ผลวิจัยชี้ 12ข้อ เสนอรัฐต้องทำเพื่อพัฒนา รร.ขนาดเล็ก
ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค อดีตรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า มก.ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน” โดยเก็บข้อมูลจากโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศกว่า 400 แห่งซึ่งพบว่า
แนวทางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนให้มีคุณภาพสูงขึ้นได้รัฐบาลจะต้องทำ 12 เรื่องสำคัญ ดังนี้
- กระตุ้นสังคมให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของคนไทยทุกคนในการสนับสนุนการศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างมั่นคง
- สนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างความเข้าใจแนวทางการสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนอย่างถูกต้อง
- การเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการงบประมาณด้วยตนเองให้มากขึ้น
- สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของคณะกรรมการโรงเรียนขั้นพื้นฐานในการกำกับและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของโรงเรียน
- สนับสนุนการวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เกิดความยั่งยืน
- สนับสนุนกลไกการถ่ายทอดนโยบายลงสู่การปฏิบัติให้กับโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถประเมินวัดผลได้จริง
- เสนอให้คุรุสภาจัดทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยผลิตครูในการจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่ตอบสนองกับสมรรถนะของบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนได้จริง และปรับระเบียบกฎเกณฑ์ให้สามารถฝึกประการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ผ่านการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)ได้ด้วย
- มีแนวทางที่ชัดเจนในการทำอนุสัญญาระหว่างโรงเรียนในการรวมโรงเรียนเครือข่ายเพื่อให้การดำเนินงานของโรงเรียนต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
- วางแผนกำลังคนสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในการกำหนดจำนวนและอัตราตำแหน่งของแต่ละหน่วยงานทางการศึกษา
- ให้ปรับเกณฑ์และวิธีการประเมินเกี่ยวกับมาตรฐานภาระงานขั้นต่ำตามตำแหน่งและวิทยฐานะ โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์กับนักเรียนเป็นหลัก
- จัดทำกลไกให้โรงเรียนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการนำนโยบายต่าง ๆ ลงสู่การปฏิบัติและการปรับปรุงอย่างเป็นระบบ
- ส่งเสริมการรวมโรงเรียนโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบการรวมโรงเรียนและวิธีการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน
“นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดสรรและสนับสนุนการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทยกับโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศฟินแลนด์พบว่ามีความแตกต่างกันโดยประเทศฟินแลนด์ใช้หลักการจัดสรรที่แตกต่างกันตามความจำเป็น แต่เด็กนักเรียนจะได้รับการจัดการศึกษาที่เท่าเทียมกันทุกโรงเรียน ส่งผลให้การศึกษาของฟินแลนด์มีคุณภาพสูงสอดคล้องกับระดับการพัฒนาประเทศ ขณะที่การศึกษาไทยที่ใช้ระบบจัดสรรเงินรายหัวเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ ทั้งๆ ที่แต่ละมีความพร้อมแตกต่างกันมาก ทำให้การศึกษาไทยไม่มีคุณภาพืเท่าเทียมกัน”
ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าว