความถูกต้อง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และเสมอภาค

9. สร้างความหวังและศรัทธา บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ แล้วทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างอนาคตร่วมกันที่ดีกว่า

10. สร้างประเทศที่มีความเท่าเทียมทางสังคม และไม่เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมการพัฒนาและปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับฐานราก ให้เข้มแข็ง มั่นคง และปลอดภัย

11. สร้างประเทศไทยให้เป็นนิติรัฐ เสริมด้วยการปฏิบัติงาน คำนึงถึงด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ด้วย ในการบังคับใช้กฎหมาย

12. ยกระดับคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยยกระดับความสำคัญของประเทศไทยในเวทีโลก อย่างมียุทธศาสตร์ ทั้งโดยพฤตินัย นิตินัย ทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคี

13. เอาจริงเอาจังกับการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยสร้างกลไกการทำงาน กลไกการตรวจสอบที่บูรณาการ และสามารถป้องกันปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทั้ง 2 ฝ่าย (ผู้เสนอและผู้รับ)

14. เสริมสร้างศักยภาพระบบราชการไทย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง กองทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ทันสมัย สร้างความเชื่อมั่น และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ตลอดเวลา

15. รักษาความสัมพันธ์อันดีกับทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาคในประชาคมโลก ด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี เพื่อความสมดุลและเสถียรภาพของโลก

16. ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และอาเซียนในการพัฒนาร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน

17. กระชับความสัมพันธ์ ในลักษณะเป็นห่วงโซ่เดียวกัน ด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ลดความหวาดระแวง และสร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียม

18. ขยายความร่วมมือกับประเทศที่กำลังพัฒนา และเชื่อมโยงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ในลักษณะเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเร่งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และความเชื่อมโยง ทั้งภายในและภายนอก โดยจัดลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วน และงบประมาณที่มีอยู่

19. สร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ด้วยการทำให้คนทั้งประเทศ ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกกลุ่มรายได้ มีความสุข ความพึงพอใจ บนพื้นฐานของ “ความพอเพียง” และพัฒนาตนเองต่อไปในอนาคต

20. สร้างการเมืองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ นับเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศไทย แต่การเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล รับผิดชอบทั้งข้าราชการและประชาชนเกือบ 70 ล้านคน ทั้งประเทศ กำกับดูแล ทั้งงาน Function และงาน Agenda

21. ปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ นำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยใช้ดิจิทัล และเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว


 ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจมาทุกปี เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและสะท้อนความต้องการที่จะให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 5,000 คน สรุปดังนี้

1. การติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร้อยละ 86.5 ระบุว่าติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล และ คสช. เช่น รายการคืนความสุขให้คนในชาติ ร้อยละ 13.5 ที่ไม่ติดตาม โดยผู้ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารดังกล่าวระบุว่า ติดตามจากโทรทัศน์ฟรีทีวีมากที่สุด คือ ร้อยละ 53.9 รองลงมาคือ โทรทัศน์จานดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวี ร้อยละ 37.2 สื่ออินเทอร์เน็ต ร้อยละ 18.6 เพื่อน ญาติ คนในครอบครัว ร้อยละ 17.0 และหนังสือพิมพ์หรือเอกสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์ ร้อยละ 15.8

2. ความพึงพอใจต่อการบริหารงานโดยรวมของรัฐบาลที่ผ่านมา  คะแนนความพึงพอใจ อยู่ที่ 7.45 คะแนน  จากคะแนนเต็ม 10 เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของประชาชนพบว่า ร้อยละ 79.7 ระบุว่าพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ภาคใต้ให้คะแนนความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3. เรื่องที่ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมา มากกว่า 7 คะแนนขึ้นไป จากคะแนนเต็ม 10 เช่น การจัดการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมและทั่วถึง  การปราบปรามผู้มีอิทธิพล  การปราบปรามขบวนการทำลายทรัพยากรป่าไม้ / ทรัพยากรธรรมชาติและทวงคืนผืนป่า การปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การจัดระเบียบสังคม การยกระดับคุณภาพและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย การปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด การปราบปรามบ่อนการพนัน การสร้างความปรองดองและคืนความสุขให้แก่คนในชาติ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

4. ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ คะแนนความเชื่อมั่นอยู่ที่ 7.44 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของประชาชนพบว่าร้อยละ 79.8 เชื่อมั่นอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ภาคใต้ให้คะแนนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

5. เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2560  ใน 5 อันดับแรก คือ การแก้ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง รองลงมาได้แก่ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน การแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำหรือพยุงราคา การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และการแก้ไขปัญหาว่างงานหรือจัดหาอาชีพ และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่าภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร  ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในปี พ.ศ. 2560 มากกว่าเรื่องอื่น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ การแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำหรือพยุงราคา

6. ข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของรัฐบาล ร้อยละ 96.6 ได้ให้ข้อเสนอแนะ 5 อันดับแรก คือ การควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง รองลงมาได้แก่ การแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้มีราคาต่ำหรือพยุงราคา การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน การแก้ไขปัญหายาเสพติด และการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการ และนักการเมือง เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่าภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพงมากกว่าเรื่องอื่น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ การแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ และพยุงราคา


อนุมัติร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางในศาสตร์ทางการกีฬา มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมวิชาการทางการกีฬาและวิชาชีพชั้นสูง ผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา การพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการกีฬา บริหารธุรกิจการกีฬา และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เป็นศูนย์ฝึกของนักกีฬาระดับชาติ เป็นแหล่งสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาชั้นเลิศของประเทศ โดยมีโรงเรียนกีฬาสำหรับฝึกฝนเยาวชนก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสถาบันพลศึกษา พ.ศ. 2548 และให้ “สถาบันการพลศึกษา” เป็น “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” ตามพระราชบัญญัตินี้ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยให้แต่ละภาคประกอบด้วยวิทยาเขตและโรงเรียนกีฬา รวมทั้งกำหนดให้มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยสภา 3 สภา ได้แก่ สภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ สภาคณาจารย์และข้าราชการ และกำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลหน่วยงาน

โดย : บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น