นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีสุ่มตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายและเครื่องนันทนาการของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ราคาแพงกว่าความเป็นจริงว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากจากการอภิปรายของ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องดังกล่าวที่มีการซื้อซ้ำซ้อนและราคาแพงกว่าปกติ เบื้องต้น ปปท.จึงสุ่มตรวจบางพื้นที่ เช่น จ.นครปฐม นนทบุรีและจ.อุบลราชธานี พบมีการจัดซื้อเครื่องเล่นเด็กชุดป้อมปืนใหญ่สไลด์เดอร์ราคาตามสัญญาระบุชุดละ 980,000บาท ติดตั้งอยู่ที่โรงเรียนบางเลน จ.นครปฐม แต่เมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบกับโรงเรียนวัดบึงลาดสวายและโรงเรียนบ้านไผ่คอกวัว ซึ่งเป็นโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียงกันพบว่า จัดซื้อเครื่องดังกล่าวที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในราคาเพียงชุดละ 85,000บาท
ด้านแหล่งข่าวจากชุดสืบสวนศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ระบุจากข้อมูลตรวจสอบไปยังบริษัทไคฉีกรุ๊ป (KAIQI GROUP CO .,LTD) ประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาส่งเครื่องเล่นระบุตามคำสั่งซื้อให้โรงเรียนบ้านบางเลน แจ้งราคาเครื่องเล่นดังกล่าวเพียง 5,3000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 158,100บาทเท่านั้น (อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2556 ) ขณะที่คุรุภัณฑ์ส่งเสริมการออกกำลังการรายการอื่นๆ อีก 15 รายการ ก็พบว่ามีการจัดซื้อแพงเช่นกัน เช่น ชุดบริหารดึงข้อ จัดซื้อ 47,500บาท ราคาผู้ผลิต 6,045 บาท ชุดเดินโยกแขนจัดซื้อ 68,300บาท ราคาผู้ผลิต 6,944บาท ชุดบริหารกล้ามเนื้อแขนและอกจัดซื้อ 83,0000 บาท ราคาผู้ผลิต 12,896บาท
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการเพื่อสุขภาพของประชาชนมีทั้งสิ้น 17 สัญญา วงเงินกว่า 700 ล้านบาท งบส่วนใหญ่มาจากการแปรญัตติของ ส.ส.ตั้งแต่ปี 2556 และพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรส่วนใหญ่ได้รับการประสานจาก ส.ส. ในพื้นที่ผ่านนักการเมืองท้องถิ่นหรือฐานเสียง เมื่อสอบถามไปยังพื้นที่พบว่าไม่ได้เป็นผู้เสนอความต้องการ ก่อนหน้านี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สุ่มตรวจสอบ 30 รายการ พบว่าการประมูลไม่ได้นำรายละเอียดไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางและการส่งมอบและติดตั้งไม่เป็นไปตามสัญญา เช่น เซ็นส่งมอบทั้งที่ยังไม่ติดตั้งและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุยังไม่ได้รายงานให้อธิบดีกรมพลศึกษารับทราบ แต่กลับตรวจรับพัสดุพร้อมรายงานความถูกต้องเพื่อเบิกจ่ายเงินแก่ผู้ขาย สตง.จึงเห็นว่ากรมพลศึกษาไม่ปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างส่อเกิดความเสียหายกับรัฐ โดยนอกจากโครงการเครื่องเล่นแล้วยังพบว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายตามโครงการพัฒนาท่องเที่ยวเชิงนันทนาการอย่างยั่งยืนในปีงบประมาณ 2555/2556 จำนวน 12สัญญา วงเงิน 667ล้านบาท แต่ยังไม่มีการตรวจรับงานเนื่องจากการส่งมอบยังไม่เรียบร้อย
ที่มา : แนวหน้า