รื้อโครงสร้างศธ. คำตอบ…ปฏิรูปการศึกษาไทย?

Print Friendly

เริ่มเห็นเค้าโครงร่างการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ว่าจะออกมาเช่นไร ตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในยุค พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

ล่าสุด พล.ร.อ.ณรงค์ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ศธ. มีผู้ทรงคุณวุฒิที่คุ้นชื่อกันดีในวงการศึกษาหลายท่านมาร่วมเป็นกรรมการ อาทิ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นางสิริกร มณีรินทร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เป็นต้น

แนวทางหลักที่จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปในวันที่ 17 ธันวาคม ตามที่ นายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ระบุ จะประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ การปฏิรูปเชิงนโยบาย การปฏิรูปการบริหารจัดการ การปฏิรูปการเรียนรู้ และยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่รวมข้อเสนอการปรับโครงสร้างของ ศธ.อยู่ด้วย

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดของการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ในขณะนี้ คือ การปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะปรับเป็นทบวงการอาชีวศึกษา มีฐานะเป็นทบวงสังกัด ศธ. เพื่อให้การทำงานเชื่อมต่อกับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้อย่างเป็นเอกภาพ การให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กลับไปเป็นทบวงมหาวิทยาลัย และให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาไปขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี

ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หน่วยงานหลักที่ดูแลนักเรียนเกือบ 8 ล้าน นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมาแสดงความชัดเจนว่า เตรียมเสนอปรับโครงสร้างเช่นเดียวกัน โดยต้องการเป็นทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยุบหน่วยงานต่างๆ ภายใน สพฐ.รวมเป็น 4 กรม ประกอบด้วย กรมประถมศึกษา กรมมัธยมศึกษา กรมวิชาการและมาตรฐานการศึกษาและกรมการศึกษาคนพิการ ด้อยโอกาส และเด็กอัจฉริยะ

การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่นี้ถือว่าห่างจากการปฏิรูปการศึกษารอบแรกประมาณปี 2547 เกือบ 11 ปีมาแล้ว ในครั้งนั้นมีการยกเครื่องโครงสร้าง ศธ.ใหม่ทั้งหมด หากยังจำกันได้ว่าหน่วยงานเก่าๆ ที่ตั้งกันมานานถูกยุบเป็นหน่วยงานใหม่ในปัจจุบัน เช่น การยุบรวมกรมวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กรมสามัญศึกษามาเป็น สพฐ. การยกกรมอาชีวศึกษาขึ้นมาเป็น สอศ. การยุบทบวงมหาวิทยาลัย มาเป็น สกอ. เป็นต้น

โดยการปรับโครงสร้างในครั้งนั้นเพื่อให้มีความกระชับทำให้ ศธ.มีขนาดที่เล็กลง เน้นการ กระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาค และคาดหวังกันว่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาของไทยดีขึ้น แต่จากผลสะท้อนต่างๆ ที่ออกมาทั้งการประเมินในประเทศและระดับนานาชาติ เช่น ผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เพียบ หรือข้อมูลเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษา 144 ประเทศทั่วโลกของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่ไทยเกือบรั้งท้ายประเทศกลุ่มอาเซียน

สามารถชี้ชัดได้ว่าโครงสร้างไม่ได้มีส่วนให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยดีขึ้น แต่หัวใจสำคัญของการศึกษาอยู่ที่ ครู หลักสูตรการศึกษา และกระบวนการจัดการเรียนการสอน

ฉะนั้นหากการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ยังใช้โครงสร้างเป็นตัวนำ แล้วก็น่าคิดว่าจะคาดหวังในคุณภาพการศึกษาไทยได้มากน้อย แค่ไหน และจะเกิดคำถามตามมาว่า โครงสร้าง คือคำตอบของการปฏิรูปการศึกษา รอบนี้หรือไม่?

โดย : สุพัด ทีปะลา [email protected]
ที่มา : moe

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น