“กำจร” ย้ำจุดยืนปรับโครงสร้าง ศธ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรถามตัวเองจะอยู่ตรงไหน แต่ควรตอบให้ได้ว่าภาระงานจะอยู่ตรงไหน ไม่ขวางถ้า สอศ.เอาอาชีวะเอกชนมารวมไว้ แต่จะปรับเป็น 4 กรมหรือไม่ ยังไม่ลงตัว ในกรณีซูเปอร์บอร์ดเห็นชอบคาดโครงสร้างใหม่ขยับเร็วสุดได้แค่ 6 เดือน
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้าง ศธ. ว่า ตนได้มอบหมายให้แต่ละองค์กรหลักกลับไปดูภารกิจของแต่ละหน่วยงานว่ามีอะไร ยังขาดตกบกพร่องในส่วนใด รวมถึงให้มีข้อเสนอแนะทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยตั้งกติกาไว้ว่า อย่าถามว่า “ฉันจะอยู่ตรงไหน” แต่ให้ตอบว่า “ภาระงานจะอยู่ตรงไหน” ส่วนคำถามที่ว่า หากมีการปรับโครงสร้างใหม่ และให้มีผู้บริหารระดับ 11 คือปลัด ศธ.เพียงตำแหน่งเดียวนั้น ตามกฎหมายแล้ว ผู้บริหารระดับ 11 ในองค์กรหลักที่เหลือไม่สามารถลดตำแหน่งได้ จะเป็นระดับ 11 เฉพาะตัวจนหมดวาระ หรือได้โยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมในกระทรวงอื่น หรือตำแหน่งอื่น
สำหรับกรณีที่อาชีวศึกษาเอกชนจะย้ายจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีเป้าหมายว่าจะรวมอาชีวศึกษาของรัฐและอาชีวศึกษาเอกชนเข้าด้วยกันภายในเดือนมกราคม 2559 ปลัด ศธ.กล่าวว่า ต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ด้วย แม้ขณะนี้จะอยู่ระหว่างการทบทวนโครงสร้าง ศธ. การดำเนินการดังกล่าวก็ต้องเดินหน้าต่อไป ไม่เบรก เพราะการปรับโครงสร้างยังไม่มีอะไรแน่นอน ถึงไม่รวมกันในตอนนี้ อนาคตถ้ามีการปรับโครงสร้างใหม่ อาชีวศึกษารัฐและเอกชนก็ต้องรวมกันอยู่แล้ว ถึงแม้ สอศ.จะไม่เป็นองค์กรหลัก และมีการแตกเป็นกรมตามร่างโครงสร้าง ศธ.ที่วางไว้ ก็สามารถมาจัดเก้าอี้กันใหม่ได้ ส่วนที่ สอศ.เสนอขอเป็นองค์กรหลักตามเดิม โดยมี 4 กรมในสังกัดนั้น เรื่องนี้ยังไม่มีการเสนอมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณาเลย ดังนั้นจึงยังไม่มีการพูดกันในประเด็นดังกล่าว
“ทั้งนี้ จะมีการยกร่างโครงสร้างใหม่คราวๆ ให้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาและตัดสินว่าจะเดินหน้าตามโครงสร้างที่ ศธ.เสนอหรือไม่ หากซูเปอร์บอร์ดเห็นชอบให้เดินหน้าก็ต้องกลับมาดำเนินการในรายละเอียด อาทิ จัดกลุ่มภาระงาน จัดคนลงงาน ดูผลกระทบทางกฎหมาย ซึ่งใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 6 เดือน จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป” นพ.กำจรกล่าว.
ที่มา : ไทยโพสต์