แนะไทยเดินตามรอยสิงคโปร์เร่งปรับตัวพัฒนาคุณภาพครู

Print Friendly

“ความสำเร็จในการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ในทุกวันนี้ เป็นผลมาจากการทำงานหนักของรัฐบาลทุกชุด โดยมุ่งเน้นพลเมืองที่มีคุณภาพ ทำให้สิงคโปร์ให้น้ำหนักการพัฒนาครูตลอดสาย ไม่ใช่แค่การฝึกหัดครู เตรียมความพร้อมกับครูใหม่ แต่มีการติดตามครู ที่สำคัญครูของสิงคโปร์อยู่กับการสอนและพัฒนาตลอดเวลา ไม่มีภาระงานธุรการและมีโอกาสไปเสาะแสวงหาตักตวงความรู้ในเวทีวิชาการต่างๆ เพราะกระบวนการเรียนรู้ของครูมีผลโดยตรงต่อนักเรียน” ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองการศึกษาของสิงคโปร์ ในการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ เรื่อง “บทเรียนจากสัมมนานานาชาติการออกแบบการสอนใหม่ของสิงคโปร์ : เพื่อสร้างผู้นำ ค่านิยม และความเป็นพลเมืองในการศึกษาศตวรรษที่ 21” (Redesigning Pedagogy…Leader Values and Citizenship in21st Century Education) จัดโดยบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็วๆ นี้

              ผศ.อรรถพล เล่าว่า ได้มีโอกาสร่วมงานประชุมนานาชาติ “การออกแบบการสอนใหม่ของสิงคโปร์ เพื่อสร้างผู้นำ ค่านิยมและความเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21” ของสถาบันครุศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ เอ็นไออี ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดประชุมทุก 2 ปี หัวข้อจะเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมช่วงเวลานั้น โดยเวทีนี้ได้รวบรวมนักปฏิบัติ นักวิจัย นักวิชาการ ผู้นำการศึกษาทั้งของสิงคโปร์ และหลายชาติ ทั้งยุโรป เอเชียแปซิฟิก และอเมริกา เข้าร่วมกว่ามากกว่า 2,000 คน

             มีวิทยากรระดับโลกมาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาครู บทบาทของตัวผู้บริหารที่ต้องเปลี่ยนแปลงและรับมือกับสถานการณ์ของศตวรรษที่ 21 และที่น่าสนใจคือ เวทีนี้ไม่ได้จำกัดวงแค่นักวิชาการ แต่พบว่ามีครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของสิงคโปร์จากหลากหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็น พลศึกษา ดนตรี มาร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งช่วยกระตุ้นบรรยากาศเชิงวิชาการให้มีความหลากหลาย

             สิงคโปร์ ถือเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำเรื่องการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งความสำเร็จในการศึกษาต้องยอมรับว่า เป็นผลมาจากการทำงานหนักของรัฐบาลทุกชุดที่มุ่งเน้นพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยจะให้ความสำคัญในการพัฒนาครู มีสถาบันครุศึกษาแห่งชาติ หรือ National Institute of Education (NIE) เป็นสถาบันผลิตครูนักวิจัย (Teacher Researcher) ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปจนถึงการปฏิบัติในโรงเรียน ร่วมกันทำวิจัยเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพแก่นักเรียนทุกคน โดยเอ็นไออีจะทำงานเคียงข้างทั้งโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมและประสานความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน

             “ครูเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งสิงคโปร์ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของครู และไม่ใช่เพียงการฝึกหัดครูเท่านั้น แต่เตรียมความพร้อมกับครูใหม่ มีการติดตามครู รวมถึงให้ครูอยู่กับการสอนและพัฒนาตลอดเวลา ไม่มีภาระงานธุรการ ครูต้องหาโอกาสให้ตัวเองได้ไปเสาะแสวงหา ตักตวงความรู้ในเวทีวิชาการต่างๆ เพราะกระบวนการเรียนรู้ของครูมีผลโดยตรงต่อนักเรียน อีกทั้งการจัดการศึกษาของสิงคโปร์มีความต่อเนื่อง จริงจังและเชื่อมโยงทั้งระบบ ครูไม่ถูกแทรกแซงด้วยนโยบายระหว่างทำงาน และไม่ถูกสั่งการ แตกต่างจากการศึกษาของไทยที่ยังคงเป็นการสั่งการจากระดับบนไปสู่ผู้ปฏิบัติ และการพัฒนาครูของไทยยังขาดการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและโรงเรียน” ผศ.อรรถพล กล่าว

             ผศ.อรรถพล กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังให้ความสำคัญในเรื่องของการฝึกหักครูน้อย เนื่องจากมองว่านิสิต นักศึกษาครูเดินเข้าโรงเรียนสามารถสอนได้ ทั้งที่ความจริงนิสิตนักศึกษาครูเพิ่งจบชั่วโมงบินและทักษะการฝึกปฏิบัติยังไม่มาก เมื่อไปเจอประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีอาจส่งผลต่อความหมดศรัทธาในวิชาชีพครูได้ ดังนั้นตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงเร่งผลักดันการจัดทำระบบพี่เลี้ยงให้เข้มแข็ง เช่น จุฬาฯ โดยได้ร่วมมือกับโรงเรียนเครือข่ายกว่า 30 แห่ง ในการพัฒนาคุณภาพครูเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพเด็ก

             อย่างไรก็ตาม การสอนที่จะสร้างสรรค์ความเป็นผู้นำ ค่านิยม และสร้างความเป็นพลเมืองให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ นักการศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันผลิตครู คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ผู้บริหารโรงเรียน และครูเอง ต้องร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา ซึ่งอาจจะนำบทเรียน การออกแบบการสอนใหม่ของสิงคโปร์มาใช้ เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

โดย : เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ
ที่มา : คมชัดลึก

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น