ร่างพ.ร.บ.ซูเปอร์บอร์ดยังไม่ลงตัว

Print Friendly

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ซึ่งหลังการพิจารณาที่ประชุมได้ขอให้อนุกรรมการฝ่ายกฎหมายนำไปหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติในแนวทางเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการยกร่าง เนื่องจากยังมีบางประเด็นที่ยังขัดแย้ง อาทิ ความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง โดยร่างของ ศธ.ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรมว.ศึกษาธิการเป็นรองประธาน ในขณะที่ร่างของ สปช.ต้องการให้ปลอดจากการเมืองโดยให้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานและรองประธานแทน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่เพราะเห็นว่าหากไม่มีนายกฯและรัฐมนตรีฝ่ายปฏิบัติ งานอาจจะไม่เชื่อมโยง จึงให้ไปหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติเหลือเพียงร่างเดียว นำเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้สถานศึกษามีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการตนเองตามแนวทางการบริหารจัดการที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งหลักการที่สำคัญ คือ รัฐต้องการส่งเสริมให้มีการแข่งขันระหว่างสถานศึกษาทุกประเภท โดยมีการจัดหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้ไปได้ไกลที่สุดเท่าที่ความสามารถแต่ละบุคคลพึงมี ทั้งยังต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการระดมทุนและสนองทุนเพื่อการศึกษาให้มีบริการการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาด้วย โดยที่ประชุมได้มอบให้คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา นำความเห็นจากที่ประชุมไปพิจารณากำหนดเป็นแนวทางดำเนินการ ซึ่งอาจทำเป็นรูปแบบหรือวิธีการนำร่องที่มีความเหมาะสม เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาต่อไป

ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของแนวทางการส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษา ตามที่คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจเสนอ เพื่อต้องการให้สถานศึกษาสามารถขับเคลื่อนภารกิจที่ได้รับจากการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาจากส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยยึดหลักการที่สำคัญ 9 ข้อ คือ

  1. หลักความเป็นอิสระ
  2. หลักความยืดหยุ่นของการบริหารจัดการ
  3. หลักการเสริมพลัง
  4. หลักความเชื่อถือและไว้วางใจ
  5. หลักการมีส่วนร่วม
  6. หลักการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์
  7. หลักการบริหารจัดการที่ดี
  8. หลักความรับผิดชอบ
  9. หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล

นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการปรับปรุงพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2545) และครั้งที่ 3 (พ.ศ.2553) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานอนุกรรมการ.

ที่มา : เดลินิวส์

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น