“รมว.ศธ.” มอบกรอบนโยบาย เดินตามพระราชดำรัสในหลวง 3 ข้อ เร่งทำ 10 ข้อ ตามนายกฯ สั่ง ผอ.สพท.ทั่วประเทศส่งการบ้านแผนการดำเนินงานภายใน 7 วัน แจงเด็กเลิกเรียนบ่าย 2 ยังไม่ได้ให้กลับบ้าน แต่จัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงการมอบนโยบายให้ผู้บริหาร ศธ. และการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศนั้น รมว.ศธ.กล่าวว่า ตนขอให้หัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แปลงนโยบายออกมาเป็นงานในของแต่ละองค์กรตามขอบเขตความรับผิดชอบ และส่งการบ้านให้ตนภายใน 7 วัน โดยแบ่งงานออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- ขณะนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
- ปรับปรุงงานตามนโยบาย
- เติมงานใหม่ แบ่งเป็น งานที่เติมได้เลยโดยไม่ต้องใช้งบเพิ่ม และงานที่ต้องเริ่มใหม่
โจทย์ที่ต้องตอบคำถามคือการนำกระแสพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ
- ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู
- ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แค่ให้แข่งขันกับตัวเอง
- ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน
ดังนั้นต่อจากนี้ ศธ.จะต้องยึดกระแสพระราชดำริดังกล่าวเป็นกรอบเดินตามการดำเนินงาน ซึ่งทั้ง 3 ข้อครอบคลุมงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
“ผมขอย้ำให้ผู้บริหารทุกระดับทำแผนงานโครงการ อย่าลอกกัน อย่าปล่อยให้ลูกน้องทำ ต้องฉีกปัญหาให้ขาด ปรับปรุงผลงานเดิมที่ไม่สัมฤทธิผล ดูว่าที่ผ่านมาทำไมถึงไม่สำเร็จ และแก้ไข ทั้งนี้ ในส่วนของกิจกรรมที่จะทำต่อไปต้องตอบได้ว่าตรงกับตรรกะใดในพระราชดำรัส 3 ข้อนี้ได้” รมว.ศธ.กล่าว
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของนโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรีที่ต้องเร่งดำเนินการมีทั้งหมด 10 ข้อ คือ
- ให้ทำเร็ว มีผลสัมฤทธิ์ภายในเดือนกันยายน 2559 ที่เหลือส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป
- ประชาชน สังคม พึงพอใจ
- ปรับลดภาระที่ไม่จำเป็นของ ศธ.ลง
- เร่งปรับหลักสูตรตำรา/แต่ละกลุ่มให้เหมาะสม การพิมพ์ตำราต้องคุ้มค่า
- ผลิตคนให้ทันกับความต้องการของประเทศ จบแล้วมีงานทำ ช่วยแก้ไขปัญหาว่างงานและปัญหาสังคมได้
- ปรับหลักสูตรทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครอง มีความสุข
- ใช้สื่อการสอนกระตุ้นผู้เรียน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
- ลดความเหลื่อมล้ำจัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ
- นำระบบไอซีทีเข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง
- เรียนไม่ใช่เพื่อสอบ แต่เรียนให้ได้ทักษะชีวิต อยู่ในยุคโลกไร้พรหมแดน
ซึ่งตนจะให้ความสำคัญกับโครงการพระราชดำริมาก โดยจะมอบหมายให้ รมช.ศธ. 1 คน เข้ามาดูแลเรื่องนี้เป็นหลัก
สำหรับเรื่องงบประมาณที่ผ่านมาได้รับฟังรายงานจากผู้บริหารองค์กรหลัก ว่าการใช้งบเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งในส่วนของปีงบประมาณ 2559 ให้แต่ละหน่วยงานเริ่มวางแผนโครงการตั้งแต่ไตรมาสแรก เสนอขอใช้งบกลางเฉพาะที่จำเป็น โปร่งใส ตรวจสอบได้ บางโครงการต้องมีการบูรณาการข้ามแท่ง ก่อนไปบูรณาการกับสำนักงบประมาณ โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ของแต่ละกระทรวง เพื่อมาช่วยรัฐมนตรีปลัดกระทรวงและผู้บริหารองค์กรหลักดูแลการใช้งบประมาณ ว่าโปร่งใส ถูกต้องหรือไม่ ต่อไปจะไม่เกิดเหตุแบบกรณีการจัดซื้อจัดจ้างสนามฟุตซอลอีก
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตนเองจะให้ลดเวลาเรียน โดยให้นักเรียนเลิกเรียนเวลา 14.00 น.นั้น ขอให้ชื่อว่าเป็น “การลดเวลาเรียน เพื่อเพิ่มเวลารู้” โดยจะใช้เวลาที่เหลือจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็ก นอกห้องเรียนเพื่อลดความเครียด สร้างความสุขให้เด็ก ไม่ได้ปล่อยให้เด็กไปเที่ยวเล่นที่ไหน ซึ่งจะเริ่มในภาคเรียนที่ 2/2558 ใน 3,500 กว่าโรงเรียน จากนั้นจะมีการวัดผลการดำเนินงาน รวมถึงดูในแง่ของปัญหาว่าติดขัดในเรื่องใดบ้าง จะได้แก้ไขอย่างตรงจุด และขยายไปยังโรงเรียนต่างๆ ต่อไป
“การลดชั่วโมงเรียน สพฐ.มีการศึกษาแล้ว สามารถลดได้และไม่เกิดปัญหา นอกจากนี้จะมีการจัดกลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองมีความต้องการให้เด็กกลับบ้านตั้งแต่เวลา 14.00 น.ด้วย เพราะเด็กเหล่านี้อาจจะต้องรีบกลับเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง” รมว.ศธ.กล่าว.
ที่มา : ไทยโพสต์