ปรับเกณฑ์โยกย้ายของครู กำหนดต้องสอนก่อน 2 ปีถึงมีสิทธิ์ขอย้าย ป้องกันกระทบเด็กเรียนไม่ต่อเนื่อง ชี้ที่ผ่านมามีช่องโหว่อ้างเหตุขอย้ายกรณีพิเศษอื้อ พร้อมเห็นชอบ สพฐ.จัดสอบครูผู้ช่วย อัตราว่างกว่า 8,000 ย้ำเขตพื้นที่ฯ ถ้ามีอัตราว่างต้องเปิดสอบเอง ไม่ให้ไปใช้บัญชีข้ามเขต ป้องกันข้อครหาเรียกรับผลประโยชน์
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามที่ ก.ค.ศ.เสนอขอปรับเกณฑ์เสนอขอย้าย จากเดิมที่ไม่มีการระบุระยะเวลาอย่างชัดเจน เพียงแต่กำหนดว่าห้ามขอย้ายในช่วงที่มีการลาศึกษาต่อ และห้ามขอย้ายในช่วงที่มีการพัฒนาอย่างเข้ม แต่สามารถขอย้ายเป็นกรณีพิเศษที่มีภัยคุกคามได้ อาทิ ขอย้ายเพื่อไปดูแลบิดามารดา เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาครูมักจะใช้สาเหตุหรือช่องทางดังกล่าวขอย้ายเปลี่ยนสถานศึกษาจำนวนมาก หรือพออบรมพัฒนาเรียบร้อยก็ขอย้ายทันที ทำให้เกิดผลกระทบกับเด็ก การจัดการเรียนการสอนไม่เกิดความต่อเนื่อง
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งต่อไปครูที่มีความจำนงต้องการขอย้ายสถานศึกษาจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน หรือ 2 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ การย้ายสับเปลี่ยนกับตำแหน่งที่มีคนครอง ในวันที่ยื่นคำร้องขอย้าย และต้องมีอายุราชการเหลือไม่น้อยกว่า 2 เดือน นับถึงวันที่ 30 กันยายนของปีที่ครบเกษียณอายุราชการ ส่วนครูผู้ช่วยจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ทันทีในการขอย้ายเดือนมกราคม 2559 สำหรับการขอย้ายกรณีปกติ ยื่นคำขอได้ปีละ 1 ครั้ง ในเดือนมกราคมของทุกปี ส่วนการขอย้ายกรณีพิเศษ ยื่นคำขอย้ายได้ตลอดปี พร้อมหลักฐานทางราชการ หรือทางการแพทย์ ความเห็นและคำรับรองของผู้บังคับบัญชา ส่วนการยื่นคำร้องขอย้ายตามตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่กำหนดไว้เดิม ตามหลักเกณฑ์ ว.8/2549 สามารถยื่นได้อีก 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2558
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเห็นชอบตามที่ สพฐ.เสนอขอจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย แทนอัตราว่างที่ยังขาดอยู่อีก 8,000 อัตรา พร้อมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันใหม่แทนหลักเกณฑ์เดิม โดยให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ และให้เขตพื้นที่ฯ รวมกลุ่มในพื้นที่ตรวจราชการ คัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่เหมาะสมเป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบ เพื่อให้ได้ข้อสอบที่มีมาตรฐาน จากเดิมที่ส่วนกลางเป็นผู้ออกข้อสอบ สามารถสมัครสอบได้เพียงแห่งเดียว จากเดิมที่ให้สมัครได้หลายเขตพื้นที่ฯ เพื่อให้การคำนวณค่าใช้จ่ายมีความแม่นยำมากขึ้น และป้องกันปัญหาการรับจ้างสอบ หรือวิ่งรอกสอบหลายที่
ขณะเดียวกันให้เขตพื้นที่ฯ ที่มีอัตราว่างทุกเขตเปิดสอบเอง ไม่ให้ไปใช้บัญชีของเขตพื้นที่ฯ อื่น เพราะที่ผ่านมามักมีข้อครหา เขตพื้นที่ฯ ไม่ยอมเปิดสอบ แต่ไปใช้บัญชีข้ามเขต เป็นช่องทางให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ และต่อไปการใช้บัญชีข้ามเขตจะสามารถดำเนินการได้เฉพาะเขตพื้นที่ฯ ที่เปิดสอบแข่งขันแล้วไม่มีผู้สมัครสอบ ไม่มีผู้สอบได้ หรือมีผู้สอบได้ไม่เพียงพอกับตำแหน่งว่างเท่านั้น โดยจากนี้ สพฐ.จะต้องไปกำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกเพื่อประกาศรับสมัคร โดยจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเดือนกันยายนนี้.
ที่มา : ไทยโพสต์