บอร์ดอำนวยการปฏิรูป ศธ.ตีกลับร่าง กม.ซูเปอร์บอร์ด สปช.แนะยึดเนื้องาน-อำนาจหน้าที่
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอำนวยปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า คณะอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาด้านกฎหมาย ของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปฯ ได้นำร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ หรือ ซูเปอร์บอร์ดของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม แต่ยังไม่มีข้อยุติเพราะมีหลายประเด็นที่กรรมการทักท้วง และให้ข้อเสนอแนะ
โดยเฉพาะในเรื่ององค์ประกอบและเรื่องอำนาจหน้าที่ เพราะในกฎหมายกำหนดอำนาจซูเปอร์บอร์ดไว้ค่อนข้างจะมีเยอะพอควร อาทิ อำนาจในการปรับย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ อำนาจในการให้ความเห็นชอบในตั้งงบประมาณการศึกษา ฯลฯ เพราะฉะนั้น ที่ประชุมจึงให้คณะอนุกรรมการนำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกลับไปปรับแก้ ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้โครงสร้างของซูเปอร์บอร์ด มีนายกฯเป็นประธาน หรือนายกฯอาจมอบให้คนใดคนหนึ่งเป็นประธาน และมีกรรมการประมาณ 20 – 30 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนโดยตำแหน่งจากหน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ ถือว่า เป็นกรรมการชุดใหญ่
“ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุย คณะกรรมการให้ข้อคิดเห็นกันมากแต่ยังไม่มีข้อยุติ สุดท้าย จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการไปทบทวนร่างกฎหมายมาใหม่ ตั้งหลักใหม่โดยเอางาน อำนาจหน้าที่เป็นตัวตั้งก่อน แล้วมาพิจารณาองค์ประกอบ ซึ่งการที่คณะอนุกรรมการนำร่างซูเปอร์บอร์ดของ สปช. มาพิจารณาในบอร์ดอำนวยการ เพราะต้องการข้อคิดเห็น หากเห็นว่าประเด็นไม่ถูกต้อง ต้องปรับแก้ไข จะได้บอกไป อีกทั้งภายในคณะกรรมการอำนวยการก็มีกรรมการบางรายมีบทบาทอยู่ใน สปช. และ สนช. ด้วย ดังนั้น จึงเป็นการทำงานคู่ขนานกันระหว่าง ศธ. สปช. และ สนช.” รมว.ศธ. กล่าวและว่า ทั้งนี้ ซูเปอร์บอร์ดตามร่างกฎหมายนี้ จะไม่ซ้ำซ้อนกับซูเปอร์บอร์ดที่นายกฯตั้งขึ้น และเข้าใจว่า เมื่อซูเปอร์บอร์ดตามกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว ซูเปอร์บอร์ดชุดที่นายกฯตั้งขึ้นก็อาจต้องยกเลิกไป เพราะถึงเวลาก็ต้องเหลือแค่ซูเปอร์บอร์ดเดียว แต่คงอีกนานกว่าจะมีการตั้งซูเปอร์บอร์ตามกฎหมาย เพราะยังเหลือการดำเนินการอีกหลายขั้นตอน
ที่มา : ผู้จัดการ