พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานว่า เท่าที่ดูข้อเสนอของสปช. สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่ ศธ.ดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยตนได้ขอให้กรรมาธิการไปจัดทำรายละเอียดข้อมูล รวมถึงเหตุผลที่ต้องมีการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ เพื่อมาดูแนวทางการดำเนินงานก่อนที่จะนำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวว่า รมว.ศธ.ได้ขอข้อมูลที่ สปช.ไปรวบรวมและได้กลั่นกรองไว้แล้ว พร้อมทั้งข้อเสนอแนะที่ชี้ถึงวิธีการแก้ปัญหา เพื่อ ศธ.จะได้สานต่อและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตามในการประชุมได้มีการหารือใน 3 วาระสำคัญ คือ
- ปฏิรูประบบการจัดการศึกษา
- ปฏิรูประบบการคลังด้านการศึกษา ด้านอุปสงค์
- ปฏิรูประบบการเรียนรู้
โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างขว้างขวางโดยเฉพาะ วาระระบบการจัดการศึกษา และการกระจายอำนาจ ซึ่งสปช.นำเสนอการดำเนินการ โดยเน้น 5 ด้าน คือ
- ปฏิรูปนโยบายการจัดการศึกษาและการจัดองค์กรในระบบการศึกษา ที่เน้นการกระจายอำนาจการจัดการสถานศึกษา การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
- ปฏิรูปการเตรียมการผู้เข้าเรียน
- ปฏิรูปการบริหารบุคลากรทางการศึกษา ทั้งการผลิต ปรับปรุงพัฒนา การประเมินผล และสร้างระบบคุณธรรมของบุคลากร
- ปฏิรูประบบธรรมาภิบาลการจัดการศึกษา
- ปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปฏิรูปการคลังด้านการศึกษา ได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การมีส่วนร่วมของประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน มีการจัดทำระบบคูปองการศึกษาโดยจัดสรรให้แก่ผู้เรียนนำไปจ่ายให้แก่สถานศึกษาด้านอุปสงค์ตรงตามระดับการศึกษา มีการจัดสรรงบดำเนินการที่ต้องการเพิ่มพิเศษเพื่อจัดสรรงบประมาณให้แก่ผู้เรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เพียงพออย่างมีคุณภาพและตามความเป็นจริง สำหรับการปฏิรูประบบการเรียนรู้ ทุกระดับให้เหมาะสมและทันสมัยทั้งหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรตามภูมิสังคม และหลักสูตรเฉพาะ รวมทั้งมีวิธีการจัดการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักคิดด้วยเหตุและผล หาความรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งการเรียนในห้องเรียน การเรียนจากกิจกรรม การเรียนรู้ชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรม และการฝึกทักษะ ตลอดจนปฏิรูปวิธีการวัดผล เพื่อสะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทั้งการวัดความรู้ร่วม การวัดความรู้เฉพาะ การวัดทักษะ และการวัดผลการจัดการศึกษา โดยวัดผลจากการทำงานของผู้ที่จบไปแล้ว อีกทั้งควรมีการปฏิรูปการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยควรเน้นสร้างความรู้ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเสริมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
“อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้มีการพูดถึง เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างศธ.ด้วย แต่ไม่ได้มีข้อเสนอให้ปรับหรือรื้อโครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นการพูดถึงบทบาทหน้าที่ของกระทรวงที่ต้องดำเนินการในอนาคต คือ ประกันโอกาสทางการศึกษา ประกันคุณภาพทางการศึกษา วางแผนผลิตกำลังคนและการจ้างงาน และวิจัยพัฒนาระบบการศึกษา” รศ.นพ.กำจร กล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์