รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบาย “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Moderate Class More Knowledge” ซึ่งจะเริ่มต้นนำร่องในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 นั้น ล่าสุดวันนี้ (28 สิงหาคม 2558) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทั่วประเทศเตรียมการแล้ว
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการปรับลดเวลาเรียนให้เรียนในชั้นเรียนถึงเวลา 14.00 น.ของแต่ละวัน หลังจากนั้นจึงให้นักเรียนได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นการพัฒนานักเรียนในด้านอื่นๆ ภายในโรงเรียน โดยจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 และมีเป้าหมายจำนวนโรงเรียนนำร่องร้อยละ 10 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด
ดังนั้น จึงแจ้งให้มีการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาร้อยละ 10 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา โดย
- เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ให้คัดเลือกโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด โรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ และโรงเรียนอื่นๆ ตามความเหมาะสม
- เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้คัดเลือกตามความเหมาะสมให้มีความหลากหลายตามขนาดและที่ตั้งของโรงเรียน
- สำนักบริหารการศึกษาพิเศษ ให้คัดเลือกตามความเหมาะสมให้มีความหลากหลายตามขนาดและที่ตั้งของโรงเรียน
ทั้งนี้ สพฐ.จะส่งแบบสำรวจอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุดต่อไป
พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในวันนี้ (28 สิงหาคม 2558) อีกด้วยว่า นโยบายการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มีเจตนาการปรับลดเวลาเรียนให้น้อยลง เป้าหมายเพื่อให้เด็กไม่ต้องเครียดจนเกินไป ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ไปศึกษาและพิจารณาแล้วว่ามีความเป็นไปได้ คือสามารถลดการเรียนวิชาหลักลงได้ จากเดิมนักเรียนต้องเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 840 ชั่วโมงต่อปี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่ง สพฐ.เห็นว่าน่าจะสามารถเลิกเรียนได้ในเวลา 14.00 น.
อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการก็ได้มาพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย หากผู้ปกครองบางกลุ่ม ไม่พร้อมที่จะรับเด็กกลับบ้าน เพราะติดภาระหน้าที่การงาน หรือกลัวลูกจะได้รับอันตราย และสบายใจที่จะให้ลูกอยู่ในโรงเรียนมากกว่า ส่วนผู้ปกครองอีกกลุ่ม อาจจะมีภาระทางบ้านที่ต้องการให้พี่มาช่วยเลี้ยงน้อง มาช่วยดูแลบ้าน ทั้งสองส่วนนี้ไม่ได้ห้าม ถ้าจะกลับบ้านก็ได้ แต่ส่วนที่ไม่พร้อมรับเด็กกลับบ้าน โรงเรียนจะจัดกิจกรรมที่มีความสุขให้เด็กในช่วงเวลาดังกล่าว แนวทางนี้จะตอบคำถามของนายกรัฐมนตรีที่ให้จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข
ดังนั้น เมื่อเลิกเรียนในชั้นเรียนเวลา 14.00 น.แล้ว เด็กสามารถไปทำกิจกรรม เล่นกีฬา ดนตรี หรือครูพาไปทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งจะให้เด็กนั่งทำการบ้านในเวลาดังกล่าวก่อนกลับบ้านก็ได้ โดยกิจกรรมนั้นต้องไม่ใช่การเพิ่มการบ้านให้เด็ก ซึ่งขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างจัดทำกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ โดยได้ย้ำกับ สพฐ. ไปแล้วว่า หากเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้เด็กเครียด ก็สามารถทำได้
โดย : บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา : moe