การเปลี่ยนแปลงการครุศึกษาสำหรับครูในอนาคต
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งเรื่อง การผลิตและพัฒนาครู กระบวนทัศน์ใหม่ วิถีใหม่ และวิธีใหม่ ในการประชุมสัมมนาเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการครุศึกษาสำหรับครูในอนาคต ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ผ่านมามีการยกฐานะครูให้ดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะส่งผลดีต่อการเรียนการสอน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น จะเห็นได้ว่าในโรงเรียนต่าง ๆ มีครู ค.ศ.2 และ ค.ศ.3 หลายคน
แต่คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของเด็กยังต่ำ จึงเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทยที่ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมครูได้ดี แต่เด็กไม่ได้ดี นอกจากนี้ต้องทบทวนเป้าหมายการจัดการศึกษาใหม่ ทั้งหลักสูตร วิธีการสอน การบริหาร และกระบวนการเรียนรู้ การเป็นครูยุคใหม่ต้องมองไปข้างหน้า ไม่สอนแค่ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ต้องสอนให้เด็กรู้ความหมายและคุณค่าของชีวิต มองอนาคต เสริมสร้างทักษะชีวิต และเตรียมพร้อมสู่การประกอบอาชีพ
“หลังจากนี้รัฐต้องปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุน กระจายอำนาจการจัดการศึกษาลงสู่พื้นที่ และมีหลักสูตรเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น ต้องไม่มีเสื้อเบอร์เดียว รองเท้าเบอร์เดียว และครูเบอร์เดียวที่สอนเหมือนกันทั้งประเทศ ต่อไปแต่ละพื้นที่ต้องมีเป้าหมาย รูปแบบการเรียนรู้ และการวัดประเมินผลที่แตกต่างกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ทำให้ต้องการกำลังคนรุ่นใหม่ ต้องมีครูแบบใหม่ ขณะเดียวกันขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในอนาคต จะมีคนวัยทำงานมากขึ้น เด็กเกิดใหม่จะน้อยลง ดังนั้นการผลิตครูจึงต้องเปลี่ยนไปจะไม่ใช่สำหรับคนในวัยเรียนเท่านั้น ต้องเป็นสำหรับคนวัยทำงาน และคนสูงวัยด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว.
ที่มา : moe