ติวครูฟิสิกส์ระดับมัธยมศึกษาพัฒนาสื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน

Print Friendly

โลกวิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่มีความสำคัญแขนงหนึ่งในทางวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งทุกประเทศในโลกใบนี้ต่างก็ให้ความสำคัญกับวิชานี้ จะต้องมีการสอนในระดับโรงเรียน และมหาวิทยาลัย จะต้องวิเคราะห์ทดลอง ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ นอกจากนี้มีกิจกรรมการทดลอง ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสสารกับพลังงาน

โดยศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต หรือศึกษาการเคลื่อนที่แบบต่างๆ จากการสังเกต และรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ แล้วสรุปเป็นทฤษฎีและกฎ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าวิชาฟิสิกส์เป็นหัวใจของวิชาวิทยาศาสตร์ ใช้ตรรกศาสตร์ และคณิตศาสตร์ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านต่างๆ วิชานี้จึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าวิชาอื่นๆ

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยศูนย์บริการวิชาการ ได้ร่วมกับสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ จัดอบรมตามโครงการส่งเสริมการพัฒนาอุปกรณ์ และสื่อการสอนสำหรับครูฟิสิกส์ ให้กับครูฟิสิกส์จากโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วจังหวัดเชียงราย เพื่อให้ครูในจังหวัดเชียงราย มีอุปกรณ์การทดลอง และสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมในหัวข้อต่างๆ ในวิชาฟิสิกส์ และสามารถทำการบำรุงรักษา และนำอุปกรณ์เครื่องมือที่มีอยู่ออกมาใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่และหาได้ง่ายมาใช้เป็นสื่อการสอนในชั้นเรียนเพื่ออธิบายหลักการทางฟิสิกส์ อีกทั้งการอบรมยังมีส่วนช่วยให้มีการจัดตั้งกลุ่มให้คำปรึกษาในการดูแลการใช้งานอุปกรณ์อย่างถูกวิธี ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนด้านฟิสิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนในวิชาดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น โดยการอบรมมีทั้งการบรรยาย และฝึกปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์ และสร้างสื่อการเรียนการสอน

นางพรทิพย์ ยศโยธิน ครูฟิสิกส์จากโรงเรียนป่าแดดวิทยาคม เข้าอบรมครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า การเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์นั้น อุปกรณ์ หรือสื่อการสอนมีความสำคัญมากที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจในบทเรียนอย่างแท้จริง เพื่อเป็นฐานให้พวกเขาเรียนต่อไประดับสูงเป็นไปด้วยดี แต่ด้วยความขาดแคลนจึงทำให้การเรียนการสอนในชีวิตจริงทำได้เพียงอธิบายตามตำรา หรือเปิดคลิปวีดีโอการทดลองต่างๆ ให้นักเรียนดูประกอบการเรียนแทน หรือบางครั้งครูกับภารโรงก็ช่วยกันหาวัสดุที่อยู่ใกล้ๆ ตัวมาประยุกต์สร้างอุปกรณ์ง่ายๆ แต่ก็ขาดรายละเอียดสำคัญๆ ไป

“ห้องปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ที่มีอุปกรณ์พร้อมๆ อาจจะมีราคาราว 3-4 แสนบาท แต่งบประมาณที่ได้คือ 5,000 บาทต่อปี เงินจำนวนนี้หมดไปกับค่าเอกสารประกอบการเรียน” ครูที่เข้าร่วมอบรมดังกล่าวให้เหตุผลถึงการไม่มีโอกาสสอนการทดลองให้กับนักเรียนของพวกเขาทั้งที่รู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร

ในการอบรมครูพรทิพย์ และเพื่อนครูจากโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกับคณาจารย์ในสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มฟล. ช่วยกันมองหาวัสดุที่ราคาไม่แพง หรือหาได้ง่ายในท้องถิ่นมาประยุกต์เพื่อสร้างอุปกรณ์และสื่อการสอนขึ้น ทำให้เกิดอุปกรณ์การเรียนเกี่ยวกับ “การเคลื่อนที่” โดยใช้รางอะลูมิเนียมที่ใช้กับงานกระจกติดเข้ากับสายวัดรอบเอวของอุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อทำหน้าที่สเกล ทั้งยังมีอุปกรณ์การเรียนรู้อื่นๆ โดยผู้จัดการอบรมนี้ช่วยจุดประกายให้ผู้เข้าอบรมเป็นผู้มองหาอุปกรณ์ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าอบรมให้ออกแบบการนำมาใช้งานด้วยตัวเอง เพราะหากอุปกรณ์เกิดปัญหาผู้เข้าอบรมซึ่งมีความเข้าใจการทำงานของอุปกรณ์เป็นอย่างดีแล้วจะสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง

ครูพรทิพย์ เล่าต่อว่า เคยเข้ารับการอบรมกับ มฟล.มาก่อนเกี่ยวกับเทคนิคการสอน แต่พอทางมหาวิทยาลัยทราบเรื่องที่ครูไม่สามารถสาธิตการทดลองเคมีให้กับนักเรียนได้เรียนได้เพราะไม่มีสารเคมีสำหรับการทดลอง ก็ได้รับความช่วยเหลือประสานงานจัดหาให้ ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้แบบได้ทดลองด้วยตัวเอง เมื่อทราบข่าวเรื่องการจัดอบรมนี้จึงได้รีบสมัครเข้าร่วมเนื่องจากตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

โดย : รมณ รวยแสน
ที่มา : moe

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น