ระบบใหม่จัดสรรงบตรงสู่รร.-ครูแค่ลูกจ้าง

Print Friendly

สปสช.การศึกษาวางแผนจัดสรรงบสู่โรงเรียนโดยตรงหวังระบบใหม่ดึงเม็ดเงินสู่ตัวเด็กมากขึ้น จากปัจจุบันงบส่วนใหญ่ 80% ไปกระจุกที่เงินเดือนข้าราชการ เผยแผนกระจายอำนาจให้โรงเรียน อนาคตครูจะเป็นเพียงพนักงานที่โรงเรียนว่าจ้าง ส่วนเงินอุดหนุนให้โรงเรียนรัฐ-เอกชนมีจำนวนใกล้เคียงกัน

นางประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันการศึกษาแห่งชาติ (สปสช.การศึกษา) ที่เป็น 1 ใน 4 องค์กรที่ตั้งใหม่ตามแผนการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2558 ว่าสำนักงานหลักประกันการศึกษาแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาวางแผนวิเคราะห์ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และมุ่งตรงสู่โรงเรียนมากขึ้น โดยจะเป็นผู้ทำนโยบายการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรด้านการศึกษาให้กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

เนื่องจากปัจจุบันงบประมาณด้านการศึกษาถูกแบ่งออกเป็นเงินเดือนข้าราชการสูงถึง 80% ส่วนอีก 20% แบ่งเป็นงบลงทุนงบอุดหนุนรายหัวนักเรียน และงบพัฒนาการศึกษา ซึ่งงบพัฒนาการศึกษาโรงเรียนจะได้รับต่อเมื่อผ่านการพิจารณาจากส่วนกลาง ทำให้โรงเรียนไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวได้เอง ซึ่งปัญหาดังกล่าวจึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในเรื่องการพัฒนาคุณภาพ

“ทั้งนี้ ในส่วนของวิธีการการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรด้านการศึกษาก็มีได้ในหลายวิธี อาทิ การจัดสรรงบเงินเดือนครูให้ลงไปสู่โรงเรียนไม่ใช่สั่งจ่ายจากส่วนกลาง เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถจ้างครูที่มีความรู้ความสามารถได้ เป็นต้น” ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ที่อยู่ภายใต้คณะอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะอนุฯ ได้มีการร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับสำนักงานหลักประกันการศึกษาแห่งชาติ โดยเบื้องต้นสำนักงานหลักประกันการศึกษาแห่งชาติจะต้องมีการศึกษาถึงค่าใช้จ่ายรายหัวออกมาอย่างชัดเจน ทั้งในโรงเรียนของรัฐและเอกชน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 และพยายามทำให้โรงเรียนของรัฐและเอกชนได้รับงบอุดหนุนรายหัวอย่างใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เงินสนับสนุนในส่วนของโรงเรียนรัฐบาลมีจำนวนมาก แต่เงินรายหัวได้น้อย เนื่องจากแบ่งไปเป็นเงินเดือนครูเกินกว่าครึ่ง ทั้งนี้รัฐจะต้องจัดสรรเงินลงสู่โรงเรียน ให้โรงเรียนสามารถจ้างครูได้เอง

“จากความเห็นของผมในเรื่องดังกล่าว หากสามารถดำเนินการได้ โรงเรียนก็อาจจะไม่จ้างครูที่เกษียณอายุแล้วให้สอนต่อเนื่อง เงินในการจ้างครูดังกล่าวมีจำนวนสูง สามารถแจ้งครูรุ่นใหม่ได้ถึง 2 คน ซึ่งผมคาดว่าภายใน 5 ปี ครูเกษียณอายุราชการจะหายไปกว่าครึ่ง ซึ่งสามารถคืนเงินให้รัฐได้จำนวนหนึ่ง และจะทำให้เงินรายหัวของเด็กมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นได้พอสมควร และในอนาคตครูที่จะเข้ามาสอนในโรงเรียนอาจจะเป็นแค่พนักงานครูที่โรงเรียนเป็นผู้จ้าง มีการบริหารจัดการรูปแบบคล้ายมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ครูก็ยังจะต้องผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อวัดมาตรฐานอยู่ดี แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลาและเป็นเรื่องที่ไปได้ยากพอสมควร” ประธานอนุฯ ด้านกฎหมายกล่าว.

ที่มา : ไทยโพสต์

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น