คลอดแล้วสำหรับร่างยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณา เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นทั่วไปก่อนไปจัดทำรายละเอียดขอความเห็นชอบต่อไป โดยหัวใจสำคัญของร่างเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ
- ปฏิรูประบบบริหารกระจายอำนาจสู่พื้นที่ท้องถิ่น มีเครือข่ายสมัชชาร่วมจัดการศึกษา
- ปฏิรูประบบกระจายงบประมาณสู่ผู้เรียนและสถานศึกษาโดยตรง พร้อมมีระบบประกันโอกาสการศึกษา
- ปฏิรูปหลักสูตรกระบวนการการเรียนรู้จากชีวิตจริงและตามบริบทของพื้นที่ พัฒนาคุณภาพครู เห็นกันอย่างนี้แล้วชาวอุดมศึกษาคิดเห็นเช่นไร
เริ่มที่น้องมิ้นต์ หรือ มนัสนันท์ มาก้อน นักศึกษาชั้นปี ที่ 2 คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า คาดหวังต่อการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้มาก ซึ่งหากทำได้จริงจะสร้างประโยชน์ให้แก่การศึกษาไทย โดยเฉพาะหลักสูตรการเรียนการสอน ที่มีความจำเป็นจะต้องให้นักเรียน นักศึกษา ได้ปฏิบัติจริงมากขึ้น และผู้เรียนต้องนำมาใช้ประกอบอาชีพได้ด้วย เชื่อว่าหลายหลักสูตรการศึกษาในประเทศไทยเป็นหลักสูตรที่ดี แต่หากปรับให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็จะทำให้เด็กไทยมีศักยภาพมากขึ้นและแข่งขันในเวทีโลกได้ด้วย
อำนาจ มงคลสืบสกุล หรือ ต้า นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ บอกว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ถือว่าเป็นการปรับใหญ่ทั้งระบบและเป็นเรื่องยาก แต่ก็จำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะการ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ที่สำคัญควรมีการวางมาตรฐานให้มหาวิทยาลัยไทยทั่วประเทศมีคุณภาพ เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งว่านี่มหาวิทยาลัยราชภัฏ นี่จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ได้ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ ได้อยู่กับท้องถิ่นไม่ต้องเข้ามาเรียนในเมืองหลวงเท่านั้น
ผศ.ประทีป หมวกสกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ บอกว่า เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะการกระจายอำนาจสู่พื้นที่ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ร่วมกันกำหนดหลักสูตรให้บุตรหลานของเขา จะเกิดประโยชน์มาก เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังขาดความเชื่อมั่นในระบบการศึกษาของรัฐที่มีเพียงหลักสูตรเดียว จึงนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนสอนศาสนา เพราะตรงกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามหากปฏิรูปการศึกษาได้จริง เชื่อว่าคนในพื้นที่จะเชื่อมั่นในระบบการศึกษาของทางราชการมากขึ้นแน่นอน
ที่มา : moe