ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ทั้งสามรอบ ตั้งแต่ปี 2544-2557 พบว่ามีจำนวนสถานศึกษาที่ได้รับผลการประเมินคงที่ ทั้ง 3 รอบ ดังนี้
- สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลประเมินระดับดี-ดีมาก จำนวน 4,420 แห่ง จากทั้งหมด 31,375 แห่ง
- สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาที่มีผลระดับดี-ดีมาก จำนวน 254 แห่ง จาก749 แห่ง
- ระดับอุดมศึกษาที่มีระดับดี-ดีมาก จำนวน153 แห่ง จาก 260 แห่ง
ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ผลการวิเคราะห์ พบว่า ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด โดยกลุ่มโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินทั้ง 3 รอบ มีจำนวน 1,755 แห่ง และกลุ่มที่ผ่านการประเมิน รอบ 2 แต่รอบสามไม่ผ่านการประเมิน มีจำนวน 9,418 แห่ง ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมทั้งประเทศได้ชัดเจนว่า ต้นสังกัดของสถานศึกษาจำเป็นต้องหาสาเหตุและวางแนวทางแก้ไขเร่งด่วนที่สุด และเมื่อวิเคราะห์ลงลึกที่พบว่าสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการโยกย้ายของผู้บริหาร หรือครู ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าคุณภาพของสถานศึกษาผูกติดกับตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบ ทั้งๆที่สถานศึกษาควรสร้างคุณภาพในเชิงระบบให้เกิดขึ้น แม้จะเปลี่ยนตัวบุคคล คุณภาพไม่ควรจะต่ำลง
“ ปี 2558 ระบบการศึกษาไทยต้องสร้างค่านิยมการประเมินรอบด้าน โดยการประเมินรอบสี่ที่จะเริ่มในปี 2559-2563 ผมคาดหวังให้สถานศึกษาได้รับรองมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสะท้อนศักยภาพการศึกษาของไทยในระดับสากล และเป็นหลักประกันว่าเด็กไทยทุกคนจะได้รับการศึกษาในสถานศึกษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการจัดตั้ง สมศ. ทำให้สถานศึกษาเกิดการรับรู้ ผู้บริหาร ครู เริ่มตื่นตัว มีความเข้าใจการประเมินที่ดีขึ้น ได้สะท้อนผลด้านจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา เสนอแนะทิศทางสู่เป้าหมายการจัดการศึกษา เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาให้แก่สถานศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างคนคุณภาพให้แก่ประเทศ.
ที่มา : เดลินิวส์