นักวิชาการแนะ ศธ.สร้างข้อนิยมข้อที่ 13 หรือการรู้เท่าทันสื่อให้เยาวชน เพื่อสร้างความเข้าใจ เป็นภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อ ชี้กระแสข่าวสารทุกวันนี้ล่อแหลม มีทั้งคลิปตบตีกัน คลิปโป๊ เล่นการพนัน ส่วนครูก็ไม่สามารถป้องกันคุ้มครองเด็กได้
นายธาม เชื้อสถาปนาศิริ นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวว่า จากนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องค่านิยมหลัก 12 ประการ ตนมีคิดว่าควรเพิ่มค่านิยมข้อที่ 13 ว่าด้วยการรู้เท่าทันสื่อ เพราะทุกวันนี้เยาวชนไทยสามารถใช้สื่อได้อย่างเสรีมาก ทำให้เกิดการความรู้ไม่เท่าทันก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยไม่รู้ว่าอย่างไหนก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษแก่ตัวเราเอง ทั้งถ่ายรูปถ่ายคลิปตบตีกัน การเผยแพร่ความรุนแรง การเปิดเผยข้อมูลอัตลักษณ์ของตนเองมากเกินไป ใช้เล่นการพนัน หรือการถ่ายรูปโป๊ คลิปโป๊ต่างๆ เป็นต้น จนกลายเป็นกระแสฮือฮาขึ้นมาในสังคมไทยอยู่หลายครั้ง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีการเรียนการสอนในโรงเรียน เพราะครูก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการใช้สื่ออย่างเหมาะสมได้ สุดท้ายก็ใช้วิธีการแบนสื่อ โดยบางโรงเรียนใช้วิธีห้ามไม่ให้เด็กนักเรียนเอาโทรศัพท์มือถือมายังโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่วิธีในการแก้ปัญหา
นายธามกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการเรียนวิชารู้เท่าทันสื่อมีเฉพาะในหลักสูตรนิเทศศาสตร์ระดับปริญญาตรีเท่านั้น ซึ่งกว่าจะได้เรียนก็เมื่อชั้นปี 3-4 แต่ในความเป็นจริงแล้วควรจะสอนเรื่องรู้เท่าทันสื่อตั้งแต่ชั้นอนุบาลด้วยซ้ำ หากจะปฏิรูปการศึกษาก็ต้องทำทั้งระบบ ในเมื่อเรามีการนำวิชาหน้าที่พลเมืองกลับเข้ามา ก็ควรที่จะนำวิชารู้เท่าทันสื่อเข้ามาอยู่ในหลักสูตรการศึกษาด้วย ยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมาก สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่าย จนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ครูจึงไม่ได้มีหน้าที่สำคัญแค่สอนหนังสืออีกต่อไป เพราะความรู้อยู่เท่ากันที่ปลายนิ้ว อย่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็มีการทำห้องเรียนออนไลน์ แม้จะเพียงแค่บางโรงเรียน แต่ถามว่าเรามีความพร้อมในการฉีดภูมิคุ้มกันในเรื่องการใช้สื่อให้แก้เด็กแล้วหรือยัง
“การศึกษาในอดีตหรือกระบวนทัศน์แรก เรามีครูเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน ต่อมากระบวนทัศน์ที่สอง เรานำรูปแบบ Child Center หรือนักเรียนเป็นศูนย์กลางจากต่างประเทศเข้ามาใช้ ซึ่งภายหลังก็ล้มเหลว เพราะเด็กไทยไม่ได้แอคทีฟอย่างเมืองนอก เราถูกปลูกฝังมาในระบบท่องจำ จึงทำให้การศึกษาในกระบวนทัศน์ที่สองล้มเหลว แต่ปัจจุบันเราเข้าสู่กระบวนทัศน์ที่สาม คือศตวรรษที่ 21 เป็นยุคของสื่อเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอน เด็กก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการติดตั้งภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งทุกวันนี้ ศธ.ยังไม่มีการอะไรเลย ยังไม่ได้วางรากฐานหรือเตรียมความพร้อมให้เด็กในการใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน ซึ่งประเทศไทยต้องกลับมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง” นายธามกล่าว.
ที่มา : ไทยโพสต์